ความสุขทุกแง่ทุกมุม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)


สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต) เขียนไว้ในหนังสือ   ความสุขทุกแง่ทุกมุม ว่า พระพุทธศาสนาคือศาสนาแห่งความสุข พระพุทธเจ้าตรัสถึงความสุขสำหรับคนทั่วไปว่า มี ๓ เรื่อง ได้แก่ กามสุข ความสุขทางสังคม และความสุขในการพัฒนาชีวิต

กามสุข  เป็น ความสุขสนองผัสสะโดยอาศัยอามิส  เรียกว่าเป็นสามิสสุข  เป็นความสุขจากการได้  การเอา  การเสพ  เพื่อตัวตนของเราเอง  จึงต้องมีมาตรการควบคุมคือ ศีล ๕ เพื่อไม่แย่งชิงเบียดเบียนข่มเหงกัน 

ความสุขทางสังคม เป็นความสุขจากความเป็นมิตร  มีไมตรีจิตมิตรภาพ  การอยู่ร่วมกันในสังคม หลักธรรมหลักใหญ่สำหรับความสุขข้อนี้ก็ได้แก่  พรหมวิหาร  ๔ - เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา และสังคหวัตถุ  ๔ - ทาน ปิยวาจา อรรถจริยา สมานัตตตา    

ความสุขในการพัฒนาชีวิต  เป็นความสุขภายในที่สร้างขึ้นเองได้  ต้องถือว่าสำคัญมาก    เป็นความสุขที่เกิดพร้อมกันไปกับการพัฒนาของชีวิต  หรือความสุขที่ดำเนินไปด้วยกันกับความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม 

ธรรมชุดนี้เป็นภาวะของจิต  ท่านเรียกว่าธรรมสมาธิ มี  ๕  ข้อ  คือ 

๑.  ปราโมทย์  ความร่าเริงเบิกบานใจ  หรือร่าเริงบันเทิงใจ  เป็น คุณสมบัติพื้นฐานของจิตใจ  ซึ่งทุกคนควรจะมีตลอดเวลา 

๒.  ปีติ  ความอิ่มใจ  ปลาบปลื้มใจ  พอมีปราโมทย์  ใจร่าเริงแล้ว ก็จะเกิดมีปีติ 

๓.  ปัสสัทธิ  ความสงบเย็น  เรียบรื่นใจ  ผ่อนคลายกายใจ  ไม่เครียด  พึงสังเกตว่า  ปัสสัทธิคือความผ่อนคลายนี้  เป็นจุดเชื่อมถึงกันระหว่างกายกับใจ  ถ้ากายเครียดใจก็เครียด   ถ้าใจเครียดกายก็เครียด  พอมีปีติอิ่มใจแล้วปัสสัทธิก็มา  ก็จะสงบเย็นผ่อนคลาย 

๔.  สุข  ความฉ่ำชื่นรื่นใจ   คล่องใจ   ไม่มีอะไรกดดันบีบคั้น  พอปัสสัทธิมาแล้วสุขก็ตามมา 

๕.  สมาธิ  ภาวะที่จิตมั่นแน่ว  อยู่ตัว  ไม่มีอะไรกวน  และจิตนั้นอยู่กับสิ่งที่ต้องการได้ตามต้องการ  สุขมาแล้วสมาธิก็เกิดได้ เมื่อสมาธิมาแล้วก็ได้จุดเชื่อมต่อจิตสู่ปัญญา

ในการพัฒนามนุษย์ต้องให้จิตใจมีคุณสมบัติสำคัญ  ๕  อย่างนี้เกิดขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นการเล่าเรียนศึกษาหรือการทำงาน  ต้องให้ใจมีภาวะจิต  ๕  อย่างนี้จึงจะเดินหน้าไปด้วยดี  การพัฒนาชีวิตหรือการปฏิบัติธรรมจึงจะได้ทางที่ปลอดโปร่ง 


ข้อสังเกต 

ย้อนกลับไปเรื่อง  ความสุข สร้างได้  มีข้อสังเกตดังนี้

  1. การสร้างความสัมพันธ์ของ Robert Waldinger น่าจะใกล้เคียงมากกับ สังคหวัตถุ ๔ 
  2. การฝึกแผ่เมตตากรุณาของ Matthieu Ricard เป็นการปฏิบัติธรรมจึงเกิด ธรรมสมาธิ ๕
  3. Flow ของ Mihaly Csikszentmihalyi น่าจะตรงกับ ธรรมสมาธิ ๕ 


อำนาจ ศรีรัตนบัลล์

2 กย 61

หมายเลขบันทึก: 651353เขียนเมื่อ 2 กันยายน 2018 17:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 กันยายน 2018 17:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท