เส้นแบ่งเขตแดนกับเส้นแบ่งวัฒนธรรม


"เส้นแบ่งเขตแดนที่อยู่รายรอบล้อมประเทศไทย แบ่งได้แต่เนื้อที่ของประเทศ แบ่งได้แต่แผ่นดิน แต่เส้นแบ่งเขตแดนไม่สามารถแบ่งวัฒนธรรม หรือแบ่งเชื้อชาติแบ่งวิถีชีวิต แบ่งรากภาษา แบ่งความคุ้นชินของอาหารการกิน แบ่งไมได้เลยครับ"

ท่านอาจารย์เผ่าทอง ทองเจือได้พูดไว้ในรายการ "เปิดตํานานกับเผ่าทอง" ตอนคนสยามในรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย เป็นคำพูดที่กล่าวในช่วงปิดรายการนั้นดีงามยิ่ง ซึ่งทำให้ผมห็นด้วยและคิดว่า นับตั้งแต่ที่ฝรั่งขีดเส้นพรมแดนไปทั่วโลก ล่วงเลยมาถึงฝรั่งมีแนวคิดการกำหนดวัฒนธรรมของชนชาติใดชนชาติหนึ่ง จนกลายมาเป็นการขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรมนั้น ได้สร้างความร้าวฉานให้กับนานาชาติอย่างที่เห็นได้ชัด โดยเฉพาะชาติต่างๆ ที่มีพรมแดนติดกันและมีวัฒนธรรมร่วมกัน  

อย่างเช่นเรื่องวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้  เช่น โขน  ที่เป็นกรณีพิพาทในสังคม Social Network ของไทยและกัมพูชานั้น ได้สร้างความเกลียดชังให้กับผู้คนบางส่วนในสังคม Social Network ของทั้งสองประเทศ มีการด่าทอกันไปมาข้ามประเทศ จนทำให้ผมรู้สึกว่า การขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมนั้นเป็นเรื่องดีจริงหรือไม่ (เป็นเพียงความรู้สึกของผู้เขียนซึ่งอาจจะผิดก็ได้)

วัฒนธรรมเป็นเรื่องของการผสมกลมกลืนกันระหว่าง วิถีชีวิตและคติความเชื่อดั้งเดิมของชาติเราเองกับ วิถีชีวิตและคติความเชื่อดั้งเดิมของชนชาติอื่น ๆ มีการรับส่งกันไปมา อาจจะเรียกเท่ ๆ ว่า "กระสวนทางวัฒนธรรมก็ได้" มีการแลกเปลี่ยนกันไปมาจนแทบจะหาหรือสืบค้นไม่ได้เลยว่าแท้จริงแล้ว กิจกรรม วิถีชีวิตความคิดความเชื่อบางสิ่งที่เราคุ้นชินในวิถีประจำวันของเรานั้น เป็นของเราแท้ ๆ หรือชนชาติใด เชื้อชาติใดกันแน่ 

ลองคิดดูว่าหากชนชาติในอารยธรรมแม่แบบของโลก เช่นอารยธรรมลุ่มแม่น้ำไนล์ อารยธรรมลุ่มแม่น้ำไทกริส-ยูเฟรติส อารยธรรมลุ่มแม่น้ำฮวงโห อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ ต่างพร้อมใจกันออกมาร้องเรียนและจดทะเบียนวัฒนธรรมที่จับต้องได้และวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ และห้ามประเทศต่าง ๆ ห้ามใช้อารยธรรมและวัฒนธรรมของชนชาติเหล่านี้ โลกใบนี้จะวุ่นวายขนาดไหน

หากลองวิเคราะห์ดูหลักฐานทางด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์แล้ว แม้แต่อารยธรรมที่เราถือว่าเป็นแม่แบบของโลกก็ล้วนแต่สืบทอด ส่งต่อ แลกรับวัฒนธรรมซึ่งกันและกันเช่นกัน ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง 

เพราะเอาเข้าจริง ๆ แล้ว ไม่มีวัฒนธรรมใดในโลกนี้ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ได้ด้วยตัวของมันเองอย่างโดดเดี่ยว ซึ่งล้วนแต่ได้รับ-แลกมาจากชนชาติต่าง ๆ ด้วยกันทั้งนั้น สิ่งไหนที่ดีงามชนชาติต่าง ๆ ก็พัฒนาขึ้นไปเรื่อย ๆ สิ่งไหนที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตก็ถูกปรับเปลี่ยนให้เข้ากับวิถีชีวิตหรืออไม่ก็เลือกปรับใช้บางสิ่ง หรือเลือกใช้ในสิ่งที่ชาติอื่นนำไปปรับมาก่อนแล้ว หรือไม่นำมาใช้เลยก็มี สิ่งเหล่านี้จึงกลายเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นไป แต่จะเหมารวมว่าสิ่งนี้เป็นของเรา สิ่งนั้นเป็นของเขานั้นไม่ได้เลย

ในฐานะที่พวกเราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ดำรงชีวิตในสังคมที่มีการผสมผสานอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเชื่อชาติ ศาสนา ฯลฯ เราจึงมีหน้าที่ใช้ เรียนรู้ และสืบทอด เพื่อให้วัฒนธรรมต่าง ๆ ที่ดีงามนั้นสืบทอดสู่ลูกหลานต่อไป ไม่ได้มีหน้าที่แบ่งแยกว่าสิ่งไหนของเราสิ่งไหนของเขา ผมเชื่อว่านี่คือสิ่งที่ดีงาม เป็นวัฒนธรรมที่ดีงามอย่างครับ

ภาพประกอบจาก YouTube ช่อง PPTV รายการ "เปิดตํานานกับเผ่าทอง" ตอนคนสยามในรัฐกลันตัน  ประเทศมาเลเซีย

หมายเลขบันทึก: 654680เขียนเมื่อ 5 ตุลาคม 2018 09:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มีนาคม 2020 21:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท