ประยงค์
ร้อยตรี ประยงค์ ธรรมมะธะโร

กฐินสามัคคี


                                                                   กฐินสามัคคี
       ผมได้มอง เห็น สัมผัส ร่วมรับรู้ประสบการณ์  งานกฐินสามัคคี ทั้ง วัดหลวง วัดราษฎร์มาหลายปีพอสมควร คิดว่าอยากจะบันทึกไว้เป็นความเห็น(ส่วนตัว) เล่าสู่กันฟัง ตามประสาคนแก่ ดังนี้
1. สายก่อ   งานจำเป็นต้องมีรูปแบบการจัดการ  ตั้งแต่กำหนดวัน /เวลา จำนวนพุ่มย่อย(สายต่างๆ ) จำนวนโรงทาน ฯ บุคคลเหล่านี้ มักจะเป็นท่านเจ้าอาวาส  คณะกรรมการ  ผู้ศรัทธาวัด ฯ ดำเนินการ
2. สายกุศล  บุคคลเหล่านี้ คือผู้ทำบุญจริงๆ จังๆ  ส่วนใหญ่จะเข้าวัดประจำอยู่แล้ว มาร่วมงานทั้งวัดใกล้บ้าน วัดไกลบ้าน คุ้นหน้าคุ้นตากันเป็นอย่างดี บุคคลกลุ่มนี้ค่อนข้างสูงอายุ และมีฐานะ มีหน้ามีตาทางสังคม ฯ
3. สายเกื้อกูล บุคคลเหล่านี้คือผู้ทำบุญตามโอกาส ตามเวลา หรือตามช่วงประเพณีสำคัญๆ บางครั้งมาร่วมแบบตั้งใจ บางครั้งได้รับการขอสนับสนุนมาช่วยงานเป็นครั้งคราว บุคคลกลุ่มนี้มักเป็นนักธุรกิจ  พ่อค้า แม่ค้า ฯ  
4. สายกิน, กอบโกย   คนเหล่านี้ จะเห็นชินหน้าชินตาเตะตา ตระเวนตามงานต่างๆ มีภาชนะ อุปกรณ์เตรียมพร้อม บางทีเป็นครอบครัว เป็นกลุ่มคนประจำ  เป็นกลุ่มเฉพาะกิจ เดินถือกินตามโรงทานต่างๆ  ถือของเต็มไม้เต็มมือ แถมพ่วงถุงหอบหิ้วพะรุงพะรัง เอามาสุมๆ ไว้ที่พาหนะ มีลูกหลาน มีคนรับของคอยถ่ายข้าวของเก็บๆ ไว้ คนเดิมก็ออกเดินเวียนไปตามโรงทานต่างๆ ไปเอาของมาอีก อันนี้ก็เข้าใจนะว่า เป็นการเตรียมการณ์ไว้ล่วงหน้า เผื่อไว้กินหลายๆ มื้อ หลายๆ วัน น่าเห็นใจอย่างยิ่ง คนกลุ่มนี้มักจะเป็นครอบครัวขัดสน  หรืออยู่ในภาวะรองานทำ น่าปลื้มใจแทนท่านผู้เป็นเจ้าของโรงทาน ที่ได้มีโอกาสทำบุญอย่างใหญ่หลวง ขออนุโมทนานะครับ
5. สายเก็บ  เมื่อเลิกงานแล้ว  ที่เหลือก็จะมีบุคคลเหล่านี้คือ  พระสงฆ์  คณะกรรมการ ผู้ศรัทธาวัดฯ ร่วมกันเก็บกวาด  มัดผูก ดึง ตัด ขนเอาสิ่งต่างๆ ที่เกินความจำเป็น เช่น ขยะ วัสดุตกแต่งงาน ฯ นำไปแปรรูป ทิ้งถังขยะเทศบาล ฝังกลบให้กลับคืนสภาพเดิม
6. สายโกง    คนเหล่านี้ มีไปร่วมทุกงาน แฝงตัว คอยจังหวะ โอกาส ฉก ชิง วิ่งราว กรีดกระเป๋า ล้วงทรัพย์ หยิบฉวย กลอุบาย ลวงหลอก ล่อ ผู้มาทำบุญที่เผลอไผล ไม่ระวังตัว หรือซื่อๆ เพื่อปรารถนาทรัพย์สิน สิ่งของมีค่าในตัว คนเหล่านี้มักไม่มีงานทำเป็นหลักแหล่ง เร่ร่อนไปเรื่อยๆ แทบทุกจังหวัดที่มีการจัดงานหรือมหกรรมต่างๆ
   ครับ เล่าสู่กันให้ทราบพฤติกรรมของบุคคล คน ที่มีในงาน เพื่อจะได้ไม่ประมาทหรือเพิ่มความระมัดระวังตัว และจะมีความรู้สึก”ดีใจ  ภูมิใจ  อิ่มใจ ปลื้มใจ” ในการทำบุญ พร้อมกับไม่”ถอดใจ”ในการทำบุญนะครับ

หมายเลขบันทึก: 658237เขียนเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2018 14:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2018 14:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท