ชุมชนน่าอยู่ตำบลเขาพระบาท อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช


การบรรยายเรื่อง

"การสร้างเสริมสุขภาพในทศวรรษหน้า (หรืออีกชื่อหนึ่งว่า การสาธารณสุขยุคใหม่)"

อำนาจ ศรีรัตนบัลล์ 20 ธ.ค. 61

ที่จริงก็พูดกันมานานเกินทศวรรษแล้ว เพราะฉะนั้นเริ่มกันได้ตั้งแต่วันนี้เลย ขอเสนอด้วยรูปแบบ ตามที่เสนอโดยอดีตผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกาในภาพที่ 1

                                                ภาพที่ 1 พีระมิดผลกระทบต่อสุขภาพ


รูปพีระมิดมียอดแคบฐานกว้าง ข้างในแสดงเรื่องที่มีผลกระทบต่อสุขภาพไว้ 5 เรื่อง ได้แก่ 1.ให้สุขศึกษา 2.ให้การรักษา 3.สร้างภูมิคุ้มกัน 4.ปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อพฤติกรรมสุขภาพ และ 5.แก้ไขปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจที่มีผลต่อสุขภาพ สามข้อแรก เราน่าจะรู้จักกันดี เพราะมีมา นานแล้วและต้องมีต่อไป แต่สองข้อหลังเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ โปรดสังเกตว่า สองข้อนี้อยู่ที่ฐานพีระมิด ซึ่งมีความหมายว่า มีผลกระทบต่อสุขภาพของคนจำนวนมาก นั่นคือถ้าทำได้จะเกิดผลดีต่อสุขภาพของ คนจำนวนมาก และที่เรียกว่า การสร้างเสริมสุขภาพในทศวรรษหน้า หรือ การสาธารณสุขยุคใหม่ก็คือ การเน้นที่สองข้อนี้ คือข้อ 4 การปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อพฤติกรรมสุขภาพ และข้อ 5 การแก้ปัญหา สังคมและเศรษฐกิจที่มีผลต่อสุขภาพ
ขอเริ่มที่ข้อ 5 อยู่ที่ฐานของพีระมิดแสดงว่า มีผลต่อสุขภาพของคนมากที่สุด น่าจะสำคัญที่สุด
ผมมาเขาพระบาทครั้งแรกเมื่อ 9 ปีก่อน เพื่อดูงานที่บ้านดอนโรง เป็นครั้งแรกที่เห็นโครงการ ของกระทรวงสาธารณสุขทำเรื่องอาชีพ ทราบว่าเป็นเพราะชาวบ้านเห็นว่าสำคัญจึงขอทำก่อน แล้วต่อไป ค่อยทำเรื่องสุขภาพแท้ๆ ที่น่าสนใจคือ มีผลลัพธ์ทางสุขภาพเกิดขึ้นโดยไม่เจตนา เห็นได้จากอัตราการ คัดกรองมะเร็งปากมดลูกของบ้านดอนโรงที่สูงเกิน 90 % (ที่อื่นทำได้ 50% ก็เก่งแล้ว) ต่อมาเมื่อได้พบ กับประธานกลุ่มต่างๆในหมู่บ้านกว่าสิบกลุ่ม มีประธานเป็นผู้หญิงทั้งนั้น (ยกเว้นกลุ่มโนรา) จึงหาย แปลกใจ เพราะเมื่อผู้หญิงรวมตัวกันได้ย่อมสื่อสารเรื่องดีๆกันได้อย่างรวดเร็ว ประเด็นนี้มีชื่อเรียกเก๋ๆว่า การสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม ที่เกิดขึ้นเมื่อชุมชนมีการรวมตัวกันได้ดีแสดงว่าเขาพระบาทมีจุดเริ่มต้น ที่ดีอยู่แล้ว โปรดดูภาพที่ 2

                        ภาพที่ 2 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรามีสุขภาพดีและมีความสุขคือ ความสัมพันธ์ทางสังคม


"ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรามีสุขภาพดีและมีความสุขคือ ความสัมพันธ์ทางสังคม" เป็นข้อสรุปของ ผลการวิจัยจากการติดตามนักศึกษามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดจำนวน 268 คนเป็นเวลา 75 ปี เรื่องนี้มี การนำเสนอทาง TED TALK ที่มีคนเปิดดูแล้วกว่า 24 ล้านครั้ง ในประเทศไทยก็น่าจะมีคนสนใจมาก จนมีคนแปลคำบรรยายเป็นภาษาไทยตั้งแต่ต้นจนจบ ผู้สนใจหาดูได้ โดย Google ด้วยคำว่า อะไรทำให้เราแข็งแรงและมีความสุข
เจตนาอย่างหนึ่งของโครงการชุมชนน่าอยู่คือ การสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน เพื่อให้มี การร่วมคิดร่วมทำ จะได้เกิดความสัมพันธ์ทางสังคม ทั้งในระดับครอบครัวและระดับชุมชน เพื่อทำให้เรา แข็งแรงคือสุขภาพดี และมีความสุข

.                                        ภาพที่ 3 มาจากส่วนหนึ่งของรายงานความสุขโลกปี 2018 


รายงานความสุขโลกปี 2018 จาก 156 ประเทศทั่วโลก คนไทยมีความสุขอยู่อันดับที่ 46 ในภาพแสดงเฉพาะประเทศในเอเชีย ประเทศไทยเป็นรองเฉพาะไต้หวัน สิงคโปร์ และมาเลเซีย มีความสุขมากกว่าประเทศอื่นๆแม้ประเทศที่ร่ำรวยกว่า เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ทั้งๆที่ปีนี้ประเทศไทย มีอันดับตกต่ำไปมาก การประเมินครั้งก่อนๆ ประเทศไทยเป็นรองเฉพาะสิงคโปร์ประเทศเดียว ที่นำมาเสนอก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าคนไทยมีความสุขมากกว่าหลายๆประเทศ เหตุผลสำคัญอย่างหนึ่ง คือ คนไทยมีความสัมพันธ์ทางสังคมค่อนข้างจะดีกว่าประเทศอื่นๆ นี่เป็นจุดแข็งอย่างหนึ่งของคนไทย ที่ไม่ควรปล่อยให้หายไป

.                    ภาพที่ 4 ความสัมพันธ์ทางสังคมกับความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต: การทบทวนแบบ meta-analysis


ความสำคัญของความสัมพันธ์ทางสังคมเห็นได้จากข้อสรุปของผลการทบทวนงานวิจัยในภาพ ที่ 4 ว่า จากการทบทวนผลการวิจัย 148 รายการที่เกี่ยวข้องกับคนกว่า 3 แสนคนพบว่า "... อิทธิพลของ ความสัมพันธ์ทางสังคมที่มีต่อความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตนั้น เทียบเท่ากับการสูบบุหรี่และการดื่ม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสูงกว่าการออกกำลังกายและโรคอ้วน...." ซึ่งจะกล่าวถึงปัจจัยเหล่านี้ในข้อ 4

.                             ภาพที่ 5 ความสัมพันธ์ระหว่างรายได้กับอายุคาดเฉลี่ย 


ปัจจัยที่สำคัญทางเศรษฐกิจที่มีผลต่อสุขภาพได้แก่ รายได้ ในภาพที่ 5 แนวตั้งเป็นอายุคาดเฉลี่ย แนวนอนเป็นรายได้ต่อคนเทียบเป็นเงินดอลลาร์ แต่ละจุดสีม่วงเป็นแต่ละประเทศ โปรดสังเกตว่า ประเทศที่รายได้น้อยเช่น ประมาณปีละ 1,000 ดอลลาร์อายุคาดเฉลี่ยน่าจะราว 50 ปี หากรายได้เพิ่ม เท่าตัวเป็น 2,000 ดอลลาร์ อายุคาดเฉลี่ยจะเพิ่มเป็นราว 60 ปีนั่นคือเพิ่มขึ้น 10 ปี แต่ประเทศที่รายได้ เฉลี่ยสูงอยู่แล้ว เช่นประมาณ 10,000 ดอลลาร์ หากรายได้เพิ่มเท่าตัวเป็น 20,000 ดอลลาร์ อายุ คาดเฉลี่ย แทบไม่ต่างไปจากเดิมเลย ข้อสรุปคือ เรื่องเพิ่มรายได้ประโยชน์เห็นชัดในผู้มีรายได้น้อย ดังนั้นในเรื่องเศรษฐกิจถ้าทำเรื่องเพิ่มรายได้ ควรมีเป้าหมายหลักเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับผู้มีรายได้น้อย จึงจะมีผลต่อสุขภาพ

.                    ภาพที่ 6 ความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษากับอายุคาดเฉลี่ย


จากภาพที่ 6 ผู้ที่จบการศึกษาระดับมัธยมอายุคาดเฉลี่ยสูงกว่าผู้ที่จบระดับประถม ผู้ที่จบสูงกว่า ระดับมัธยมอายุคาดเฉลี่ยสูงกว่าผู้ที่จบระดับมัธยม เช่น ผู้ชายที่การศึกษาสูงกว่าระดับมัธยมจะมีอายุ คาดเฉลี่ยสูงกว่าผู้ชายที่การศึกษาระดับประถมห้าปีเศษ เป็นต้น
สรุปว่า การแก้ไขปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจที่มีผลต่อสุขภาพควรสนใจใน 3 เรื่อง ได้แก่
1. ความสัมพันธ์ทางสังคม อาจเริ่มจากกลุ่มสภาผู้นำฯก่อน แล้วขยายไปสู่กลุ่มผู้เข้าร่วมกิจกรรม ต่างๆ ของโครงการ (ในการกำหนดกิจกรรม จึงควรคำนึงถึงประเด็นนี้)
2. เรื่องรายได้ ควรเน้นไปที่ผู้มีรายได้น้อย ดังนั้นอาจใช้จำนวนผู้ถือบัตรผู้มีรายได้น้อยที่ลดลง เป็นตัวชี้วัด
3. การศึกษา ควรมีเป้าหมายที่การจบการศึกษาระดับมัธยม และต่อไปก็ยกระดับขึ้นเป็นสูงกว่า ระดับมัธยม จะเป็นอาชีวศึกษาหรืออุดมศึกษาก็ได้ไม่ต่างกัน
ขอย้อนกลับไปข้อ 4 เรื่องพฤติกรรมสุขภาพ

                                                 ภาพที่ 7


พฤติกรรมสุขภาพที่สำคัญ เพราะมีผลต่อสุขภาพมาก มี 4 อย่าง (ในภาพที่ 7) ได้แก่
1. การออกกำลังกาย - คนออกกำลังกายอายุยืนกว่าคนไม่ออกกำลังกาย 1.8 - 4.5 ปี
2. การกินผักและผลไม้ - คนกินผักผลไม้วันละ 400 กรัมอายุยืนกว่าคนไม่กินเลย 37 เดือน
3. การไม่สูบบุหรี่ - คนที่เลิกสูบบุหรี่ได้ อายุยืนกว่าคนเลิกไม่ได้ 6-10 ปี
4. การไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ - คนติดเหล้าแต่เลิกได้อายุยืนกว่าคนเลิกไม่ได้ 7.6 ปี
และคนที่มีพฤติกรรมดีๆนี้ครบทั้ง 4 อย่าง อายุยืนกว่าคนที่ไม่ดีครบทั้ง 4 อย่าง 17.9 ปี
น่าจะยังจำได้ว่า ความสัมพันธ์ทางสังคมมีอิทธิพลเท่าๆกับการไม่สูบบุหรี่ และไม่ดื่มเหล้า และมีอิทธิพลมากกว่าการออกกำลังกาย และความอ้วน (ได้อาหารมากเกิน) ดังนั้น หากทำได้ทั้งสองข้อคือ พฤติกรรมและความสัมพันธ์ทางสังคม ก็จะได้ประโยชน์ ต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น

.                                                                ภาพที่ 8


ที่กล่าวมาข้างต้น คือ การสร้างเสริมสุขภาพในทศวรรษหน้า ที่เรานำมาใช้กับโครงการ ชุมชนน่าอยู่ สำหรับโครงการชุมชนน่าอยู่ เรามีหลักการ ดังแสดงไว้ในภาพที่ 8 มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. มีชุมชนระดับหมู่บ้านเป็นศูนย์กลาง - เพราะหมู่บ้านมีขนาดไม่ใหญ่เกินไป สามารถเข้าถึงได้ เกือบทุกครัวเรือนและเกือบทุกคน จึงเหมาะกับการสร้างเสริมสุขภาพ
2. ให้มีสภาผู้นำชุมชนเป็นตัวแทนของชุมชน - ประกอบด้วยผู้นำที่เป็นทางการและไม่เป็น ทางการ ที่มีอยู่แล้วในหมู่บ้าน พยายามหาคนดีคนเก่งคนที่พูดจารู้เรื่องและคนที่มีจิตอาสามาร่วมทำงาน
3. เริ่มต้นสร้างความเข้มแข็งให้กับสภาผู้นำฯ ด้วยการให้ทำโครงการสร้างเสริมสุขภาพ ที่เลือกเอง - เพื่อเรียนรู้จากการลงมือทำ
4. สภาผู้นำฯมีพี่เลี้ยงช่วยเสริมพลัง - (บทบาทพี่เลี้ยงดูได้จากเรื่องครูเปาโลในเอกสาร "การสร้างเสริมสุขภาพและการเสริมพลังชุมชน" หาเอกสารโดย Google ด้วยชื่อเรื่อง)
5. สภาผู้นำฯ รวบรวมข้อมูลชุมชนอย่างเป็นระบบ - เพื่อจัดทำแผนชุมชนพึ่งตนเอง ที่ประกอบ ด้วยแผนทำเอง ทำร่วม และทำขอ
6. ต่อไปทำโครงการที่เกี่ยวข้องกับการปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อพฤติกรรมสุขภาพ
7. ต่อไปทำโครงการที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจที่มีผลต่อสุขภาพ
8. ควรเลือกกิจกรรมแบบที่ชุมชนมีส่วนร่วมสูง - เพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม
9. การทำโครงการใดๆต้องมุ่งทำให้เกิดผลลัพธ์ - ผลลัพธ์คือ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับ กลุ่มเป้าหมายหรือสภาพแวดล้อมของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งจะมีผลทำให้สุขภาพของกลุ่มเป้าหมายดีขึ้น

.                                 ภาพที่ 9 ลักษณะกิจกรรมแบบที่ชุมชนมีส่วนร่วมสูง


โปรดดูลักษณะกิจกรรมแบบที่ชุมชนมีส่วนร่วมสูง ในภาพที่ 9
* ร่วมตัดสินใจ มีความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของ เช่น ในกรณี การทำข้อตกลง หรือการกำหนดกติกาของกลุ่มหรือของชุมชน จะทำให้มีการปฎิบัติตามสูงโดยไม่จำเป็น ต้องมีบทลงโทษ สามารถใช้เป็นวิธีการหนึ่งของการสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อพฤติกรรม ใช้ได้ผลดี กับสภาฯ กลุ่มขนาดเล็ก เช่นกลุ่มเยาวชน หรือกลุ่มร้านค้า หรือแม้แต่ชุมชนโดยรวม ข้อสำคัญคือการมี ส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการตัดสินใจ

                                                            ภาพที่ 10


เป้าหมายสิบปีของสสส. (ภาพที่ 10) มีอยู่ด้วยกัน 10 ประการ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่ม ปัจจัยกำหนดสุขภาพที่ดีขึ้น 6 ประการ ประกอบด้วย ปัจจัยด้านพฤติกรรม 4 ประการ คือ ลดอัตรา การสูบบุหรี่ ลดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพิ่มอัตราการบริโภคผักผลไม้เพียงพอ และ เพิ่มการมีกิจกรรมทางกายประจำ และปัจจัยด้านสังคม 2 ประการ ได้แก่ เพิ่มครอบครัวอบอุ่น และเพิ่มชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง
กลุ่มสุขภาพดีขึ้น 4 ประการ ประกอบด้วย ลดโรค 2 ชนิดคือ ลดการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ และลดภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนในเด็ก ลดการตาย 1 ชนิดคือ อัตราตายจากอุบัติเหตุทางถนน และเพิ่ม 1 อย่างคือ เพิ่มประชาชนที่มีความสุข

.                                          ภาพที่ 11 โครงการชุมชนน่าอยู่


ภาพที่ 11 แสดงโครงการชุมชนน่าอยู่ ที่นำเป้าหมาย 10 ประการในเป้าหมายสิบปีของสสส. มาจัดใหม่ โดยมีเป้าหมายชุมชนเข้มแข็งเป็นศูนย์กลางคือ เริ่มต้นด้วยการสร้างความเข้มแข็งให้กับ ชุมชน โดยใช้โครงการสร้างเสริมสุขภาพที่ชุมชนเป็นผู้เลือกประเด็นเองเป็นเครื่องมือ ถ้าชุมชนเลือก กิจกรรมที่มีการมีส่วนร่วมสูง จะมีส่วนช่วยสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม นำไปสู่เป้าหมายครอบครัว อบอุ่น (สร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว) และเป้าหมายทุกคนมีความสุข (สร้างความสัมพันธ์ชุมชน)ได้ และเมื่อชุมชนเริ่มเข้มแข็งแล้วก็สามารถนำความเข้มแข็งนั้น มาดำเนินงาน เพื่อไปสู่เป้าหมายด้าน ปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อพฤติกรรมสุขภาพ ได้แก่ การออกกำลังกาย การกินผักผลไม้ให้เพียงพอ การไม่สูบบุหรี่และการลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และแก้ไขปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจ เช่น การเพิ่มรายได้ให้กับผู้มีรายได้น้อย และการเพิ่มการศึกษาให้เกินกว่า 12 ปี เป็นต้น

                                                    ภาพที่ 12

ภาพที่ 12 แสดงให้เห็นว่า การดำเนินงานตามแนวคิดการสร้างเสริมสุขภาพในทศวรรษหน้า ของโครงการชุมชนน่าอยู่ มีเป้าหมายให้ชุมชน (โดยสภาผู้นำฯ) มีความเข้มแข็ง สามารถดำเนินงาน ได้ด้วยตนเองเป็นส่วนใหญ่ (ทำเอง) ในเรื่องการปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อพฤติกรรมสุขภาพ และ การแก้ไขปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจที่ผลต่อสุขภาพ ส่วนที่ไม่อาจทำได้เองโดยลำพัง จึงเสนอขอ ความช่วยเหลือจาก รพสต. หรือ อปท. (ทำร่วม) ส่วนที่เป็นงานใหญ่กว่านั้นก็เสนอต่อหน่วยงานระดับ สูงกว่าต่อไป (ทำขอ) สภาผู้นำฯ จึงเป็นองค์กรสำคัญต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของชุมชน ทั้งด้าน สุขภาพ ความอยู่ดีมีสุข และคุณภาพชีวิต
ต่อไปนี้จะกล่าวถึงการนำหลักการนี้มาใช้กับตำบลเขาพระบาท (โปรดดูภาพที่ 13)

.                                ภาพที่ 13 นโยบายตำบลเขาพระบาท ปี 2562

1. ถ้าสภาผู้นำฯและชุมชนแต่ละหมู่บ้านมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายนี้ โอกาสที่จะมี การดำเนินงานตามนโยบายย่อมเกิดขึ้นได้สูง
2. ตามแนวคิดการสร้างเสริมสุขภาพทศวรรษหน้า ต้องต่อยอดจากการรณรงค์ ให้เป็นการ ลงมือทำ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์
3. เริ่มด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รวบรวมไว้อย่างเป็นระบบตามที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า สภานการณ์ทั้ง 5 ข้อ มีข้อใดเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขบ้าง เพื่อนำมาวางแผน ดำเนินการแก้ไข และติดตามประเมินผลต่อไป ข้อที่ไม่เป็นปัญหา ก็เพียงแค่คอยดูข้อมูลครั้งต่อไป
4. ข้อ 4 และข้อ 5 คาดว่าไม่มีปัญหา ด้วยเหตุผลที่กล่าวไว้ข้างต้น สำหรับข้อ 1,2,3 มีตัวอย่าง การวางแผนแบบใช้บันไดผลลัพธ์ในภาพที่ 14,15,16 ตามลำดับ

ภาพที่ 14 (ARE ย่อมาจาก Action research evaluation คือ การติดตามประเมินผลเพื่อการเรียนรู้และพัฒนา)


.                                                       ภาพที่ 15

.                                                           ภาพที่ 16

.                                     ภาพที่ 17 วงจร การวางแผน ทำ ตรวจสอบ ทบทวน

                                ภาพที่ 18 วงจร การประเมินผลเพื่อการเรียนรู้และพัฒนา

.                                 ภาพที่ 19 สรุป

.                                              ภาพที่ 20 เอกสารอ่านเพิ่มเติม


หมายเลขบันทึก: 658869เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2018 23:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 ธันวาคม 2018 23:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ท่านอาจารย์ได้สรุปหัวใจของ “การสร้างเสริมสุขภาพแนวใหม่” ผ่านกระบวนวนการเสริมพลัง empowerment ซึ่งชุมชน-สังคม-ครอบครัว เป็นประธานหรือผู้คิด+ผู้ทำหลัก ผ่านการร่วมทุกข์ ร่วมสุข ร่วมหารือ (ในรูปแบบที่เรียกว่า “ความสัมพันธ์ทางสังคม” ) นำสู่ผลลัพธ์ที่จะเปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนครอบครัว เปลี่ยนชุมชน ได้จริงและยั่งยืนกว่าการที่บุคลากรทางการแพทย์/สาธารณสุข ได้เคยไปทำให้ด้วยความปรารถนาดี เพราะบุคลากรท่านเหล่านั้นมีความรู้มากกว่า ซึ่งจัดเป็นการสร้างเสริมสุขภาพแบบเดิมๆ ซึ่งลงแรงอย่างเกือบจะสูญเปล่า เมื่อเทียบกับ “การสร้างเสริมสุขภาพแนวใหม่” ทั้งนี้ท่านคยอธิบายความหมายที่แท้ของ “การเสริมพลังชุมชน” ไว้หลายวาระว่า ….พลังในที่นี้หมายถึง พลังในการตัดสินใจ จำทำอะไร จะเลิกอะไร (เช่น หยุดยาวปีใหม่นี้ ชาวบ้านทั้งหมู่บ้านจะดูแลให้ลูกหลานดื่มสุราได้แต่ดื่มแล้วไม่ขี่มอร์เตอร์ไซด์จนกว่าจะสร่างเมา) หรือ พลังในการควบคุมการใช้ทรัพยากร (เช่น เงิน 500 บาทซึ่งรัฐบาลเพิ่มโอนเข้าบัตรคนจน ครอบครัวร่วมกันคิดว่าควรนำไปใช้จ่ายอย่างไรจึงจะเกิดประโยชน์ต่อครอบครัวมากที่สุด) พลังที่ว่านี้ไม่อาจโอนจากหมอ พยาบาล บุคลากรสาธารณสุขไปยังชาวบ้านได้โดยการอบรมสอน แต่เสริมให้ชาวบ้านมีโอกาสได้ทำกับมือ แล้วเรียนรู้ผ่านการลองผิดลองถูก โดยมีการชวนทบทวนสิ่งที่ทำว่าได้ผลเพราะอะไร ถ้าไม่ได้ผลต้องปรับปรุงอะไรได้….(ตัวอย่างในวงเล็บ ผมยกมาให้เหมาะกับเหตุการณ์ขณะนี้ครับ)

หลัการเสริมพลังชุมชน โดย รศ.นพ.อำนาจ ศรีรัตน์บัลล์ ซึ่งผมบันทึกโน้ตย่อไว้เมื่อมีนาคม 2560

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท