อาก๋งสอนหลาน...นิทานสอนเรา


        กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ยังมี “อาก๋ง” ที่ชาญฉลาดอยู่คนหนึ่ง แกมีหลานอยู่ 4 คน วันหนึ่งอาก๋งเกิดนึกอยากจะสอนบทเรียนบางอย่างให้แก่หลานๆ เลยเรียกหลานทั้ง 4 มานั่งล้อมโต๊ะสี่เหลี่ยมจัตุรัสตัวหนึ่ง

        “หลานรัก วันนี้ก๋งมีบางสิ่งบางอย่างที่อยากจะสอนพวกเจ้า แต่ตอนนี้ขอให้ทุกคนหลับตาซะก่อน” ในขณะที่หลานทุกคนหลับตาอยู่นั้น อาก๋งก็เดินไปที่ห้องเก็บของใต้บันไดแล้วหยิบโคมไฟมา 1 ใบ เปิดฝาครอบ..จุดไฟ.. ปิดฝาครอบ แล้วจึงนำโคมไฟไปวางไว้กลางโต๊ะ

        “เอาล่ะทุกคน...ลืมตาได้แล้ว” อาก๋งบอก “ตอนนี้ก๋งอยากให้พวกเจ้ามองดูโคมไฟบนโต๊ะอย่างตั้งใจ แล้วช่วยตอบก๋งหน่อยซิว่า โคมไฟที่เจ้าเห็นนั้นสีอะไร ?”
        “สีเหลืองครับก๋ง” หลานคนแรกตอบ
        “สีแดงต่างหากครับ” หลานคนที่สองแย้ง
        “ใครบอก สีเขียวชัด ๆ” หลานคนที่สามไม่เห็นด้วย
        “เอ๊ะ..นี่พวกเจ้าเป็นอะไรไปกันหมด สีน้ำเงินเห็น ๆ” หลานคนสุดท้ายตะโกนเสียงดัง

        หลังจากนั้นหลานทุกคนก็นั่งโต้เถียงกันอย่างเอาเป็นเอาตาย สักพักก็มีหลานคนหนึ่งหันไปถามอาก๋งด้วยความสงสัย
        “ก๋งครับ ทำไมพวกเรานั่งดูโคมไฟอันเดียวกัน ถึงเห็นไม่เหมือนกันครับ”

        อาก๋งยิ้มอย่างมีเมตตา แล้วพูดกับหลานๆว่า
        “มานี่ซิ ก๋งจะให้ดูอะไร” ว่าแล้วอาก๋งก็หยิบฝาครอบโคมไฟออกมาแล้วหมุนฝาครอบโคมไฟไปรอบๆ ปรากฏว่าฝาครอบอันดังกล่าวมีสี่ด้าน ด้านละ 1 สี เหลือง..แดง..เขียว..และน้ำเงิน
        “คราวนี้ พวกเจ้าลองมองที่โคมไฟอีกครั้งซิว่าสีอะไร?” อาก๋งถามต่อ
หลานทุกคนก็ตอบเหมือนกันว่า “สีส้มครับ”ซึ่งเป็นสีของเปลวไฟนั่นเอง

        “ทีนี้ เจ้าลองตอบก๋งซิว่า ทำไมในครั้งแรกเจ้าถึงเห็นสีไม่เหมือนกัน” อาก๋งตั้งคำถามต่อ
หลาน ๆ ตอบอาก๋งว่า...
        “ที่เป็นแบบนั้น เพราะพวกเราต่างนั่งมองอยู่ในมุมของตัวเองครับ”
        “ดีมาก” อาก๋งชม แล้วสอนต่อ
        “นี่ขนาดพวกเจ้านั่งมองสิ่งเดียวกัน ในเวลาเดียวกัน เจ้ายังเห็นต่างกันได้ เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะมีความคิดหรือความเห็นที่แตกต่างจากผู้อื่นในเรื่องราวหรือเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นต่างกรรมต่างวาระในชีวิตเรา เพราะแต่ละคนก็มีมุมมองและประสบการณ์ที่แตกต่างกัน ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่เจ้ามีความเห็นไม่เหมือนคนอื่น จงอย่ากลัวว่าตัวเองผิด และถ้าผู้อื่นมีความเห็นไม่เหมือนเจ้า ก็จงอย่าโกรธว่าเขาผิด เพราะทุกคนก็มีสิทธิที่จะคิดแตกต่างกัน

        “ถ้าอย่างนั้น เราจะต้องทำยังไงถึงจะรู้ว่า ทำไมคนอื่นถึงเห็นสีไม่เหมือนเรา?” อาก๋งเปิดประเด็นใหม่
        “เราก็ลุกจากเก้าอี้ของเรา แล้วเดินไปมองในมุมของเขาซิครับ” หลานคนหนึ่งตอบหลังคิดอยู่สักครู่
        “ถูกต้อง” อาก๋งสนับสนุน พร้อมกับตั้งคำถามต่อ
        “ถ้าเรายอมที่จะเดินไปมองในมุมของเขาก่อน เป็นไปได้มั้ย...ที่เขาจะยอมมามองในมุมของเราบ้าง
        หลาน ๆ ผงกศรีษะรับ
        อาก๋งจึงสอนต่อว่า “เพราะฉะนั้น หากเจ้าต้องการสิ่งใด จงให้ก่อนรับ

        “แล้วทำไมในครั้งที่สอง พวกเจ้าถึงเห็นเหมือนกันล่ะ ?” อาก๋งถามคำถามเพิ่ม
        หลานแต่ละคนมีสีหน้าอึดอัด ต่างคนก็ต่างหันไปมองหน้ากันเอง อาก๋งก็เลยต้องช่วยตอบ

        “การที่พวกเจ้ามองโคมไฟในครั้งแรกแล้วเห็นสีแตกต่างกัน ก็เพราะพวกเจ้าไปมองที่ฝาครอบซึ่งเปรียบเสมือนเป็น ‘เปลือก’ ของมัน ส่วนในครั้งที่สอง ที่เจ้าเห็นเป็นสีเดียวกันก็เพราะว่าพวกเจ้าล้วนมองไปที่เปลวไฟ ซึ่งเปรียบเสมือนเป็น ‘แก่น’ ของมัน”

        “ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นไปได้ ต่อไปนี้เวลาที่เจ้าเห็นอะไร...อย่ามองในสิ่งที่เห็น แต่จงเข้าใจในสิ่งที่มันเป็น” ก๋งสรุปในที่สุด

นิวัฒน์  ลีวงศ์วัฒน์
28 มกราคม 2562

ขอบคุณภาพประกอบจาก...
www.flickr.com/photos/matthahnewald/21941605661

หมายเลขบันทึก: 659547เขียนเมื่อ 28 มกราคม 2019 23:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2019 12:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท