.... ใช่ว่าจะสิ้นหวัง 1/3 โดย ชาตรี สำราญ


การที่ผมสอนให้เด็ก ๆ เขียนความเรียง 3 บรรทัดนั้น จุดมุ่งหมายที่แท้จริง คือ “ผมต้องการฝึกทักษะการคิด”

ผมสังเกตเห็นว่าก่อนที่จะตอบคำถาม พวกเขาจะหันหน้าเขาหากันปรึกษาหารือกัน เขาเรียนแบบ  Team Learning  เขาจะระดมสมองคิดแก้ไขปัญหา ภาพการเรียนอย่างนี้อยากให้มีบ่อย ๆ และเกิดขึ้นกับเด็กไทยทุกคน ทุกโรงเรียน เพราะการร่วมกันปรึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนั้นจะช่วยในการรวบรวมความรู้ให้กระชับขึ้น มีมุมมองที่สามารถนำมาสรุปได้มากขึ้น

แน่นอนว่า ระหว่างที่แลกเปลี่ยนความคิดกันนั้น ย่อมส่งผลให้สมาชิกกลุ่มแต่ละคนมองเห็นภาพของสิ่งที่กำลังปรึกษากัน สิ่งนั้นคือ ข้อมูล (Data) ที่เขารู้มาหรือที่พวกเขาแต่ละคนคิดได้มา

ข้อมูลเหล่านี้เมื่อเขาสรุปได้ สิ่งที่เขาสรุปได้นั้นแหละคือ ข้อมูลความรู้ (Information)

ถ้าเขานำข้อมูลความรู้นั้นมาร่วมกันขบคิด พิจารณาไตร่ตรองบ่อย ๆ เข้าข้อมูลความรู้นั้นก็จะขมวดเข้าเป็นความรู้ (Knowlegde)

และถ้าเขานำความรู้ที่มีนั้นไปแก้ปัญหาบ่อย ๆ เข้าความรู้ความเข้าใจหรือที่เรียกว่า  ปัญญา (Wisdom) จะเกิดขึ้น

เขียนมาถึงตรงนี้ก็พอจะเห็นได้ว่า วิธีการเรียนรู้ (Learning How to Learn)  นี้แหละคือ สิ่งสำคัญที่ครูจะต้องสอนจะต้องฝึกฝนจนผู้เรียนเกิดเป็น ทักษะเฉพาะตน

ทันตแพทย์สม สุจีรา กล่าวว่า   “ปัจจุบันระบบการศึกษาทั่วโลกเปลี่ยนมาเป็นการพัฒนาทักษะ แทนการให้ความรู้ เพราะนับแต่มีระบบคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต ปริมาณความรู้ท่วมโลกจนสอนกันไม่ไหว  

การสอนในปัจจุบันควรเน้นเรื่ององค์ความรู้

นำเฉพาะหลักการสำคัญ ๆ มาสอน เพราะไม่สามารถสอนเนื้อหาทั้งหมดได้

เมื่อผู้เรียนพอจะรู้จุดสำคัญ ก็ไปแสวงหาต่อยอดกันเอาเองตามความสนใจของแต่ละคน

สิ่งที่ต้องสอน คือ ทักษะในการแสวงหาความรู้ให้ได้ตามที่ต้องการ.....”

การที่ผมสอนให้เด็ก ๆ เขียนความเรียง 3 บรรทัดนั้น

จุดมุ่งหมายที่แท้จริง คือ   “ผมต้องการฝึกทักษะการคิด”  

จะเห็นได้ว่าก่อนที่เด็ก ๆ จะเสนอความคิดให้ผมนั้น พวกเขาจะร่วมกันปรึกษากันก่อน จนกระทั่งตกลงกันได้แล้วว่า คำๆ นี้แหละใช่  ตัวแทนของกลุ่มจะเสนอความคิดแก่ครู นี่คือกระบวนการคิดง่าย ๆ ที่ครูพึงสอนให้เกิดแก่เด็กผู้เรียน ถ้าฝึกบ่อย ๆ จนกระบวนการนี้ซึมซับเข้าสู่ผู้เรียนแล้ว ผู้เรียนกลุ่มนี้จะเกิดทักษะกระบวนการคิดแบบนี้ขึ้นมา

นอกจากนั้นผมยังฝึกให้เด็ก ๆ เหล่านี้

คิดวิเคราะห์

คิดแบบตีความ

แปลความ และ

คิดนอกกรอบ

จะเห็นได้ว่าเด็ก ๆ แทนที่จะตอบว่า แสงแดดร้อน เขากลับบอกว่า มีไฟมาด้วย นั่นหมายถึงว่า เขากล้าคิด นอกกรอบแล้ว

เขาคิดแบบวิเคราะห์แล้วก็ตีความว่า แสงแดดที่ร้อนนั้นเป็นเพราะแสงแดดมีไฟมาด้วย การคิดแบบนี้ส่งผลให้ ความที่นำมาเรียงกันนั้นน่าอ่าน น่าสนใจ และน่าจะเป็นที่น่าสงสัยของใครบางคน สงสัยว่า....ใช่หรือ  การสอนอย่างนี้ถูกต้องหรือ ภาษาอย่างนี้มีด้วยหรือ นี่คือโจทย์ที่ท้าทายให้เรามาร่วมกันคิด และร่วมกันฝึกฝนให้เด็กไทยรู้จักวิธีการคิด

ศ.ดร.สาโรจน์ บัวศรี เคยกล่าวไว้ว่า “วิธีเรียนรู้ที่ดีที่สุดนั้นก็คือ ใช้วิธีการคิดนั่นเอง เอามาเป็นวิธีเรียน” และ ศ.ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต ก็เคยกล่าวไว้ว่า “ส่วนหนึ่งของการศึกษาจะต้องสอนให้คนคิดเป็น สอนให้คนเป็นอิสระทางความคิด สอนให้คนกล้าเผชิญทางความคิด คือ กล้าแสดงออก”

เมื่อเราสอนให้เด็กกล้าคิด กล้าแสดงออกแล้ว  จำเป็นที่ครูจะต้องสอนให้เด็กรู้จักการบอกให้ผู้อื่นรู้ซึ้งถึงความคิดของเขาที่เราเรียกว่า สาร (massage) หรือข้อมูลข่าวสาร (Information) ที่เขาคิดได้

เครื่องมือในการที่จะสื่อสารออกมาให้คนอื่นรู้นี่แหละมีความสำคัญมาก เพราะถ้าเด็กรู้วิธีการคิด วิธีการสื่อสาร และสามารถสื่อออกมา ให้ผู้อื่นเข้าใจได้ถูกต้องแสดงว่าผู้เรียนคนนั้น รู้วิธีเรียนรู้

เฮนรี่ อาดัมส์ กล่าวว่า “ผู้ใดรู้วิธีที่จะเรียน  ผู้นั้นมีความรู้เพียงพอแล้ว”

และธอเรส แม นักการศึกษาชาวอเมริกัน (ค.ศ.1796 – 1859) กล่าวว่า “เมื่อใดก็ตามที่เด็กเรียนรู้วิธีการหาความรู้ได้ด้วยตนเอง   ย่อมไม่มีสิ่งใดมาทำให้สติปัญญาความคิดของเขาคับแคบลง”

อ่านเป็นเล่มได้ที่นี่ ครับ https://docs.google.com/docume...

หมายเลขบันทึก: 654714เขียนเมื่อ 5 ตุลาคม 2018 15:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2018 15:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท