คำพูดนั้นสำคัญไฉน?


"สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล"
"พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง"
"พูดดีเป็นศรีแก่ตัว พูดชั่วอัปราชัย"
(สำนวน-สุภาษิตไทย)

"ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์ มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต
แม้พูดชั่วตัวตายทำลายมิตร จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา"
(นิราศภูเขาทอง-สุนทรภู่)

จากตัวอย่างสำนวน-สุภาษิต และบทกวีข้างต้น
จะเห็นได้ว่า"การพูด"นั้น มีความสำคัญทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ
ถ้า.."พูดดี" ก็เป็นศิริมงคลทั้งผู้พูดและผู้ฟัง
ถ้า.."พูดไม่ดี" ก็อาจจะนำภัยมาสู่ทั้งตัวผู้พูดและผู้ฟังได้เช่นกัน

แต่มีสิ่งหนึ่งที่สำคัญกว่า"การพูด"นั่นก็คือ"คำพูด"
เพราะไม่ว่าเราจะ"พูด"อะไรออกไป เราต้องรับผิดชอบในคำพูดของเรา
ดังคำกล่าวที่ว่า..
"ก่อนพูดเราเป็นนายคำพูด แต่หลังพูดคำพูดเป็นนายเรา"

สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดในสังคมไทยปัจจุบัน ก็คือ "การไม่รักษาคำพูด"
เรามักจะให้คำมั่นสัญญากับผู้คนได้อย่างง่ายดาย
โดยไม่ใส่ใจที่จะปฏิบัติตามคำสัญญาที่ให้ไว้
ยกตัวอย่าง เช่น การนัดหมายใดๆก็ตาม
เราไม่เคยใส่ใจที่จะไปให้ตรงเวลา
เราสามารถไปสายได้เป็นชั่วโมงโดยไม่รู้สึกผิดแม้แต่น้อย
คนที่มาก่อนเวลาซะอีก ที่กลับถูกมองว่าเป็นมนุษย์ประหลาด
คร่ำครึเกินไป เถรตรงเกินไป จริงจังกับชีวิตเกินไป จะอะไรกันนักหนา !!!

แต่เราอาจลืมไปว่า..
"ระดับความสัมพันธ์ระหว่างคำพูดกับการกระทำของเรา
จะเป็นตัวบ่งชี้ระดับความน่าเชื่อถือในตัวเรา"
ถ้าคำพูดกับการกระทำของเรา ไปคนละทิศละทาง
ระดับความน่าเชื่อถือในตัวเราก็คงจะต่ำมาก
แต่ถ้าคำพูดกับการกระทำของเราไปในทิศทางเดียวกัน
ระดับความน่าเชื่อถือในตัวเราก็จะสูงมากเช่นกัน

ฝรั่งเขามีสำนวนๆนึง คือ " I walk my talk. "
มีความหมายว่า "ฉันทำในสิ่งที่ฉันพูด"
คือพูดอะไร สัญญาอะไร ก็ทำตามนั้นเสมอ 
เช่น... 
     - ถ้านัดกันไว้ว่าจะมา 9 โมงเช้า ก็ต้องมาไม่เกิน 9 โมงเช้า
     - สัญญาว่าจะใช้เงินคืนพร้อมดอกเบี้ยทุกวันที่ 5 ของทุกเดือน
       ก็ปฏิบัติตามนั้นโดยเคร่งครัด
     - ประกาศว่าถ้าแพ้การเลือกตั้งจะเลิกเล่นการเมือง
       ก็ต้องทำตามนั้น(ไม่ใช่เฉไฉว่าเป็นเทคนิคในการหาเสียง)
       เอ..เรามาถึงจุดนี้ได้ยังไง ??? 555
       ฯลฯ

เมื่อไหร่ที่คำพูดและการกระทำของเราเป็นสิ่งเดียวกัน 100 เปอร์เซ็นต์
เมื่อนั้นระดับความน่าเชื่อถือในตัวเราก็จะเต็มร้อยเช่นกัน

บางท่านอาจมีข้อสงสัยว่า..
ในกรณีที่เราได้ให้"คำพูด"กับอีกฝ่ายไปแล้ว
ไม่ว่าจะเป็นการนัดหมายหรือการให้คำสัญญาใดๆก็ตาม
แล้วเกิดปัญหาบางอย่างที่ทำให้เราไม่สามารถทำตามคำพูดที่ให้ไว้ได้
เราจะต้องทำอย่างไรจึงจะไม่ถือว่าเป็นการ"ไม่รักษาคำพูด"

ผมมีคำแนะนำง่ายๆดังนี้ครับ..
เมื่อทราบแน่ชัดแล้วว่ายังไงเราก็ไม่สามารถทำตามคำพูดที่ให้ไว้ได้
ให้สื่อสารกับอีกฝ่ายโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
โดยแสดงความเสียใจและกล่าวคำขอโทษจากใจจริง
แจ้งสาเหตุที่ทำให้เราไม่สามารถทำตามคำพูดที่ให้ไว้ได้
และให้คำพูดที่เรามั่นใจว่าเราทำได้กับเขาใหม่อีกครั้ง
เช่น..

     @นัดเพื่อนไว้ 17:00 น.วันนี้ ที่ประตูทางเข้าห้างเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน
     แต่เราไม่สามารถไปตามเวลาที่นัดได้
     ให้รีบโทรไปบอกเพื่อนเร็วที่สุด ทันทีที่รู้ว่าไม่สามารถไปตามนัดได้
     แสดงความเสียใจและขอโทษเพื่อนด้วยที่เราไปตามนัดไม่ได้
     บอกเหตุผลที่ทำให้เราไปไม่ได้กับเขา
     แล้วนัดหมายวันเวลาและสถานที่ใหม่อีกครั้ง

หรือ..

     @นัดว่าจะชำระหนี้ 10,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย 5 % วันที่ 5 เดือนหน้า
     แต่ดูแล้วไม่น่าจะหาเงินมาให้เจ้าหนี้ได้ทันเวลาที่ตกลงกันไว้
     ให้รีบโทรไปแจ้งเจ้าหนี้ของเราให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
     แสดงความเสียใจและขอโทษเขาที่เราไม่สามารถชำระเงินได้ตามเวลาที่กำหนด
     บอกเหตุผลความจำเป็นที่ทำให้เราไม่สามารถปฏิบัติตามคำสัญญาได้
     นัดหมายกำหนดชำระหนี้ใหม่พร้อมดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่ขอผ่อนผัน

การนิ่งเฉยหรือปล่อยให้ทุกอย่างเลยตามเลยไม่น่าจะใช่ทางออกที่ดี
เพราะลองคิดดูว่า ถ้ามีใครมาทำกับเราๆจะรู้สึกอย่างไร
คงทั้งโกรธและเสียความรู้สึกมากๆใช่ไหมครับ

แต่การที่เรามีการสื่อสารที่รวดเร็ว มีข้อดีหลายประการ..
     1. เพื่อเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจ ว่าเราไม่ได้ตั้งใจผิดคำพูด
     2. เพื่อแสดงให้อีกฝ่ายรู้ว่าเราเห็นความสำคัญของเขา ซึ่งจะทำให้..
         - เพื่อนของเราก็จะได้ไม่ต้องเสียเวลาไปคอยเราเก้อที่หน้าห้าง
         - เจ้าหนี้เราก็จะได้มีเวลาหาเงินก้อนอื่นมาใช้ก่อน เผื่อว่าเขากำลังรอเงินจากเราอยู่
           ฯลฯ
     3. ทำให้ความสัมพันธ์ของเรากับเขายังดีเหมือนเดิมหรือเสียหายน้อยที่สุด

แต่สิ่งที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง ก็คือ อย่าผิดคำพูด.."บ่อยเกินไป"
ซึ่งคำว่า"บ่อยเกินไป"ก็คงไม่สามารถกำหนดเป็นตัวเลขที่แน่นอนได้ครับ
เพราะขีดจำกัดความอดทนอดกลั้นของแต่ละคนย่อมแตกต่างกัน
สรุปง่ายๆ ก็คือ พยายามให้มันเกิดขึ้นน้อยที่สุดเป็นดีที่สุดครับ

เพราะถ้ามันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำ
ความน่าเชื่อถือในตัวเราก็จะหมดไปในที่สุด
และหลังจากนี้เขาก็จะไม่ยอมรับฟังคำพูดของเราอีกเลย

เพราะฉนั้นก่อนให้คำพูดกับใคร 
ต้องมั่นใจเสียก่อนว่าเราสามารถทำสิ่งนั้นได้
อย่ารับปากพล่อยๆเพียงเพื่อจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งประทับใจ
เพราะสุดท้ายถ้าเราทำไม่ได้
ความเสียหายที่จะเกิดขึ้น
อาจมากมายชนิดที่เราคาดไม่ถึง

นิวัฒน์  ลีวงศ์วัฒน์
7 กุมภาพันธ์ 2562

ขอบคุณภาพประกอบสวยๆจาก www.pixabay.com

หมายเลขบันทึก: 659756เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2019 22:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2019 23:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท