มุมมองอาจารย์กับการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้


ซอฟต์แวร์ทำให้งานบัญชีสูญพันธุ์หรือเปล่า ทุกวันนี้เราก็ยังเห็นมีงานบัญชีให้คนทำถมเถ แต่ที่เปลี่ยนไปแน่ๆ คือ “วิธี” การทำงาน

หันไปทางไหนก็เจอแต่คนบอกว่า มหาวิทยาลัยจะปิดตัว มหาวิทยาลัยจะไม่มีอีกแล้ว ยกตัวอย่างและตัวเลขจากเมืองนอก เมืองนากันมามากมายว่าเป็นวิกฤติอุดมศึกษา ซึ่งก็เป็นความจริงที่อังกฤษ และสหรัฐฯ เล่นข่าวนี้กันมาซักพักแล้ว ปัญหาหลักๆ คือเรื่องจำนวนประชากรและเงินช่วยเหลือในระบบที่ลดลง

นอกจากจำนวนผู้เรียนที่ลดลงอย่างน่าใจหาย อีกเรื่องหนึ่งที่กำลังเข้ามาคุกคามตลาดแรงงานในหลายอาชีพ รวมถึงอาชีพอาจารย์ก็คือเทคโนโลยีก้าวล้ำหลายอย่าง ทั้ง Artificial Intelligence (AI), Chatbot, Internet of Things (IoT) หรือ Blockchain เทคโนโลยีเหล่านี้ จะว่าเข้ามาแทนที่งานก็ได้ จะว่ามาเพิ่มประสิทธิภาพงานก็ได้เหมือนกัน อย่างที่รู้กันว่างานที่ทำซ้ำซากครั้งแล้วครั้งเล่าคอมพิวเตอร์หรือเครื่องจักรนั้นทำได้ดีกว่าคนแน่ เครื่อง ATM เครื่องแจกบัตรจอดรถ เป็นตัวอย่างง่ายๆ ครับ

ถ้าจะให้ชัดกว่านั้นขอยกตัวอย่างจาก podcast รายการ planet money ที่เล่าว่าแรกเริ่มเดิมทีก่อนเราจะมี Spreadsheet Software เราเคยใช้ Spreadsheet จริงๆ ที่เป็นกระดาษแผ่นใหญ่เอาไว้คำนวณข้อมูลทางบัญชี นักบัญชีต้องเตรียมตารางรายงานมหึมาซึ่งแต่ละครั้งก็เสียเวลาหลายวัน จนกระทั่งเรามี Spreadsheet Software ตัวแรกที่ชื่อว่า VisiCalc เมื่อ 30 กว่าปีก่อน

visicalc

ถ้าถามว่าซอฟต์แวร์ทำให้งานบัญชีสูญพันธุ์หรือเปล่า ทุกวันนี้เราก็ยังเห็นมีงานบัญชีให้คนทำถมเถ แต่ที่เปลี่ยนไปแน่ๆ คือ “วิธี” การทำงาน นักบัญชีไม่ต้องใช้เวลามากมายเตรียมตารางขนาดใหญ่อีกต่อไป คำถามที่นายจ้างอยากรู้แต่ไม่อยากถาม เพราะถามทีไรก็ต้องมารื้อตารางคำนวณใหม่แถมต้องจ่ายเงินเพิ่ม แต่ทุกวันนี้การตั้งโจทย์สมมุติราคาตลาดที่ผันผวน หรือทดลองกลยุทธ์ใหม่ กลายเป็นเรื่องง่ายแค่ปลายนิ้ว งานบัญชีเปลี่ยนไปก็หมายความว่ามีนักบัญชีที่ใช้ซอฟต์แวร์ไม่เป็นตกงาน และมีนักบัญชีหน้าใหม่ที่สามารถทำงานร่วมกับเทคโนโลยีได้เข้ามาเติมในตลาดแรงงาน

 

ลองหันมามองเทคโนโลยีที่จะมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนการสอนระดับมหาวิทยาลัยในปัจจุบันมีมากมายให้เลือกลองเลือกใช้มากมาย คิดว่าอาจารย์ในมหาวิทยาลัยตอนนี้เขาพร้อมจะเปลี่ยนตัวเองไปเป็นอาจารย์ยุคใหม่แล้วหรือยัง?

เมื่อไม่นานมานี้ สื่อใหญ่ด้านการศึกษาอย่าง The Chronicle of Higher Education และ Pearson จับมือกันเขียนรายงาน Faculty Views on the Teaching Tools of Tomorrow (http://results.chronicle.com/LP=1817) ซึ่งเป็นการสรุปผลสำรวจความคิดเห็นอาจารย์ 606 คนในสหรัฐฯ เกี่ยวกับเทคโนโลยีการเรียนรู้ระดับอุดมศึกษา มีข้อมูลหลายอย่างน่าสนใจครับ

เรื่องแรกคือ กว่า 40% ของกลุ่มตัวอย่าง ไม่มีแผนจะทดลองใช้เทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงวิธีการสอน

กลุ่มตัวอย่างที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยแบบให้ปริญญา (สอน 4 ปี) มากถึง 75% มีสิทธิขาดในการตัดสินใจเลือกสื่อการสอน โดยปัจจัยในการเลือกสื่อการเรียนที่สำคัญ 3 ประการ คือ สื่อต้องตรงกับเนื้อหา ราคา มีสื่อช่วย (เช่นแผนการสอนหรือบททดสอบ)

ในเรื่องประเภทของสื่อ (แบบพิมพ์กับแบบดิจิทัล) ผู้สอน 49% รายงานว่าเลือกตามที่ผู้เรียนสะดวก ฟังแบบนี้ดูดีนะครับ คล้ายจะบอกว่าผู้สอนสามารถปรับเปลี่ยนการสอนไปตามประเภทสื่อได้ แต่จริงๆ แล้วมุมมองผู้สอนคือ “ไม่แคร์” ต่างหาก จะใช้อะไรก็ใช้ เพราะสุดท้ายฉันก็สอนเหมือนเดิม ใช้สื่อการสอนเดิมๆ 

หากมองกันตามสาขาวิชาที่สอนแล้ว สาขาคณิตศาสตร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ และบริหาร ใช้สื่อดิจิทัลมากที่สุด ส่วนสาขาที่ใช้น้อยที่สุดสามอันดับคือ มนุษยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และ วิจิตรศิลป์หรือศิลปะการแสดง อันหลังสุดนี่พอเข้าใจได้นะครับเพื่อเป็นเรื่องการพัฒนาทักษะการฝึกหัดเสียเยอะ แต่สำหรับวิศวกรรมศาสตร์นั้นผมเข้าใจว่าสื่อการสอนที่ทันสมัยน่าจะมีมากกว่าสาขาอื่น (คือพอๆ กับแพทย์ศาสตร์) โดยเฉพาะพวกสื่อเสมือนจริง สื่อสามมิติ อะไรเทือกนี้ ส่วนมนุษยศาสตร์นี่ตามรายงานบอกว่าอาจารย์ในสาขานี้ยังไม่ค่อยไว้ใจสื่อดิจิทัลเท่าไหร่ครับ

ในขณะที่หนังสือเรียนแบบดิจิทัลเพิ่มความสามารถและคุณสมบัติต่างๆ ให้กับผู้สอน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการไฮไลต์ (โดยผู้สอน เพื่อให้ผู้เรียนเห็นจุดสำคัญ) เพิ่มบันทึกข้อความจากผู้สอน แบบทดสอบตามหัวข้อเรียน จากผลการสำรวจกลับพบว่าอาจารย์ไม่ได้พอใจกับเรื่องเหล่านี้เท่าไรนัก ประมาณ 45% บอกว่าโอเค มีเพียง 6% โอเคมากๆ พอถามต่อว่าหนังสือเรียนดิจิทัลเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอนไหม มีแค่หนึ่งในสี่ (27%) บอกว่าก็ประมาณหนึ่ง เกินครึ่งกลับไม่เห็นว่ามันช่วยอะไรได้ รายงานให้เหตุผลว่าการตอบรับที่น้อยนิดนั้นอาจเป็นผลจากข้อจำกัดด้านเวลาของอาจารย์ที่ต้องเรียนรู้เครื่องมือใหม่ๆ และเรื่องความถนัดในการใช้เครื่องมือดิจิทัล ซึ่งอาจารย์รุ่นใหม่ๆ น่าจะทำได้ดีกว่า แต่ขณะเดียวกันอาจารย์เหล่านี้ก็ต้องรับแรงกดดันเรื่องการผลิตงานวิจัยสูงกว่าอาจารย์ที่อยู่มานาน

คำถามสุดท้ายในเรื่องของสื่อดิจิทัลที่ว่าอาจารย์ท่านมีแผนจะใช้เครื่องมือเหล่านี้ไหม แม้จะมีคำถามว่าสนใจใช้ mobile app ใช้เทคนิก flipped classroom หรือ Open Educational Resources (OER) บ้าง แต่เกือบครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างบอกว่าอย่าดีกว่า

ประเด็นสุดท้ายของรายงานคือเรื่อง Inclusive Access ที่ Pearson กำลังพยายามผลักดันให้ใช้หนังสือเรียนแบบดิจิทัลด้วยเหตุผลที่ว่าราคาถูกกว่า เปิดโอกาสให้เข้าถึงได้โดยไม่ลังเล (ดูในวิดีโอ เขาอ้างว่านักศึกษากลุ่มที่ซื้อหนังสือช้า จะเรียนช้ากว่าคนอื่น สุดท้ายเรียนไม่ทันเพื่อน) ปรากฏว่าเกินครึ่งของกลุ่มตัวอย่างไม่รู้จักว่า Inclusive Access คืออะไร นี่ก็เป็นการบ้านที่ Pearson ต้องไปแก้ไข อีกสองคำถามที่น่าสนใจในประเด็นนี้คือ (1) คิดว่าผู้บริหารร่วมมือกับสำนักพิมพ์เพื่อทำให้ผู้เรียนเข้าถึงสื่อการเรียนหรือไม่ และ (2) คุณคิดว่าควรจะรวมค่าหนังสือไปในค่าเล่าเรียนไหม ซึ่งทั้งสองประเด็นนี้ทั้งกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย กลุ่มที่ไม่ตัดสินใจ และเห็นด้วย มีพอๆ กันประมาณ 30% ทุกกลุ่ม หรือพูดง่ายๆ ก็คือยังเป็นประเด็นก้ำกึ่งอยู่นั่นเองครับ

นอกจากประเด็นที่เป็นเรื่องของตัวเลขต่างๆ นี้ รายงานยังย้ำว่าเทคโนโลยีไม่ใช่ยาครอบจักรวาลที่จะมาแก้ปัญหาการเรียนการสอนได้ การประสาน (integrate) เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้นั้นเป็นเรื่องที่แต่ละสถาบันต้องทดลองหากลยุทธ์ที่เหมาะสมกับความต้องการเฉพาะตัว แม้จะเป็นประเด็นเล็กๆ ที่รายงานอ้างถึง แต่ผมว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของรายงานนี้เลย เพราะเรามักจะคาดหวังว่าเทคโนโลยีจะมาแก้ปัญหาเดิมๆ ให้เรา แต่ครั้งแล้วครั้งเล่าที่เราผิดหวัง เพราะเราไม่ได้ตระหนักว่าคำตอบที่ใช่สำหรับห้องเรียนของเขา อาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกใจในชั้นเรียนเรา การเตือนตัวเองว่าเทคโนโลยีเป็นเพียงเครื่องมือที่เข้ามา “เพิ่มประสิทธิภาพ” การเรียนรู้ และการลองผิดลองถูกอย่างเป็นระบบนั้นเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงเป็นเรื่องที่เราควรพูดกัน

สามสิบปีก่อน VisiCalc เข้ามาเปลี่ยนแปลงงานบัญชีไปแบบสิ้นเชิง ในวันนี้เทคโนโลยีก็กำลังเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิธีการเรียนรู้ของคนในทุกระดับชั้น เราจะเดินหน้าเข้าหาเทคโนโลยีหรือย่ำอยู่กับที่ทำงานเหมือนที่เคยทำมา โอกาสที่เราจะเป็นผู้เลือกมันแทบจะไม่เหลือแล้วครับ

หมายเลขบันทึก: 654796เขียนเมื่อ 5 ตุลาคม 2018 23:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2018 23:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท