โลกของขา ‘หนีบ’ (pinch)


คำว่า ‘ขาหนีบ’ ในห้วงคำนึงของผู้บ่าวผู้ชื่นชอบการแบกไถโดยมากมักจะนึกถึงการเป็นไข่ดัน ในขณะที่ผู้สาวผู้เป็นเจ้าของนาข้าวยุคบิกีนีมักจะห่วงใยริ้วรอยปื้นดำเหนือสิ่งอื่นใด ซึ่งพจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้ให้คำจำกัดความ ‘ขาหนีบ’ ไว้ว่า ‘น. บริเวณโคนขาด้านหน้าตรงส่วนที่ต่อกับลำตัว.’ แต่หากแปลไทยเป็นไทยชนิดลึกล้ำแบบส่วนตัว ก็อาจหมายถึงต้นขาทั้งสองข้างที่คีบเหน็บของลับไว้ตรงกลางไม่ให้หลุดลอดไปไหนต่อไหน

คำว่า ‘หนีบ’ มีคำจำกัดความว่า ‘ก. คีบหรือบีบให้แรงให้แน่นด้วยของที่เป็นง่ามเช่นง่ามนิ้วมือหรือตะไกรเป็นต้น.’ อันเป็นคำโบราณที่ใช้กันอย่างค่อนข้างกว้างขวางในพวกไท-ไต (Tai) ตรงกับภาษาอังกฤษว่า pinch ดังนี้ (พิทยาภรณ์ ค.ศ.2009)

พวก Siamese และ Saek          เรียก      ni:p DL1 /หนีบ/

พวก Lungchow และ Shangsi          เรียก      nip DL1 /หนิบ/

พวก Yay                                      เรียก      nip DS1 /หนิบ/

คำโบราณสืบสร้าง Proto-Tai             *hni:p D /หนีบ/

ที่น่าสนใจคืออาการ ‘หนีบ’ จะเกิดเป็นรูปธรรมขึ้นได้ก็ต่อเมื่อถูกบีบเข้าหากันจากทั้งสองด้าน หรือด้วยแง่ง่ามของบางสิ่ง ทำให้มองอย่างต่อเนื่องในมุมของ ‘ชุดคำคล้าย’ ว่า มีคำใกล้เคียงที่ออกด้วยรูป –i:p /-อีบ/ รวมถึง –ip /-อิบ/ บนความหมายไม่ห่างชั้นอีกหลากหลายคำ เช่น

‘คีบ’ (clamp, pinch) มีคำจำกัดความตามพจนานุกรมไทยฯ ว่า ‘ก. เอาปลายสิ่งที่เป็นง่ามเช่นคีมหรือปลายไม้ ๒ อันจับสิ่งอื่นให้อยู่.’ ถึงแม้ว่าเป็นคำที่ อาจารย์พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์ ได้จัดให้เป็นคำยืมจากภาษาจีนในช่วงคริสต์ศตวรรษต้นๆ โดยพวกไท-ไตสาแหรกตะวันตกเฉียงใต้ (PSWT) ดังในบทความเรื่อง “Layers of Chinese Loanwords in Proto-Southwestern Tai as Evidence for the Dating of the Spread of Southwestern Tai” ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2014 คัดมาความว่า      

คำ Later Han Chinese              ɡep /เกบ/ (ɡ- เสียงก้อง)

คำโบราณสืบสร้าง PSWT                 *ɡi:p D /กีบ/ 

‘จีบ’ (plait) มีคำจำกัดความส่วนหนึ่งว่า ‘(๑) ก. พับกลับไปกลับมาหรือทำให้ย่นเป็นกลีบเป็นรอย เช่น จีบผ้า, เรียกผ้าที่จีบในลักษณะเช่นนั้น ว่า ผ้าจีบ (๒) (ปาก) ก. เกี้ยวพาราสี.’ มีลูกคำ เช่น จีบนิ้ว จีบปาก จีบปากจีบคอ จีบพลู

‘ตีบ’ (narrow) มีคำจำกัดความส่วนหนึ่งว่า ‘ว. มีอาการแคบเข้าผิดปรกติ (ใช้แก่สิ่งที่เป็นช่องกลวง) เช่น คอตีบ เส้นเลือดตีบ ไส้ตีบ.’

‘บีบ’ (squeeze) มีคำจำกัดความว่า ‘ก. ใช้มือเป็นต้นกดด้านทั้ง ๒ ของสิ่งใดสิ่งหนึ่งเข้าหากัน เช่น บีบมะนาว, โดยปริยายหมายถึง กดดัน เช่น ถูกบีบ.’ และมีลูกคำ เช่น บีบขนมจีน บีบขมับ บีบคั้น บีบน้ำตา บีบบังคับ บีบรัด

‘หีบ’ (press, squeeze) มีคำจำกัดความส่วนหนึ่งว่า ‘ก. บีบเค้นให้ส่วนที่ต้องการออกมา เช่น หีบอ้อย หีบฝ้าย.’ และมีลูกคำ เช่น หีบฝ้าย หีบสไบ

‘หยิบ’ (pick up) มีคำจำกัดความว่า ‘(๑) ก. เอานิ้วมือจับขึ้น. (๒) น. ประมาณของเท่า ๒ นิ้วมือหรือ ๓ นิ้วมือหยิบขึ้นครั้งหนึ่ง, หยิบมือ ก็เรียก.’ มีลูกคำ เช่น หยิบผิด หยิบมือ หยิบมือเดียว หยิบยก หยิบยืม หยิบหย่ง หยิบโหย่ง ใช้ทั่วไปในหมู่ไท-ไตดังนี้

พวก Siamese, Sapa และ Shangsi เรียก  jip DS1 /หยิบ/

พวก Cao Bang                          เรียก      Ɂep DS1 /เอ็บ/

พวก Lungchow                         เรียก      Ɂip DS1 /อิบ/ 

คำโบราณสืบสร้าง Proto-Tai                     *Ɂjip D /อยิบ/

และบางทียังอาจกินความไปที่คำว่า ‘เก็บ’ (pick up) บนคำจำกัดความว่า

‘เก็บ ๑ (๑) ก. เอาไปหรือเอามาจากที่ เช่น เก็บผ้า เก็บผลไม้, เอาเข้าที่ เช่น เอาหนังสือไปเก็บ เอารถไปเก็บ, เอาสิ่งของที่ตกหล่นอยู่ขึ้นมา เช่น เก็บของตก, รวบรวมไว้ เช่น เก็บคะแนน, เรียกเอา เช่น เก็บค่าเช่า เก็บค่านํ้า, รักษาไว้ เช่น ห้องเก็บของ. (๒) ว. ถ้าประกอบหลังคำนามหมายความว่า ที่เก็บไว้ เช่น ของเก็บ = ของที่เก็บไว้, เงินเก็บ = เงินที่ออมเก็บไว้, เมียเก็บ = เมียที่เก็บไว้ไม่ออกหน้าออกตา, หมากเก็บ = สิ่งที่เป็นเม็ดเป็นก้อนแข็ง เด็กใช้โยนเก็บขึ้นไว้ในมือ เป็นการเล่นชนิดหนึ่งของเด็ก.

เก็บ ๒ น. วิธีบรรเลงเครื่องดนตรีดำเนินทำนองทั่วไปที่เพิ่มเติมเสียงสอดแทรกให้มีพยางค์ถี่ขึ้นมากกว่าทำนองเนื้อเพลงธรรมดา, ทำนองเก็บ หรือ ลูกเก็บ ก็เรียก.’

ซึ่งถูกเรียกใช้กันในหลายพวกของไท-ไต (แม้ว่าบางพวกอย่าง Lungchow จะออกเสียงสระ –เอะ เป็น สระ –อิ ก็ตาม) เช่น

พวก Siamese และ Cao Bang      เรียก      kep DS1 /เก็บ/

พวก Bao Yen                             เรียก      kop DS1 /กบ/

พวก Lungchow และ Saek            เรียก      kip DS1 /กิบ/

พวก Yay                                    เรียก      cip DS1 /จิบ/

คำโบราณสืบสร้าง Proto-Tai                     *kep D /เกบ/

รวมถึงคำว่า ‘เหน็บ’ (insert) ซึ่งมีความหมายขยายใช้ในหลายลักษณะ เช่น เหน็บมีด เหน็บข้าวของ เหน็บแนม และเหน็บชา เป็นต้น ดังคัดจากพจนานุกรมไทยฯ มาว่า

‘เหน็บ ๑ น. ชื่อมีดขนาดกลาง ใบมีดรูปร่างปลายแหลม กลางป่อง โคนแคบ สันค่อนข้างหนา ด้ามทำเป็นกั่นสอดติดกับด้ามไม้หรือทำเป็นบ้องติดอยู่ในตัวก็มี ปรกติสอดใบมีดไว้ในฝักซึ่งทำด้วยไม้หรือหวายสาน นิยมเหน็บเอวด้านหลังหรือด้านหน้าในเวลาออกนอกบ้าน ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เรียกว่า มีดเหน็บ, มีดอีเหน็บ หรือ อีเหน็บ ก็เรียก.

เหน็บ ๒ (๑) ก. เสียบ, สอดไว้ในที่บังคับ (๒) ก. กิริยาที่เอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีสบู่เป็นต้นสอดเข้าไปในช่องทวารหนักเพื่อให้อุจจาระออก.

เหน็บ ๓ (๑) ก. พูดเสียดสีแคะไค้ เช่น เขาชอบมาเหน็บให้เจ็บใจ. (๒) ว. อาการที่พูดเสียดสีแคะไค้ ในคำว่า พูดเหน็บ. ลูกคำของ "เหน็บ ๓" คือ เหน็บแนม

เหน็บ ๔ น. อาการชาและเจ็บแปลบปลาบตามแขนขาเป็นต้น เกิดจากหลอดเลือดและเส้นประสาทหรืออย่างใดอย่างหนึ่งบริเวณนั้นถูกกดทับระยะหนึ่ง. ลูกคำของ "เหน็บ ๔" คือ เหน็บชา’ 

ที่สำคัญ ‘ชุดคำคล้าย’ บนรูปแบบ ‘ขาหนีบ’ นี้ ยังปรากฏอย่างชัดเจนในคำของพวกหลี/ไหล (Hlai) บนเกาะไหหลำ เช่น (Norquest ค.ศ. 2007)       

pinch: -หนีบ 

พวก Bouhin, Ha Em และ Lauhut          เรียก      tshi:p 7 /ชีบ/

พวก Tongzha, Zandui และ Baoting        เรียก     thi:p 7 /ถีบ/  

พวก Moyfaw                                      เรียก      tship 7 /ชิบ/

พวก Baisha                                         เรียก      thip7 /ทิบ/

และ Yuanmen                                    เรียก      thip7 /ถิบ/

คำโบราณสืบสร้าง Proto-Hlai                             *tɕhi:p /ฉีบ/

คำดั้งเดิมสืบสร้าง Pre-Hlai                                 *[c/ɕ]i:p /จีบ/

narrow: -แคบ

พวก Bouhin                                        เรียก      ɓi:b [9] /อบีบ/

พวก Ha Em, Lauhut,

Tongzha, Zandui และ Baoting              เรียก      ɓi:b 7 /อบีบ/

พวก Changjiang, Moyfaw

และ Yuanmen                                     เรียก      ɓib 7 /อบิบ/

พวก Baisha                                         เรียก    ɓib 8 /อบิบ/

คำโบราณสืบสร้าง Proto-Hlai                             *ɓi:b /อบีบ/

และคำดั้งเดิมสืบสร้าง Pre-Hlai                            *C-bi:p /*C-บีบ/

ยิ่งน่าสนใจไปกว่านั้น พบว่าพวกออสโตรนีเซียน (Austronesian) ก็ใช้คำในทำนองเดียวกันว่า pinch, squeeze, press together -หนีบ บีบคั้น อัดเข้าด้วยกัน เช่นคัดจาก Austronesian Comparative Dictionary, online edition: 2010-2019 www.trussel2.com ความว่า

Western Malayo-Polynesian;

พวก Ilokano                              เรียก      átip /อะติบ/ ทับซ้อน เช่น สังกะสีมุงหลังคา

พวก Cebuano                           เรียก      átip /อะติบ/ -เย็บเข้าด้วยกัน

พวก Tiruray                              เรียก      ʔatif /อาติฟ/ -ที่แคบๆ

พวก Kenyah (Long Anap)           เรียก      atip /อะติบ/  -คีมคีบถ่าน

n-atip /น-อะติบ/ -คีบด้วยคีม

t-atip /ต-อะติบ/ -ถูกจับ ถูกบีบอัด

พวก Kayan                                เรียก      atip /อะติบ/ -ที่แคบ ช่องแคบ

พวก Bidayuh (Bukar-Sadong)     เรียก      atip /อะติบ/ -ที่หนีบ

พวก Muna                                เรียก      ghati /กาติ/  -บีบ หนีบไว้ใต้วงแขน

Central Malayo-Polynesian;

พวก Buruese                            เรียก      ati-h /อะติ-ฮ/         บีบด้วยคีมหรือปากคีบ

                                                            ati-t /อะติ-ต/ คีม ปากคีบ

คำโบราณสืบสร้าง PMP                             *atip /อะติบ/ และ *qatip /คาติบ/

และอย่างยอดยิ่งในคำว่า part of the loom, breast beam of a back loom –ส่วนประกอบของกี่หรือหูกทอผ้า โดยเฉพาะพวกที่ทำหน้าที่หนีบขึงดึงให้ตึง เช่น

Formosan;

พวก Amis                                  เรียก    ʔatip /อาติบ/ -แกนม้วน แกนดึง (a weaver's bar)

พวก Kavalan                             เรียก     ŋatip /งาติบ/ -ไม้กำพั่น (cloth beam)

พวก Bunun                               เรียก     qatip-an /คาติบ-อัน/ -ส่วนประกอบของกี่ (part of the loom

Western Malayo-Polynesian;

พวก Yami                                  เรียก    acip /อะจิบ/ -แกนม้วนด้ายยืน (warp beam, used to roll up the expanded warp)

พวก Ilokano                              เรียก      átip /อะติบ/  -ไม้กำพั่น ((obs.) a staff, etc. upon which cloth is rolled)

พวก Isneg                                 เรียก      ásip /อะซิบ/ -แท่งไม้เรียว (spit, iron rod or pointed sliver of wood or bamboo; the stick on which rafters of light bamboo are strung, in temporary houses)

พวก Hanunóo                           เรียก      ʔátip /อาติบ/ -ไม้กำพั่น (lower end bar of a backstrap loom consisting of two wooden half rods which are bound together at the ends and onto which the woven cloth is wound as the work proceeds)

พวก Aklanon                            เรียก     átip /อะติบ/ -ไม้ค้ำยัน (large board or piece of wood used as a brace or support, particularly when grinding)

พวก Rungus Dusun                  เรียก     atip /อะติบ/ ไม้กำพั่น (split wood piece holding cloth on waist during weaving)

พวก Kankanaey                        เรียก     atíp-an /อติบ-อัน/ -ชิ้นส่วนไม้ (a piece of wood to which the warp is attached at its inferior part)

คำโบราณสืบสร้าง PMP                             *qatip /คาติบ/

และคำโบราณสืบสร้าง PAN                        *qatip /คาติบ/ และ *qatip-an /คาติบ-อัน/

จึงเห็นอย่างชัดถ้อย ณ ปลายบรรทัดว่า นี่เป็น ‘ชุดคำคล้าย’ ที่ใช้กันอย่างชัดคำ ชนิดทั่วโขงเขตข้องทั้งพวกไท-กะไดและออสโตรนีเซียน บนพื้นฐานรูปคำ –ip และความหมายที่พัวพันอย่างใกล้ชิดกับ ‘ขาหนีบ’ จนอาจกล่าวได้ว่า ควรถูกจัดให้เป็นอีกหนึ่งรากคำพยางค์เดียว ‘monosyllabic root’ อันเก่าแก่ระดับต้นด้ำโคตรวงศ์ โดยเบื้องต้น เป็นไปได้ที่อาจขึ้นนำด้วยเสียง *t- เกิดรูปคำ *tip ตามคำโบราณสืบสร้างออสโตรนีเซียน (PAN)  มากกว่าเสียงอื่นๆ

ก่อนตัดฉาก จึงให้นึกไปถึงคำว่า ‘ถีบ’ ในบางที ด้วยอาการงอขาหนีบ บีบข้อพับ และงับตีน ก่อนจะดีดฝ่าส้นดันออกไปกระทบกับผิวสัมผัสใดๆ ในบางอารมณ์ อาจคือหนึ่งในคำชั้นลูกหลานของรากคำพยางค์เดียว *tip ก็เป็นได้

สุดท้าย จึงขอเสนอเป็นข้อสังเกตแบบเผื่อเลือก เพื่อการถกเถียงไว้ ณ ที่นี้

สุพัฒน์ เจริญสรรพพืช

จันทบุรี 16 มกราคม 2562

ปล. ขอบคุณเจ้าของภาพด้วยรัก 

หมายเลขบันทึก: 659345เขียนเมื่อ 18 มกราคม 2019 07:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 สิงหาคม 2019 10:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท