“สุรยุทธ์” เสนอร่างงบฯ 1.5 ล้านล้าน จัดสรรแบบขาดดุลฯ


“สุรยุทธ์” เสนอร่างงบฯ 1.5 ล้านล้าน จัดสรรแบบขาดดุลฯ
สุรยุทธ์เสนอร่างงบฯ 1.5 ล้านล้าน จัดสรรแบบขาดดุลฯ

รัฐบาลเสนอร่างงบปี 50 วงเงินกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ตั้งงบขาดดุล 146,200 ล้านบาท ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง เน้นประหยัด เป็นธรรม โปร่งใสตรวจสอบได้ พร้อมเผย 7 ยุทธศาสตร์ในการจัดทำงบประมาณฉบับนี้

วานนี้ (6 ธ.ค.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้มีประชุมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 โดย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี นำเสนอหลักการและเหตุผลว่า ได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 เป็นจำนวน 1,566,200 ล้านบาท ตั้งรายจ่ายชดใช้เงินคงคลังเป็นจำนวน 41,967 ล้านบาท โดยมีเหตุผลเพื่อให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจได้มีงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 และเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณที่กำหนดให้ตั้งรายจ่ายชดใช้เงินคงคลังตามที่ได้จ่ายไปแล้ว

พล.อ.สุรยุทธ์ แถลงต่อสภาฯ ว่า การเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีชุดนี้มีเจตนารมณ์และมุ่งหวังที่จะปรับเปลี่ยนการเผชิญหน้า โดยส่งเสริมการสร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติ และมุ่งแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การต่างประเทศ และความมั่นคงของชาติ  รวมทั้ง   พิทักษ์รักษาและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นกรอบหลักในการดำเนินงาน ทั้งนี้ การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 ถือเป็นภารกิจสำคัญเรื่องหนึ่งของรัฐบาลที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ และมีผลโดยเร็ว   ทั้งนี้ การจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ฉบับนี้ได้มุ่งให้ความสำคัญกับการวางรากฐานในการพัฒนาประเทศ เพื่อให้เกิดความสมดุลของความเจริญทางวัตถุและจริยธรรม รวมทั้งเพื่อให้เกิดความปรองดองและสร้างความสมานฉันท์ในสังคมโดยทั่วไป   ตลอดระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา ที่คณะรัฐมนตรีชุดนี้เข้ามารับตำแหน่งบริหารราชการแผ่นดิน กระผมและรัฐมนตรีทุกท่านในคณะรัฐบาล ได้แสวงหาแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 จากข้อเท็จจริงปัญหาและสาเหตุ โดยได้รับฟังความเห็น ข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิ และประชาชนทั่วไปมาโดยตลอด   ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณนี้ จึงเป็นผลมาจากความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่ายในความพยายามแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศ เพื่อให้เกิดแผนการทำงานที่ชัดเจนพล.อ.สุรยุทธ์ กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ปัญหาอุทกภัย ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหา   ความแตกแยกและไม่ประนีประนอมในด้านความคิดของคนกลุ่มต่าง ๆ และปัญหาจริยธรรมของคนในสังคม ถือเป็นปัญหาเร่งด่วนที่รัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการโดยเร็ว โดยคณะรัฐมนตรีได้กำชับและติดตามให้หน่วยงานในกำกับ เร่งรัดดำเนินการแก้ไขและจัดทำแผนรองรับการจัดสรรงบประมาณปี พ.ศ. 2550 ให้สอดคล้องกับการแก้ปัญหาบนพื้นฐานของความโปร่งใส เป็นธรรมประหยัดและมีประสิทธิภาพ

พล.อ.สุรยุทธ์ ยังกล่าวถึงนโยบายด้านการเงินการคลังว่า รัฐบาลจะใช้ความพยายามและความสามารถอย่างเต็มกำลัง เพื่อนำแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาปลูกฝังให้หน่วยงานของรัฐและเอกชน ตลอดจนครัวเรือนใช้เป็นกรอบในการปฏิบัติงาน โดยกำหนดกรอบวงเงินงบประมาณฯ โดยพิจารณาจากความพอประมาณ ความมีเหตุผล และจะต้องสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้เกิดเสถียรภาพแก่ระบบเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงกำหนดนโยบายการจัดทำงบประมาณไว้ 5 ประการ ประกอบด้วย1.                 ดำเนินนโยบายขาดดุลในจำนวนพอเพียง เพื่อรักษาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมทั้งกำกับดูแล   มิให้หนี้สาธารณะคงคลังมีสัดส่วนสูงเกินร้อยละ 50 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ  2. สนับสนุนให้หน่วยงานทบทวนการจัดทำงบประมาณเพื่อให้สอดคล้องกับหน้าที่และภารกิจตามที่มีบทบัญญัติไว้ รวมทั้งให้คำนึงถึงความเร่งด่วนของปัญหาและประโยชน์สุขที่จะไปถึงประชาชนเป็นสำคัญ 3. เร่งรัดการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ และการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ เพื่อควบคุมมิให้รายจ่ายประจำขยายตัวเกินความจำเป็นและสะท้อนความต้องการสาธารณะของประชาชน  4. สร้างความโปร่งใสเป็นธรรม ประหยัด โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพ   ในการลงทุนภาครัฐ ด้วยการกำหนดงบประมาณรายจ่ายลงทุนในจำนวนไม่ต่ำกว่าปีงบประมาณ พ.ศ. 2549 และ  5. รัฐบาลยังคงให้ความสำคัญในการสร้างฐานรากความเจริญให้กระจายสู่พื้นที่ต่าง ๆ อย่างทั่วถึง โดยส่งเสริมการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งส่งเสริมกระบวนการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเร่งรัดการถ่ายโอนภารกิจให้ท้องถิ่นอย่างเหมาะสมและเกิดประโยชน์ต่อประชาชน

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ภายใต้กรอบงบประมาณดังกล่าว รัฐบาลได้กำหนดวงเงินงบประมาณฯ รวมทั้งสิ้น 1,566,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อนหน้าร้อยละ 15.2 ซึ่งเป็นวงเงินรายจ่ายที่มีการขาดดุลงบประมาณจำนวน 146,200 ล้านบาท หรือเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.7 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ   ทั้งนี้    ขอยืนยันว่า คณะรัฐมนตรีจะใช้งบประมาณดังกล่าวอย่างรอบคอบ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถเจริญเติบโตได้ โดยไม่หยุดชะงักและสะท้อนภาระค่าใช้จ่ายในปัจจุบันของรัฐบาลที่มีอยู่จริง จากการกำหนดนโยบายและมาตรการในการดำเนินงานด้านต่าง ๆ โดยไม่ผลักให้เป็นภาระงบประมาณของรัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินในอนาคต ทั้งนี้ เพื่อวางรากฐานวินัยทางการคลังของรัฐบาล และให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้

พล.อ.สุรยุทธ์ ยังได้เสนอยุทธศาสตร์ในการจัดสรรงบประมาณ พ.ศ.2550 ว่า ได้กำหนดยุทธศาสตร์สำคัญไว้ 7 ด้าน คือ 1.ยุทธศาสตร์การขจัดความยากจนและการพัฒนาชนบท มุ่งเน้นการขจัดความยากจนและการพัฒนาชนบท  2.ยุทธศาสตร์การพัฒนาคนและสังคมที่มีคุณภาพ โดยสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนาคนให้มีความรู้คู่กับคุณธรรม เสริมสร้างสุขภาวะของประชาชนอย่างครบวงจร เพื่อให้เกิดความมั่นคงของชีวิตและสังคม เตรียมความพร้อมแก่สังคม เพื่อให้ผู้สูงอายุเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า 3.ยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างสมดุล โดยจะปรับโครงสร้างภาคเกษตรและเพิ่มรายได้ภาคเกษตรกร ปรับโครงสร้างภาคอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่น ปรับโครงสร้างการท่องเที่ยว การบริการ การค้า การบริหารการเงินการคลัง กิจการต่างประเทศ พัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์   4.ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน สร้างความสมดุลของการใช้ประโยชน์และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ คุ้มครองและใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ การบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ รวมถึงการควบคุมมลพิษจากขยะและ    น้ำเสีย   5.ยุทธศาสตร์การปรับประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน การใช้พลังงานทดแทน 6.ยุทธศาสตร์การรักษาความมั่นคงและส่งเสริมธรรมาภิบาล รวมถึงการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และ 7.ยุทธศาสตร์การปรับปรุงการบริหารงานภาครัฐ ด้วยการปรับปรุงการบริหารบุคลากรภาครัฐ การบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ การบริหารงบกลาง เพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินและจำเป็น

นายกรัฐมนตรี กล่าวในตอนท้ายว่า ขอยืนยันถึงความตั้งใจจริงในการปฏิบัติหน้าที่ โดยจะดำเนินการทุกวิถีทางที่จะสร้างความสมานฉันท์ในสังคม การพัฒนาเศรษฐกิจให้เกิดความสมดุลตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของประชาชน โดยเฉพาะปัญหาอุทกภัย โดยรัฐบาลจะใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า โปร่งใส ถูกต้อง และให้เกิดความคุ้มค่าภายใต้กรอบของระเบียบและกฎหมายที่สามารถตรวจสอบได้

                                                               ผู้จัดการออนไลน์  7  ธ.ค.  2549

คำสำคัญ (Tags): #งบประมาณ
หมายเลขบันทึก: 66021เขียนเมื่อ 8 ธันวาคม 2006 13:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท