รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๒๐๐๔ ความเป็นมนุษย์และการเรียนรู้ ๑-๒๕๖๑ (๓) กิจกรรม "รู้จักตนรู้จักคนด้วยสัตว์สี่ทิศ"


ครั้งที่ ๓ ของกิจกรรมการเรียนรู้รายวิชา ๐๐๓๒๐๐๔ ความเป็นมนุษย์และการเรียนรู้  มุ่งตรงไปสู่การ "รู้จักตนเอง" ด้วยกิจกรรมผู้นำสี่ทิศหรือบางทีเราเรียกว่า "สัตว์สี่ทิศ" ใครยังไม่เคยรู้เลยว่าผมกำลังพูดถึงอะไร ให้ศึกษาบันทึกนี้หรือบันทึกนี้  (เนื้อหาเหล่านี้อยู่ในเอกสารประกอบการเรียนแล้ว)

กิจวัตรก่อนเริ่มคลาส

ปัจจัยสำคัญของการเรียนรู้ของมนุษย์คือ "การฟัง" ทุกครั้งที่จะเริ่มการเรียนรู้ เราต้องเตรียมกายใจให้พร้อมเสมอ กิจกรรมก่อนเริ่มคลาสทุกครั้งจึงเริ่มจากการทำใจให้ผ่อนคลาย ด้วยวิธีการต่างๆ ดังที่ได้แนะนำไปแล้วในครั้งแรกก็คือ "ผ่อนพักตระหนักรู้" ...  แต่เราไม่สามารถจะมีเวลามา "นอน" แบบนั้น  กิจกรรมที่แนะนำนิสิตในวันนี้จึงเป็นการ "ผ่อนพักตระหนักรู้" แบบนั่ง นั่งฟังธรรมะ 

หลักการสำคัญๆ ของการทำ "ผ่อนพักตระหนักรู้" ด้วยการฟังธรรมะ ที่นิสิตต้องทราบก่อน ได้แก่ 

  • สมาธิ คือ ความตั้งมั่นของจิตใจ  
  • สมาธิ มี ๒ ประเภท ได้แก่ 
    • สมาธิจดจ่อ หรือ สมาธิตั้งมั่นในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง (ตั้งมั่นในอารมณ์เดียว.... อารมณ์ในที่นี้แปลว่าสภาพธรรม ไม่ใช่ Emotion) สมาธิแบบนี้ คือสมาธิที่เรานำมาใช้งานทั่วไป จะทำอะไรๆ ก็ต้องมีจิตใจจดจ่อ แม้แต่แมวก็ต้องมีสมาธิแบบนี้ในการจับหนู หรือแม้แต่โจรผู้ร้ายที่กำลังจะยิงปืนฆ่าคนก็มีสมาธิลักษณะนี้ 
    • สมาธิแบบตั้งมั่น คือ ความตั้งมั่นอยู่กับกายหรือใจของตนเอง คือสมาธิที่ตั้งอยู่กับฐานของกรรม ฐานของกรรมก็คือกายกับใจ พระพุทธเจ้าสอนให้ทำ "สติปัฎฐาน" คือการมีสติอยู่กับฐานทั้ง ๔ คือ กาย เวทนา จิต หรือ ธรรม ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับสมาธิแบบนี้ จนบางทีครูบาอาจารย์เรียกว่า สัมมาสมาธิ
  • เมื่อมีสมาธิแบบตั้งมั่น "คลื่นสมอง" (ที่กล่าวในบันทึกที่แล้ว) จะต่ำลง จะทำรู้สึกผ่อนคลาย อยู่ในโหมดปกติ พร้อมเรียนรู้ 
  • เหตุให้เกิดสมาธิ คือ "ความสุข" เหตุของความสุขของใจเบื้องต้นคือ "ความพอใจ" ดังนั้น นิสิตต้องเลือกอารมณ์ของกายหรือใจอย่างใดอย่างหนึ่งที่ใจชอบ ให้รู้อยู่กับสิ่งนั้น  
  • ขอให้นิิสิตทุกคนไปศึกษาธรรมะตามคลิปนี้ถูเถิด เมื่อเกิดความเข้าใจในหลักการแล้วก็ขอให้ฝึกฝนด้วยตนเองต่อไป  (ตรงนี้ไม่มีคะแนนครับ ใครอยากรู้ก็ลองดู)

ผลลัพธ์การเรียนรู้ที่คาดหวัง (Learning Outcome)

ผลลัพธ์การเรียนรู้สำหรับกิจกรรม "สัตว์สี่ทิศ" ได้แก่

  • อธิบาย คุณลักษณะและพฤติกรรมของคน ๔ แบบ ที่คล้ายกับสัตว์ ๔ ประเภท ได้แก่ กระทิง อินทรี หนู และหมี 
  • อภิปราย ได้ว่า คน ๔ ประเภท แตกต่างกันอย่างไร 
  • ประเมินได้ว่า ตนเองเหมือนหรือคล้ายสัตว์ประเภทใดมากที่สุด 
  • สามารถ "ฟัง" ผู้อื่น ได้ลึกซึ้งขึ้น (กว่าครั้งก่อน)
  • สามารถเขียน "สะท้อนการเรียนรู้" ของตนเองได้ดีขึ้น (กว่าครั้งก่อน)

กิจกรรมสัตว์สี่ทิศ 

กิจกรรมการเรียนรู้แบ่งเป็น ๓ ขั้นตอนก่อนจะมอบหมายการบ้านให้ไปฝึกด้วยตนเอง ได้แก่  ๑) ขั้นการนำเข้าสู่กิจกรรม ๒) กิจกรรมผู้นำตนเองสี่ทิศ และ ๓) สะท้อนการเรียนรู้  ดังมีรายละเอียดพอสังเขปต่อไปนี้ 

๑) ขั้นนำเข้าสู่กิจกรรม 

  • ให้นิสิตนำ "ข้าวของ" ของตนไปไว้ติดชิดผนังห้องเรียน แล้วให้เดินด้วยความเร็วและทิศทางตามอัธยาศัยไปในห้องเรียน ก่อนจะสั่งหยุด สั่งเดิน ใส่เงื่อนไข ให้ความรู้ ไปเป็นขั้นตอน ดังนี้ 
    • ให้เดินไปโดยไม่มีเงื่อนไข ๑ นาที แล้วสั่งหยุด ถามว่า "เห็นอะไรไหม?" แล้วให้เดินต่อ 
    • ระหว่างที่เพื่อนกำลังเดิน เรียกตัวแทนนิสิต ๑ คน ให้มายืนสังเกตการเดินของเพื่อนทั้งห้อง แล้วสั่งหยุด  แล้วให้ตัวแทนนิสิต บอกว่า ลักษณะการเดินของเพื่อนเป็นอย่างไร ... ไม่เฉลยอะไร ชี้ให้สงสัยในวิถีการเดิน แล้วสั่งให้เดินต่ออีก ๑ นาที 
    • สั่งหยุด แล้วเติมเงื่อนไข   ให้จดจำตำแหน่งยืนของตนเอง  ต่อไป จะหายใจได้ก็เมื่อมายืนตำแหน่งนี้เท่านั้น ระหว่างเดินไปให้กั้นลมหายใจ ... แล้วให้เริ่มเดิน 
    • สั่งหยุดเมื่อนิสิตกลับมายืน (จะพบความสับสน ด้วยจำตำแหน่งได้ยาก)  แล้วให้เดินหาตำแหน่งที่ตนชอบ ตำแหน่งที่ตนจำได้ง่ายๆ แล้วให้เดินต่อด้วยกติกาเดิม ... กระตุ้นให้สังเกตตนเอง
    • สั่งหยุด แล้วเติมเงื่อนไข  ให้ตัวแทนนิิสิต ๓ คน เป็นตัวแทนของ เงินทอง ชื่อเสียง และความสุข   ให้สามคนนี้เดินไปรอบๆ ห้องตามอัธยาศัย ทุกคนจะต้องเลือกว่าจะเดินมาแตะตัวใครก่อนจะกลับไปหายใจที่เดิม 
    • ให้สะท้อนสิ่งที่ได้เรียนรู้ กับเพื่อนที่ยืนอยู่ใกล้กับตนเองที่สุด 
    • สรุปบทเรียน
  • จากกิจกรรมนี้ นิสิตจะเห็นด้วยตนเองว่า 
    • การเดินตามอัธยาศัยของคนส่วนใหญ่ จะเป็นไปในแบบที่มีพันธนาการของสังคมหรือสิ่งแวดล้อมกำหนด และมักจะเดินไปตามๆ กัน  เปรียบเหมือนหลายสิ่งอย่าง ที่คนทำนิยมตามๆ กัน โดยไม่รู้เหตุผลว่าทำไม และหลายครั้งที่ถูกชักจูงไป ไม่เป็นตัวของตัวเอง .... กิจกรรมสัตว์สี่ทิศที่จะทำต่อไป เน้นให้เราเห็นและเป็นตัวของตัวเอง 
    • หากสังเกตให้ดี ชีวิตเราล้วนแต่เต็มไปด้วยข้อจำกัด ทั้งที่เป็นข้อจำกัดที่เป็นธรรมชาติจำเป็นเช๋นการหายใจ และข้อจำกัดที่เกิดจากความอยากความต้องการ เช่น เงินทอง ชื่อเสียง หรือความสุข ทุกคนต้องการและวิ่งไขว่คว้า ขนขวาย ไม่เว้นแม้แต่การมาเรียนปริญญาตรีที่เรากำลังทำอยู่นี้ ก็เพื่อสนองตอบบางอย่าง   
    • หากวางแผนให้ดี ชีวิตก็จะไม่ต้องรีบเร่ง เช่น หากจดจำให้ดีว่า เราสามารถหายใจได้ ณ ตำแหน่งใด ก็ประเมินศักยภาพและวางแผนการเดินให้ดี ไม่ไปไกลเกินไป  ใช้ความเร็วในการเดินที่พอเหมาะ รอจังหวะโอกาสที่สิ่งที่ต้องการมาใกล้แล้วค่อยไป ก็จะทำให้ชีวิตง่ายขึ้น มีเป้าหมายมากขึ้น 
    • ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดเบื้องต้นคือ "การรู้จักตนเอง" ก่อน รู้จักศักยภาพของตนเอง รู้จักพฤติกรรมและคุณลักษณะสำคัญของตนเอง กิจกรรมสัตว์สี่ทิศที่จะทำวันนี้ มุ่งให้ทุกเรียนรู้สิ่งนี้ 

๒) กิจกรรมผู้นำตนเอง ๔ ทิศ 

ทำกิจกรรมต่อเนื่องจาก ขั้นนำสู่บทเรียน ตามลำดับดังนี้ 

  • ขั้นสัญลักษณ์  
    • บรรยายบอกประวัติความเป็นมาของกิจกรรม "ผู้นำสี่ทิศ" หรือ "สัตว์สี่ทิศ" 
    • บรรยายบอกลักษณะและพฤติกรรมของสัตว์แต่ละชนิด  สลับกับการกระตุ้นให้พิจารณาเปรียบเทียบกับพฤติกรรมของตนเอง 
  • ขั้นประยุกต์ใช้ 
    • ให้พิจารณาว่า ตนเองคล้ายกับสัตว์ชนิดใดมากที่สุด  
    • แบ่งกลุ่มออกเป็น ๔ ทิศ ไปยัง ๔ มุมห้อง 
    • แบ่งกลุ่ม ๔ คน ให้สนทนา (สนทนาประสาธะยังไม่เน้นสุนทรียสนทนา) ในประเด็นว่า ทำไมจึงเห็นว่าตนเองเป็นสัตวชนิดนั้นมากที่สุด โดยให้พูดคนละ ๑ นาที ตามลำดับต่อไปนี้ 
      • ชีวิตประจำวัน 
      • กำหนดเงื่อนไข "ปากกาวิเศษ" หรือ "..... วิเศษ"  คนที่มีสิ่งนี้อยู่ในมือเท่านั้นที่พูด คนอื่นต้อง "ฟัง" อย่างเดียว  แล้วให้เริ่มคุย "เมื่อไปซื้อของในห้างสรพพสินค้า ฉันทำอย่างไร" 
      • กำหนดเงื่อนไขเพิ่ม "หน่วงเวลาตัดสินใจ" คือ หน่วงเวลาการหยิบปากกา ห้ามหยิบทันทีหลังจากเพื่อนวาง ให้นับในใจ ๓๐ วินาที หลังจากที่ตัดสินใจว่าจะหยิบ แล้วให้คุยกันต่อในประเด็น "เมื่อได้รับคำชมเชย หรือเมื่อได้รับคำตำหนิ ฉันทำอย่างไร" 
      • สำรวจว่า กลุ่มใด ปฏิบัติตามกติกาอย่างเคร่งครัด (แรกๆ จะมีน้อย เพียง ๓ กลุ่ม)  ตกลงว่าต่อไป ทุกคนทุกกลุ่มจะตั้งใจรักษากติกาอย่างเต็มที่ แล้ว เริ่มคุยรอบสุดท้ายในประเด็น "ฉันอยากจะพัฒนาหรือปรับปรุงตนเองตรงไหนมากที่สุด"  
    • แลกเปลียนเรียนรู้ระหว่างตัวแทนกลุ่ม โดยตั้งคำถามว่า หากจะเลือกแฟนหรือเพื่อนสนิทจะเลือกคนที่คล้ายสัตว์ประเภทใด เพราะอะไรแล้วให้อภิปรายโต้เถียงกันไปมา (ครั้งนี้ยังไม่ "แตก" เท่าใด)

๓) ขั้นสะท้อนผลการเรียนรู้ 

    • ให้เขียนสะท้อนการเรียนรู้ลงในกระดาษแล้วนำส่ง 
    • มอบหมายการบ้านให้นิสิตไปสัมภาษณ์เพื่อนใกล้ชิด ๓ คน ที่ไม่ได้เรียนวิชานี้ โดยไม่ให้รู้ทฤษฎีเกี่ยวกับสัตว์ ๔ ทิศ  



สะท้อนผลการเรียนรู้

  • นิสิตคิดว่าตนเองคล้าย "หนู" มากเป็นอันดับที่ ๑ รองลงมาคือ "หมี" ตามด้วย "นกอินทรี"  และน้อยที่สุดเพียง ๕ คน (จากนิสิตประมาณ ๙๐ คน) เท่านั้นที่คิดว่าตนเองคล้าย "กระทิง" 
  • จำนวนนิสิตที่คิดว่าตนเองคล้าย "หนู" มากกว่านิสิตที่คิดว่าตนเองคล้าย "นกอินทรี" ๒ เท่าตัว ส่วน
  • หลังจากการสนทนาประสาธะ เมื่อเปิดโอกาสให้เปลี่ยนใจ ว่าตนเองคล้ายสัตว์ประเภทอื่นมากกว่า ให้เปลี่ยนกลุ่มได้  ปรากฎไม่มีผู้เปลี่ยนกลุ่ม แสดงว่า นิสิตเข้าใจและมั่นใจว่าตนเองมีลักษณะและพฤติกรรมคล้ายกับสิ่งที่ได้บอกไป 
  • เมื่อให้ตัวแทนนิสิตในกลุ่ม "กระทิง" เลือกเพื่อนสนิท (หรือแฟน คนรู้ใจ) ตัวแทนนิสิตขอเลือก "หนู" (ทิศตรงข้าม) เพื่อหวังจะให้มาเป็นเพื่อนปลอบใจ คอยเตือนให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น 
  • เมื่อถามกลุ่ม "นกอินทรี" ด้วยคำถามเดียวกัน บอกว่า เลือก "หมี" เพราะจะได้นำข้อดีมาชดเชยข้อเสียของตน  
  • เช่นเดียวกับกลุ่ม "หนู" และ "หมี" ที่มีคำตอบลักษณะคล้ายกัน  แม้จะเตือนว่า คนทิศตรงข้ามจะทะเลาะกันง่าย 

ผมไม่ได้บอกนิสิตว่า ตามสถิติ เพื่อนสนิทหรือคู่ครองส่วนใหญ่ในชีวิตจริง เป็นไปในทิศตรงข้ามตามที่พวกเขาเลือกจริง ๆ....   ยกตัวอย่างผมเองเป็นต้น 

จบบันทึกการเรียนรู้ในชั้นเรียนครั้งที่ ๓

หมายเลขบันทึก: 651503เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2018 07:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กันยายน 2018 13:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท