เส้นใย(ไฟเบอร์) ของจำเป็นสำหรับสุขภาพดีๆ


สมาคมโรคเบาหวานอเมริกัน (American Diabetic Association) แบ่งกากใยพืชเป็น 2 ชนิดได้แก่ ชนิดไม่ละลายน้ำ (insoluble) และชนิดละลายน้ำ (soluble)


เราๆ ท่านๆ หันมาใส่ใจอาหารสุขภาพกันมากขึ้น อาหารที่มีกากใย (fiber) มีส่วนช่วยรักษาสุขภาพให้ดีได้ วันนี้มีข่าวดีจากเว็บไซต์ของโรงพยาบาลโฮลีครอส (www.holycrosshealth.com) มาฝากครับ...

สมาคมโรคเบาหวานอเมริกัน (American Diabetic Association) แบ่งกากใยพืชเป็น 2 ชนิดได้แก่ ชนิดไม่ละลายน้ำ (insoluble) และชนิดละลายน้ำ (soluble)


1.       กากใยชนิดไม่ละลายน้ำ (insoluble)           

กากใยชนิดไม่ละลายน้ำมีลักษณะเป็นเส้นใย ช่วยให้ถ่ายคล่อง ป้องกันภาวะท้องผูก และอาจช่วยลดมะเร็งทางเดินอาหาร กากใยชนิดนี้มีมากในธัญพืชครบส่วน เช่น ข้าวกล้อง ฯลฯ ส่วนเปลือกและผนังกั้นของผักและผลไม้


2.       กากใยชนิดละลายน้ำ (soluble)                   

กากใยชนิดละลายน้ำมีลักษณะเป็นวุ้นหรือเมือก ช่วยลดโคเลสเตอรอล ลดความเสี่ยงโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน ช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาล ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นช้าๆ และไม่ลดระดับเร็วเกิน

กากใยชนิดนี้มีมากในข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เล่ย์ ถั่ว ส่วนเนื้อในของผักและผลไม้ เช่น ส้ม สตรอเบอรี่ แอปเปิล ฯลฯ

พืชผักส่วนใหญ่มีกากใยทั้งสองชนิด ตัวอย่างเช่น มะเขือเทศมีเปลือกและผนังกั้นเป็นเส้นใย ส่วนนี้คือกากใยที่ไม่ละลายน้ำ มีผลดีเป็นพิเศษกับระบบทางเดินอาหาร

ส่วนที่เป็นเมือกๆ อยู่ภายใน ส่วนนี้คือกากใยที่ละลายน้ำได้ มีผลดีกับอวัยวะทุกส่วนในร่างกาย

สมาคมวิจัยมะเร็งอเมริกัน (American Institute of Cancer Research) มีคำแนะนำ (Tips) ในการกินกากใยมีดังต่อไปนี้...

1)           กินให้หลากหลาย                                        

ควรกินกากใยจากพืชผักทั้ง 4 กลุ่มได้แก่ ธัญพืชครบส่วน (ข้าวกล้อง) ถั่ว ผัก และผลไม้ เพื่อให้ได้กากใยทั้งชนิดเส้นใย(ไม่ละลายน้ำ) และชนิดเมือก(ละลายน้ำ) จะทำให้ได้ประโยชน์จากพืชผักเต็มที่

2)        เพิ่มทีละน้อย                                                   

กินพืชผักเพิ่มขึ้นทีละน้อย ถ้ากินเพิ่มขึ้นเร็วเกินไปอาจทำให้ท้องอืดได้ อย่าลืมว่า ชีวิตเป็นอะไรที่ควรปรับเปลี่ยนอย่างทนุถนอมมากกว่าจู่โจมโครมคราม

3)        เพิ่มน้ำ                               

กากใยในอาหารดูดซับน้ำไว้ส่วนหนึ่ง ถ้าดื่มน้ำน้อยเกินอาจทำให้ท้องอืด หรือท้องผูกได้

ควรดื่มน้ำเพิ่มขึ้นบ้าง เพื่อช่วยให้ระบบทางเดินอาหารทำงานได้ดีขึ้น วิธีสังเกตง่ายๆ คือให้สังเกตสีปัสสาวะ

ถ้าปัสสาวะสีเข้มโดยไม่ได้กินยา...ควรดื่มน้ำเพิ่ม ถ้าดื่มน้ำมากพอ...ปัสสาวะจะมีสีเหลืองจางๆ

ถ้าปัสสาวะบ่อยทุกชั่วโมง.... อย่างนี้อาจเป็นผลจากการดื่มน้ำมากเกิน การดื่มน้ำให้พอ และ "พอดี" คือ วันละประมาณ 8 แก้วน่าจะพอครับ...

    แหล่งที่มา:                                      
  •  www.holycrosshealth.com > Health Information > Fiber Facts > October 14, 2005.
  • ข้อมูลและการอ้างอิงในบล็อก บ้านสุขภาพ มีไว้เพื่อส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค ไม่ใช่เพื่อการรักษาโรค
  • ท่านที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้
  • ขอขอบพระคุณ > อาจารย์เทวินทร์ อุปนันท์ IT โรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรี
  • ขอขอบพระคุณ > อาจารย์ ณรงค์ ม่วงตานี และอาจารย์เทพรัตน์ บุณยะประภูติ IT ศูนย์มะเร็งลำปาง
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ > ๑๔ ตุลาคม ๔๘ > แก้ไข 8 มิถุนายน 2550.
หมายเลขบันทึก: 6547เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2005 15:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท