ประสบการณ์ใหม่ในชุมชน


" ดิฉันเป็นนักศึกษากิจกรรมบำบัดชั้นปีที่ 4 ได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสกับวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนคลองมหาสวัสดิ์ เนื่องจากวิชาเรียน Community base practice occupational therapy (กิจกรรมบำบัดในชุมชน) วันนี้จึงได้มีโอกาสมาบอกเล่าความรู้สึก สิ่งที่ได้เรียนรู้ และสิ่งที่อยากพัฒนาตนเองต่อไป เพื่อแชร์ประสบการณ์ สะท้อนความคิด ความรู้สึกจากตัวดิฉันสู่คุณผู้อ่าน "


Reflection จากการลงชุมชนคลองมหาสวัสดิ์

ที่มา https://www.sarakadee.com/2014/02/25/klongbangluang/

05/09/61 การลงชุมชนคลองมหาสวัสดิ์ครั้งแรกนี้ ดิฉันได้เจอกับผู้รับบริการสูงอายุ เพศหญิง อายุ 83 ปี คุณยายป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง นอนติดเตียง มีลูกสาวคอยดูแลทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเช็ดตัว เปลี่ยนเสื้อผ้า ป้อนอาหารและยาทางสาย ช่วยพลิกตะเเคงตัว ทาครีม เป็นต้น ซึ่งการดูแลผู้ป่วยติดเตียงนั้นไม่ได้เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน แต่ลูกสาวก็ได้กระทำด้วยความเต็มใจ เพื่อให้คุณยายได้มีชีวิตรอดอยู่ด้วยความสบายกาย กินอิ่มนอนหลับ ถึงแม้คุณยายจะพูดไม่ได้ แต่ดิฉันสามารถสัมผัสได้ถึงความรัก ความผูกพันธ์จากแววตาที่คุณยายและลูกสาวสื่อถึงกันได้ 

ซึ่งทำให้ดิฉันรู้สึกประทับใจในการไปครั้งนี้ และได้เรียนรู้ว่าการแสดงความรัก ความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณนั้นเป็นสิ่งที่ควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง และหากเป็นไปได้ควรเริ่มกระทำตั้งแต่ตอนนี้เป็นต้นไป ไม่ต้องรอให้ถึงเวลาเจ็บป่วยหรอก  เพราะบางทีมันอาจจะสายเกินไป….

สำหรับสิ่งที่ดิฉันควรพัฒนา คือ การเก็บรวบรวมข้อมูลยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์มากนัก แต่ก็ยังสามารถกลับไปเก็บข้อมูลได้ในครั้งถัดไป


12/09/61 การลงชุมชนคลองมหาสวัสดิ์ครั้งที่สอง ดิฉันได้มีโอกาสกลับไปเยี่ยมคุณยายอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งครั้งนี้ดิฉันได้เตรียมตัววางแผนการรักษาร่วมกันกับเพื่อนมาแล้ว ดิฉันรู้สึกตื่นเต้นที่ได้มีโอกาสลงมือปฏิบัติจริงเสมือนเป็นห้องหนึ่งอีกห้องหนึ่งเลยก็ว่าได้ 

การไปในครั้งนี้ทำให้ดิฉันได้เรียนรู้ว่า การลงมือปฏิบัติในบริบทจริงนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็น เนื่องจากได้เจอผู้รับบริการจริง ได้รับรู้ถึงปัจจัย สภาพแวดล้อมที่เอื้อหรือขัดขวางต่อการรักษา ซึ่งสิ่งเหล่านั้้นสามารถนำไปใช้ในการวางแผนการรักษาได้อย่างตรงจุดต่อไปได้

อีกทั้งการสอนวิธีการดูแลผู้สูงอายุติดเตียง หรือการให้ความรู้พื้นฐานแก่ผู้ดูแลเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะหากเขาปฏิบัติตามคำเเนะนำอยู่เป็นประจำสม่ำเสมอ ก็จะช่วยประคองคุณภาพชีวิต คุณภาพจิตใจไม่ให้ย่ำแย่ไปกว่าเดิม ซึ่งผู้ดูแลนั้นจะต้องมีความรับผิดชอบ ดูแลอย่างจริงใจ และหากเป็นบุคคลในครอบครัวได้ก็ยิ่งดี

สำหรับสิ่งที่ดิฉันควรพัฒนา คือ การพัฒนาแนวทางการรักษาที่สามารถช่วยเหลือผู้รับบริการให้เกิดผลลัพธ์ที่ยั่งยืนให้ได้มากที่สุด


Reflection จากการลงชุมชน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กคลองมหาสวัสดิ์


19/09/61 การลงชุมชนครั้งนี้ดิฉันได้มีโอกาสเข้าถึงโรงเรียนในชุมชน ซึ่งเป็นอีกบริบทหนึ่งที่กิจกรรมบำบัดได้ให้ความสำคัญ ดิฉันและเพื่อนๆได้เตรียมตัววางแผนดำเนินการโดยมุ่งเน้นไปที่การประเมินพัฒนาการในเด็กโดยใช้แบบประเมิน Denver II และผ่านการทำกิจกรรมการเล่นฐานต่างๆ เช่น ฐานกิจกรรมส่งเสริมกล้ามเนื้อมัดเล็ก ฐานกิจกรรมส่งเสริมกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ฐานกิจกรรมส่งเสริมภาษา  กับเด็กประมาณ 25 คน

ความรู้สึกดิฉัน ณ ตอนนั้น คือ รู้สึกสนุกสนานร่วมกันกับเด็กๆ แต่ก็มีความรู้สึกกังวลใจอยู่เล็กน้อยว่าจะสามารถคุมเด็กๆให้ร่วมมือทำกิจกรรมได้สำเร็จหรือไม่ ทำให้ฉันได้เรียนรู้ว่าการใช้ทักษะการปรับเปลี่ยนกิจกรรมให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละกลุ่ม แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดี เข้าถึงเด็กแต่ละคนได้อย่างเหมาะสม เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง

สำหรับสิ่งที่ดิฉันควรพัฒนา คือ การฝึกทักษะการสังเกตุขณะเด็กทำกิจกรรมให้ละเอียด ครอบคลุมในทุกๆด้าน พร้อมกับการให้การรักษาที่ฉับพลันทันใด



Reflection จากการลงชุมชนวัดไทร ตำบลท่ากระชับ อำเภอนครชัยศรี นครปฐม

23/09/61 การลงชุมชนในครั้งล่าสุดนี้ดิฉันได้มีโอกาสอยู่ฐานการให้คำปรึกษาสำหรับผู้ที่มีปัญหาทางด้านความเครียด และซึมเศร้า ดิฉันรู้สึกกังวลเพราะไม่รู้ว่าผู้รับบริการจะเข้ามาปรึกษาพร้อมกับกับปัญหาไหน แล้วดิฉันจะให้คำปรึกษาอย่างไรต่อไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถอย่างหนึ่ง

สาเหตุส่วนใหญ่ของผู้รับบริการที่เข้ามาพบ คือ ความเครียดจากการทำงาน ฐานะทางเศรษฐกิจ และไม่มีอะไรทำในผู้สูงอายุ

ปัจจุบัน ผู้รับบริการที่อยู่กับภาวะเครียดหรือภาวะซึมเศร้านั้น มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่รู้ตัวเอง แต่มีบางคนที่อาจจะไม่รู้ตัว คุณสามารถทดสอบตัวเองผ่านการทำแบบประเมินต่างๆได้ ซึ่ง ณ ที่นี้ดิฉันขอแนะนำแอพพลิเคชั่นที่สามารถดาวโหลดได้ง่ายๆในโทรศัพท์ คือ “Mental Health” ภายในแอพพลิเคชั่นคุณสามารถทำแบบประเมินได้ 6 ด้าน ซึ่งมีภาวะเครียด และซึมเศร้าอยู่ในนั้น

จากการลงชุมชนในครั้งนี้ทำให้ดิฉันเรียนรู้ในการเห็นถึงความสำคัญของสภาพจิตใจเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ถึงแม้จะมีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงเพียงไหน หากคุณเครียดหรือมีภาวะซึมเศร้า สิ่งเหล่านั้นล้วนส่งผลเสียทั้งสิ้น เช่น การนอนไม่หลับ รู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า ไม่มีกำลังใจในการทำงานต่อไป ท้อแท้ ผิดหวัง ไม่มีความสุข สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อการทำกิจวัตรประจำวัน และทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลงได้ เพราะฉะนั้นควรพึงระวังเป็นอย่างยิ่ง ควรมีการปรับเปลี่ยนตนเอง คิดบวก ผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ทำกิจกรรมร่วมกับคนที่รักหรือคนในครอบครัว เป็นต้น

สำหรับสิ่งที่ดิฉันควรพัฒนา คือ การฝึกฝนเทคนิคการกระตุ้นให้ผู้รับบริการได้คิดหาทางแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง, การปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (CBT)



หมายเลขบันทึก: 655027เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2018 08:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 ตุลาคม 2018 16:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท