คำนิยม หนังสือ สอนสร้างสรรค์ เรียนสนุก ยุค ๔.๐



คำนิยม

หนังสือ

สอนสร้างสรรค์ เรียนสนุก ยุค ๔.๐

วิจารณ์ พานิช

..............

ผมขอแสดงความยินดีที่สังคมไทย โดยเฉพาะวงการศึกษาไทย มีหนังสือดีอีกเล่มหนึ่ง คือหนังสือ สอนสร้างสรรค์ เรียนสนุก ยุค ๔.๐  เล่มนี้    จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้คือ เขียนบอกทั้งทฤษฎีและวิธีปฏิบัติอย่างง่ายๆ สั้นๆ กระชับ    และยกตัวอย่างครูที่ใช้วิธีการที่เสนอ ประสบผลสำเร็จมาแล้ว    ในบางกรณีมีลิ้งค์ให้เข้าไปชมคลิปสั้นๆ ใน YouTube ช่วยให้ได้เห็นวิธีปฏิบัติในชั้นเรียนโดยตรง เป็นหนังสือที่อ่านแล้วนำไปใช้ปฏิบัติได้ทันที    และผมเชื่อว่า ครูจะประจักษ์ผลได้ภายในเวลาอันสั้น

หนังสือเล่มนี้เหมาะสำหรับครูที่ต้องการเปลี่ยนแปลงตนเอง จากครูผู้อำนวยการสอน    ไปสู่ ครูผู้อำนวยการเรียนรู้  

เป็นหนังสือสำหรับอ่านเพื่อนำไปปฏิบัติ    ไม่ใช่แค่อ่านเพื่อรู้ 

เมื่อปฏิบัติแล้วครูจะเห็นผล   ทั้งที่การเรียนรู้ของศิษย์  และของตัวครูเอง

วิธีการหลักที่เสนอในหนังสือได้ชื่อว่า CBL (Creativity-Based Learning)    ซึ่งอาจมีผู้เข้าใจผิดจากชื่อหนังสือ ว่าเป็นวิธีการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์เท่านั้น    ซึ่งที่จริงก็เป็นความเข้าใจที่ไม่ผิด แต่ไม่ครบ    และเป็นความเข้าใจที่พลาดเป้าหมายที่แท้จริงไป    เป้าหมายที่แท้จริงอยู่ในหนังสือหน้า ๕๘   “เน้นการพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ ๒๑” โดยที่ความคิดสร้างสรรค์เป็นส่วนหนึ่งของ “ทักษะในศตวรรษที่ ๒๑”    ผมจึงขอเสนอว่า เป้าหมายของ CBL ในหนังสือเล่มนี้คือ เพื่อให้นักเรียนได้พัฒนาเต็มศักยภาพและครบด้าน  

ผมตีความว่า CBL ตามที่เสนอในหนังสือเล่มนี้    เป็นการจัดการเรียนรู้โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ที่มีอยู่แล้วโดยธรรมชาติในตัวเด็ก  เป็นเครื่องมือให้เกิดการเรียนรู้ที่สนุกสนานท้าทาย    และเกิดผลลัพธ์การเรียนรู้ครบด้านตามหลักการการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ และเกิดการพัฒนาเต็มศักยภาพ 

ข้อดีของหนังสือเล่มนี้คือ เสนอวิธีการที่มีขั้นตอนเป็นรูปธรรม นำไปใช้ได้ทันที    ผมขอเสนอต่อคุณครูทั้งหลายว่า เมื่อนำวิธีการเหล่านี้ไปใช้   ให้สังเกตว่าวิธีการ พฤติกรรม กิริยาท่าทาง น้ำเสียง คำพูด ฯลฯ ของครู แบบใดบ้างที่ส่งเสริม context ของการเรียนรู้ของนักเรียน   แบบใดบ้างมีผลลบ    แล้วบันทึกไว้  และปรับปรุงวิธีดำเนินการของตนเอง    ท่านจะค้นพบ “ความรู้ใหม่” ว่าด้วยการประยุกต์ใช้ CBL มากมาย    และอาจถึงกับค้นพบหลักการ (ทฤษฎี) ของ CBL เพิ่มเติม

ขอย้ำว่า นอกจากหลักการและวิธีการที่เสนอในหนังสือเล่มนี้ ครูยังต้องพัฒนา “ทักษะในชั้นเรียน” (classroom skills) ของตน ในการใช้หลักการและวิธีการนี้อย่างได้ผลทรงพลัง ควบคู่ไปด้วย

นอกจากอ่านแล้วนำไปปฏิบัติ   ผมเสนอให้คุณครูช่วยพัฒนา CBL ของ ดร. วิริยะ ให้ทรงพลังยิ่งขึ้นไปอีก ในบริบทของแต่ละโรงเรียน  แต่ละภูมิสังคมของนักเรียน   หากมีครูทำเช่นนี้จำนวนหนึ่ง หนังสือ สอนสร้างสรรค์ เรียนสนุก ยุค ๔.๐ เล่มนี้ ก็จะมีผลสร้างวงจรการเรียนรู้จากการปฏิบัติของครู    และหากมีการรวมกลุ่มครู เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทาง กระบวนการ ผล และการยกระดับ CBL  ก็จะเกิด PLC (Professional Learning Community) ของครู CBL

ผมขอเชียร์ให้ ดร. วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ และ ดร. วรวรรณ นิมิตพงษ์กุล ทำงานร่วมกันต่อไปอีก ในการขับเคลื่อน  PLC ของครู CBL   ผมเชื่อว่าจะนำไปสู่หนังสือ สอนสร้างสรรค์ เรียนสนุก ยุค ๔.๐ เล่ม ๒

และที่สำคัญที่สุด เป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพพลเมืองไทยในอนาคต

ผมขอแสดงความชื่นชมต่อท่านผู้เขียนทั้งสอง ที่ร่วมกันผลิตหนังสือที่ทรงคุณค่าเล่มนี้ออกสู่สังคมไทย    ขอกุศลผลบุญจากกิจกรรมนี้ จงดลบันดาลให้ ดร. วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ และ ดร. วรวรรณ นิมิตพงษ์กุล มีความสุข มีความอิ่มเอิบใจ เกิดพลังที่จะทำคุณประโยชน์แก่วงการศึกษาไทยต่อไปอีกยาวนาน

วิจารณ์ พานิช

๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๑  

หมายเลขบันทึก: 659050เขียนเมื่อ 1 มกราคม 2019 17:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มกราคม 2019 17:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท