ชีวิตที่พอเพียง : 168. น้ำหลาก


        เช้าวันที่ ๓ พย. ๔๙ ผมนั่งเครื่องบิน บางกอก แอร์เวย์ส ไปสุโขทัย      เพื่อไปบรรยายเรื่อง Chaordic Organization ในการประชุมเครือข่าย University KM Network (UKM) ครั้งที่ ๘      ระหว่างเดินทางผมได้เรียนรู้จากการนั่งเครื่องบิน ATR 72 ซึ่งบินไม่สูงนัก  ยังมองเห็นทิวทัศน์ข้างล่างได้ค่อนข้างชัด

        ตอนแรกผมคิดว่าเครื่องบินกำลังบินผ่านบริเวณที่เป็นบึง      พอสังเกตมากเข้า จึงนึกขึ้นได้ว่าไม่ใช่    แต่เป็นบริเวณที่มีน้ำหลาก  มองเห็นแม่น้ำอยู่ไม่ไกล  เห็นถนน  หมู่บ้าน  และบริเวณที่ลุ่มที่มีน้ำขังอยู่เต็ม     เครื่องบินบินขึ้นเหนือไปเรื่อยๆ    ผมมองเห็นบริเวณที่น้ำหลากเป็นบริเวณกว้างบ้าง แคบบ้าง เต็มไปหมด     คิดจินตนาการว่า ในสมัยโบราณน้ำหลากคงจะมากมายและชัดเจนกว่านี้     ถึงขนาดพม่าจะมาตีไทยยังต้องวางแผนอย่าให้โดนฤดูน้ำหลาก

         ผมเพิ่งเข้าใจเรื่องน้ำหลากเมื่อไม่ถึง ๑๐ ปีมานี้เอง      จากการไปดูที่ลุ่มน้ำสงคราม ทางภาคอีสาน     โดย รศ. ศรีศักร วัลลิโภดม เมธีวิจัยอาวุโส พาไปดู      ท่านทำวิจัยวัฒนธรรมปลาแดก ในบริเวณลุ่มน้ำสงคราม     ท่านชี้ให้เห็นว่าพอถึงฤดูฝน บริเวณ ๒ ฝั่งน้ำจะมีน้ำหลากเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ     เราไปดูเห็นน้ำหลากเป็นบริเวณกว้างสุดสายตา     มองไม่ออกว่าตรงไหนเป็นแม่น้ำ ตรงไหนเป็นบก     พอหมดหน้าน้ำแม่น้ำแคบนิดเดียว บางตอนกว้างแค่ ๓ - ๔ วา      ตอนน้ำหลาก ชาวบ้านจะรู้ว่าตรงไหนเป็นแหล่งที่ปลาจะมารวมตัวกันอยู่มาก     เขาจะหมุนเวียนกันมาจับ (แบบแบ่งปันกัน - วิถีชีวิตที่พอเพียง)      จับปลาได้มาก จนต้องพัฒนาเทคโนโลยีถนอมอาหาร     จึงได้วัฒนธรรมปลาแดก (ปลาร้าในภาษาท้องถิ่น)     แดก แปลว่ายัด     ที่บ้านผมที่ชุมพรเวลาเราพูดคำหยาบ เราจะพูดว่าแดกข้าว     แปลว่ายัดข้าวเข้าปากแบบรีบๆ มูมมามไม่มีมรรยาท    ปลาแดกจึงหมายถึงปลาที่ยัดในไห ใส่เกลือเพื่อถนอมไว้เป็นอาหารกินได้เป็นปี

        คนไทยสมัยนี้ กับคนไทยสมัยก่อน มีมุมมองต่อน้ำหลากไม่เหมือนกัน     สมัยนี้เราเรียกว่า "น้ำท่วม" และต้องหาทางเอาชนะ ไม่ให้น้ำท่วมบริเวณที่เราอยู่     แต่คนสมัยก่อนมองว่า "น้ำหลาก" เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ที่เราต้องอยู่กับมัน     จึงสร้างบ้านใต้ถุนสูง  พัฒนาพันธุ์ข้าวขึ้นน้ำ ให้ต้นทะลึ่งสูงหนีน้ำท่วมได้     และอาศัยความอุดมสมบูรณ์ที่มากับน้ำหลากในการดำรงชีวิตอย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ

วิจารณ์ พานิช
๓ พย. ๔๙   ปรับปรุงเพิ่มเติม ๓๐ พย. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 65693เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2006 09:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ผมคิดว่านี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการที่เราไปเอาวัฒนธรรมตะวันตก (การเอาชนะธรรมชาติ) มาใช้ เรื่องนี้เรื่องเดียวก็ให้บทเรียนที่มหาศาลแล้วครับ (ที่ไม่เอาวัฒนธรรมของตัวเองเป็นฐานหรือว่าเป็นตัวตั้งของการเรียนรู้เพื่อการดำเนินชีวิต)

ฐานคิด ฐานความรู้ ฐานวิถีชุมชน มันสับสนปนเปจนไม่ทราบเหตุผลที่คนสมัยก่อนเขาแก้ปัญหากันมาอย่างไร ยุคคนร้อยพ่อพันแม่ขยายบ้านขยายเมือง ไม่ได้มองรากฐานของการแปงบ้านแปงเมือง พอคิดผิดก็เดินหน้าต่อไปผิด แม้แต่จะมีวิชาผังเมือง ผมก็ไม่แน่ใจว่าเอาวิชาการจากเมืองนอกมาจับทั้งดุ้นหรือเปล่า การแก้ไขผิดๆ ก็คงจะเหมือนนั่งรถไปอุบล แต่ไปขึ้นขบวนไปเหนือ ความเสียหายมันไม่ถึงกับชักดิ้นชักงอ แต่ก็ต้องทนทู้ซี่อยู่กันไปแบบหวานอมขมกลืน ทราบปัญหา แต่ไม่รู้ที่มาปัญหา และไม่ทราบว่าจะหาวิธีมาแก้ปัญหาอย่างไร ทุกเทศบาล ทุกเมือง ของเราจึงเจริญแบบมีแต่เปลือกนอก เหมือนนั่งทับขี้ไว้กันทั้งนั้น
  ขอบพระคุณครับ
อ่านแล้วทำให้นึกถึง บันทึกนี้ ที่ผมเขียนไว้นานแล้วครับ ใช้ชื่อไม่ค่อยดีนักว่า "สมน้ำหน้า" ( อยากโง่นัก .. อะไรทำนองนั้น )
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท