ผศ.ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
ผศ.ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์ อาจารย์ โทนี่ ปัญญโรจน์

ชีวิตหลังวัยเกษียณ


การใช้ชีวิตให้มีความสุขหลังเกษียณ

โดย...ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์

ที่ปรึกษาด้านภาพลักษณ์และการสื่อสาร

www.drsuthichai.com

      ชีวิตข้าราชการหรือคนทำงานประจำกินเงินเดือน ส่วนใหญ่ในองค์กรต่างๆจะให้เกษียณอายุในวัย 60 ปี ซึ่งบุคคลที่ทำงานภายในองค์กรต่างๆมาอย่างยาวนาน 20-40 ปี มักจะต้องใจหาย เมื่อต้องพบกับการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากตนเองเคยชินกับการทำงานในทุกๆวัน ทุกๆสัปดาห์ ทุกๆปี

 

            แต่เมื่อเกษียณอายุสิ่งที่ผู้เกษียณอายุจะต้องเจอก็คือ 4 จ. คือ 

 

1.จ.จิตใจ หมายถึง การต้องมีการปรับเปลี่ยนหรือปรับตัวใหม่ครั้งใหญ่ เนื่องจากการทำงานหลายๆคนได้สวมหัวโขนในตำแหน่งต่างๆ เช่น คุณครูผู้สอน  ผู้อำนวยการ ปลัดอำเภอ นายอำเภอ ผู้ว่าราชการ อธิบดี ผู้บังคับบัญชาการทหารบก  ฯลฯ แต่เมื่อหลังเกษียณ ตำแหน่งเหล่านี้ไม่สามารถติดตัวตามไปได้ คงต้องปล่อยวางหรือถอดหัวโขนทิ้ง แต่ผู้เกษียณบางคน ยังติดยึดกับหัวโขนนั้นอยู่ จึงทำให้เกิดความทุกข์ ความยึดมั่นถือมั่น ดังนั้น ถ้าผู้ที่เกษียณอายุต้องการความสุข ก็ต้องมีการปรับตัว ปรับจิตใจ ของตนเอง อีกทั้งควรเอาเรื่องของศาสนาเข้ามาช่วยเพื่อให้เกิดความสุขขึ้นภายในจิตใจและช่วยให้การดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข

 

2.จ.เจ็บ หมายถึง บุคคลทีเกษียณอายุมีจำนวนมาก หลังเกษียณอายุเกิดอาการเจ็บป่วย เนื่องมาจากอายุเริ่มมากขึ้น สภาพร่างกายเริ่มเข้าสู่ความเสื่อม ความชรา บุคคลที่เกษียณอายุจึงควรรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง เพื่อจะไม่ได้เป็นภาระให้แก่ลูกหลาน เช่น ยึดหลัก 5 อ.เพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง สมบูรณ์และอายุยืนยาว ได้แก่

 

2.1.อ.อาหาร พยายามกินอาหารที่มีประโยชน์และให้ครบทุกหมู่ ที่สำคัญไม่ควรกินอาหารที่ซ้ำซากหรือกินสิ่งที่เราชอบตลอดเวลาหรือทุกๆวัน จะทำให้เกิดการสะสมแล้วเป็นโรคต่างๆได้ เช่น หลายคนกินไอศครีมทุกๆวันเนื่องจากชอบ ทานจนเป็นโรคเบาหวาน , หลายคนชอบกินเค็มกินทุกๆวัน จนเป็นโรคไต , หลายคนชอบกินเหล้าหรือสุรา ทุกๆวันกินจนเป็นโรคตับ เป็นต้น

 

            อีกทั้งควรกินอาหารที่มีอายุสั้น อายุของเราถึงจะยืน เช่น ผัก ผลไม้ มีอายุสั้นเก็บได้แค่วันสองวันสามวันก็เสียแล้ว หากว่าเราทาน ผักผลไม้มากๆ อายุของเราก็จะยืนยาว

 

            แต่ถ้าเรากินอาหารที่มีอาหารยืน อายุของเราจะสั้น เช่น กุนเชียง อาหารกระป๋อง หรืออาหารที่เก็บไว้ได้นานหลายๆเดือน หลายๆปี ถ้ากินอาหารจำพวกนี้เข้าไปมากๆก็จะทำให้อายุของเราสั้นลง

 

            กินน้อยตายยาก กินมากตายง่าย คือ ถ้าเรากินอาหารให้พอเพียงกับความต้องการไม่น้อยไปหรือมากไป อายุของเราจะยืนยาว แต่ถ้าเรากินมากเกินความต้องการของร่างกาย ก็จะทำให้เราอ้วน โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันมีการทำโปรโมชั่นอาหารบุฟเฟ่ต์ ทำให้หลายๆคนจำนวนมากเมื่อจ่ายเงินไปแล้วต้องทานอาหารให้คุ้มค่า เลยทานมากกว่าความต้องการของตนเอง โดยปกติ ทานแค่จานเดียว แต่พอเป็นอาหารแบบบุฟเฟ่ต์เสียเงินไปแล้วต้องทานให้คุ้มค่า ถ้าทานแบบนี้บ่อยๆมีโอกาสเสียชีวิตเร็วขึ้นครับ เมื่อสุขภาพร่างกายเกิดความเจ็บป่วยก็จะทำให้เกิดความทุกข์ทรมานในการใช้ชีวิตในวัยหลังเกษียณอายุ แล้วเป็นภาระให้แก่ลูกหลานในการที่จะต้องดูแลผู้ป่วย

2.2.อากาศ การอาศัยอยู่ภายในบ้านเรือนหรือในชนบท ทำให้คนเรามีสุขภาพร่างกายและจิตใจดีกว่า การอาศัยอยู่ในเมืองหลวง โดยเฉพาะเมืองใหญ่ อย่าง กรุงเทพมหานครฯ ซึ่งต้องประสบกับอากาศที่มีมลพิษมาก ยิ่งอยู่บนถนน รถติด ยิ่งทำให้ได้รับอากาศที่บริสุทธิ์น้อยลงไปด้วย ดังนั้น บุคคลที่สูงอายุถ้าอยากให้สุขภาพร่างกายดี ก็ควรไปรับอากาศที่บริสุทธิ์และสะอาดมากๆ

2.3.อารมณ์ คนสูงอายุ ควรทำอารมณ์ให้เบิกบาน ไม่ควรโกรธหรือโมโห ละเว้นอารมณ์ที่รุนแรง ถ้าจะให้ดีก็ควรฝึกสมาธิ เพื่อให้เกิดอารมณ์ที่ดี สดใสยิ่งขึ้น เมื่อมีอะไรมากระทบก็จะไม่ต้องหวั่นไหวง่าย

2.4.ออกกำลังกาย การออกกำลังกายจะทำให้ผู้มีชีวิตหลังวัยเกษียณมีสุขภาพที่แข็งแรง มีกำลังในการเคลื่อนไหว ซึ่งหลายคนไม่ยอมออกกำลัง หลังวัยเกษียณ จึงทำให้ไม่มีแรงและร่างกายก็จะอ่อนแอลงไปตามลำดับ

2.5.อนามัย การรักษาความสะอาดร่างกาย การอุจจาระเป็นประจำ หมั่นไปตรวจสุขภาพประจำปี งดเว้น จากเรื่องอบายมุขต่างๆ เช่นเล่นการพนัน งดดื่มสุรา งดสูบบุหรี่ เป็นต้น

3.จ.จน หมายถึง คนเกษียณอายุจำนวนมาก ไม่ได้มีการวางแผนไว้ล่วงหน้าหรือไม่มีระเบียบวินัยในการใช้จ่ายเงิน จึงทำให้ชีวิตหลังเกษียณเกิดหนี้สินขึ้นมาอย่างมากมาย ต้องมาใช้หนี้ทำให้เกิดความทุกข์ เกิดความเครียด และทำให้ความสุขในวัยหลังเกษียณอายุลดน้อยลงไปด้วย

 

4.จ.จัดการ  หมายถึง คนเกษียณอายุเมื่อไม่ได้ทำงานประจำหรือไม่มีงานทำแล้ว เราต้องรู้จักการจัดการตนเอง จัดการเวลา จัดการชีวิตเสียใหม่ เช่น จะทำอะไรภายหลังเกษียณ เลี้ยงหลาน หารายได้พิเศษ อาสาสมัครช่วยเหลือสังคม ฯลฯ เป็นต้น

 

            โดยสรุป การใช้ชีวิตให้มีความสุขหลังเกษียณ ไม่มีสูตรตายตัว ซึ่งคนที่จะเกษียณอายุจะต้องออกแบบชีวิตของตนเอง บางคนอาจอยากที่จะทำงานต่อ   บางคนอยากที่จะไปท่องเที่ยวทั่วโลก บางคนอยากที่จะเป็นอาสาสมัคร บางคนอยากที่จะอยู่บ้านเลี้ยงหลาน ฯลฯ  แต่โดยส่วนตัวของกระผม กระผมชอบทางสายกลางซึ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงสอนไว้ ท่านเปรียบเทียบกับการตั้งสายของพิณหรือถ้ายุคปัจจุบันก็คือการตั้งสายของกีต้า ถ้าเราตั้งหย่อนไปเสียงก็ไม่ไพเราะ ถ้าตั้งตึงไปอาจจะทำให้สายนั้นขาดได้ ดังนั้น ถ้าอยากให้เสียงของพิณหรือเสียงของกีต้าออกมาไพเราะ ก็ต้องตั้งให้เกิดความสมดุล  ชีวิตหลังวัยเกษียณก็เช่นกัน หากทำแล้วเครียดก็ควรหยุดทำ หรือถ้าไม่มีอะไรทำ เบื่อหน่ายก็ควรหาอะไรทำเพื่อให้ตนเองมีคุณค่า

 

คำสำคัญ (Tags): #นักพูด
หมายเลขบันทึก: 652829เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2018 12:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กันยายน 2018 12:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณสำหรับบทความดีๆครับ..ผมเกษียณมาหลายปีแล้ว..เจอกันหลังเกษัยณ นะครับ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท