ข้อสังเกตกฎหมายจัดตั้งและการเลือกตั้งท้องถิ่นฉบับใหม่


ข้อสังเกตกฎหมายจัดตั้งและการเลือกตั้งท้องถิ่นฉบับใหม่

19 เมษายน 2562

ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

ข่าวเก่าเมื่อกลางปี 2561 ที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) สั่งการวางแผนการตั้งงบประมาณเพื่อเลือกตั้งท้องถิ่น [2] ตั้งแต่ไก่โห่ก่อนการเลือกตั้ง ส.ส. ระดับชาติแต่กลับเงียบไปนาน พลันที่กฎหมายแก้ไขเพิ่ม พ.ร.บ.จัดตั้ง อปท. พร้อมกฎหมายเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (สถ.ผถ.) รวม 6 ฉบับ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2562 [3] ก็กลับคืนมามีเสียงวิพากษ์เซ็งแซ่ประสานสอดรับกันของคนท้องถิ่นส่วนใหญ่จดจ้องอยู่ในคำถามซ้ำซากว่าจะมีการเลือกเลือกตั้งท้องถิ่นได้เมื่อใด เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาประเทศตกอยู่ในภาวะชะงักงันว่างเว้น 5-12 ปี ที่แทบจะลืมไปเลยว่าเวลามันยาวแค่ไหน เช่น (1) วิกฤตการเมืองมีมาแต่ปี 2550 รวมกว่า 12 ปี (2) ไม่ได้เลือกตั้ง สส.มา 7 ปี นับเฉพาะที่ ถูกกฎหมายไม่นับการเลือกตั้งที่ไม่ชอบปี 2557 นับตั้งแต่เลือกตั้ง สส.ล่าสุด เมื่อปี 2554 (3) ท้องถิ่นถูกแช่แข็งไม่ได้เลือกตั้งมาตั้งแต่ปี 2557 รวมแล้ว 5 ปี (4) นายก และ สมาชิกสภา อปท. บางรายอยู่ในตำแหน่งมานานตั้งแต่ปี 2554 รวม 8 ปี

คน อปท.สนใจในคำถามว่า (1) จะเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อใด (2) ท้องถิ่นจะมีการแก้ไขกฎหมายจัดตั้งเป็นประมวลท้องถิ่นอีกหรือไม่ เช่น มีการควบรวม มีการเปิดโอกาสตั้งท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ หรือ รูปแบบอื่นๆ อย่างไร การกำกับดูแลท้องถิ่นจะเป็นอย่างไร ในกำกับใคร กระทรวงมหาดไทย (มท.) หรือ สำนักนายกรัฐมนตรี (สร.) หรือ คณะกรรมการท้องถิ่นแห่งชาติ (3) การจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น ยังคงปลัดเป็น ผอ.เลือกตั้งเช่นเดิมหรือไม่ ในคำถามยอดฮิตการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรกจะจัดขึ้นได้เมื่อใด มีคำตอบว่า ก็เมื่อ คสช. เห็นสมควร และ แจ้งให้ กกต. ทั้งนี้ตามบทเฉพาะกาล มาตรา 142 [4] แห่ง พรบ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 ซึ่งบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 265 [5] คสช.จะหมดหน้าที่เมื่อมี ครม.ชุดใหม่หลังเลือกตั้งครั้งแรก

ภาพรวมการแก้ไขกฎหมายท้องถิ่น

ภาพรวมเห็นว่า กฎหมายบัญญัติให้มีการควบคุมกำกับดูแลท้องถิ่นเข้มข้นมากขึ้น ทั้งนี้อาจมาจากภายใต้หลักคิดว่า ท้องถิ่นมีการทุจริตมาก แถมอำนาจสั่งการของผู้กำกับดูแลที่เข้มงวดด้วย ปัญหามีว่า คนท้องถิ่นขาดตัวแทนที่เป็นปากเป็นเสียงแทน หลายคนผิดหวังในการปฏิรูปกฎหมายท้องถิ่น มองอนาคตท้องถิ่นไม่ออก เพราะผู้มีอำนาจไปมองแต่ปฏิรูปการเมืองในระดับชาติ ไม่มองการเมืองท้องถิ่นที่ถือเป็นฐานรากของการเมืองระดับชาติ แม้ท้องถิ่นจะอิสระเพียงใดก็ต้องถูกกำกับ สุดท้ายก็ขึ้นต่อส่วนกลางอยู่ดี

ข้อแตกต่างในกฎหมายท้องถิ่นทั้ง 5 ฉบับเป็นเช่นเดิม แตกต่างเพียงเล็กน้อยเพียงชื่อเรียก หรือต่างที่เป็นภารกิจเฉพาะ เช่น อบต. ไม่มีงานการทะเบียนราษฎร หรือ มีผู้กำกับดูแลที่ต่างกัน พื้นที่ อบจ. ยังคงทับซ้อนพื้นที่ทั้งหมดของ เทศบาล และ อบต. เช่นเดิม การปรับยุบ หรือควบรวม อปท. (Amalgamation or Merging) ให้เหลือเพียงรูปแบบเทศบาลเพียงรูปแบบเดียวยังไม่มี นอกจากนี้มีผู้เห็นแย้งกลับแปลกๆว่า ให้เหลือรูปแบบ อบต. เพียงรูปแบบเดียวได้หรือไม่ เพราะยุคสมัยเปลี่ยนแปลงจากเดิมมากเป็นสังคมเทคโนโลยีสมัยใหม่ 4 G 5 G แล้ว ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในเชิงบริหารการกำกับควบคุมดูแลที่ง่ายกว่า เพราะอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกัน

การเปรียบเทียบภารกิจหน้าที่ของ อปท. แทบจะคล้ายกันกว่าร้อยละ 80 ทั้งนี้เพราะ ภารกิจบางอย่าง อบจ.ทำได้ เทศบาลทำไม่ได้ เช่นเดียวกันบางอย่างเทศบาลทำได้ อบต.ทำไม่ได้ แต่เทศบาลนครทำได้ เทศบาลเมืองทำไม่ได้ หรือ เทศบาลเมืองทำได้ เทศบาลตำบลทำไม่ได้ เช่นเดียวกันเทศบาลตำบลทำได้ อบต.ทำไม่ได้ เช่น งานการทะเบียนราษฎร สรุปอย่างง่ายว่า อปท. จะมีภารกิจหน้าที่ใดที่มาก หากมีขนาดของพื้นที่และประชากรที่มากกว่า

อย่างไรก็ตามการแยกประเภท อปท. ที่ไม่ได้แตกต่างกันมากมายหรือแตกต่างในทางปฏิบัติเล็กน้อย ทำให้สับสนได้ การมีประมวลกฎหมายท้องถิ่น หรือให้มีกฎหมายจัดตั้งฉบับเดียวกันน่าจะดีกว่า เพราะอย่างน้อยในพื้นที่เดียวกันตำบลเดียวกันชื่อ อปท. ก็จะซ้ำซ้อนกันสับสนมาก ยิ่งการเปลี่ยนไปใช้ชื่อใหม่ก็ยิ่งสับสน ในบริบทท้องถิ่นแบบไทยๆ เหมือนกับประชาธิปไตยแบบไทยๆ จึงเป็นการกระจายอำนาจแบบไทยๆ ที่เป็นเพียง “วาทะกรรม” (Discourse) มากกว่า

การออกกฎหมายจัดตั้งทุกประเภทแล้วเป็นแต่เพียงแก้ไขบางมาตราไม่ได้ยกเลิกหลักการเดิม ที่ไม่แก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงจากเดิม เช่น เลขานุการสภา อปท.ของ อบต.และเทศบาลเหมือนเดิม ประเด็นปัญหาอื่นๆในอดีตยังเช่นเดิม ไม่ได้แก้ไข เช่น ขนาดของ อปท. ที่มีขนาดเล็กมากก็ยังคงอยู่ เป็นเพียงแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งใหม่เท่านั้น ให้มีคุณสมบัติเหมือน ส.ส.

สาระหลักเป็นการไขคุณสมบัติของผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น รวมวาระผู้บริหารท้องถิ่น (นายก อปท.) ไม่เกิน 2 วาระ อายุ นายก อปท. 35 ปี คุณวุฒิเช่นเดิม คือ นายก อบต. วุฒิ ม.ปลาย นายกเทศมนตรี นายก อบจ. ปริญญาตรี หรือเคยเป็นฯ การกำกับ การให้พ้นจากตำแหน่งของผู้บริหารและสมาชิก คือ นายอำเภอ สำหรับ อบต. ผู้ว่าราชการจังหวัด สำหรับ เทศบาล และ อบจ. จำนวนสมาชิก อบต.เหลือสมาชิกหมู่บ้านละ 1 คน มีบทบัญญัติคุ้มครองผู้บริหารคนเดิมให้อยู่ต่อ จะพ้นจากตำแหน่งเมื่อ กกต.ประกาศให้มีการเลือกตั้ง มอบงาน จราจร ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก มาให้ท้องถิ่น ให้ความคุ้มครองการจ่ายเงินของ อปท.ที่ผิด ตามหลักสุจริต (นิรโทษกรรม) ระเบียบ มท. ที่ใช้บังคับอยู่ก่อน พ.ร.บ.นี้ ให้มีผลคุ้มครองย้อนหลังได้ ดู พ.ร.บ.เทศบาล มาตรา 32 พ.ร.บ.อบต. มาตรา 30 พ.ร.บ.อบจ. มาตรา 29 ในสาระสำคัญของกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นฉบับใหม่ก็เช่นกันแทบไม่แตกต่างจากฉบับเดิม พ.ศ. 2545

ว่าด้วยข้อห้ามของบุคคล ที่จะสมัครรับเลือกตั้ง เป็นผู้บริหารหรือสมาชิกสภาท้องถิ่นที่มาก การตรวจสอบคุณสมบัติก็จะยุ่งยากมากขึ้น ตาม พรบ.การเลือกตั้งฯ มาตรา 50 บุคคลผู้มีลักษณะเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เช่น มาตรา 50 (3) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ หรือ มาตรา 50 (23) เคยพ้นจากตำแหน่งใด ๆ ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะเหตุมีส่วนได้เสียไม่ว่า โดยทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญาหรือกิจการที่กระทำหรือจะกระทำกับหรือให้แก่องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นนั้น หรือมีส่วนได้เสียไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญาหรือกิจการที่กระทำกับหรือ จะกระทำกับหรือให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น โดยมีพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าเป็นการต่างตอบแทน หรือเอื้อประโยชน์ส่วนตนระหว่างกัน และยังไม่พ้นห้าปีนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่งจนถึงวันเลือกตั้ง

ผลตรงนี้ต่อไป นายก อปท. รองนายกฯ ที่ปรึกษา เลขานุการฯ สมาชิกสภาฯ จะเป็นผู้รับเหมายากลำบากขึ้น เพราะต้องห้ามเป็นคู่สัญญา หรือมีส่วนได้เสียในสัญญากับ อปท. อื่น ในลักษณะต่างตอบแทนหรือเอื้อประโยชน์แก่กัน ตัวอย่าง พ.ร.บ.สภาตำบลฯ ใหม่ ดู ม. 17 (3) แค่มีพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าเป็นการต่างตอบแทนหรือเอื้อประโยชน์ส่วนตนระหว่างกัน ทั้งนี้ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เพราะ นิยามคำว่า “ต่างตอบแทน” มีความหมายที่กว้างกว่า “มีส่วนได้เสีย” ฉะนั้นต่อไป นอมินี นายหน้า ได้ค่าคอมมิชชัน คงต้องพัฒนาวิธีการให้เหนือชั้นยิ่งขึ้นไปอีก

การคาดการณ์เลือกตั้งท้องถิ่น [6]

กกต. ต้องรอแจ้งจาก คสช.หรือ ครม. ดูจากช่วงจังหวะเวลา เช่น หลัง พระราชพิธีบรมราชาภิเษก หรือ หลังจากประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง หรือหลังจากการตั้งรัฐบาล หากเหตุการณ์บ้านเมืองปกติ คาดว่าการเลือกตั้งท้องถิ่น จะเริ่มต้นที่ อบจ.ก่อน ต่อไปก็ เทศบาล และ อบต. ในปลายปี 2562 หรืออย่างช้าไม่เกินต้นปี 2563  แต่เลือกตั้งท้องถิ่นน่าจะไม่เหมือนการเลือกตั้งระดับชาติไม่ต้องระวังมือที่มองไม่เห็น คสช.น่าจะชิงจังหวะประกาศก่อน คงไม่ปล่อยให้รัฐบาลใหม่ประกาศ เพราะหากไม่มี คสช. ใช้ ครม. ให้เลือกตั้งท้องถิ่นได้

แนวโน้มการเลือกตั้งท้องถิ่นไม่ต้องรอรัฐบาลหน้า

คสช. ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนรัฐบาลใหม่ เพราะรัฐบาลชุดใหม่แม้จะยังไม่เปิดเผยว่าเป็นใครที่เห็นเป็นเพียงปรากฏการณ์ตามเส้นทางที่วางไว้ (Road-map) เท่านั้น การสวนกระแสชะลอการเลือกตั้งท้องถิ่นจึงไม่มีความจำเป็น อย่างไรเสียท้องถิ่นต้องมีการเลือกตั้งแน่นอน คสช. ควรให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นในสมัยของตนเอง ไม่ต้องรอรัฐบาลหน้า ด้วยเหตุผลอย่างง่ายว่าเป็นการเรียกคะแนนนิยมได้โดยไม่ต้องออกแรง (1) เมื่อคราวเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่านมาการแจกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และ เบี้ยผู้สูงอายุฯ เป็นทำให้คะแนนพรรคเพิ่มขึ้น คราวนี้ก็เช่นกัน หวังคะแนนจากคน อปท.สามแสนเศษ และ ชาวบ้านแนวร่วม อปท. อีกกว่าเท่าตัว กว่าหกแสนหรือล้านคะแนน ก็ยังได้ (2) กระแสรัฐบาลแห่งชาติ (National Unity Government Idea) ยังไม่มีแรงหนุนจากฝ่าย ปชต. เพราะมีแนวร่วมคนรุ่นใหม่มาก และผสมผเสคนรุ่น Gen C คือพวกไม่มีรุ่นอายุ (รวมทุกรุ่น) ซึ่งพวกนี้ไฮเทค สนใจบ้านเมือง โลกออนไลน์ พวกนี้คือพวกโซเชียลเน็ตเวิร์ก (3) ฉะนั้น คสช. ต้องหลีกเลี่ยง ไม่ปะทะ ไม่ให้คนออกมาเดินบนถนน เพราะหากมีคนออกมาเดินบนถนนเช่น 14 ตุลา 6 ตุลา หรือแม้แต่เสื้อเหลือง (พันธมิตร, กปปส.) หรือเสื้อแดง (นปช.) ผู้คนจะออกมามากมายเป็นเรือนแสน แล้วบ้านเมืองจะแย่ คสช. แก้สถานการณ์ตรงนี้ได้โดยการหาคะแนนนิยมใส่ตัวดีกว่า

อย่างไรก็ตามการชิงจัดให้มีการเลือกตั้งก่อน อาจทำให้ภาพพจน์ของ คสช. ดีขึ้นได้คะแนนมากขึ้น แม้ว่าการเลือกตั้งจะถือเป็นการแข่งขันที่ไม่มีใครยอมใคร สั่งใครไม่ได้ก็ตาม แต่อย่างน้อยได้คะแนนขวัญกำลังใจมาตุนไว้จะดีกว่า การหวังโกยคะแนนนิยมจาก อปท. ก็เป็นหนทางหนึ่ง แต่การได้คะแนนนิยมจาก อปท. จะยาก เพราะ อปท.ถูกออกแบบมาให้คานอำนาจกัน หรือที่เรียกตรงว่า “โครงสร้างออกมาให้ขัดแย้งกัน”

นอกจากนี้การเลือกตั้ง อปท.อำนาจของ ผอ.กกต.จังหวัด ไม่เป็นภาระต่อ กกต.ส่วนกลาง นอกจากนี้ การเลือกตั้งท้องถิ่นอาจแต่งตั้งให้ คน อปท.ทำ หรือ หน่วยราชการอื่นทำ หรือ อปท.อื่นทำ ก็แล้วแต่ กกต. นอกจากนี้ จะเป็นการโชว์ผลงานของ “ผู้ตรวจการเลือกตั้ง” (ผตล.) ให้ได้เหนื่อยแน่ ๆ เพราะคาดว่าผู้กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งจะมีมาก เพราะที่ผ่านมาผลงาน ผตล. ในการเลือกตั้ง ส.ส. ยังไม่เห็นผล

นอกจากนี้ ผลกระทบจากสนามเลือกตั้งภูธร ที่มีอดีต ส.ส.ระดับชาติ “หนีตาย” จากการหดเขตเลือกตั้งจาก 400 เขตเหลือ 350 เขต จนต้องกลับหัวเรือไปลงสู่ศึกสนามเล็ก ฉะนั้น สนามเล็กอาจเป็นทางออกของ ส.ส.เหล่านั้นได้  ฉะนั้น การเลือกตั้งท้องถิ่น ต้องมีหลังการรับรองผล ส.ส. เพราะทำให้รู้แน่ชัดว่าพรรคใดจะร่วมฝ่ายใด พรรคใดจะได้ร่วมรัฐบาล คงไม่มีการดองเก็บไว้แน่นอน เพราะกระแสการเลือกตั้งต้องต้องเดินหน้า ฝ่าย กกต.ก็ต้องพร้อมเช่นกัน

ท้องถิ่นเป็นตัวกลางเชื่อมแห่งอำนาจการเลือกตั้งท้องถิ่นอาจรอรัฐบาลหน้า

เนื่องจากการเมืองยังไม่นิ่ง รัฐบาล คสช.มีพรรคข้าราชการหนุนอยู่ช่วงนี้เชื่อว่า คสช.จะไม่แตะต้องท้องถิ่นเพราะ (1) ใช้ท้องถิ่นเป็นตัวเชื่อมสังคม แต่เงินงบประมาณ กลับลงที่หน่วยงานราชการ เปรียบเสมือนการขับเคลื่อน อปท.เป็น ล้อ เป็นเครื่องยนต์ พวงมาลัยเป็นของหน่วยงานราชการ แต่ผลงานและการใช้เงินงบประมาณกลับเป็นของหน่วยงานราชการนั้นๆ อปท.ได้เป็นเพียงร่วมเสนอหน้า และหรือรับรางวัล โล่ ประกาศเกียรติยศฯ (2) ระบบตรวจสอบที่เข้มข้น ทำให้คน อปท.ขยาดไม่อยากใช้งบประมาณ ยิ่งหากฝ่ายประจำขัดแย้งกับฝ่ายบริหารอาจถือโอกาสแทงกั๊กได้ง่าย ๆ เนียน ๆ (3) งบประมาณโครงการพัฒนาที่ลง อปท. ควบคุมเงินทอนไม่ได้ เพราะมีขั้นตอน และผู้ตรวจสอบมาก การทุจริต เอื้อประโยชน์จึงมีโอกาสยากขึ้น

ช่วงนี้ จึงเป็นช่วงการใช้งาน อปท. ประกอบกับ คนฝ่ายค้าน และ จนท.ที่เห็นต่าง ต่างก็เกียร์ว่าง เตะถ่วง แทงกั๊ก ไปเรื่อยๆ ดังนั้น อปท.จะเลือกตั้งเมื่อใด คงต้องรอ รัฐบาลหน้า กฎหมายควบรวม อปท. ทั้ง คสช. และ รัฐบาลใหม่ที่มาจากเลือกตั้ง คงไม่อยากแตะต้อง อปท. เพราะหากให้ อปท.มีบทบาทมาก ก็หมายถึง อำนาจและงบประมาณส่วนกลางลดลง อปท. จะสังกัด กระทรวงใดไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่ความสมดุลของอำนาจ และงบประมาณ อปท.ครบถ้วน เหมาะสมหรือยัง กรณี ปลัด อปท. เป็น ผอ.เลือกตั้งหรือไม่ก็ไม่ใช่สาระสำคัญ ยกเว้นปลัดเอียงขั้ว แยกข้างถือหาง

      นี่เป็นเพียงการคาดการณ์ในอีกมุมมองหนึ่งของคนท้องถิ่น

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine & Ong-art Saibutra, Municipality Officer ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 66 ฉบับที่ 31 วันเสาร์ที่ 20 - วันศุกร์ที่ 26 เมษายน 2562, แนวโน้มการเลือกตั้งท้องถิ่น หลังประกาศใช้กฎหมายจัดตั้งและการเลือกตั้งท้องถิ่นฉบับใหม่, บทความพิเศษ หน้า 10

[2]โรดแมปเลือกตั้งท้องถิ่นมหาดไทยกันงบฯ-สั่งผู้ว่าฯเตรียมพร้อม, ประชาชาติ, 1 สิงหาคม 2561, https://www.prachachat.net/politics/news-198498 

หนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0808.2/ว 3675 ลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2561 เรื่อง การซักซ้อมแนวทางปฏิบัติ การตั้งงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเลือกตั้งท้องถิ่น

[3]กฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวม 5 ฉบับ ตามหนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ด่วนที่สุด ที่ มท 0804.5/ว 1633 ลงวันที่ 23 เมษายน 2562  

[4]สรุปตามบทเฉพาะกาล มาตรา 142 แห่ง พรบ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2562 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2562 เป็นต้นไป

"สำหรับการเลือกตั้งครั้งแรก เมื่อ คสช. เห็นสมควร และ แจ้งให้ กกต. ทราบ กรณีไม่มี คสช. ให้เป็นอำนาจของ คณะรัฐมนตรี (ครม.)", http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/A/050/T_0258.PDF    

[5]มาตรา 265

ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่

ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคณะรักษาความสงบแห่งชาติยังคงมีหน้าที่และอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2558 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2559 และให้ถือว่าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยดังกล่าวในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคณะรักษาความสงบแห่งชาติยังคงมีผลใช้บังคับได้ต่อไป

ให้นำความในมาตรา 263 วรรคเจ็ด มาใช้บังคับแก่การสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติด้วยโดยอนุโลม  

[6]ข่าวกรุงเทพธุรกิจ คสช.กำหนดวันกาบัตรก่อนมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ 18 สิงหาคม 2562 เลือกตั้งท้องถิ่น-ผู้ว่าฯกทม., กรุงเทพธุรกิจการเมือง, 23 เมษายน 2562



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท