ฝูงเทพนอง ‘บน’ ปานเบียดแป้ง (sky, heaven)


(ขอบคุณเจ้าของภาพวาดน้ำเต้าปุง อาจารย์ไพบูลย์ ธรรมเรืองฤทธิ์ เป็นอย่างสูง) 


ในโคลงร่าย ‘โองการแช่งน้ำ’ อันเก่าแก่ของพวกไทลุ่มเจ้าพระยา เมื่อคราวแรกสถาปนากรุงเทพทวารวดีศรีอยุทธยา กล่าวความถึงฝูงเทพเทวาผู้เบียดเสียดกันอย่างนองเนืองหลากล้นอยู่ข้าง ‘บน’ ดังคัดเนื้อโคลงมาท่อนหนึ่งว่า

“มรรถญาณคร เพราะเกล้าครองพรหม           ฝูงเทพนองบนปานเบียดแป้ง

สรลมเต็มพระสุธาวาสแห่งหั้น                              ฟ้าแจ้งจอดนิโรโธ”

(กรมศิลปากร พ.ศ.2540, th.wikisource.org)

คำว่า ‘บน’ ที่ปรากฏในถ้อยโคลงข้างต้น สื่อนัยยะอย่างมากเหลือถึง ‘เมืองบน’ ถิ่นสิงสถิตของชาวสวรรค์ ที่ใช้เรียกสืบเนื่องกันมาแต่ครั้งโบราณบนความหมายแบบเฉพาะเจาะจงว่าเป็น ‘เมืองผีฟ้า’ ของผู้อยู่สูงพ้นขึ้นไปจาก ‘เมืองลุ่ม’ ของบรรดาชาวดินเบื้องล่าง และใช้กันอย่างไม่ปะปนกับคำโบราณอีกคำว่า ‘เหนือ’ บนความหมายว่าอยู่เทิงอยู่สูงกว่าสิ่งใดๆ โดยคำว่า ‘เหนือ’ นี้ พบได้ทั่วไปในจารึกทั้งหลายหลากนับจากรุ่นสุโขไทหลักที่ 1 เนื่องลงมา

ความหมายในลักษณะ ‘เมืองบน’ ถือเป็นความหมายเก่า ก่อนที่จะกลืนกลายมาเป็นแบบปัจจุบันสมัย เช่นที่พจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ได้ให้คำจำกัดความไว้ส่วนหนึ่งว่า

“(๑) ว. เบื้องสูง, ตรงข้ามกับ เบื้องล่าง, เช่น ข้างบน ชั้นบน เบื้องบน. (๒) บ. ในที่ซึ่งอยู่สูงหรือเหนือ เช่น นั่งอยู่บนเรือน วางมือบนหนังสือ มีหนังสือวางอยู่บนโต๊ะ.”

เป็นรูปคำคลับคล้ายและความหมายเก่า (นอกเหนือไปจากคำว่า ‘ฟ้า’) ที่ถูกใช้มาแต่เดิมในพวกไท-ไต (Tai) ตามที่อาจารย์พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์ ได้สืบสาวไว้ใน “The Phonology of Proto-Tai, ค.ศ.2009” คำศัพท์หมายเลข 250: ‘sky, heaven’ ดังนี้

Siamese, Bao Yen และ Shangsi        เรียกเหมือนกันว่า bon A1 /บน/

Cao Bang                                                   เรียก bɤn A1 /เบิน/

Yay                                                                เรียก bun A1 /บุน/

Saek                                                              เรียก bɯn A1 /บึน/

สืบสร้างเป็นคำโบราณ Proto-Tai ว่า                *ɓɯn A /บึน/ (เสียง implosive)

ที่น่าสนใจยิ่ง พบว่ามีการเรียกใช้กันในสาแหรกสาขาต่างๆ ของไท-กะได เขียนเป็นคำอังกฤษว่า ‘sky’ ดังคัดจาก “Austronesian Basic Vocabulary Database, ค.ศ.2008, abvd.shh.mpg.de” ความว่า

พวกก้ำ-สุย (Kam-Sui):

Dong                                                 เรียก mǝn 55 และ mǝn 35 /เมิน/

Ai-Cham และ Mulam                        เรียกเหมือนกันว่า mǝn 1 /เมิน/   

Mak และ Sui                                               เรียกเหมือนกันว่า Ɂbǝn 1 /เอบิน/

Chadong                                           เรียก pǝn 2 /เปิน/

Then                                                 เรียก Ɂmun 1 /อมุน/

Biao                                                  เรียก man 1 /มัน/ และ mǝn 33 /เมิน/

Maonan                                           เรียก bǝn 2 /เบิน/

สืบสร้างเป็นคำโบราณ Proto-Kam-Sui ว่า    *ɓun 1 /บุน/

พวกลักกยา (Lakkja):

Jinxiu                                                เรียก bon 1 /บน/

Liula                                                  เรียก Ɂbon 1 /อบน/

สืบสร้างเป็นคำโบราณ Proto-Lakkja ว่า       *Ɂbǝn A1 /เอบิน/

และพวกข้า/ขร้า (Kra) บางกลุ่มก็ใช้ เช่น:

Buyang                                             เรียก Ɂbun 24 และ Ɂbun54 /อบุน/

Qabiao                                             เรียก mǝn 33 /เมิน/    

ซึ่งหากไม่นับการหยิบยืมกันไปมาระหว่างกลุ่มต่างๆ ก็อาจถือได้ว่า เป็นรูปคำและความหมายที่ใช้กันอย่างคล้ายคลึงและกว้างขวางในหมู่ไท-กะได คือเป็นรูปคำที่ขึ้นต้นด้วยเสียง Ɂb- /อบ/ หรือ b- /บ/ เป็นหลัก (Proto-form *Ɂb- และ *ɓ-) ตามด้วยสระ o /โอะ/, u /อุ/ หรือ ǝ /เออะ/ (Proto-form *ɯ, *ǝ และ *u) และตัวสะกดปิดท้ายด้วยแม่กน *–n เท่านั้น บนความหมายว่า ‘sky’ เฉยๆ กับ ‘sky’ ในร่างของเหล่าแมนสรวง

สิ่งที่น่าสนใจยิ่งยอดไปกว่านั้น พบว่ามีการพัวพันอย่างออกหน้าออกตากับหนึ่งในคำที่ใช้เรียกก้อนเมฆ ‘cloud’ ของทางออสโตรนีเซียน (Austronesian) โดยเฉพาะสายมาลาโย-โพลีนีเซียน (Malayo-Polynesian, MP) ซึ่งสามารถสืบสร้างเป็นคำโบราณสองพยางค์ PMP ว่า *Rabun /ราบุน/ หรือ *rambun (Zorc) /รัมบุน/ และขึ้นไปเป็นคำโบราณเก่าแก่กว่า ชนิด Proto-Austronesian ว่า  *Rabun (Zorc) /ราบุน/

เพราะไม่ว่า ‘sky, heaven’ ของไท-กะได หรือ ‘cloud’ ของออสโตรนีเซียน ต่างก็แสดงรูปร่างเชิงกายภาพ ที่เหลื่อมซ้อนต่อกันเป็นอย่างมาก ทั้งในฐานะของรูปคำ ที่เน้นน้ำหนักตรง *ɓɯn/*ɓun/*Ɂbǝn กับ *bun และในฐานะของสิ่งที่อยู่ข้างบน ลอยสูงเสียดฟ้า เลยเหนือขึ้นไปจากสายตาและหัวกบาลของใครๆ

จนอาจตีความว่า ทั้งสองเป็นคำดึกดำบรรพ์ ที่ (เป็นไปได้สูงว่า) มีพัฒนาการแรกสร้างร่วมกัน จากรากคำพยางค์เดียว ‘monosyllabic root’ ภายใต้ชื่อนาม *bun (*pun ในบางอารมณ์) ผู้ซึ่งมีนามธรรมดั้งเดิมว่า ‘พูนโพน’ หรือเรียกขานในคำภาษาอังกฤษว่า ‘to heap, to pile, to assemble, to collect, to gather’               

เพราะโดยธรรมชาติ ความเป็น  ‘พูนโพน’ จะพัฒนาก่อกำเนิดก็ต่อเมื่อ สิ่งเล็กสิ่งน้อยร้อยอันพันอย่างได้ถูก ‘เก็บรวม’ ขึ้นไว้ด้วยกัน (หรือในทางมุมกลับ สิ่งเล็กสิ่งน้อยถูก ‘เทกอง’ ลงบนพื้นอย่างต่อเนื่อง) เกิดเป็นรูปร่างของทรงกรวย (cone shape) พร้อมๆ กับคุณสมบัติของทรงกรวย ที่มีส่วนยอดอยู่สูงและส่วนฐานอยู่ต่ำ เบื้องบนเล็กแหลมและเบื้องล่างบานกระจายตัวออก อันเป็นรูปสามัญแบบสากลซึ่งพบเห็นได้ทั่วไป ตั้งแต่จอมปลวก โนนดิน เนินทราย ก้อนเมฆ จนถึงหยดน้ำที่หยาดเยิ้มจากชั้นฟ้า ที่สำคัญคือ เน้นอิทธิพลของความเป็นยอดบนมากกว่าฐานล่าง

ดังคำสองพยางค์ทั้งหลายหลากของพวกมาลาโย-โพลีนีเซียน ที่แตกตัวออกไปจากรากคำพยางค์เดียว *bun และ *pun เช่นคัดจาก “Austronesian Comparative Dictionary, ค.ศ. 2010-2019, www.trussel2.com” ความว่า  

รากคำพยางค์เดียว *bun:

PWMP                                    *abun /อาบุน/ -รวบรวมเข้าด้วยกัน

PMP                                        *ebun /เออบุน/ -กองเทิน

PWMP                                    *hubun /ฮูบุน/ -รวมกลุ่ม

PWMP                                    *Rab(e)qun /ราเบอคุน/ -ปกคลุมด้วยมูนดิน

PMP                                        *tambun /ตัมบุน/ -กองพะเนิน

PWMP                                    *timbun /ติมบุน/ -กองพูน

PMP                                        *tabun /ตาบุน/ -ปกคลุมด้วยมูนดิน ทราย

และขยายใช้ไปยัง:

PMP                                        *bubun /บุบุน/ -น้ำพุ

PWMP                                    *bundak /บุนดัก/ -ตกกระแทกพื้นด้วยเสียงดัง

PMP                                        *bunduk /บุนดุก/ -พื้นดินที่ยกตัวสูงขึ้น

PMP                                        *buntaŋ /บุนตัง/ -แตกกระซ่านของน้ำ

PMP                                        *bunter /บุนเตอ/ -พุงที่โป่งพอง

PWMP                                    *buntit /บุนติด/ -ท้องที่บวมเป่ง

PMP                                        *buntu /บุนตุ/, *buntul /บุนตุล/ -เนินเล็กๆ

PMP                                        *buntut /บุนตุด/ -ตูดไก่, หางวัว

โดย PWMP คือ Proto-Western Malayo-Polynesian

รากคำพยางค์เดียว *pun:

PWMP                                    *punpun /ปุนปุน/ -รวบรวมเข้าด้วยกัน

PMP                                        *qi(m)pun /คิมปุน/ -เก็บรวบรวมขึ้น

PWMP                                    *rempun /เริมปุน/ -รวมเข้าไว้

PWMP                                    *ri(m)pun /ริมปุน/ -เก็บรวมเข้า

PWMP                                    *rumpun /รุมปุน/ -กลุ่มก้อน

PWMP                                    *sipun /สิปุน/ -เก็บรวมเข้าด้วยกัน

PWMP                                    *ti(m)pun /ติมปุน/ -เก็บรวบรวม

PWMP                                    *u(m)pun /อุมปุน/ -รวมฝูง, รวมกลุ่ม

และขยายใช้ไปยัง:

PWMP                                    *puncek /ปุนเจิก/ -ยอดเขา, สุดยอด

PWMP                                    *puncu /ปุนจุ/ -ยอด, ด้านบน

PWMP                                    *pundut /ปุนดุด/ -หยิบขึ้นด้วยนิ้ว

PWMP                                    *puntuk /ปุนตุก/ -บน, ปลายยอด

นอกจากนั้น ในพวก Puyuma หนึ่งในฟอร์โมซาน (Formosan) ซึ่งถือกันว่าเป็นสาแหรกหลักของออสโตรนีเซียนผู้อาศัยเกาะไต้หวันเป็นถิ่นกำเนิด ก็มีการใช้คำที่คลับคล้าย เช่น bulbul /บุลบุล/, vulvul /วุลวุล/ -กระหม่อม (Proto-Austronesian, PAN *buNbuN /บุลบุล/)

และอย่างยวดยิ่ง รากคำพยางค์เดียว *bun (หรือ *pun) และนามธรรมดั้งเดิมแห่งการ ‘พูนโพน’ ยังอาจเป็นต้นแบบโคตรเหง้าของคำเรียกฟ้า ‘ฝน’ รวมหยาดน้ำฟ้าร่วมเพื่อนพ้อง ที่เขียนคำภาษาอังกฤษว่า ‘rain, mist, dew, fog, drizzle’ ในหมู่ไท-กะไดตลอดจนออสโตรนีเซียน ซึ่งเข้ากันได้อย่างสอดคล้องกลมกลืน ดังการเทียบเคียงของนักภาษาศาสตร์บางท่าน อ้างอิงจากบทความของศาสตราจารย์ Roger Blench เรื่อง “Tai-Kadai and Austronesian are related at multiple levels and their archaeological interpretation, ค.ศ.2018” เช่น

Proto-Tai                                *phon        ‘rain’

Proto-Hlai                               *fun            ‘rain’

Proto-MP                                *-bun         ‘mist, drizzle’    

ทั้งนี้ คำว่า ‘rain’ ถูกสืบสร้างเป็นคำโบราณ Proto-Tai โดยอาจารย์พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์ ไว้ว่า *C̥.wɯn A /C̥.วึน/ และสืบสร้างเป็นคำโบราณ Proto-Hlai โดยอาจารย์วีระ โอสถาภิรัตน์ไว้ว่า *apun A /อะปุน/

หรือคัดเพิ่มเติมจาก “Austronesian Comparative Dictionary” ความว่า

‘dew, mist, fog’:

PMP                                        *hapun /ฮาปุน/

PWMP                                    *dahemuR /ดะเฮอมุร/

PWMP                                    *qembun /เคิมบุน/

PWMP                                    *ambun /อัมบุน/

‘drizzling rain, mist; fog’:

PMP                                        *Rabun /ราบุน/         

หลังแยกย้าย เป็นที่ชัดเจนว่า พวกไท-กะได โดยเฉพาะสายไท-ไต ได้ขยายความหมายดั้งเดิมของรากคำให้ครอบคลุมไปถึงเรื่องของมิติความเชื่อเชิงจิตวิญญาณ ทั้งยังสะท้อนออกเป็นชั้นโครงสร้างทางสังคมในรูปเชิงปิรามิด ฝังรากอย่างล้ำลึกมาแต่ชั้นบรรพกาลในแบบ ‘เมืองบน’ ผู้มีอำนาจเหนือกว่าดำรงสถานะของผู้ปกครอง และ ‘เมืองล่าง’ ผู้อาศัยอยู่ภายใต้อำนาจของเมืองบน หรือในฐานะของผู้ถูกปกครอง

ดังนั้น “ฝูงเทพนอง ‘บน’ ปานเบียดแป้ง” จึงคือผู้ที่เกิดแต่ตม จากรากคำพยางค์เดียว *bun หรือ *pun บนนามธรรมแห่งการ ‘พูนโพน’ ที่พัวพันทับซ้อนในหลากหลายมิติ โยงใยอย่างลึกล้ำถึงระดับต้นด้ำโคตรวงศ์ ทั้งในพวกไท-กะไดและออสโตรนีเซียน เกี่ยวเนื่องตั้งแต่เรื่องของ พูนยางคำ โพนจอมปลวก ทูนกองดิน เทินกองทราย ขึ้นไปถึง โนนผีฟ้า นูนยอดเมฆ เมืองแมนบน แทงทะลุยัน หยาดน้ำฝน ปนหยดน้ำฟ้าทั้งหลาย

และจึงขอเสนอรากที่มาของคำว่า ‘บน’ เป็นทางเผื่อเลือก เพื่อการถกเถียงอย่างถึงแก่นไว้ ณ ที่นี้

สุพัฒน์ เจริญสรรพพืช

จันทบุรี 23 มกราคม พ.ศ.2562

ปล. พลั้งพลาดสิ่งใด ต้องขออภัยเป็นอย่างสูง

หมายเลขบันทึก: 659583เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2019 08:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มกราคม 2019 08:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท