.... ใช่ว่าจะสิ้นหวัง 2/1 โดย ชาตรี สำราญ


“ นี่มิได้เป็นเพียงหนังสือ หรือ ปึกกระดาษ หากแต่คือ “ความนึกคิดที่มีชีวิตจิตใจ” ซึ่งถูกจัดวางอยู่ตามชั้นต่างๆ แต่ละความนึกคิด ก็มี กระบอกเสียง เป็นของตนเอง ”

2 ใช่ว่าจะสิ้นหวัง

ผมเชื่อว่า

ถ้าเราจัดบทเรียนให้สนองความต้องการของผู้เรียน เราก็สามารถแก้ปัญหาของผู้เรียนได้

จากที่สังเกตมาตลอดเวลาแห่งการเป็นครูของผม ผมพบว่า

เด็กที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้  

นั่นเป็นเพราะ เขามองเห็นคำนั้นว่ายากสำหรับเขา

ยากตรงที่ เขาไม่รู้ ไม่เข้าใจต่อคำนั้น

เพราะ คำ ที่ครูนำมาให้เขาอ่าน  ล้วนแล้วแต่เป็น

“คำ ที่ครูอยากให้เขาอ่าน ไม่ใช่ คำ ที่เขาอยากอ่าน”

คำ ๆ นั้นจึงไม่มีความหมายสำหรับเขา ยิ่งครูนำคำนั้นมาทดสอบเขา ก็ยิ่งเพิ่มความกดดันให้เกิดในจิตใจผู้เรียน

ครูเองก็รู้ว่าคำเหล่านั้นคือ คำยาก

ในแบบเรียนภาษาไทยก็กำหนดคำเหล่านั้นว่าเป็น คำยาก

ทั้งที่รู้ว่าคำนั้นคือ คำยาก ทำไมครูและผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาจึงยังนำคำเหล่านั้นมาทดสอบและตัดสินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วย

ที่เป็นอย่างนี้เพราะ เรานำคำพวกนั้นมาเป็นจุดมุ่งหมายของการจัดการเรียนการสอนใช่ไหม

ทำไมครูและผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา  ไม่ถามตนเองว่า

สอนให้เด็กอ่านเขียนคำยากไปทำไม อ่านเขียนคำยากเพื่ออะไร”  และ

เราควรนำเทคนิคการสอนแบบใดมาสอนเพื่อให้เด็กอยากเรียนรู้คำยาก”

ทำไมเราไม่คิดว่า  

เด็กๆ ชอบคำที่พวกเขานำมาสื่อสารติดต่อกับผู้อื่นได้

แล้วเราก็กระตุ้นให้เด็ก คิด เขียน และอ่านสารที่เขาสื่อออกมาให้ได้อย่างถูกต้องชัดเจน

ครูต้องสอน “สิ่งที่เด็กอยากเรียน อยากรู้

เพราะสิ่งนั้นมีความหมายสำหรับเขา

กุดซินสกี้ ซาราห์ซี กล่าวว่า  เด็กๆ จะเรียนและจดจำคำที่เห็นเพียงครั้งเดียวได้ ถ้าคำคำนั้นมีความหมายต่ออารมณ์ความรู้สึกของเขา...”

ในห้องเรียนครูไม่ควรสอนอะไรให้มากไปกว่า

สอนวิธีการคิด

วิธีการอ่าน

วิธีการเขียน และ

วิธีการเรียนรู้ (Learning How To Learn)

ส่วนสิ่งที่เด็กอยากรู้นั้น เปิดโอกาสให้เด็กไปหาความรู้กันเอง เมื่อได้ความรู้มาแล้ว ครูกับนักเรียนร่วมพิจารณา ร่วมกันวิพากษ์ ปรับปรุง เพิ่มเติมจนบทเรียนนั้นมีความสมบูรณ์ ก็ให้เด็กจัดทำเป็นหนังสือเล่มเล็ก หรือตำราเรียนเขียนโดยเด็ก

หนังสือเล่มนี้แหละที่ กิลเบิร์ต ไฮเอ็ต กล่าวไว้ว่า  

“ นี่มิได้เป็นเพียงหนังสือ หรือ ปึกกระดาษ

หากแต่คือ  “ความนึกคิดที่มีชีวิตจิตใจ”

ซึ่งถูกจัดวางอยู่ตามชั้นต่างๆ

แต่ละความนึกคิด ก็มี กระบอกเสียง เป็นของตนเอง ”

ผมไม่เชื่อว่าเด็กไม่อยากเรียนรู้ ผมกล้าเขียนอย่างนี้เพราะผมเคยมีลูกศิษย์ 3 คน ซึ่งก่อนที่ผมจะเข้าไปเป็นครูประจำชั้น เขาขาดเรียนบ่อย เมื่อผมเข้าไปสอนเขา ผมพยายามทำความใกล้ชิดกับพวกเขา พูดคุยกับพวกเขา บางครั้งเขาขาดเรียนไปเฉยๆ 2-3 วัน พอมาเรียนผมไม่ว่าอะไร ว่างๆ ผมจะไปนั่งพูดคุยกับพวกเขา  (ใต้ต้นไม้นอกห้องเรียน) พวกเขาจะเล่าเรื่องที่ไปพบเห็นตอนไม่มาโรงเรียน ผมรับฟังอย่างสนใจและจะพูดเสริมความคิดเขาในบางครั้ง พวกเขาชอบมานั่งคุยกับผมบ่อยๆ การขาดเรียนลดน้อยลงจนกระทั่งไม่ขาดเรียน และสนใจเรียนรู้เพิ่มขึ้น

พวกเขาชอบนก ที่ขาดเรียนเพราะไปแข่งนก ผมจึงให้เขาศึกษาเรื่องนกกางเขนที่เขาชอบ เขาจะมานั่งเล่าสิ่งที่เขารู้ให้ผมฟัง ผมจดบันทึกไว้ ว่างๆ ผมเรียกพวกเขามานั่งอ่านเรื่องที่ผมบันทึกไว้ ซึ่งก็เรื่องที่เขาเล่าให้ผมฟังนั่นเอง

พวกเขาสนใจและแปลกใจว่า ทำไมผมจึงสนใจเรื่องของเขาจนต้องบันทึกไว้ ผมบอกว่าผมจะนำไปเขียนขาย เขาถามว่าขายได้จริงหรือ ผมจึงให้สมุดเล่มนั้นแก่เขา บอกให้เขาไปเขียนใหม่ให้เรื่องสมบูรณ์ขึ้น  

เวลาผ่านไปสัปดาห์กว่า พวกเขาก็นำหนังสือเล่มเล็กเรื่อง “กางเขนดงที่ฉันรู้จัก”  มาให้ผม เมื่อมีคณะครูต่างโรงเรียนมาสังเกตวิธีสอนของผม ผมก็ขายหนังสือเล่มนั้นไป ได้เงิน 500 บาท ผมเรียกให้เด็กทั้ง 3 คนมารับเงินจากครูท่านนั้น พวกเขาดีใจมาก และมีผลงานมาให้ผมอ่านเรื่อยๆ เช่นกัน

เรื่องนี้พอจะสรุปได้ไหมว่า เด็กๆ จะเรียนเมื่อเขา พร้อมที่จะเรียน และผมสอนวิธีการเรียนรู้ให้เขานำไปหาความรู้ที่เขาอยากรู้ ผลที่เกิดตามมาคือ พวกเขาเริ่มรักที่จะเรียนรู้

เฮนรี่ อาดัมส์ กล่าวว่า “ผู้ใดรู้วิธีที่จะเรียน ผู้นั้นมีความรู้เพียงพอแล้ว”

อ่านเป็นเล่มได้ที่นี่ ครับ https://docs.google.com/docume...



หมายเลขบันทึก: 654719เขียนเมื่อ 5 ตุลาคม 2018 15:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 ตุลาคม 2018 10:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท