เรียนรู้เส้นทางประชาธิปไตยของไทย จากบันทึกของ ศาสตราจารย์บุญชนะ อัตถากร


ผมเจอหนังสือเล่มเล็กรวมบันทึกบทความ เรื่อง "การปฏิวัติของคณะรสช. ๒๕๓๔" ที่เขียนโดย ศาสตราจารย์บุญชนะ อัตถากร บุคคลผู้ทรงคุณค่าของไทย และโดยเฉพาะคนไทยในจังหวัดมหาสารคาม บ้านเกิดของท่าน ... แม้จะอ่านละเอียดไปเพียงครึ่งเล่ม ก็รู้สึกประเทืองปัญญา ได้คำอธิบายปัญหาการเมืองต่าง ๆ ที่กำลังเกิดตอนนี้ได้ชัดเจนถึงมูลเหตุ... จึงจับประเด็นให้ท่านเห็นเช่นกันครับ ...




ศาสตราจารย์บุญชนะ เป็นนองชายของศาสตราจารย์บุญถิ่น อัตถากร ทั้งสองท่านนี้เป็นน้องชายของท่านบุญช่วย อัตถากร อดีตสมาชิกสภาพผู้แทนราษฏรจังหวัดมหาสารคาม ...  จึงถือเป็นต้นตระกูลพัฒนา มีคุณูปการกับมหาสารคามตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน

ท่านเขียนบันทึกนี้ในขณะที่ดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (รสช.) ในช่วงประมาณปี ๒๕๓๔-๒๕๓๖  คือช่วง ๖๓ ปีหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ การเขียนแบบจับประเด็นเป็นข้อ ๆ และต่อเนื่องเป็นเหตุการณ์แบบนี้ เป็นวิธีเขียนที่ผมหลงไหลอย่างยิ่ง ....

ท่านแสดงเจตคติชัดเจนมาก ๆ ว่า "...ข้าพเจ้าคิดว่า ประชาธิปไตยของไทยนั้น จะต้องยึดระบบรัฐสภาโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข คนไทยจะต้องรักษาระบบนี้ต่อไปอีกนานเท่านาน..."

ประวัติศาสตร์ "ปฏิวัติ" และ "รัฐประหาร"

ท่านบอกว่า
  • ตลอดระยะเวลา ๖๑ ปีที่ผ่านมา (๒๔๗๕ - ๒๕๓๕) ประเทศไทยตกอยู่ในวงจร ประชาธิปไตย -> คณาธิปไตย -> เอกาธิปไตย -> อนาธิปไตย ->ประชาธิไตย  วนเวียนไปอยู่หลายรอบ ....  ขณะนี้ปี ๒๕๖๒ ประเทศไทยก็ยังคงอยู่ในวัฎจักรอุบาทนี้ครับ 
    • เริ่มต้นหลังการปฏิวัติประชาธิปไตย (democrazy) จะพยายามฟังเสียงส่วนใหญ่ 
    • ต่อมาจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นการมีสองสามคนในคณะออกมาบงการให้มติที่ประชุมเป็นไปตามที่คณะตนต้องการ เรียกว่า คณาธิปไตย (oligarchy) 
    • เมื่อเวลาผ่านไปอีกระยะหนึ่ง ในคณะสองสามคนนั้น ก็จะเหลือมีบุคคลเพียงคนเดียวเป็นผู้มีอำนาจ เรียกว่า เอกาธิปไตย (autocracy dictatorship)
    • และเมื่อปกครองแบบเผด็จการต่อไปอีกไม่นาน การปกครองก็จะเปลี่ยนไปในทางที่ไม่มีระเบียบแบบแผน เกิดความชุลมุนวุ่นวาย อาจเกิดการฆ่าฟันบาดเจ็บล้มตาย และไม่มีใครสามารถควบคุมได้ เรียกว่า อนาธิปไตย (anarchy)
    • จนต้องกลับไปที่การ "ปฏิวัติ" หรือ "รัฐประหาร" อีกครั้ง วนเวียนอยู่แบบนี้ ... ตลอดระยะเวลากว่า ๘๐ ปี มีความพยายามในการก่อรัฐประหารทั้งหมด ๓๔ ครั้ง ทำสำเร็จ ๑๓ ครั้ง (เรียกว่า ก่อรัฐประหาร) ไม่สำเร็จ ๑๑ (เรียกว่าก่อกบฎ) ครั้ง (เว็บไซต์กระปุกสรุปไว้ดีที่นี่)
  • การปฏิวัติใหญ่ของโลกมี ๔ ครั้ง สำคัญ ๆ ได้แก่ การปฏิวัติอังกฤษ (1640-1988) ปฏิวัติฝรั่งเศส (1789-1790) ปฏิวัติอเมริกา (1776-1791) และปฏิวัติรัสเซีย (1917-1993)... สังเกตว่า การปฏิวัติฝรั่งเศสซึ่งเป็นต้นแบบที่นักปฏิวัติของไทยไปเรียนมา ใช้เวลาน้อยที่สุดเพียง ๑ ปี  
  • ศาสตราจารย์บรินตัน นักประวัติศาสตร์ผู้มีชื่อเสียง ได้วิเคราะห์และวิจัยสาเหตุแห่งการปฏิวัติใหญ่ทั้งห ๔ ครั้งนี้ว่า เกิดจาก 
    • เศรษฐกิจตกต่ำ  หลังจากรุ่งเรืองมาก่อนหลายปีติด ๆ กัน  ผลแห่งความรุ่งเรืองนั้น จะทำให้ชนชั้นปกครองหาทางกอบโกยความร่ำรวย ทำให้บางกลุ่มไม่พอใจ และภาวะการคลังของประเทศจะตกต่ำมาก การบริหารการคลังจะล้มเหลว โดยเฉพาะการปฏิวัติอังกฤษ.... เหตุจริง ๆ ก็คือการคอรัปชั่น นั่นเอง 
    • ความเกลียดชังระหว่างชนชั้น 
    • ผู้มีปัญญาผละตัวเองออกจากฝ่ายรัฐบาล 
    • ประสิทธิภาพของคณะรัฐบาลเห็นได้ชัดว่าต่ำมาก 
    • บุคคลในรัฐบาลขาดความมั่นใจในตนเองและความไว้ใจในหมู่คณะ
    • ความลังเลของรัฐบาลในการใช้กำลังปราบปรามฝ่ายปฏิวัติ 
การปฏิวัติ รัฐประหาร ของไทย

ท่านเกริ่นความรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์คร่าว ๆ ไว้ดังนี้

  • พ.ศ. ๒๔๗๕  "คณะราษฎร" ที่นำโดยพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา  เพื่อมุ่งให้ประเทศไทยมีการปกครองโดยรัฐธรรมนูญ และเป็นประชาธิปไตย โดยตั้งในพระยามโนปกรณ์นิตธาดา เป็นนายกคนแรก แต่ต่อมาก็ยึดอำนาจกลับ แล้วตั้งให้คนในคณะราษฎรเป็นนายกฯ จนถึง พ.ศ. ๒๔๙๐  (น่าจะหมายถึงท่านปรีดี พนมยงค์)
  • พ.ศ. ๒๔๙๐ "คณะรัฐประหาร" จอมพลผิณ ชุณหะวัณ ยึดอำนาจ แต่งตั้งให้นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกฯ  จากนั้นไม่นาน ก็ยึดกลับ แต่งตั้งให้ จอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นนายก จนถึง พ.ศ. ๒๕๐๐
  • พ.ศ. ๒๕๐๐ "คณะปฏิวัติ" จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจ แล้วตั้งนายพจน์ สารสิน เป็นนายกฯ ต่อด้วยจอมพลถนอม กิตติขจร  ต่อมาก็ยึดอำนาจเป็นนายกฯ เอง จนถึงแก่อสัญกรรมใน พ.ศ. ๒๕๐๖  จอมพลถนอม ขึ้นเป็นนายกฯ ต่อ จนถึง พ.ศ. ๒๕๑๖ จึงเกิด "การปฏิวัตินักศึกษา"
  • พ.ศ. ๒๕๑๙ "คณะปฏิรูป" พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจจาก ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ซึ่งเป็น สส. แล้วแต่งตั้งให้ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกฯ  อยู่ได้ปีเดียว ก็ยึดอำนาจกลับ แล้วตั้ง พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ คนของคณะปฏิรูป เป็นนายกฯ 
  • สรุปแล้ว ทุกคณะล้วนแล้วแต่สืบทอดอำนาจ ด้วยเหตุผลต่าง ๆ นา ๆ  ... แม้ปัจจุบันก็ไม่ต่างกัน 

การปฏิวัติของ รสช. ๒๕๓๔

ท่านบอกว่า 
  • เหตุผลในการปฏิวัติมี ๒ ประการ ได้แก่ 
    • การคอรัปชั่นอย่างมโหฬาร ... หลังการปฏิวัติมีการออกคำสั่งตั้งกรรมการพิจารณาตรวจสอบทรัพย์สินรัฐมนตรี ๒๐ คน ผลการสอบเสนอริบทรัพย์สินรัฐมนตรี ๑๐ คน เป็นเงินกว่าสองพันล้านบาท แต่ต่อมาอีก ๒ ปี (๓ มีนาคม ๒๕๓๖) ศาลแพ่งตัดสินว่า คำสั่งต่าง ๆ เหล่านั้นเป็นโมฆะทั้งหมด สรุปคือไม่มีการริบทรัพย์สินใคร ใด ๆ เลย 
    • การละเมิดสถาบัน  มีการกล่าวหาว่า รัฐบาลพลเอกชาติชาย เพิกเฉย ไม่ดำเนินคดีแก่บุคคลที่ลอบสังหารบุคคลในสถาบันชั้นสูงและนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ๒ คน ... แต่คดีล่าช้ามาก  ท่านจึงเห็นว่า เรื่องนี้ไม่น่าจะเป็นสาเหตุหลัก
  • ในระยะแรกของการปฏิวัติของคณะ รสช.ประชาชนแซ่ซ้องสาธุการกระทำของ รสช. มาก และมีความเห็นว่า พลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก ควรจะเป็นนายกรัฐมนตรีเสียเอง
  • การปฏิวัติทุกครั้งที่เกิดขึ้น คณะปฏิวัติจะรักษาอำนาจของตนให้สืบทอดต่อไป สั้นบ้างยาวบ้าง ยกเว้นการปฏิวัติของคณะ รสช. ที่มอบให้นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี  ตั้งรัฐบาลบริหารด้วยตนเองเป็นเวลากว่า ๑ ปีเศษ 
  • คณะ รสช.นั้น เกรงใจและเป็นสุภาพบุรุษ เปิดโอกาสให้นายกอานันท์ใช้ความคิดทางการเมืองที่เป็นเสรีของตนได้อย่างอิสระ ... ในมุมหนึ่งจึงทำให้การเมืองของไทยเข้าใกล้ประชาธิปไตยแบบเสรีมากขึ้น 
  • เรื่องที่คณะ รสช. ส่งให้ "คณะที่ปรึกษา รสช." พิจารณามี ๓ เรื่อง คือ 
    • การตั้งโรงงานปุ๋ยแห่งชาติ  ในการประชุมใหญ่มีกรรมการเห็นด้วยถึง ๓๔ คน จาก ๓๕ คน แต่เมื่อทำบันทึกเสนอขึ้นไป (น่าจะเสนอรัฐบาลตอนนั้น) ปรากฎมีรัฐมนตรีคนหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ปรึกษาอยู่ด้วย คัดค้าน เรื่องจึงระงับไป ... 
    • ปรับปรุงกฎหมาย ปปป. (กฎหมายปราบโกง เพื่อป้องกันคอรัปชั่น)  ได้ยกร่างใหม่ทั้งฉบับ โดยใช้เวลานานหลายเดือน แต่เมื่อเสนอ รสช. กลับให้ระงับไป
    • การตั้งกระทรวงแรงงาน  ที่ปรึกษาได้ร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย ได้ร่างกฎหมายเพื่อตั้งกระทรวงนี้ รัฐบาลนายกอานันท์ไมเห็นด้วยจึงถูกระงับไป ...ต่อมารัฐบาลนายกชวน หลีกภัย นำมาพิจารณาใหม่ เกือบจะสำเร็จในปี ๒๕๓๖ แต่ก็เกิดอุบัติเหตุ มีการสั่งปิดสภาผู้แทนกระทันหัน จึงถูกระงับไป 
  • สรุป นโยบายเชิงรุกในการพัฒนา ๓ ประการ ของ รสช. ยังไม่สำเร็จในช่วงเวลานั้น ... แต่ต่อมามีการตั้งกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม านและสวัสดิการสังคม และเปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงแรงงาน ในเวลาต่อมา ... 
  • เรื่องสำคัญที่รัฐบาลอานันท์ ที่ รสช. ตั้งขึ้น ทำคือ ความพยายามในการแยกมหาวิทยาลัยออกจากระบบราชการ เพื่อให้มหาวิทยาลัยเป็นอิสระ เป็นเอกชน ... แต่คณะที่ปรึกษามองในมุมมองว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยและมหาวิทยาลัยมีความผูกพันกันยิ่ง จะเห็นจากที่ ร.๕ มีพระราชดำริให้ตั้ง จุฬาฯ มหาวิทยาลัย และต่อมา ร.๖ ทรงตั้ง จุฬาฯ มหาวิทยาลัย และทรงเสด็จไปพระราชทานทุกปี และเหตุผลว่า มหาวิทยลัยในระบบราชการไม่สามารถสร้างสรรค์ความเป็นเลิศทางวิชาการ ไม่เป็นความจริง ... เรื่องนี้จึงระงับไป 
  • รัฐบาลท่านอานันท์ ได้มอบหมายให้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ รองนายกฯ ร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญ เสนอต่อสภานิติบัญญัติ ที่มีนายอุกฤษ มงคลนาวิน เป็นประธานสภานิติบัญญัติที่ รสช. เป็นผู้เลือก ... ร่างกฎหมายฉบับนั้นประกอบด้วยกฎหมายประมาณ ๒๐๐ ฉบับ ผ่านสภาฯ ได้โดยไม่อุปสรรคใด ๆ 
  • ท่านบุญชนะ แสดงความเห็นว่า ร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญนี้ (และเกือบทุกฉบับ) ยังคงได้รับอิทธิพลจากประวัติศาสตร์ปฏิวัติรัฐประหารมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๕ ของ "คณะราษฎร" ของพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา คณะรัฐประหารของจอมพลผิณ ชุณหวัณ คณะปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คณะปฏิรูปของพลเรือเอกสงัด ชลออยู่... ฯลฯ  ล้วนมีแนวโน้มที่จะผูกยึดหรือสืบทอดอำนาจต่อไปอีกระยะหนึ่ง 
  • ด้วยเหตุนี้เอง ที่ทำให้ นายกอานันท์ แสดงความไม่พอใจอย่างเปิดเผยว่าจะลาออกหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้นผ่าน  ท่านบุญชนะ ในฐานะที่ปรึกษา รสช. ได้เสนอว่า ควรจะแต่งตั้งคณะกรรมาธิการชุดใหม่ เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดวิกฤตการณ์รัฐธรรมนูญขึ้น  แต่ผู้นำ รสช. ได้เลือกวิธีประนีประนอม และแก้ไขในวาระ ๒ และ ๓ แทน 
  • หลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนั้น  ผลการเลือกตั้งทั่วไป ปรากฎว่า พรรคสามัคคีธรรม ได้รับเลือกมากที่สุด แต่หัวหน้าพรรคไม่สามารถ จะเป็นนายกได้เนื่องจาก ถูกรัฐบาลอเมริกาประกาศขึ้นบัญชีดำ พรรคการเมืองใหญ่ ๔ พรรค จึงสนับสนุนให้พลเอกสุจินดา รับต่ำแหน่งนายกฯ ซึ่งนำมาสู่เหตุการพฤษภาทมิฬ ในเวลาต่อมา 
  • เมื่อพลเอกสุจินดา ลาออก อำนาจ รสช. ก็หมดไป  นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เสนอเชื่อนายอานันท์ ปันยารชุน ให้เป็นนายกเป็นสมัยสอง  แทนที่จะเสนอพลอากาศเอกสมบุญ ระหงส์ หัวหน้าพรรคชาติไทย (ที่ได้คะแนนเป็นอันดับ ๒) 
ข้อคิดที่ท่านตกผลึกไว้
  • การปฏิวัติรัฐประหารไม่ว่าในประเทศใด ถ้าจะให้บรรลุเป้าหมาย จำเป็นจะต้องใช้อำนาจเด็ดขาด ซึ่งเรียกว่า "อำนาจปฏิบัติ" เป็นเครื่องมือสำคัญ มิฉะนั้นการปฏิวัตินั้นก็จะล้มเหลว 
  • ประชาธิปไตย (ในอุดมคติ) ต้องมีคุณธรรม ๑๐ ประการ (กุศลมูล ๑๐) ได้แก่
    • กายกรรม ๓ คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักขโมย ไม่ประพฤติผิดในกาม
    • วาจากรรม ๔ คือ ไม่พูดเท็จ ไม่ส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล
    • มโนกรรม ๓ คือ ไม่โลภเพ่งเล็งเอาของผู้อื่น ไม่พยาบาทปองร้าย และ มีความเห็นชอบ (สัมมาทิฏฐิ)
  • ประเทศไทยต้องสร้างนักประชาธิปไตยในอุดมคตินี้ให้มาก  

คำสำคัญ (Tags): #บุญชนะ อัตถากร
หมายเลขบันทึก: 660206เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2019 10:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มีนาคม 2019 20:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท