ข่าวยุงลายตัวผู้


ยุงลาย
เมื่อเช้านี้ (8 ธ.ค. 49) ผมเดินทางมาถึงที่ทำงาน ซึ่งที่ทำงานของผมจะมีการตั้งสภากาแฟเล็กๆ เพื่อใช้พูดคุยกันเรื่อง การทำงาน และเรื่องอื่นๆ จนกระทั่งถึงเวลาประมาณ 08.15 น. มีสมาชิกท่านหนึ่งของสภากาแฟ เดินทางมาถึง แล้วพูดขึ้นว่า
“porpoh  รู้ข่าวหรือยังว่า ขณะนี้มี ยุงลายสายพันธุ์ใหม่ ที่กัดกินเลือดทั้งวันทั้งคืน และยุงตัวผู้ ก็กัดกินเลือดด้วย และในยุงลายตัวผู้ พบเชื้อไข้เลือดออก ถึง 2 สายพันธุ์ผมในฐานะเป็นผู้บริการงานวิชาการให้แก่สภากาแฟ จึงรีบตอบสวนกลับไปว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะเท่าที่ทราบมาว่า ยุงตัวผู้ นั้นไม่มีทางที่จะกัดกินเลือดคน หรือสัตว์ได้ เนื่องจากธรรมชาติได้ออกแบบปากของมันเพื่อให้ใช้ได้กับการดูดน้ำหวานเท่านั้น ไม่เหมือนยุงตัวเมีย ที่ปากจะออกแบบมาเพื่อการเจาะ และกัดกินเลือด สำหรับ ในส่วนที่ว่าในยุงตัวผู้ พบเชื้อไข้เลือดออก 2 สายพันธุ์ในตัวเดียว นั้นเป็นไปได้ เพราะว่าเชื้อไข้เลือดออกนั้น สามารถที่จะถ่ายทอดเชื้อจากแม่ยุงลายสู่ไข่ยุงลายได้ แต่มีเปอร์เซ็นต์ การถ่ายทอดน้อยมาก ไม่เหมือนเชื้อไข้สมองอักเสบ ที่มีเปอร์เซ็นต์ การถ่ายทอดสูงกว่า  ดังนั้นถ้าไข่ใบนั้นเป็นยุงตัวเมีย ก็จะทำใน การกัดกินเลือดครั้งแรกในชีวิตของมัน เป็นแพร่เชื้อไข้เลือดออกสู่คนด้วย แต่ถ้าไข่ใบนั้นเป็นยุงตัวผู้ เชื้อก็จะอยู่ในตัวของมันตลอดไปจนตาย แต่ก็สามารถที่ถ่ายทอดเชื้อ ผ่านทางน้ำเชื้อให้แก่ยุงตัวเมียได้แต่ สมาชิกท่านนั้น ยืนยัน หนักแน่นว่า ผู้ประกาศข่าวชื่อดัง ได้อ่านข่าวว่า ยุงตัวผู้กัดกินเลือดได้จริงๆ  จึงทำให้ผมเริ่มจะลังเล ว่าเรื่องที่ผมได้เรียน ได้รู้ มามันเก่าไปแล้วหรือเปล่า จึงรีบกลับมาที่โต๊ะทำงาน แล้วเริ่ม Internet เพื่อหาข่าวดังกล่าวว่า จริงแล้วเขาเขียนว่าอย่างไร ผลที่ค้นได้ ข่าวจาก หนังสือพิมพ์ไทยรฐ 
สธ.เตือนระวัง พบยุงลายกัด ไม่เลือกเวลา [8 ธ.ค. 49 - 04:30]
ภาวะโลกร้อน ทำให้เกิดผลกระทบด้านสุขภาพ เป็นที่เปิดเผยเมื่อวานนี้ (7 ธ.ค.) โดย นพ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โรคระบาด ที่เกิดจากภาวะโลกร้อนว่า จากการประชุมประเมินสถานการณ์การระบาดของโรคติดต่อในภาวะโลกร้อนในระดับนานาชาติ เมื่อเร็วๆนี้ มีความกังวลถึงผลกระทบด้านสุขภาพที่จะเกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อน เนื่องจากอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น จะส่งผลให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การฟักตัวของเชื้อโรคและศัตรูพืชที่เป็นอาหารของมนุษย์บางชนิด ทั้งนี้ โรคที่ฟักตัวได้ดีในสภาพร้อนชื้นของโลก มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นในระยะเวลา 10-20 ปีข้างหน้า โรคที่เกิดจากยุงเป็นพาหะ เช่น ไข้เลือดออก มาลาเรีย รวมทั้งโรคจากอาหารและน้ำ เช่น อหิวาตกโรค ไทฟอยด์ บิด อาหารเป็นพิษ เป็นต้น นอกจากนี้ สภาพอากาศที่ร้อนชื้นยังทำให้แบคทีเรียในอากาศมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ โอกาสในการ แพร่ระบาดสูง ในอนาคตมีความเป็นไปได้ว่า โรคเหล่านี้หากไม่รีบรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ อาจมีโอกาสเสียชีวิตสูงถึง 60% อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า สำหรับโรคไข้ เลือดออกถือว่าเป็นโรคที่ต้องจับตามองมากที่สุด เพราะนอกจากจะยังไม่มียาหรือวัคซีนในการรักษาแล้ว ปัจจุบันยังพบว่า ยุงลายซึ่งเป็นพาหะสำคัญของโรค ซึ่งเคยออกหากินในเวลากลางวัน ได้เปลี่ยนมาออกหากินในเวลาพลบค่ำจนถึง 5 ทุ่ม ทำให้ยากต่อการป้องกันหรือวินิจฉัยโรค เพราะที่ผ่านมา ยุงที่หากินในช่วงหัวค่ำไปจนถึงดึกนั้นส่วนใหญ่จะเป็นยุงรำคาญ แต่ตอนนี้ไม่สามารถระบุได้ เพราะในช่วงหัวค่ำถึงกลางดึก ยุงลายก็ออกหากินเหมือนกัน จึงควรระมัดระวังไม่ให้ยุงกัดทุกช่วงเวลาจะปลอดภัยที่สุด ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้เคยมีการศึกษาของภาควิชา ปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ถึงการเปลี่ยนแปลงชีวนิสัยของยุงลายภายหลังเกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ ซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในธรรมชาติ พบว่ายุงลายตัวผู้ ปกติจะไม่กินเลือดคน แต่จะกินน้ำหวานจากพืช กลับพบว่ามีเชื้อไวรัสเดงกี่ (Dengue Virus) เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคไข้เลือดออก ทำให้สงสัยว่ายุงลายตัวผู้ได้เชื้อนี้มาจากแหล่งใด ในเมื่อไม่กินเลือดคน นพ.ธวัชกล่าวอีกว่า จากการศึกษาต่อเนื่องทำให้ ทราบว่า ยุงลายตัวผู้น่าจะได้รับเชื้อนี้มาจากแม่ยุงลายที่ติดเชื้อผ่านทางไข่ และยุงลายตัวผู้ที่ติดเชื้อก็สามารถถ่ายทอดเชื้อไวรัสเดงกี่ไปยังตัวเมียที่มาผสมพันธุ์ได้ ในธรรมชาติยุงตัวผู้ผสมพันธุ์ได้หลายครั้ง จึงมีโอกาสแพร่เชื้อได้มาก และตัวเมียที่ได้รับเชื้อมาจากตัวผู้ ก็สามารถถ่ายทอดเชื้อไวรัสเดงกี่ที่ได้รับจากตัวผู้ไปให้กับลูกได้ แต่ยุงลายตัวเมียจะไม่สามารถถ่ายทอดเชื้อนี้ให้กับยุงลายตัวผู้ที่มาผสมพันธุ์ได้ จึงอาจเป็นไปได้ว่าไวรัสเดงกี่ถ่ายทอดผ่านน้ำเชื้อของยุงลายตัวผู้ นอกจากนี้ ยังมีการตรวจพบเชื้อไวรัสเดงกี่ในลูกน้ำยุงลายอีกด้วย แต่ที่น่าสนใจก็คือ หลังจากที่ผู้ศึกษาได้สกัดเอาเชื้อไวรัสเดงกี่ที่อยู่ในตัวยุงลายตัวผู้ออกมาศึกษาด้วยวิธี อาร์ที-พีซีอาร์ (RT-PCR) ซึ่งเป็นวิธีการตรวจแบบพิเศษ ก็พบว่า ยุงลายตัวผู้บางตัวมีเชื้อไวรัสเดงกี่ 2 สายพันธุ์ในตัวเดียวกัน ซึ่งถือว่าอันตราย จำเป็นต้องมีการศึกษาต่อไปอีกว่า เชื้อไวรัสชนิดนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรต่อไปหรือไม่ เพื่อหาแนวทางควบคุมการระบาดของไข้เลือดออก รวมถึงการกำจัดและควบคุมยุงลายทั้งปี ไม่ใช่รอให้มีการระบาดก่อนแล้วค่อยมากำจัดยุงลายหรือลูกน้ำยุงลายทีหลัง สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกตั้งแต่ต้นปี จนถึงวันที่ 25 พ.ย. 2549 มีผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสม 39,314 ราย ตาย 56 ราย จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุด 10 อันดับ คือ สมุทรสงคราม ลพบุรี นนทบุรี อุทัยธานี นครปฐม สุพรรณบุรี สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา กาฬสินธุ์ และประจวบคีรีขันธ์
 จากเหตุการณ์ดังกล่าว ก่อให้เกิดบทเรียน หลายๆ เรื่อง แต่ผมจะขอยกคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ทรงสอนเราไว้ตั้ง 2500 ปีก่อน เรื่อง  กาลามสูตร 10 ประการ1.       อย่าได้เชื่อถือ        โดยการฟังตามกันมา2.       อย่าได้เชื่อถือ        โดยการถือสืบๆ กันมา3.       อย่าได้เชื่อถือ        โดยการเล่าลือ4.       อย่าได้เชื่อถือ        โดยการอ้างตำรา5.       อย่าได้เชื่อถือ        โดยตรรกะ6.       อย่าได้เชื่อถือ        โดยการอนุมาน7.       อย่าได้เชื่อถือ        โดยการคิดตรองตามแนวเหตุผล8.       อย่าได้เชื่อถือ        เพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีของตน9.       อย่าได้เชื่อถือ        เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าเชื่อ    และ10.    อย่าได้เชื่อถือ        เพราะนับถือว่าท่านเป็นครูของเราเพราะฉะนั้นถ้าท่านใดอ่านจบมาถึงตรงนี้ ก็ขอให้อย่าเชื่อผม ให้ลองค้นคว้าศึกษาดูเอาเองนะครับ
คำสำคัญ (Tags): #ยุงลาย
หมายเลขบันทึก: 65928เขียนเมื่อ 8 ธันวาคม 2006 09:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท