ลาว งำ เมิง


คำว่า ‘งำ’ (to govern, to keep) เป็นคำโบราณคำหนึ่งของพวกไท-ไต ปรากฏหลักฐานอย่างชัดเจนในจารึกวัดเชียงมั่น จารึกพระญางำเมืองและพระญาร่วง ในชื่อนามของ 'ลาวงำเมิง' หรือ 'พรญางำเมือง' กษัตริย์แห่งภูกามยาวเมืองกว๊านพะเยา ผู้ดำรงกฤษฎาภินิหารแห่ง 'แดดก็บ่อฮ้อน ฝนก็บ่อฮำ จักให้แดดก็แดด จักให้บดก็บด' ผู้เป็นพระสหายคนสำคัญของพญามังรายและพ่อขุนรามคำแหง ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 เป็นคำที่มีความหมายทั่วไปว่าการเข้าครอบงำมีอิทธิพลเหนือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และมีคำจำกัดความตามพจนานุกรมไทยฯ ว่า ‘ก. ปิด เช่น งำความ, ปกครอง เช่น งำเมือง, รักษา ในคำว่า เก็บงำ, บางทีใช้เข้าคู่กับคำ ครอบ เป็น ครอบงำ.'

หากที่น่าสนใจคือว่า 'งำ' ควรเป็นคำร่วมเชื้ออสายกับคำของทางพวกหลี/ไหล (สาแหรกหนึ่งของไท-กะไดที่อาศัยอยู่บนเกาะไหหลำ) ที่สืบสร้างเป็นภาษาโบราณ P-Hlai ว่า *C.ŋɯ:m /*C.งืม/ และต่อเนื่องไปยังพวกฟอร์โมซาทั้งหลาย (สาแหรกออสโตรนีเซียนที่อาศัยอยู่บนเกาะไต้หวัน) เช่นคำว่า yurum, LəmLəm, vulum, olom, lolom, llum, medelulum, urum เป็นต้น ซึ่งมีความหมายในภาษาอังกฤษเหมือนกันว่า 'cloud(y)' ที่แปลว่าเมฆ มืดมัว ไม่แจ่มใส มืดคลุ้ม เป็นต้น

และยังควรอยู่ในกลุ่มเดียวกับชุดคำคล้าย ‘กร่ำ/กรอม/กร่อม’, ‘ขำ/ขาม/ขุม’, ‘ครึ้ม/คร่ำ/คร้าม/คร่อม’, ‘งึม/ง้ำ/งม/งอม’, ‘จำ/จุ่ม/จม/จ่อม’, ‘ชำ/ช่ำ/ชุ่ม/ชอม’, ‘ซำ/ซึม/ซุ่ม/ซม’, ‘ถุม’, ‘ทึม/ทุ่ม’, ‘บ่ม’, ‘พำ/พรำ/พร่ำ/พึม’, ‘หมม/มอม’, ‘รำ/ร่ำ/รุม/รม’, ‘สุม/สุ่ม’ และ ‘อำ/อ่ำ/ออม’ เป็นต้น

ยันลงไปถึงคำสองพยางค์ของพวกมาเลย์-อินโดนีเซียน เช่น ‘aram’ มืดมัว ทึบ, ‘beram/biram’ สีแดงเข้ม, 'buram’ สีออกด้าน, ‘curam’ ลึกล้ำ, ‘eram’ อยู่แต่ในบ้าน ไม่ออกไปไหนมาไหน, ‘geram’ โกรธจนตัวแดงก่ำ, ‘guram’ หมองมัว ไม่สดใส, ‘iram’ สีตก เปลี่ยนสี ใช้กับผ้า, ‘karam’ จมลงที่ก้นทะเล มักใช้กับเรือ, ‘keram’ อยู่แต่ในบ้าน เฝ้าบ้าน, ‘laram’ จำนวนมาก, ‘muram’ มืดมัว เงียบเหงา, ‘peram’ เพาะบ่มให้สุก ใช้กับผลไม้ หรือเก็บความลับไว้ไม่เปิดเผย, ‘rambang' ล้างหน้าล้างตาด้วยการเอาหน้าจุ่มลงไปในน้ำ, ‘seram' ขนลุกตั้งชันเพราะความกลัว, ‘siram’ ล้างน้ำหรืออาบน้ำให้สะอาด, ‘suram’ มืดมน ไม่รู้เรื่องรู้ราว ไม่ชัดเจน ตามัวก็ได้, ‘taram’ มัวๆ สลัวๆ เป็นต้น

ที่คาดว่าแตกตัวพัฒนาลงมาจากรากคำพยางค์เดียว 'monosyllabic root' *ram/rum อันเก่าแก่ชนิดต้นด้ำโคตรวงศ์ ผู้เป็นคู่หูคู่ชีวิตกับรากคำพยางค์เดียว *lam/lum/lem อันโด่งดัง

สุพัฒน์ เจริญสรรพพืช
จันทบุรี 10 ธันวาคม 2561

หมายเลขบันทึก: 659118เขียนเมื่อ 4 มกราคม 2019 22:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มกราคม 2019 22:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท