บ้านสวนขวัญข้าว ๖ "วิธีปรับปรุงดินแบบ CQW" ... ฮา


เกือบจะครบ ๑ ปี การสร้างแหล่งเรียนรู้ EF (Executive Functions) สำหรับ "ขวัญข้าว" พี่น้องสองสาวหลานชาวนา ...  ปัญหาใหญ่ที่สุดตอนนี้ คือ "ทำอย่างไรพวกเขาจะไปสวน?" .... เมื่อพ่อชวนไปสวน ทุกครั้งที่เด็กไป ไม่ใช่เพราะต้องการจะไปเรียนรู้พืชผักรักต้นไม้อะไร  จะไปเล่นฟุตบอล จะไปย่างมาสเมโล่ จะไปเพราะจะไปปล่อยกบ ปล่อยปลา ...  วิธีแก้ปัญหาตอนนี้คือ กำหนดเป็นตาราง เย็นวันจันทร์และพฤหัสบดี พ่อจะไปรับที่โรงเรียนแล้วเลยไปเล่นกันต่อ .... รอดูว่าจะได้ผลไหม

บ้านสวนขวัญข้าว กำลังอยู่ในช่วงของการปรับปรุงดิน ภาพด้านล่าง ผมถ่ายจากหอพักน้ำประปาวันนี้เอง (๒๐ มกราคม ๒๕๖๒)

แผนการปรับปรุงดิน

ดินที่นี่เป็นดินทรายปนดินเหนียว จริงๆ ก่อนจะขุดสระน้ำแต่งแปลงปลูกต้นไม้ ดินเป็นดินร่วนปนทราย แต่คนขุด (คนขับแมคโฮ) ไม่ได้ใส่ใจเรื่องหน้าดิน (แม้จะบอกและกำชับ แนะนำว่าใครจะขุดให้ไปยืนคุมเลย) เขาขุดเอาดินชั้นล่างขึ้นมาเป็นดินชั้นบน  หน้าดินในขณะนี้บางส่วนจึงเป็นดินเหนียวดินทามเกือบทั้งหมด ...

ไม่เฉพาะเรื่องลักษณะทางกายภาพของดินเท่านั้นที่เป็นปัญหา ความเค็มของดินก็เป็นโจทย์สำคัญ  น้ำใต้ดินที่เจาะลึกลงไปประมาณ ๘-๙ เมตร รสเค็มกร่อยชัด นำมารดต้นไม้... เฉาเหี่ยวตายไปหลายชนิด (ชมพู่ ทุเรียน เงาะ เรียบร้อยไปแล้ว)

มี ๒ วิธี ๑ คือเลือกปลูกเฉพาะต้นไม้ชอบดินเค็ม เช่น พืชใบหนา ใบหนาม ซึ่งลองดูแล้วก็ดูเหมือนจะได้ผลจริง ๆ  เช่น กล้วย ฝรั่ง มะพร้าว สาเก ขนุน ฯลฯ  อีกวิธี ๑ คือ การปรับปรุงดินให้หายเค็ม

จากการสืบค้นและศึกษาทฤษฎี มีผู้แนะนำ ๒ วิธีในการปรับปรุงดินเค็ม  ๑ คือใช้ปูนขาว อีกวิธี ๑ คือใช้แกลบดิบ... จะทดลองดูทั้งสองวิธี แล้วนำมาบันทึกแลกเปลี่ยนกันครับ

ส่วนวิธีที่ผมกำลังทดลองทำด้วยตนเองอยู่ขณะนี้คือ การทำปุ๋ยหมักในหลุมปลูก โดยปรับประยุกต์วิธีการทำปุ๋ยหมักทั่วไปที่ใช้ชั้นฟางข้าววางสลับกับชั้นปุ๋ยคอก   แทนที่จะหมักไว้ที่หนึ่ง รอฟางข้าวหรือใบไม้เปื่อยเป็นปุ๋ยแล้วจึงค่อยตักมาใช้ (แบบนั้นก็ทำครับ ดูรูปไกลจากภาพที่ ๒) แต่นำไปทำปุ๋ยหมักแบบนั้นในหลุมปลูกเลย โดยขุดหลุมขนาด ๕๐ x ๕๐ x ๕๐ ลูกบาศก์ซนติเมตร ... ดูไปคล้าย ๆ บ่อพลังงานในวิชาควอนตัมที่ผมสอนนิสิต ... จึงเรียกว่า Compost Quantum Well หรือการเตรียมหลุมปลูกแบบ CQW... ซึ่งน่าจะใช้เวลา ๖ เดือนในการหมัก  ... ปลูกก่อนฤดูฝนหน้าพอดี ๆ


แผนการทำให้ "เด็ก ๆ อยากไปสวน" 

ที่คิดได้ตอนนี้คือ การเปลี่ยนบ้านสวนขวัญข้าวให้เป็นสนามเด็กเล่น   เช่น มีชิงช้า มีกองดิน มีกระบะทราย มีสไลด์เดอร์ ฯลฯ ... บ้านบนต้นไม้ เป็นอีกเป้าหมาย (ลาง ๆ) ที่จะลองหาวิธีจัดให้มี เพื่อให้เด็กสนุกและสุขกับการเรียนรู้ธรรมชาติให้ได้

ท่านผู้อ่านมีวิธีอย่างไร โดยเฉพาะแบบที่ทำง่าย โปรดแนะนำทีครับ

เด็ก ๆ จะไปดูแปลงเกษตรพอเพียงของมหาวิยาลัย แต่เนื่องจากตรงกับช่วงวันที่เจ้าหน้าที่เตรียมงานพระราชพิธีรับปริญญา จึงไม่มีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่  ผมแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ชวนมาเรียนรู้ขั้นเริ่มต้นของคนเรียนรู้พอเพียงที่สวนครับ

หมายเลขบันทึก: 659368เขียนเมื่อ 19 มกราคม 2019 23:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มกราคม 2019 20:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะแวะมาให้กำลังใจ น้อง ขวัญ ข้าว ค่ะ ช่วยบอกน้องทั้งสองด้วยว่าในสายตาของคุณป้าหยั่งราก ฝากใบ เห็นว่าทั้งสองโชคดีมากที่ได้อยู่ในบ้านสวนขวัญข้าว ถือว่ามี ต้นทุนที่หลายคนโดยเฉพาะเด็กใน กทม. ไม่มี ค่ะ

ส่งกำลังใจให้นะคะ และขอติดตามการทำงานในวิถีพอเพียง นี้ต่อไปค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท