.... ใช่ว่าจะสิ้นหวัง 5/1 โดย ชาตรี สำราญ


ครูอย่าใช้การกระตุ้นให้เด็กเขียนแบบโบราณ คือ นึกชื่อเรื่องๆ หนึ่ง มากำหนดให้เด็กทั้งห้องเขียน เชื่อได้ว่า ความจะคล้ายๆ กัน หรือบางคนก็ลอกงานเพื่อนมาส่ง

5 เส้นทางที่สร้างเสริม

“การเรียนรู้เรื่องราวหนึ่งๆ นั้น ไม่ได้จบลงในตัวของมันเองไปเสียทุกเรื่อง

ยังมีเรื่องราวหลายเรื่องที่สามารถเชื่อมโยงไปสู่เรื่องหนึ่งและเรื่องหนึ่งได้

ความเรียง 3 บรรทัดก็เป็นเรื่องราวหนึ่งในหลายเรื่อง

ที่สามารถเชื่อมโยงไปสู่การเขียนในรูปแบบอื่นได้

ถ้าครู รู้ และ เข้า(ใจ)ถึงวิธี การสร้างความต่อเนื่องของการเขียนความเรียง”

นี่คือคำตอบที่ผมตอบครูบางคนที่ถามผมว่า “สอนให้เด็กเขียนความเรียงเพียงอย่างเดียวหรือแล้วเด็กเขียนอย่างอื่นได้อย่างไร”

ความเรียง 3 บรรทัด เป็นนวัตกรรมหนึ่งที่คอยกระตุ้นให้ผู้เรียน คิดค้นคำ นำมาเขียนบรรยายภาพที่เขาเห็น ด้วยข้อความที่ใช้คำน้อย แต่ความรัดกุม กระชับ ชัดเจน และมีความคิดสร้างสรรค์ เด็กผู้เรียนถ้าสามารถฝึกเขียนความเรียง 3 บรรทัดได้แล้วนั้น เขาจะแสดงความสามารถที่ซ่อนอยู่ในตัวของเขาออกมาให้เห็นได้ ถ้าครูกระตุ้นให้ถูกทาง เช่น

1. คิดนอกกรอบ เรื่องนี้ได้เขียนมาแล้วในตอนต้น

2. สามารถเลือกสรรคำ นำมาใช้เขียนเรื่องได้ตามต้องการ เพราะพวกเขาผ่านการถูกบังคับคำ นำเขียนความเรียง 3 บรรทัด แบบใช้คำน้อยแต่ได้ความมาก จึงไม่ยากที่จะใช้คำ ในการเขียนเรื่องแบบอื่น และเขาจะไม่ใช้คำซ้ำไม่เขียนความหรือเขียนประโยคเยิ่นเย้อ เพราะเขาผ่านการฝึกฝนให้รู้จักใช้คำ อย่างมีคุณค่า เขียนข้อความกะทัดรัดในรูปแบบความเรียง 3 บรรทัดมาแล้ว จึงทำให้เขาเลือกสรรคำมาใช้อย่างมีเหตุผล

3. สามารถคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ได้ เพราะการเขียนความเรียง 3 บรรทัดนั้นเขาต้องคิดวิเคราะห์ว่า สิ่งนั้นมีความสัมพันธ์กับสิ่งนั้นอย่างไร แล้วจึงจะสังเคราะห์เป็นข้อความสั้นๆ เพียง 3 บรรทัด นั่นคือเขาผ่านการคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์มาโดยตลอด

4. รู้วิธีเรียน เกี่ยวกับการคิดตามที่ได้ฝึกฝนผ่านมา

การนำความเรียง 3 บรรทัดมาสอนนั้น แรกเริ่มเดิมที ผมนำมาใช้แล้วแก้ปัญหาการสอนเด็กที่มีความอ่อนแอทางด้านการอ่านการเขียน เด็กเหล่านี้ให้อ่านเป็นคำๆ ก็อ่านไม่ออก อ่านตามคำบอก อ่านผ่านไปแล้วก็ลืม เขาเลยเบื่อหน่ายที่จะเรียน

รพินทรนาฏ ฐากูร เขียนไว้ในหนังสือเรื่อง “สาธนา” ว่า  

“เมื่อเด็กเริ่มเรียนสะกดอักษรนั้น  เขาไม่มีความบันเทิง

เพราะไม่รู้ความมุ่งหมายอันแท้จริงของบทเรียน

การที่อักขระปรากฏแก่เราทีละตัวโดดเดี่ยวนั้น ทำให้เราเบื่อหน่าย

มันจะกลายเป็นบ่อเกิดแห่งความปิติ

ก็ต่อเมื่อ รวมกันเข้าเป็นคำและประโยค

ซึ่งนำความนึกคิดมาสู่ใจได้”

เรื่องราวในความเรียง 3 บรรทัดนั้นมีคำและประโยคสั้น ที่ยั่วยุให้เด็กอยากเรียน  เมื่อผมนำความเรียง 3 บรรทัด มาสอนเด็กๆ ผมพบว่าเด็กเหล่านั้นพัฒนานิสัยรักการอ่านการเขียนเพิ่มขึ้นเป็นที่น่าพอใจ เช่น ด.ญ.โรจนานีย์ กูวิง ซึ่งเป็นเด็กที่เรียนอ่อนมากๆ แต่ภายหลังที่ฝึกเขียนความเรียง 3 บรรทัดอยู่ระยะหนึ่ง เธอรักการอ่านและเขียน เธอเขียนเรื่องว่าว ให้ผมอ่านว่า

ฉันตั้งว่าว

บนท้องฟ้า

มันไม่หล่นลงมา

ด.ญ.โรจนานีย์ กูวิง ป.3 พ.ศ.2538

ร.ร.ไทยรัฐวิทยา 24 เมืองยะลา

การที่โรจนานีย์ นำคำว่า “ตั้ง” กับ “หล่น” มาใช้ควบคู่กันได้นั้นแสดงว่า เธอเข้าใจภาษา เมื่อภาษากับความคิดสอดรับกันได้ดี ความเรียง 3 บรรทัด ก็เกิดขึ้นๆ แบบ แซมมวล จอห์สัน นักประพันธ์และนักวิจารณ์ชาวอังกฤษ ได้กล่าวไว้ว่า “ภาษาเป็นเครื่องนุ่งห่มของความคิด” นั่นเอง

การเขียนความเรียง 3 บรรทัดนี้ ครูจะต้องกระตุ้นให้เด็กๆ คิดเขียนบ่อยๆ เขียนตามความต้องการที่เขาจะเขียน เขาคิดเรื่องที่จะเขียนด้วยตัวของเขาเอง

ครูอย่าใช้การกระตุ้นให้เด็กเขียนแบบโบราณ คือ นึกชื่อเรื่องๆ หนึ่ง มากำหนดให้เด็กทั้งห้องเขียน เชื่อได้ว่า ความจะคล้ายๆ กัน หรือบางคนก็ลอกงานเพื่อนมาส่ง ครูกระตุ้นเด็กให้คิดชื่อเรื่องเอง คิดความ แล้วหาคำมาเขียนโดยตัวเอง นั่นคือเรื่องจะต่างกัน ความก็จะต่างกันไปด้วย

ตัวอย่างความเรียง ก็สำคัญมาก เพราะใหม่ๆ เด็กจะนึกภาพของคำประพันธ์นั้นไม่ค่อยได้ ส่งผลให้คิดไม่ออกเขียนไม่ได้ ครูต้องยกตัวอย่างให้เด็กๆ ดู แล้วให้เขาฝึกเขียน เขียนและเขียน ในขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องมีความเรียงดีๆ มาให้อ่านด้วยเป็นการเพิ่มความรู้ในด้านรูปแบบการเขียน การใช้คำ และการใช้ภาษา อีกทั้งเด็กๆ จะได้เสริมทักษะการอ่านด้วย จะเข้าทฤษฎีที่ว่าด้วย ตัวอย่าง ฝึก ประเมินผลงาน คือครูตรวจผลงานเด็กๆ ทุกชิ้นงาน นั่นคือจะต้องสรรหาความเรียง 3 บรรทัดที่เหมาะสมกับเด็กๆ มาให้เด็กได้ศึกษาเรียนรู้ คู่ไปกับการฝึกเขียน

ครูต้องหมั่นตรวจผลงาน ที่เด็กเขียนส่งทุกชิ้นงาน และต้องตรวจงานเด็กทุกคน เพราะการตรวจผลงานเด็ก คือการประเมินผลการเรียนของผู้เรียนรูปแบบหนึ่ง

ผมคิดว่า ความตรง เที่ยง และพัฒนาผู้เรียนได้ชัดเจน อยู่ที่ความถี่ของการตรวจผลงานผู้เรียนมากกว่าการสอบปลายภาคหรือการสอบไล่ เพราะครูจะเห็นเส้นพัฒนาการได้ละเอียดกว่ากัน และเด็กๆ มักจะมีการเขียนคำผิด ตรงนี้จะช่วยให้ครูคิด สื่อ หรือวิธีสอนมาสอนเด็กได้อย่างตรงความต้องการของผู้เรียน

ผมพบว่า มีเด็กจำนวนหนึ่ง เขียนคำว่า น่ารัก เป็น หน้ารัก พบบ่อยและมีทุกโรงเรียนที่ผมได้อ่านผลงาน ลูกศิษย์ของผมเองก็เขียนผิด

ผมใช้วิธีแก้ไขโดยการให้เด็กๆ ร่วมกันไปหาคำที่เขียนนำด้วย น่า กับคำที่นำด้วย หน้า เช่น น่ารัก น่าเกลียด หน้าบึ้ง หน้าตา หามาให้มากที่สุดท่าที่จะได้  แล้วร่วมกันวิเคราะห์ว่า คำพวกที่เขียนนำด้วย น่า มักจะเป็นคำจำพวกใด และพวกที่เขียนนำด้วย หน้า มักจะเป็นคำจำพวกใด ถ้าเขารู้แสดงว่าเขาเข้าใจ ถ้าเขาเข้าใจแสดงว่า เขาเข้าถึงความหมายของคำ ๆ นั้น เขาก็จะใช้คำนั้นถูก นั่นคือการสอนภาษาไม่ใช่สอนหนังสือ

การตรวจงานเขียนของเด็กทุกชิ้นงาน ทุกคน  ครูจะสามารถชี้แนะเด็กให้พัฒนาการคิดเขียนได้ เด็กก็จะพัฒนาการคิดเขียนอย่างเห็นได้ชัดเจน

ครูต้องอดทน ในการหมั่นตรวจผลงานเขียนของเด็กๆ อย่างเนืองนิจ และต้องอดทน โดยการทำใจให้ได้ว่า เด็กแต่ละคนนั้นเคยถูกสอนให้เรียนรู้แบบเชื่อครู เด็กส่วนใหญ่คิดอยู่ในกรอบ เมื่อครูกระตุ้นให้เขาคิดโดยใช้คำถามถามบ่อยๆ มีตัวอย่างงานเขียนมานั่งพูดคุยกัน ร่วมคิดวิเคราะห์ว่า ผู้เขียนคิดอย่างไร ทำไมจึงคิดได้อย่างนั้น ถ้าเราจะเขียนแบบนี้บ้างจะต้องทำอย่างไร ตรงนี้ครูต้องอดทน ต้องหมั่นฝึกให้เด็กคิดนอกกรอบบ่อยๆ และที่สำคัญต้องอดทนต่อคำพูดต่อว่า ของเพื่อนครูผู้ร่วมงานที่คิดแบบติดกรอบอยู่ เพราะเมื่อเด็กคิดนอกกรอบได้ พฤติกรรมการเรียนของเขาจะเปลี่ยนไป เขาจะมีความเชื่อมั่นในตนเอง มีความกล้าพูด กล้าคิด กล้าทำ ไม่ยอมให้ใครชักจูงได้อีกต่อไป

การคิดนอกกรอบนี้จะเห็นผลทันทีแบบอย่างเด็กที่ทำตามสั่งนั้นยาก ต้องค่อยๆ ดูไป จงดูที่ผลงานของเด็ก

ครูจะต้องเข้าถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ข้อนี้ก็สำคัญ เด็กๆ ในห้องของเราใช่ว่าจะเขียนความเรียง 3 บรรทัดได้ทุกคน บางคนเขาไม่ถนัด เขาชอบเขียนโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ก็ต้องให้เขาเขียนตามที่เขาถนัด ด.ญ.นุรดีนา จารง ถนัดเขียนกลอนมากกว่าเขียนกลอนเปล่า ผมก็ให้เขาเขียนกลอน 8 ส่วนใครชอบเขียนความเรียง 3 บรรทัดก็เขียน สังเกตดูเด็กที่เรียนอ่อน หรือเริ่มอ่านออกเขียนได้จะเขียนความเรียง 3 บรรทัด ถ้าครูเข้า(ใจ)ถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล จะไม่ท้อถอยในการสอน

เพราะการสอนที่แท้จริง คือ การเรียนรู้ของครู

ครูต้องหมั่นฝึกฝนตนเอง ตรงนี้สำคัญมาก ถ้าครูเขียนความเรียง 3 บรรทัดเป็นครูจะรู้และเข้าถึงความเรียง 3 บรรทัด ครูจะง่ายต่อการชี้แนะให้เด็กๆ เขียนความเรียงได้ เพราะฉะนั้นครูต้องหมั่นฝึกฝนเขียนความเรียง 3 บรรทัดจนเขียนเป็น ประโยชน์ จะเกิดต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน งานเขียนของครู นั่นแหละ คือตัวอย่างที่ดีของเด็กๆ

ครูต้องสร้างสภาพแวดล้อม ตรงนี้ก็สำคัญ ครูต้องจัดสภาพโรงเรียนให้เป็นบ้านกวี ทุกมุม ทุกที่มีผลงานดี ๆ ของนักเรียนมาปิดให้เพื่อนๆ อ่าน เด็กจะสนใจอ่านงานของตนและของเพื่อน ถ้าทุกมุมในโรงเรียนมีผลงานความเรียง หรือบทประพันธ์มาให้อ่าน เด็กจะเรียนรู้ได้ตลอดเวลา และเจ้าของผลงานจะภูมิใจที่งานของตนมีเวทีให้แสดง

อ่านเป็นเล่มได้ที่นี่ ครับ https://docs.google.com/docume...



หมายเลขบันทึก: 654729เขียนเมื่อ 5 ตุลาคม 2018 16:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 ตุลาคม 2018 10:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท