เศรษฐกิจไทยปีกุน ยังต้องเหนื่อยอีกหลายยก


เศรษฐกิจไทยปีกุน
เศรษฐกิจไทยปีกุน ยังต้องเหนื่อยอีกหลายยก

แม้เสียงส่วนใหญ่จากภาครัฐจะคาดกันว่า เศรษฐกิจไทยปีกุนน่าจะมีแนวโน้มสดใสกว่าปีนี้ ด้วยอัตราการเติบโตที่ขยายตัวถึงร้อยละ 5-5.5 โดยมีแรงหนุนสนับสนุน จากเม็ดเงินลงทุนของภาครัฐ การดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุล ในกรอบรายจ่ายที่สูงถึงที่ 1.46 แสนล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 1.7 ของจีดีพี  โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการภาครัฐที่มีแผนจะเบิกจ่ายในช่วงกลางปี 2550 เช่นระบบขนส่งสาธารณะที่ใช้งบ จำนวน 98,000 ล้านบาท, ที่อยู่อาศัย 124,000 ล้านบาท, โครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำ 60,000 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้ภาพรวมของการลงทุนในปีหน้า น่าจะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 8-9 เทียบจากปีนี้ที่ร้อยละ 4.8-5.8 เท่านั้น

นอกจากนี้ แรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อ ก็มีแนวโน้มที่จะลดลงมาอยู่ระดับร้อยละ 1.5-3 จากสถานการณ์ราคาน้ำมันโลก โดยราคาน้ำมันดิบในตลาดดูไบคาดว่าจะอยู่ที่ 50-70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากค่าเฉลี่ยประมาณ 65 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรลในปีนี้ เช่นเดียวแรงหนุนส่งจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่เริ่มสู่ขาลงโดยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยเฟดจะปรับลดลงเหลือร้อยละ 4.75-5 จากปีนี้ที่ร้อยละ5.25 และดอกเบี้ยอาร์พี 14 วันที่ร้อยละ 5        ในปัจจุบันลงอีกร้อยละ 0.50 ในปีหน้า ซึ่งจะส่งผลดอกเบี้ยตลาดปรับลด เพิ่มอำนาจกำลังซื้อให้ผู้บริโภคในทางหนึ่ง  

แต่ก็ยังไม่อาจฟันธงได้เศรษฐกิจปีกุน จะเติบโตจนเป็นหมูพี เพราะมีทั้งปัจจัยต่างประเทศและในประเทศหลายตัวที่ส่งผลลบ ล่าสุดองค์กรความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (โออีซีดี) รายงานภาพรวมเศรษฐกิจโลก    ในรอบ 6 เดือน และคาดว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ยังขยายตัวแข็งแกร่งที่ร้อยละ 3.2 เพิ่มขึ้น      แต่กังวลว่าในปีหน้าจะชะลอตัวลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.5 โดยผลกระทบจากภาวการณ์ชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ         ที่มีแนวโน้มจะชะลอลงมาที่ร้อยละ 3.3 จากคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 3.6 และอาจจะดิ่งลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.4  จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าส่งออกของไทย ที่กินสัดส่วนไปถึงร้อยละ70 ของจีดีพี จะกระทบไปด้วย และอาจชะลอตัวโดยขยายเพียงร้อยละ 10.0-15.0 จากที่ส่งออกไทยปีนี้ขยายตัวร้อยละ 17. รวมไปถึงปัญหาการเมืองในตะวันออกกลางที่ยังไม่สงบจะส่งผลต่อความผันผวนของราคาน้ำมันโลกในปีหน้า ที่กำลังเป็นปัญหาซ้ำเติมผู้ส่งออกไทย คือความเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทที่ปรับตัวค่อนข้างเร็วในช่วง 1 ปี หรือจากค่าบาทที่ 40 บาทต่อดอลลาร์ฯ แข็งค่ามาอยู่ระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์ หรือแข็งขึ้นถึงร้อยละ 10 ในช่วง 1 ปี จนภาคเอกชนออกมาประสานเสียงว่าหากรัฐไม่หามาตรการเข้าช่วยก็อาจเห็นผู้ประกอบล้มตายกันในคราวนี้

นายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด กล่าวผ่าน "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าตนเป็นห่วงมากสุดในเวลานี้ คือ เรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาอยู่ระดับ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ          ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงกับผู้ประกอบการส่งออก โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบภายในประเทศ อาทิ   ภาคสินค้าเกษตร ที่มีมากถึง 80% ของผู้ประกอบการส่งออกทั้งหมด ส่วนอีก 20% จะเป็นผู้ส่งออกที่นำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ  "ผมห่วงว่าหากค่าเงินบาทแข็งไปแตะระดับ 32-33 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ภาคการส่งออก   จะเป็นปัญหาอย่างมาก และส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ และที่สำคัญจะไม่แตกต่างหรือมากกว่าช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่ผ่านมา รัฐจึงต้องเร่งหามาตรการเร่งด่วนเข้าไปแทรกแซงค่าเงิน" 

นอกจากนี้การที่ค่าเงินแข็งตัวขึ้น ก็ไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่เกิดจากการถูกปลุกปั่นอย่างรุนแรง โดยสาเหตุมาจากดอกเบี้ยเงินกู้ในประเทศที่สูงกว่าประเทศอื่น ทำให้เงินทุนต่างประเทศไหลเข้า ประกอบกับการปั่นค่าเงินของนักเก็งกำไร จึงต้องหาวิธีการบริหารจัดการ เพื่อสร้างความมั่นคงหรือเสถียรภาพให้กับค่าเงินบาท ตั้งกติกาขึ้นมาเพื่อกำหนดระยะเวลาการซื้อขายเงินบาท ป้องกันไม่ให้เกิดการเก็งกำไร อาทิหากซื้อเงินบาทไป จะจำหน่ายหรือทำการขายก่อนระยะเวลา 1 ปีไม่ได้ รวมถึงวิธีอื่น ๆ ซึ่งเรื่องนี้น่าเป็นห่วงอย่างมาก รัฐบาลเองต้องกล้าที่จะตัดสินใจ 

หากรัฐยังปล่อยให้สถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งตัวขึ้น โดยที่ไม่มีมาตรการแทรกแซง จะส่งผลให้ธุรกิจส่งออกแทบทั้งหมดเจอกับปัญหา คาดว่าไม่เกินระยะเวลา 6 เดือนหน้าจะเห็นภาพที่ชัดเจน และสิ่งที่กังวลมากที่สุด คือ ถ้าเกิดปัญหาขึ้นมาแล้ว จะแก้ไขได้ยาก หรือแก้แทบไม่ได้เลย   "ที่ผ่านมาจะมีนักวิชาการ หรือหน่วยงานรัฐบาลบางแห่งได้ออกมาแสดงความคิดเห็นสถานการณ์ค่าเงินบาทและภาคการส่งออก ว่ายังดีอยู่ แต่ข้อเท็จจริงนั้นคงไม่มีใครรู้ปัญหาที่แท้จริงเท่าผู้ส่งออก ซึ่งไม่เพียงเฉพาะผู้ประกอบการส่งออกเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเป็นลักษณะของลูกโซ่ รวมไปถึงสินค้าเกษตร ข้าว และส่งผลไปถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคและจะเป็นตัวดึงเศรษฐกิจประเทศไทยลงไปในที่สุด"

สถานการณ์ดังกล่าว ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูจะตระหนักดีโดย นางสุชาดา กิรกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ได้ออกมายอมรับว่าค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วไปจนเกินกว่าพื้นฐานเศรษฐกิจที่แท้จริง ที่มีสาเหตุหนึ่ง จากการเข้ามาเก็งกำไรของ non-residence ที่เข้าซื้อพันธบัตรผ่านธนาคารพาณิชย์ และมีสัญญาซื้อขายในระยะสั้น จนสร้างแรงกดดันทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น  และที่ธปท.ได้ดำเนินไปแล้วก็คือการขอความร่วมมือไปยังธนาคารพาณิชย์ไม่ให้ปล่อยกู้เป็นเงินบาททั้งโดยตรง หรือมีสัญญาซื้อคืน รวมทั้งภาครัฐก็ได้เตรียมการ   ที่จะออกมาตรการช่วยเหลือผู้ส่งออกเร็ว ๆ นี้

ส่งออกปี 2550  ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจะขยายตัวเพียงร้อยละ10-15 จากปีนี้ที่อาจเติบโตถึงร้อยละ 17 และจากรายงานของ ธปท. ดุลบัญชีเดินสะพัดในรอบ 10 เดือนแรกของปีนี้เกินดุลอยู่ที่ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และคาดช่วง 2 เดือนที่เหลือจะขาดดุล หลังจากที่ ธปท. ได้เปลี่ยนวิธีคำนวณตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัด โดยนำการรวมกำไรสะสม (Reinvested Earning: RE) มาคิดด้วย ทำให้คาดว่าทั้งปี 49 จะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดประมาณ 700 -2,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  จากก่อนหน้านี้ประมาณการไว้ว่าจะเกินดุลที่ 1,500- 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนในปี 50 คาดว่าไทยจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดประมาณ 3,200-6,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากประมาณการเดิมขาดดุล 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถึงเกินดุล 1,000ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ

ประเด็นหนึ่งที่ยังเป็นกังวลในเศรษฐกิจปีหน้า ก็คือความไม่นิ่งของสถานการณ์การเมืองในประเทศ ทำให้คาดเดายากว่าจะเป็นอุปสรรคขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าใน 1 ปีนี้อย่างไร  หรือการได้มาซึ่งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง  ภาพจะออกมาอย่างไร ผู้บริหารค่ายรถยนต์แห่งหนึ่ง กล่าวว่าการเมืองของประเทศ และภาพความเป็นรัฐบาลรักษาการ 1 ปีในรัฐบาลชุดนี้ ทำให้ซีอีโอหลายคน ไม่กล้าวางแผนระยะยาว อีกทั้งบางรายก็มองตลาดไทยในเวลานี้ไม่ขาดและทำให้ยากต่อการกำหนดกลยุทธ์  และหากมุมมองผู้ประกอบ-นักลงทุน ดูจะไม่น้อยที่เห็นว่าภาพรวมเศรษฐกิจปีกุลอาจไม่แตกต่างจากปีนี้มากนัก 

นายอนัตต์ อัศวโภคิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท แลนด์แอนด์เฮาส์ จำกัด (มหาชน) ที่กล่าวหน้านี้ว่า        ยังไม่มีใครมองชัดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปีหน้าจะไปในทิศทางใด แต่เมื่อพิจารณาถึงการใช้จ่ายภาครัฐที่ทำได้เพียงระดับหนึ่งและการลงทุนของต่างประเทศก็ไม่น่าจะเข้ามามากนัก ทำให้คาดว่าจีดีพีปี 2550 ยังไม่น่าจะดีขึ้นมากนัก และเช่นเดียวกันก็น่าจะส่งผลต่อแนวโน้มความต้องการซื้อบ้าน ที่จะปรับตัวลดลงในปีหน้า

ปีเตอร์ จอห์น แวน ฮาเรน ประธานหอการค้าต่างชาติในประเทศไทย และรองประธานกรรมการ     สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่กล่าวว่าเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป คงเติบโตในระดับใกล้เคียงคือร้อยละ 4-5  ไม่น่าจะมากกว่านี้ และการที่เงินลงทุนโดยตรงต่างชาติ ไหลเข้าในรอบ 8 เดือนสูงถึง 5,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงสุดนับจากปี 2541 แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะบอกถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อประเทศ เพราะเม็ดเงินลงทุนที่ไหลเข้านั่นหมายถึงแผนที่มีการเตรียมการมาระยะยาวแล้ว 2-3 ปี แต่หากความเชื่อมั่น  นักลงทุนยังไม่เกิด ก็ไม่อาจบอกว่าได้ว่าเงินลงทุนโดยตรงของต่างชาติในปี 2550 จะลดลงหรือไม่   และบอกว่าการที่เศรษฐกิจไทยจะเติบโตก็อยู่ที่ความเชื่อมั่น และการกู้ความเชื่อมั่นก็คือการที่รัฐบาลสามารถปฏิบัติตามคำมั่นสัญญา ไม่ว่าจะเป็นการเร่งเบิกจ่าย โครงการลงทุนในรถไฟฟ้า 2 สายทางการเตรียมการจัดตั้งรัฐบาลใหม่         ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ 1 ปี ฯลฯ

บริษัท สยามพารากอน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เกรียงศักดิ์ ตันติพิภพ ผู้บริหารอาวุโสสายการตลาด กล่าวว่า สภาพเศรษฐกิจและการเมืองยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งจะเป็นปัจจัยลบต่อธุรกิจค้าปลีกในปี 2550 โดยเฉพาะในเรื่องอารมณ์การจับจ่ายของผู้บริโภค ผนวกกับกระแสการแข่งขันที่รุนแรงยิ่งขึ้น

ค่าย บมจ.ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล (ICC) ผู้จัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ในเครือสหพัฒน์ บุญเกียรติ โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ ไอ.ซี.ซี. ที่ตั้งเป้ารายได้รวมของบรัทปี 2550  ในอัตราที่โตแบบทรงตัวคือร้อยละ 15% จากเป้า 13,000 ล้านบาทในปีนี้ โดยสะท้อนจากภาพเศรษฐกิจในปีหน้าว่าถึงแม้ยังไม่ดีเท่าที่ควร แต่มองว่าโอกาสยังมีอยู่มาก

จะด้วยจุดอ่อนปัญหาของประเทศ ที่รัฐบาลรับทราบเป็นอย่างดี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงได้ย้ำอยู่เสมอว่างานเร่งด่วนของรัฐบาลก็คือสร้างความเชื่อมั่น และการวางเป้าหมายที่จะใช้นโยบายขาดดุลงบประมาณเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ

เศรษฐกิจไทยปีจอที่ว่าลูกผีลูกคน เรายังผ่านด่านมาได้ด้วยอัตราการเติบโตที่อาจสูงถึง 5% ด้วยซ้ำ นับประสาอะไรกับจีดีพีปีหน้าจะเป็น...หมูเขี้ยวตัน เหนื่อยอีกปีก็น่าจะคลือ ๆ กัน

ฐานเศรษฐกิจ  4   ธ.ค.  2549

คำสำคัญ (Tags): #เศรษฐกิจ
หมายเลขบันทึก: 65450เขียนเมื่อ 6 ธันวาคม 2006 10:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท