.... ใช่ว่าจะสิ้นหวัง 4/1 โดย ชาตรี สำราญ


เด็กๆ ส่วนใหญ่ติดรูปแบบการเขียนเรียงความ จึงมักใช้คำบรรยายความมาก ทำให้เยิ่นเย้อ และเพื่อให้ข้อความยาวๆ ก็จะใช้คำซ้ำ ความซ้ำ

4 ก้าวย่างแต่ละย่างก้าว

มีคุณครูบางท่านถามผมว่า “จะเริ่มต้นสอนการเขียนความเรียง 3 บรรทัดอย่างไร”

ผมตอบว่า การสอนความเรียง 3 บรรทัดนั้นเริ่มต้นง่าย ๆ โดย

1. ฝึกให้เด็กคิด เขียนเรื่องง่าย ๆ ใกล้ตัวเด็ก

เรื่องที่เด็ก ๆ กำลังสัมผัสอยู่ หรือปะทะอยู่ หรือเป็นประสบการณ์เดิมของเด็กก็ได้ ซึ่งเด็กรู้เด็กเห็นสิ่งนั้นอยู่บ่อย ๆ เช่น ได้ยินเสียงลูกวัวร้อง ก็เขียนเรื่องลูกวัว เห็นผีเสื้อบินอยู่ก็เขียนเรื่องผีเสื้อ เด็กๆ ที่มีชีวิตอยู่ในชุมชนบ้านนอกจะพบเห็นสิ่งต่างๆ แตกต่างไปจากเด็กในเมืองหลวง แต่เด็กทุกคนย่อมจะมีภาพในใจของตน ภาพในใจของเด็กนั้น ถ้าครูนำมาสอนเด็กจะเข้าใจ

กุดซินสกี้ ซาราห์ซี กล่าวว่า “คนเราจะอ่านหนังสือออกเป็นภาษาที่เขาเข้าใจ มิฉะนั้นเขาจะไม่รู้เรื่องข้อความที่อ่านเลย...” และ ยังกล่าวต่อไปอีกว่า “เขาควรได้เรียน เพื่ออ่านข้อความอะไรก็ได้ที่เขาเคยฟังมาแล้วเข้าใจ...”

ดังนั้นถ้าเราสอนให้เด็กอ่านคำจากสิ่งที่เขาเห็น เขาจะอ่านและจำคำนั้นได้ดี เพราะเป็นคำที่นำมาจากสิ่งที่เขารู้เขาเห็น คำบางคำนำสอนเพียงครั้งเดียวเขาอ่านได้ เช่น คำว่า ผี กอด จูบ คำเหล่านี้เขาได้ยินมาบ่อยครั้งตั้งแต่เล็กๆ เหมือนกับคำว่า พ่อ แม่ ก็ได้ยินมาตั้งแต่เล็กๆ พอเขียนและสอนเพิ่มครั้งเดียวเด็กจะอ่านได้

ครูเขียนคำว่า ผี อ่านนำเด็กพอได้ยินคำว่า ผี เขาจะสนใจ เขาจะอ่านตามด้วยความสนใจแล้วเขาจำคำนั้นได้ ครูเขียนคำว่า เสื้อ หลังคำว่าผี อ่านนำเด็กอ่านตาม เขาจะอ่านได้จำได้ในเวลาไล่เลี่ยกัน ครูเขียนคำว่า บินไปบินมา คำนี้ดูเหมือนว่ายากแต่ภาษามันง่าย เด็กๆ คุ้นชินกับคำนี้ เขาอ่านตามครู 2-3 ครั้งก็อ่านได้ ครูเขียนคำ ดูดอกไม้ อ่านนำ พอเด็กอ่านได้ ครูนำมาเขียน 3 บรรทัด

ผีเสื้อ

บินไปบินมา

ดูดอกไม้

มันเป็นหนังสือง่ายๆ ที่ยั่วยุให้เด็กอยากอ่าน อยากคิด อยากเขียน เปิดโอกาสให้เด็กๆ คิดเขียนเรื่องที่เขาอยากบอกให้ครูเขียน หรือเขาอยากเขียนเอง ถ้าเขียนได้ ใครเขียนได้ให้ออกมาเขียนบนกระดานดำ ฝึกจากเรื่องง่ายๆ ก็จะได้ใจเด็ก เพราะมันเป็นเรื่องจากชีวิตเด็ก

2. กระตุ้นให้เด็กคิดโดยใช้คำถามนำ

การใช้คำถามนำจะช่วยกระตุ้นให้เด็กคิด เด็กชั้น ป.1-ป.2 ครูถามให้เด็กคิดเขียนเรื่องง่ายๆ เช่น เมื่อได้ยินเสียงนกร้อง ครูรีบถามทันทีว่า “เสียงอะไร” เด็กจะตอบ นกร้อง ครูเขียนบนกระดานดำ นกร้อง แล้วอ่านนำเด็กๆ อ่านตาม และครูถามอีกว่า “นกร้องที่ไหน” เด็กจะตอบว่า ที่ต้นไม้ ครูเขียนคำว่า “ที่ต้นไม้” อ่านนำ เด็กอ่านตาม ครูถามว่า “ต้นไม้อยู่ที่ไหน” เด็กตอบ “อยู่ข้างห้องเรียน” ครูเขียนให้เด็กอ่าน “ข้างห้องเรียน” จะเห็นเป็นความเรียง 3 บรรทัดว่า

นกร้อง

ที่ต้นไม้

ข้างห้องเรียน

ฝึกให้นักเรียนอ่านข้อความทั้งหมด จนเด็กๆ อ่านได้ ก็แยกเป็นคำๆ นก ที่ ต้นไม้ ร้อง ห้อง ข้าง เรียน สอนอ่านคำสลับกับอ่านข้อความทบทวนไปมา เด็กจะค่อยๆ อ่านได้ สอนอย่างนี้เรียกว่า สอนภาษาสู่การอ่านเขียนหนังสือ ไม่ใช่สอนหนังสือ ถามให้คิดบ่อยๆ อ่านบ่อยๆ เขียนบ่อยๆ จะคิดได้ อ่านได้ เขียนได้

3. ถ้าเด็กเริ่มเขียนได้ แต่เขียนซ้ำๆ เยิ่นเย้อ ครูช่วยโดยการดูว่าน่าจะตัดคำใดออกบ้าง เช่น ด.ญ.อำซือ จงริบ ป.2 ร.ร.บ้านดงป่าหวาย อำเภอดอยหล่อ เชียงใหม่ ซึ่งเป็นเด็กไทยใหญ่ เขียนเรื่อง แมว ว่า

แมวเหลืองน่ารัก

ถ้ามันกินอาหารเสร็จ

มันเช็ดปากด้วยตัวมันเอง

ครูชี้ให้เด็กเห็นว่า ถ้าตัดคำบางคำออกจะได้ความที่สมบูรณ์กว่า เด็กกับครูช่วยกันดูที่มันมากเกินไป ก็ตัดออก คงเหลือเพียง

แมวเหลืองน่ารัก

กินอาหารเสร็จ

เช็ดปากด้วยตัวมันเอง

ด.ญ.อำซือ จงริบ ป.2

ร.ร.บ้านดงป่าหวาย อำเภอดอยหล่อ เชียงใหม่

ด.ญ.สุภิตรา พาปัญญา ป.2 ร.ร.บ้านดงป่าหวาย ซึ่งเป็นเด็กไทยใหญ่เช่นกัน เขียนว่า

แมวถ้ามัน

อาบน้ำมัน

จะขนฟูๆ

ครูกับเด็กมาช่วยกันดูว่าทำอย่างไร จึงจะได้ความเรียงที่ไพเราะมากขึ้น สุดท้ายเลือกตัดคำบางคำออกแล้ววางคำใหม่ให้ได้ความว่า

แมว

ถ้าอาบน้ำ

ขนจะฟูๆ

ด.ญ.สุภิตรา พาปัญญา ป.2

ร.ร.บ้านดงป่าหวาย อำเภอดอยหล่อ เชียงใหม่

เด็กๆ ส่วนใหญ่ติดรูปแบบการเขียนเรียงความ จึงมักใช้คำบรรยายความมาก ทำให้เยิ่นเย้อ และเพื่อให้ข้อความยาวๆ ก็จะใช้คำซ้ำ ความซ้ำ การฝึกให้เด็กเขียนความเรียง 3 บรรทัด ก็เพื่อจะแก้ไขให้เด็กๆ รู้จักใช้คำอย่างประหยัดใช้คำให้คุ้มค่า ใช้คำน้อยแต่ได้ความกระชับ ข้อความสมบูรณ์ อ่านเข้าใจ

การสอนความเรียง 3 บรรทัดนี้ ควรให้เด็กคิดเขียนในแผ่นกระดาษชิ้นเล็ก เขียนเสร็จแล้ว ครูกับเด็กร่วมกันพิจารณาดูว่า มีความถูกต้องสมบูรณ์มากน้อยเพียงใด มีคำผิดบ้างไหม ปรับปรุงแก้ไข เสร็จแล้วจึงนำไปเขียนในสมุด หรือกระดาษที่จะจัดทำหนังสือเล่มเล็ก ครูอย่าปล่อยปละละเลย โปรดรำลึกว่า การสอนแต่ละครั้งมุ่งความสำเร็จของงานเป็นที่ตั้ง

อ่านเป็นเล่มได้ที่นี่ ครับ https://docs.google.com/docume...



หมายเลขบันทึก: 654727เขียนเมื่อ 5 ตุลาคม 2018 16:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2018 16:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท