ดูไปคิดไป ๓ : เปรียบเทียบหนังลูกอีสานกับอวตาร


ดูไปคิดไป ตอนที่ ๓ เป็นการเล่าเชิงเปรียบเทียบ จากการได้ชมภาพยนตร์ เรื่อง ลูกอีสานเเละอวตาร ด้วยแนวคิดเชิงระบบ เเนวคิดระบบฐานทรัพยากร และเเนวคิดนิเวศวิทยาวัฒนธรรม โดยเป็นการมองในหลายมิติ ให้เห็นถึงความเหมือนและความต่างผ่านมุมมองความคิดที่เชื่อมโยงสู่เศรษฐกิจท้องถิ่น ในบทความนี้ จึงเป็นการถอดบทเรียนผ่านมุมมองเเนวคิดดังกล่าว ซึ่งอธิบาย ดังนี้ 

๑.เปรียบเทียบเเนวคิดเชิงระบบ
๑.๑ ความเหมือน
๑.๑.๑ ระบบปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต (Physiological) ที่ต้องพึ่งพาระบบธรรมชาติในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค โดยในลูกอีสาน มีการหาอาหารเลี้ยงชีพตนเองเเละครอบครัว มีการหาสัตว์ป่าตามท้องไร่ ท้องนา เเละตามป่าในพื้นที่ ที่อยู่อาศัยก็ปรับวัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาสร้างบ้านเรือน เสื้อผ้าก็ใช้การทอมือหรือซื้อเอาในท้องที่ และยารักษาโรคก็เอาตามธรรมชาติในท้องถิ่น  ในส่วนของหนังอวตารก็หาอาหารตามป่าธรรมชาติรอบชุมชนของตนเอง ที่อยู่อาศัยพึ่งพาธรรมชาติเป็นหลัก เครื่องนุ่งห่มมาจากใบไม้หรือผ้าทอมือหรือหนังสัตว์ และยารักษาโรคมาจากธรรมชาติที่มีอยู่เเล้ว เชื่อมโยงสู่ระบบอื่นๆที่เป็นผลของระบบการดำเนินชีวิต เช่น ระบบสังคม ระบบการจัดการทรัพยากร และระบบสุขภาพ เป็นต้น
๑.๑.๒ ระบบจิตวิญญาณความรักษ์บ้านเกิด ที่คอยหยัดยืนอยู่กับท้องถิ่น ท่ามกลางความยากลำบากหรือปัญหาที่เกิดขึ้น โดยในหนังลูกอีสานพยายามสื่อถึงครอบครัวของพ่อสุดเเละเเม่คำกอง ที่คอยหยัดยืนหากินตามท้องที่ของตนเอง ท่ามกลางความแห้งเเล้งเเละกระเเสการเเตกบ้านไปอยู่ที่ที่อุดมสมบูรณ์มากกว่า เเต่ทว่าพ่อสุดก็ตั้งปณิธานว่าจะไม่หนีไปไหน "หากจะตาย ก็ให้ตายที่นี่" เเต่ใช้วิธีการปรับปลี่ยนวิถีชีวิตเอาแทนที่จะย้ายไปอยู่ที่อื่น ในส่วนหนังอวตาร พยายามสื่อให้เห็นถึงความรักษ์บ้านเกิดที่ชัดเจนมากของชาวเพเดอร่า เเม้จะเกิดปัญหาการคุกคามของชาวโลก จนกระทั่งเกิดสงคราม ชาวเพนเดอร่าก็ยืนหยัดที่จะต่อสู้เพื่อปกป้องบ้านเกิดของตนเองอย่างสุดความสามารถ ด้วยหัวใจรักษ์บ้านเกิด หากมองในมิตินี้จะเห็นว่า ปัจจัยภายในที่ทำให้เกิดระบบการเปลี่ยนแปลงภายนอก คือ จิตวิญญาณ
๑.๑.๓ ระบบการปรับตัวจากปัญหาและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทั้งปัญหาที่เกิดจากธรรมชาติ เเละปัญหาที่เกิดจากการคุกคามของมนุษย์ โดยในหนังลูกอีสาน มีการปรับตัวของชาวบ้านเพื่อให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ คือ การอพยพแตกบ้านไปอยู่ที่ใหม่ที่อุดมสมบูรณ์มากกว่า การพยายามหากินตามความแห้งเเล้งของท้องถิ่น เเละการออกไปหาอาหารในท้องที่ที่อุดมสมบูรณ์ มีกระบวนการ ถนอมอาหาร แปรรูปอาหาร เเล้วนำกลับมากินที่ท้องที่ของตนเอง ในส่วนหนังอวตาร ก็มีการปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงจากปัญหาการคุกคามของมนุษย์ ในระยะเเรกเป็นการปรับตัวที่จะอยู่ร่วมกัน มีการพัฒนาวิทยาการอวตารขึ้นมาเพื่อสื่อสารทำความเข้าใจ มีการยอมให้มนุษย์ปักฐานที่อยู่อาศัย ในช่วงระยะถัดมาก็มีการปรับตัวในอีกรูปแบบ คือ การทำสงครามระหว่างมนุษย์ และชาวเพนเดอร่า ซึ่งเป็นความขัดเเย้งที่เกิดขึ้นตามลำดับ
๑.๑.๔ ระบบสังคมแบบเครือญาติ ที่ต้องพึ่งพาอาศัยกันเเละกัน ในหนังลูกอีสานมีสังคมแบบเครือญาติที่ชัดเจน มีการไปหาหาสู่กัน ใครได้ปลาหรืออาหารก็นำมาเเบ่งปัน "สู่กันกิน" มีงานประเพณี-วัฒนธรรม ก็ไปร่วมดำเนินงานช่วยกันตามบทบาทหน้าที่ ส่วนในหนังอวตารมีการล่าสัตว์ อาหารอาหารมาเเบ่งปันกันกิน มีการนั่งล้อมวงท่ามกลางกองไฟทั้งชุมชน กินอยู่หลับนอนที่เดียวกัน มีการเเสดงออกตัดสินใจปัญหาร่วมกัน ผ่านระบบผู้นำ ซึ่งก็สะท้อนความเป็นเครือญาติในอีกมุมมองหนึ่ง จะเห็นได้ว่าทั้งลูกอีสานเเละอวตาร ต่างก็มีระบบเครือญาติที่ช่วยให้เกิดขึ้นเข้มเเข็งในชุมชน

๑.๒ ความแตกต่าง
๑.๒.๑ ระบบความหลากหลายและความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรแตกต่างกัน โดยในหนังลูกอีสานเป็นบริบทของความขาดเเคลน เเห้งเเล้ง ทำให้เกิดการปรับตัวเพื่อการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ การเเตกบ้าน การปรับวิธีการหาอาหาร การปรับรูปแบบวิถีชีวิต เป็นต้น เเต่ในหนังอวตาร มีทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ที่มีความอุดมสมบูรณ์ เกื้อกูลให้เกิดความหลากหลายทางทรัพยากรเเละชีวภาพ ก่อให้เกิดการปรับตัวในอีกรูปแบบ ได้แก่ การเเสวงหาคุณค่าของจิตวิญญาณตามกระบวนทัศน์ของสำนักคิดธรรมชาตินิยม เนื่องจากความต้องการพื้นฐานได้สมบูรณ์อยู่เเล้ว ซึ่งต่างจากในลูกอีสานเหมือนหน้ามือกับหลังมือ
๑.๒.๒ จุดมุ่งหมายระบบของความสัมพันธ์ระหว่างคนกับอาหารแตกต่างกัน โดยในหนังลูกอีสานมีจุดมุ่งหมาย เพื่อปัจเจกนิยม มีการทำมาหากินตามสภาพสังคม เช่น การออกไปไล่พังพอน การออกไปหาปลา เเละการออกไปจับนก เป็นต้น ทั้งหมดนี้เพื่อการเลี้ยงชีพตนเองเป็นหลัก  แต่ในหนังอวตารมีจุดมุ่งหมาย เพื่อธรรมชาตินิยม เน้นการดำรงค์อยู่อย่างยั่งยืนและเคารพบูชาธรรมชาติ เชื่อในอำนาจของเทพเจ้าเเห่งธรรมชาติผู้ปกครองดาวเพนเดอร่า ทุกครั้งที่มีการออกล่าสัตว์เพื่อหาอาหาร จะมีการกล่าวหรือสวดคำขอขมา ในทุกๆครั้ง ต่อเทพเเห่งธรรมชาติที่นับถือ กล่าวคือ จุดมุ่งหมายของความสัมพันธ์ระหว่างคนกับอาหาร ในหนังลูกอีสานเพื่อเลี้ยงชีพเป็นหลัก เเต่ในหนังอวตารหาอาหารเพื่อการดำรงค์อยู่อย่างยั่งยืนในความเชื่อของธรรมชาตินิยม
๑.๒.๓ ขนาดของสังคมและขนาดของการรวมกลุ่มทางสังคมแตกต่างกัน  โดยในหนังลูกอีสานเป็นสังคมชนบทที่เล็ก มีการรวมกลุ่มทางสังคมที่น้อยมาก ไม่มีภาพของการประชุมคิดแก้ไขปัญหาร่วมกัน บ้านเรือห่างไกลกัน เน้นการพึ่งพาตนเองเป็นหลัก แต่ในหนังอวตาร เป็นสังคมที่ใหญ่ มีการกินอยู่หลับนอนร่วมกัน มีการประชุมและรวมกลุ่มกันเกือบตลอดเวลา โดยเฉพาะการกินข้าว การปรึกษาหารือ หรือ เเม้กระทั่งการหลับนอน สะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างของขนาดสังคมและการรวมกลุ่มทางสังคม
๑.๒.๔ อุดมการณ์การใช้ชีวิตแตกต่างกัน โดยในหนังลูกอีสานพยายามสื่อให้เห็นอุดมการณ์ในการใช้ชีวิตเพื่อดำรงชีวิต เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ให้ครอบครัวได้อยู่ดีกินดี เกือบทุกฉากเป็นวิถีชีวิตที่สะท้อน ถึงการทำมาหาเลี้ยงชีพของตนเองเเละครอบครัว ส่วนในหนังอวตารพยายามสื่อให้เห็นถึงอุดมการณ์ของการใช้ชีวิตเพื่อการเคารพซึ่งเทพเจ้าแห่งธรรมชาติ ทุกกิจกรรมของชาวเพนเดอร่า ล้วนเชื่อโยงสู่ธรรมชาติ เช่น การหาอาหารที่ต้องกว่าคำขอขมา การตายที่นำต้นไม้มาปลูกในหลุมศพให้ศพกลายเป็นปุ๋ยช่วยให้ต้นไม้เติบโต และการภาวนาซึ่งการมีอยู่ เป็นต้น ซึ่งแตกต่างกันที่ว่า ในลูกอีสานใช้ชีวิตเพื่อเลี้ยงชีพ เเต่ในอวตารใช้ชีวิตเพื่อเคารพเทพเจ้าแห่งธรรมชาติ

๒.เปรียบเทียบแนวคิดระบบทรัพยากร (ตีความแนวคิด Terry B.Grandstaff)
๒.๑ ความเหมือน
๒.๑.๑ ความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ โดยในหนังลูกอีสานสื่อให้เห็นถึงการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติในทุกฉาก โดยเฉพาะในช่วงหาอาหาร การไถนาปลูกข้าว และการเลี้ยงควาย เป็นต้น ในส่วนของหนังอวตาร สื่อให้เห็นถึงชาวเพนเดอร่า ที่ใช้ชีวิตพึ่งพาธรรมโดยตรงในทุกช่วงเวลา เเละทุกกิจกรรมของชีวิต ได้แก่ การอาหาร การใช้สัตว์พาหนะ และการรักษาความเจ็บป่วย เป็นต้น โดยทั้ง ๒ เรื่องสะท้อนให้เห็นถึงระบบความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น ที่เริ่มต้นจากระบบทรัพยากร เเล้วมีการเชื่อมโยงสู่ระบบวิถีชีวิต ระบบเศรษฐกิจ และระบบสุขภาพ เป็นต้น ที่ล้วนเชื่อมโยงเข้าหากันอย่างหลากหลาย  
๒.๑.๒ การประดิษฐิ์สร้างความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ โดยในหนังลูกอีสานมีประเพณีแห่นางเเมว เพื่อขอฝนให้ตกลงมา ประเพณีนี้ถูกประดิษฐิ์สร้างขึ้นบนฐานความเชื่่อเกี่ยวกับการควบคุมธรรมชาติ เเละในส่วนของหนังอวตารประเพณีต่างๆที่สร้างขึ้น ล้วนเชื่อมโยงไปสู่เทพเจ้าเเห่งธรรมชาติ โดยเฉพาะการล่าสัตว์ การรักษาโรค เเละการภาวนา เป็นต้น ซึ่งทั้ง ๒ เรื่อง ล้วนสะท้อนถึงการสร้างความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ เพียงเเต่วิธีการอาจเเตกต่างกัน 
๒.๑.๓ การใช้ทรัพยากรตามความต้องการแบบสมถะ โดยในหนังลูกอีสานมีทรัพยากรที่น้อย ชาวบ้านโคกอีเเหลวก็ใช้น้อย หรือ ใช้ทรัพยากรตามที่มีอยู่ ส่วนในหนังอวตาร มีทรัพยากรจำนวนมาก ก็มีการใช้ทรัพยากรน้อยเช่นเดียวกัน หรือ จะใช้เฉพาะเท่าที่จำเป็น ซึ่งหนังทั้ง ๒ เรื่อง ต่างก็มีฐานทรัพยากรที่แตกต่างกัน เเต่มีวิธีการใช้ทรัพยากรแบบสมถะเหมือนกัน หรือ อาจเรียกว่าใช้อย่างพอเพียงก็ได้ 

๒.๒ ความแตกต่าง
๒.๒.๑ การมีอยู่ของทรัพยากรที่แตกต่างกัน โดยในหนังลูกอีสาน มีทรัพยากรค่อยข้างจำกัด มีความแห้งเเล้ง อาหารน้อย มีความอุดมสมบูรณ์น้อย เป็นผลให้เกิดการปรับตัวกับความเเห้งเเล้ง เเต่ในหนังอวตารมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยพืชพรรณ ธัญญาหารเเละเเร่ธาตุต่างๆจำนวนมาก เป็นผลทำให้เกิดการปรับตัวกับความอุดมสมบูรณ์ หากเปรียบเทียบกันเเล้วจะเห็นว่าเหมือนหน้ามือกันหลังมือ
๒.๒.๒ การได้มาซึ่งทรัพยากรของมนุษย์ที่แตกต่างกัน โดยในหนังลูกอีสาน เป็นการได้มาในแบบเศรษฐกิจพึ่งพาตนเอง มีการได้มาซึ่งทรัพยากรในปริมาณที่น้อย พอได้พึ่งพา เลี้ยงชีพตนเองเเละครอบครัว เเต่การได้มาซึ่งทรัพยากรของมนุษย์ในหนังอวตาร เป็นการได้มาแบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ที่มีความต้องการปริมาณที่มาก คิดเชิงอุตสาหกรรม ส่งผลกระทบเชิงลบ สร้างความเสียหาย ต่อพื้นที่ในเวลาต่อมา การได้มาซึ่งทรัพยากรของมนุษย์ จากหนังทั้ง ๒ เรื่อง จึงเเตกต่างกัน
๒.๒.๓ การแปรรูปทรัพยากรแตกต่างกัน โดยในหนังลูกอีสานมีการนำปลาที่จับได้มาแปรรูปเพื่อให้กินได้นาน เช่น ทำปลาแดดเดียว ทำปลาร้า เป็นต้น จนเกิดเป็นวัฒนธรรมการถนอมอาหารของชาวอีสาน เเต่ในหนังอวตาร ไม่มีการแปรรูปอาหาร เเต่เป็นการล่าเเล้วบริโภคโดยตรง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงฐานทรัพยากรที่ต่างกัน ซึ่งเป็นตัวกำหนดทางวัฒนธรรม โดยในหนังลูกอีสาน อาหารขาดแคลน จึงเกิดปลาร้า  ส่วนในหนังอวตารอาหารอุดมสมบูรณ์จึงไม่เกิดวัฒนธรรมการถนอมอาหาร
๒.๒.๔ การใช้ทรัพยากรแตกต่างต่างกัน โดยในหนังลูกอีสาน มีตลาดการแลกเปลี่ยนสินค้าในลักษณะของการหาบเร่ เเละตลาดชุมชน โดยสินค้าที่เเลกเปลี่ยนบางครั้งไม่ใช่เงิน เเต่เป็นข้าว ปลา หรือ เกลือ ที่มี จนเกิดตลาดเกิดขึ้นอยู่เสมอในหลายฉาก เเต่ในหนังอวตาร ไม่ปรากฎฉากที่เกิดตลาดการเเลกเปลี่ยนสินค้าในกลุ่มชาวเพนเดอร่า กล่าว คือ การหนังลูกอีสานเกิดภาวะของตลาด ส่วนในหนังอวตารของกลุ่มชาวเพนเดอร่าไม่เกิดภาวะของตลาด

๓.เปรียบเทียบเเนวคิดนิเวศวิทยาวัฒนธรรม (ตีความแนวคิดจูเลียน  สจ๊วต)
๓.๑ ความเหมือน
๓.๑.๑ ความพยายามในการปรับตัวและแก้ไขปัญหา โดยในหนังลูกอีสานมีความพยายามในการปรับตัวให้เข้ากับสภาวะของความแห้งเเล้ง วิถีการดำเนินชีวิตเปลี่ยนแปลงไป อาหารเเละน้ำลดน้อยลง มีการออกไปเเสวงหาแหล่งอาหารนอกพื้นที่ มีการอพยพแตกบ้านย้ายถิ่นฐาน ซึ่งทั้งหมด เป็นผลจากการการปรับตัว เพื่อเเก้ไขปัญหาที่ไม่สามารถควบคุมได้ ในส่วนของหนังอวตารก็มีความพยายามในการที่จะปรับตัวให้เข้ากับสภาวะของธรรมชาติที่สมบูรณ์ มีการเคารพคุณค่าของธรรมชาติ มีการเชื่อมสัมพันธ์กับสัตว์เเละธรรมชาติ  มีการปลูกต้นไม้ในหลุมศพคนตาย มีการขอขมาหลังการล่าสัตว์เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น กล่าวคือ จากหนังทั้ง ๒ เรื่อง มีความพยายามในการปรับตัวเเละแก้ไขปัญหา เเม้จะมีสภาพเเวดล้อมที่แตกต่างกัน  
๓.๑.๒ เกิดกระบวนการสร้างวัฒนธรรมจากสิ่งเเวดล้อม โดยในหนังลูกอีสานมีวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นจากสิ่งเเวดล้อม จำนวนมาก ได้แก่ การสร้างวัฒนธรรมแห่นางเเมวขึ้นมาขอฝน การอพยพแตกบ้านไปหาพื้นที่อุดมสมบูรณ์ การปรับเปลี่ยนวิถีวิตการหาอาหาร การทำปลาร้าเเละปลาเเดดเดียวเพื่อถนอมอาหาร และการบิณบาตของพระสงฆ์ที่จำกัดอาหาร เป็นต้น ในส่วนของหนังอวตาร ก็มีการสร้างวัฒนธรรมที่สอดรับกับความเชื่อธรรมชาตินิยม ได้แก่ วัฒนธรรมการล่าสัตว์ที่มีการขอขมา วัฒนธรรมการเคารพเทพเเห่งธรรมชาติ วัฒนธรรมการสร้างพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ และวัฒนธรรมการมีสัตว์พาหนะ เป็นต้น จากหนังทั้ง ๒ เรื่อง ล้วนมีการประดิษฐิ์สร้างวัฒนธรรมจากสิ่งเเวดล้อมทั้งสิ้น 
๓.๑.๓ วิถีการดำรงค์ชีวิตที่พึ่งพาสภาพเเวดล้อมธรรมชาติเหมือนกัน  โดยในหนังลูกอีสานจะมีวิถีชีวิตที่พึ่งพาธรรมชาติ อาหารจะหาจากท้องนาเเละป่า น้ำหาจากน้ำฝนและบ่อน้ำ ข้าวหาจากการปลูกไว้กินเอง บ้านก็สร้างจากไม้ธรรมชาติ อุปกรณ์ต่างๆในการใช้ชีวิตส่วนใหญ่สร้างขึ้นมาเองโดยใช้วัสดุธรรมชาติ ในส่วนของหนังอวตาร ก็จะพึ่งพาธรรมชาติโดยตรงเช่นเดียวกัน อาหาร น้ำ ที่อยู่อาศัย การรักษาโรค ก็ต้องพึ่งพาธรรมชาติเป็นหลัก จากหนังทั้ง ๒ เรื่อง จึงมีวิถีการดำรงค์ชีวิตที่พึ่งพาธรรมชาติเหมือนกัน

๓.๒ ความแตกต่าง
๓.๒.๑ เงื่อนไขของสภาพเเวดล้อมธรรมชาติแตกต่างกัน โดยเงื่อนไขของสภาพเเวดล้อมในหนังลูกอีสาน เป็นเงื่อนไขเชิงลบ เป็นความเเร้นเเค้นของสภาพทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ทำให้มีการเร่งปรับตัวเพื่อเปลี่ยนแปลงให้เกิดวัฒนธรรมความเป็นอยู่เเบบใหม่ เช่น การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต การเปลี่ยนแปลงพื้นที่หาอาหาร การอพยพไปที่อื่น เป็นต้น ส่วนในหนังอวตาร เป็นเงื่อนไขเชิงบวก เป็นเเรงจูงใจในการปรับตัวเพื่อเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก สะท้อนถึงระดับของแรงขับต่างจากในหนังลูกอีสาน กล่าวคือ ในสภาพเงื่อนไขของความแห้งเเล้ง ทำให้เกิดการเร่งสร้างวัฒนธรรมใหม่ ในขณะที่ในหนังอวตาร มีสภาพเงื่อนไขของความอุดมสมบูรณ์ กลับธำรงค์ซึ่งวัฒนธรรมเดิมต่อไป ตามวิถีชีวิตในแบบเดิม
๓.๒.๒ พื้นฐานการปรับตัวและแก้ไขปัญหาแตกต่างกัน โดยปัญหาพื้นฐานแตกต่างกัน ในหนังลูกอีสานสื่อให้เห็นถึงปัญหาพื้นฐาน คือ จะทำอย่างไรให้ทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ อิ่มท้อง มีกินมีใช้ ไม่ต้องพึ่งพาใคร ส่วนในหนังอวตารสื่อให้เห็นถึงปัญหาพื้นฐาน คือ จะดำเนินชีวิตอย่างไร ให้อยู่เเนบชิดกับธรรมชาติ เเละเคารพธรรมชาติมากที่สุด ทั้ง ๒ เรื่องนี้ จึงมีัญหาพื้นฐานที่แตกต่างกัน ทำให้การแก้ไขแตกต่างกันออกไปตามวัฒนธรรม
๓.๒.๓ วัฒนธรรมแตกต่างกัน โดยในหนังลูกอีสานมีวัฒนธรรมที่ยึดโยงกับวิถีอาชีพ มีมหรศพ มีศาสนา มีภาษาอีสาน มีจักรวาลทัศน์และมีความยืดหยุ่นทางความคิดสูง ฯ ที่ต่างกัน ในขณะที่ในหนังอวตาร ชาวเพนเดอร่าจะมีวัฒนธรรมที่ยึดโยงกับความเคารพธรรมชาติ มีประเพณีหลังความตายที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ มีระบบความเชื่อแบบปรนัยของบรรพบุรุษ มีภาษาเพนเดอร่า มีการเคร่งจารีตประเพณีสูง ฯ เนื่องจากสภาพของสังคมแตกต่างกัน จึงทำให้เกิดลักษณะทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน 


อ้างอิง 
ภาพ 
ภาพลูกอีสาน https://www.google.co.th/url?s...
ภาพอวตาร https://www.google.co.th/url?s...

เอกสาร
เอกสารประกอบการสอน เรื่อง แนวความคิดเชิงระบบ วิชา เศรษฐกิจท้องถิ่นกับสังคม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
เอกสารประกอบการสอน เรื่อง แนวคิดเรื่องระบบทรัพยากร วิชา เศรษฐกิจท้องถิ่นกับสังคม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
เอกสารประกอบการสอน เรื่อง แนวคิดทฤษฎีที่นำมาใช้อธิบายเรื่องอาชีพ เเละเศรษฐกิจท้องถิ่น วิชา เศรษฐกิจท้องถิ่นกับสังคม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม


หมายเลขบันทึก: 654898เขียนเมื่อ 7 ตุลาคม 2018 23:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 ตุลาคม 2018 17:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ชาวนาวีคือชาวท้องถิ่น(ชาวเพนเด่อร่า)นะครับ ไม่ใช่มนุษย์โลก

ชาวนาวีคือชาวท้องถิ่น(ชาวเพนเด่อร่า)นะครับ ไม่ใช่มนุษย์โลก

ไว้มาอ่านอีกที … วันนี้ ขออภัย … ยุ่งเป็นนกอินทรีย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท