AAR ไม่ได้ไปงานมหกรรมจัดการความรู้ครั้งที่ 3 : อยู่อย่างพอเพียงแบบไม่เบียดเบียน


ความสำเร็จที่ว่านั้น นับได้ว่าเป็นความสุขใจเหนืออื่นใด เพราะความสำเร็จที่ว่านั้น เกิดจากความพอเพียงแห่งการไม่เบียดเบียนใครแม้กระทั่ง "ตัวของเราเอง"

ก่อนหน้า ในขณะ และหลังจากงานมหกรรมจัดการความรู้ครั้งที่ 3 ในระหว่างวันที่ 1-2 ธันวาคมที่ผ่านมานั้น ซึ่งผมเอง "ไม่ได้ไปหรอกครับ" แต่ก็ขอทำ AAR กับเขาบ้าง AAR ในฐานะคนที่ไม่ได้ไป

After Action Review : AAR การทบทวนหลังจากที่ได้ปฏิบัติหรือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งลงไป การไปงานมหกรรมจัดการความรู้ก็ถือได้ว่าเป็น Action อย่างหนึ่ง และการไม่ได้ไปเป็น Action อย่างหนึ่งหรือไหมน๊อ

นั่นน่ะสิครับ การไม่ได้ไป ในความคิดของผมเองนั่นไม่ได้หมายความว่า "ไม่ได้ทำ" ทุกย่างก้าวที่เราเดินนั่นคือการกระทำ ดังนั้นเมื่อเราไม่เดินไปทางซ้าย เหตุผลล่ะ? ทำไมคุณเลือกเดินไปทางขวา ทำไมทุกคนด้านไปข้างหน้า แล้วทำไมเราถึงหยุดยืนมองอยู่ตรงนี้หรือก้าวถอยไปหลังข้าง

ทุก ๆ อณูในสรรพชีวิต ก่อนที่จะทำหรือไม่ทำสิ่งใดนั้นล้วนแล้วแต่จะต้องผ่านระบบของ "ขันธ์ 5" การคิดและไตร่ตรอง "จิต เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณ" ดังนั้นในสรรพการไม่กระทำนั่นก็คือการกระทำนั่นเอง

แล้วหลังจากที่กลับมาย้อนคิดถึงเหตุและผล AAR of Life ดูแล้ว ผมเองฉุกคิดขึ้นได้หลังจากที่เข้าไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับท่านอาจารย์ beeman ใน บันทึกจากความทรงจำ : มหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๓ <1> ที่ท่านอาจารย์ beeman ได้ตอบผมกลับมาว่า "คงเก็บเงินไม่ทันได้ 4,000 บาท...จึงขอไปปีหน้าแทน" อันนี้ถูกต้องที่สุดเลยครับ และยิ่งกว่าถูกต้องมากกว่านั้นก็คือ "ผมไม่ได้เก็บเงินเลย"

ทำไมผมถึงไม่เก็บ ไม่คิดที่จะเก็บ ไม่พยายามที่จะเก็บ ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่น่าคิดยิ่งนัก

แต่สิ่งที่ผมค้นหาและได้คำตอบออกมานั้นเป็นสิ่งที่ทำให้ผมสุขใจยิ่ง ซึ่งนับได้ว่าเป็น "ความสำเร็จที่ไม่ได้ไป"

ความสำเร็จที่ว่านั้น นับได้ว่าเป็นสุนทรียแห่งชีวิต

ความสำเร็จที่ว่านั้น นับได้ว่าเป็นสัจธรรมที่ค้นหามานาน

ความสำเร็จที่ว่านั้น นับได้ว่าเป็นสิ่งที่มิสามารถหาซื้อหรือเสาะหาได้จากตำราเล่มไหน

ความสำเร็จที่ว่านั้น นับได้ว่าเป็นความสุขใจเหนืออื่นใด

เพราะความสำเร็จที่ว่านั้น เกิดจากความพอเพียงแห่งการไม่เบียดเบียนใครแม้กระทั่ง "ตัวของเราเอง"

ความสุขจากการดำเนินชีวิตตามวิถีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ความพอประมาณ เหมาะสมกับตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น งานมหกรรมการจัดความรู้ครั้งนี้สอนให้ผมได้รู้ถึงแก่นแห่งชีวิตอีกข้อหนึ่ง

ในช่วงสามถึงสี่เดือนที่ผ่านมา วิถีชีวิตของผมนั้นแสนเรียบง่าย ตื่นขึ้นมาทำงานบ้าน ทำกับข้าว ขายของ ตอนกลางวันทำกับข้าว บ่ายขายของ ในระหว่างนั้นถ้าคนเงียบ ๆ ก็อ่านบันทึกในบล็อก เขียนบันทึก เย็นมาก็ทำกับข้าว ทานข้าวพร้อมหน้ากัน ดูข่าว สองทุ่มครึ่งขึ้นไปนวดขาให้แม่ ระหว่างนั้นปั่นผ้า (ซักผ้า) ไปด้วย สี่ทุ่มครึ่งแม่เข้านอน ผมก็ขึ้นไปสวดมนต์ ประมาณ 30 -45 นาที พอสวดเสร็จถ้าเพลียก็จะหลับเลย ถ้าไม่ก็จะลงมาเล่น Internet คุย MSN กับเพื่อน ๆ อ่านบันทึก เขียนบันทึกบ้าง ชีวิตอยู่อย่างนี้เป็นนิจ

ในทุก ๆ วันแม่จะให้ผมเก็บเงินวันละ 100 บาท เพื่อที่จะเตรียมไว้ส่งเงินค่าบ้านซึ่งผมซื้อไว้ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ส่งเดือนละ 3,600 บาท ให้เพื่อนเช่าเดือนละ 1,000 บาท ผมส่งเอง 2,600 บาท ที่เหลืออีกสี่ร้อยบาท เอาไว้จ่ายค่าโทรศัพท์ ซึ่งเป็นแบบบุฟเฟ่เหมาจ่ายเดือนละ 299 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่มหรือโทรนอกช่วงเวลานิดหน่อย เฉลี่ยเดือนละ 350 บาท ก็เป็นอันลงตัว พอเหมาะ พอดี พอประมาณ

ซึ่งเมื่อก่อนผมก็เคยใช้ Model นี้นะครับ แต่เหมือนกับอยู่ในนรกซะอย่างไงอย่างงั้น ทำงานมาสิ้นเดือน จ่ายค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำมันรถ เหลือเงินเก็บไว้ใช้กิน บางครั้งก็ชักหน้าไม่ถึงหลัง นาน ๆ (น๊าน นาน) ได้กลับบ้านครั้งหนึ่ง คิดถึงพ่อ คิดถึงแม่ พี่ น้อง ปีนึงเจอหน้ากันครั้งนึง (หยุดไม่ตรงกันหรือวันหยุดเจ้านายขอให้ทำงานพิเศษ) ทำงานงก ๆ รับใช้เจ้านาย "Model เดียวกัน แต่ความสุขต่างกันราวฟ้ากับเหว"

แต่ถ้าจะต้องไปงานมหกรรมการจัดการความรู้ล่ะ???..

เราจะไปหาเงินมาจากที่ไหน?

1. เบียดเบียนตัวเอง เพราะคิดปุ๊บก็ทุกข์ปั๊บ Model ชีวิตจะต้องเริ่มเปลี่ยนไป ทุกอย่างที่ลงตัว เริ่มไม่ลงตัว

2. ขอแม่ ก็เบียดเบียนแม่ ถ้าแม่ให้ก็ไปเบียดเบียนค่าขนมน้องสาวที่เรียนอยู่ เบียดเบียนสองเด้ง

3. ไปกับหน่วยงานอื่น (ซึ่งมีคนชวน) ใช้เงินหลวง เบียดเบียนภาษีประชาชน

4. แอบไปขอเข้าฟรี แอบ ๆ มั่ว ๆ ไปกับเขา เบียดเบียนคนอื่นที่เขาจ่ายเงินกันและเบียดเบียนผู้จัดงาน 

5. ออกไปขายของ ขยายธุรกิจ เร่งทำยอดขาย "อันนี้หนักสุดครับ" เบียดเบียนหลากหลายสรรพสิ่งเป็นลูกโซ่

ในความสำเร็จนั้นสิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกดีทุกครั้งก็เป็นข้อสี่นี่แหละครับ เพราะ Model ของการขายหรือการทำธุรกิจ คิดแบบง่าย ๆ เลยก็คือ "เราจะทำอย่างไรให้เราได้เงินจากกระเป๋าเค้าเข้ามาอยู่ในกระเป๋าเรา"

เพราะจุดมุ่งหมายของงานนี้ก็คือเงินจำนวนประมาณ 5,000 บาท ค่าลงทะเบียน ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่ากินอยู่ในเมืองกรุง (ไม่แน่อาจจะเกิน)

เราจะต้องเอาเงินจากกระเป๋าคนอื่นมาเข้ากระเป๋าเราให้ได้ "เงินกำลังจะหมุนไป" แต่อย่าหมุนไปเข้ากระเป๋าคนอื่นนะ หมุนมาเข้ากระเป๋าฉันคนเดียว

และเราต้องเบียดเบียนคนอีกสักกี่คนล่ะ ถึงจะได้เงิน (กำไร) จากการขายของให้ได้ครบ 5,000 บาท

ซึ่งถ้าลองคิดง่าย ๆ กำไรจากสินค้าชิ้นหนึ่งแบบซื้อมาขายไป กำไรประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ถ้าขายของชิ้นละ 100 บาท 1 ชิ้นได้กำไร 10 บาท ถ้าจะให้ได้ครบ 5,000 บาท จะต้องขาย 500 ชิ้น สมมติว่าคนหนึ่งซื้อสินค้าคนละชิ้น ก็จะต้องเบียดเบียนคนอื่นถึง 500 คน

ยิ่งถ้าเป้าหมายสูง หวังกำไรมาก ๆ และเร็ว ๆ การเบียดเบียนก็สูงขึ้น โก่งราคาสินค้า หลอกขายสินค้าคุณภาพต่ำ โกหก หลอกลวงคนซื้อ ลูกค้า "เวรกรรม เวรกรรม"

แต่ถ้าเราไม่ไป ทุกอย่างที่กล่าวมาทั้งหมดตั้งแต่ข้อที่ 1-5 ทุกอย่างจบ

ไม่เบียดเบียนใครเลยแม้แต่เราก็ไม่เบียดเบียน

 

 

หมายเลขบันทึก: 66076เขียนเมื่อ 8 ธันวาคม 2006 15:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

อ่านแล้วก็นึกเสียดาย กรณีที่บางหน่วยงานอาจลงทุนให้คนของตัวไม่คุ้มกับที่เสียค่าลงทะเบียนไป  เมื่อเทียบกับคนที่อยากไปเพื่อเรียนรู้อย่างแท้จริงแต่ขาดโอกาส   คนเหล่านั้นคงลืมคิดไปว่าได้เบียดเบียนหน่วยงานตัวเอง

  • สวัสดีครับคุณพัชรา
  • ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับที่เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเติมเต็ม
  • ความพอเพียงจะสอนเราให้รู้จักความพอดี ซึ่งความพอดีนั้นจะทำให้เราไม่ไปเบียดเบียนใคร ใคร ๆ ใครต่อใคร ไม่ว่าจะเป็นใคร แม้กระทั่งตัวเราเอง ชีวิตเราก็จะมีความสุขอย่างสมบูรณ์ ซึ่งจะนำชีวิตไปสู่ความสุขแท้ครับ

ผมอ่านแล้วอึ้ง...บ้างจากอักษรแรกสุด ถึงอักษรสุดท้าย

ผมเห็นด้วยกับ "ความสำเร็จที่ไม่ได้ไป" และ "ชื่นชม" อาจารย์ปภังกรยิ่งนัก

และ "Model เดียวกัน แต่ความสุขต่างกันราวฟ้ากับเหว" เกิดขึ้นกับผมเช่นกัน

เข้าใจ และให้กำลังใจ...

  • สวัสดีครับท่านอาจารย์จตุพรครับ
  • ความสำเร็จเกิดขึ้นได้ในทุกขณะจิตครับ อย่างเช่นตอนนี้ก็เป็นความสำเร็จในชีวิตผมอย่างสูงสุดที่ได้กลับมาอยู่บ้านใกล้ๆ พ่อและแม่ในขณะที่ยังมีโอกาสครับ
  • งานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตที่ได้ดูแลท่านเป็นความสุขแท้ที่ใหญ่ยิ่งครับ
  • ทึ่งครับ
  • มาให้กำลังใจมั่นใจว่าอยู่อย่างพอเพียงเป็นคำตอบที่ดีที่สุดครับ
  • ขอบคุณมากครับ
  • แวะมาชื่นชมครับ
  • คนไม่ได้ไปสามารถเก็บเกี่ยวได้มากกว่าคนที่ไป อีกหลาย ๆ ท่านที่ไปเพราะเขาให้ไปครับ 
  • ชาว gotoknow นำมา Share กันเสมอ
  • ความสุขที่ไม่เบียดเบียนใคร เป็นความสุขแท้ครับ
  • สวัสดีครับท่านดร.จิต
  • ขอบพระคุณอย่างสูงสำหรับกำลังใจครับ
  • ความพอเพียงและความพอประมาณจะทำให้เราสุขใจอย่างแท้ยิ่งครับ
  • สวัสดีครับท่านอาจารย์ Panda ที่เคารพครับ
  • ตอนนี้ผมก็พยายามเก็บเกี่ยวสิ่งต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุดครับ
  • เป็นการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมกับบริบทของตนเอง ซึ่งเป็นการเก็บเกี่ยวอย่างมีความสุขครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท