นิยามของคำว่า ตำรา


ที่เรียกว่า ตำรา นั้น ควรมีลักษณะจำเพาะ ดังต่อไปนี้.....

ท่านอาจารย์ประเสริฐ  ทองเจริญ (ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ นายแพทย์ประเสริฐ  ทองเจริญ)  ได้ค้นคว้านิยามของคำว่า ตำรา มาจากแหล่งข้อมูลต่างๆ มากมาย ทั้งจาก

  1. หนังสือคู่มือการเตรียมบทความและรายงานทางวิทยาศาสตร์เพื่อตีพิมพ์ในวารสารของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ฉบับปรับปรุง  2530 หน้า 5
  2. ข้อกำหนดของทบวงมหาวิทยาลัย (สกอ. ปัจจุบัน)
  3. คำอธิบายลักษณะของผลงานทางวิชาการที่ใช้ประกอบการพิจารณาเพื่อกำหนดตำแหน่งทางวิชาการตามมติของ ก.ม. 
  4. คำบรรยายของ ดร.มล.บุญเหลือ  เทพยสุวรรณ ในเอกสารประกอบการประชุมทางวิชาการระดับชาติ เรื่องการเขียนหนังสือวิชาการ จัดโดย ม.รามคำแหง 13 - 14 ก.ย. 36 ณ รร.เซ็นทรัลพลาซ่า
  5. คำว่า Textbook ใน The Encyclopedia Americana International Edition 1981

เมื่อประมวลแล้ว ในที่สุดท่านก็ได้เสนอคำจำกัดความในภาพรวมสำหรับ ตำรา ไว้ดังนี้

"ตำรา"  หมายถึง หนังสือที่ให้ความรู้ทางวิชาการ (ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นหนังสือใช้ในระดับใด อาจเป็นหนังสือที่ใช้ด้วยกันได้หลายระดับ) ใช้ในการเรียนการสอนในหลักสูตร  และการเรียนรู้นอกหลักสูตรการศึกษาตามระบบ

ที่เรียกว่า ตำรา นั้น ควรมีลักษณะจำเพาะ ดังต่อไปนี้

  1. เป็นหนังสือที่มุ่งให้ความรู้  ไม่สนใจกับความเพลิดเพลินของผู้อ่านมากนัก  ผู้อ่านจะต้องใช้ความเพียรอ่าน  แต่ถ้าหากวิธีการเขียนบังเอิญให้ความเพลิดเพลิน หรือบังเอิญผู้อ่านสนใจมากจนไม่ต้องพากเพียรอ่าน นั่นเป็นผลพลอยได้  ในการเขียนตำรา ผู้เขียนมุ่งให้ความรู้ แต่ถ้าผู้เขียนมีความสามารถ ก็ควรมีวิธีเขียนที่ให้ความสะดวกแก่ผู้อ่านซึ่งพยายามเรียนและรับความรู้จากหนังสือตำรานั้นๆ
  2. มีลำดับขั้นตอน โดยไม่คำนึงศิลปะการประพันธ์ มุ่งให้ความสะดวกแก่การเรียนวิชาที่บรรจุอยู่ในหนังสือนั้น
  3. ใช้ศัพท์และสำนวนที่มีความหมายเชิงวิชาการ  ถ้าศัพท์ใดมิใช่ศัพท์ที่ใช้อยู่ในวงการทั่วๆไป  จะต้องนิยามศัพท์นั้น  ให้ความหมายของศัพท์ตามที่จะกำหนด เพื่อใช้ในการเขียนตำรานั้น  และต้องใช้ศัพท์ในความหมายนั้นให้เสมอต้นเสมอปลายตลอดเรื่อง
  4. ความรู้ที่บรรจุในหนังสือนั้น  จะต้องเป็นความรู้ที่คนในวงวิชาการเดียวกันรับรองแล้ว  ถ้ามีข้อความใดที่ยังอยู่ระหว่างการโต้แย้ง  จะต้องบอกแง่คิดทั้งสองแง่  หรือมากกว่าสองของประเด็นนั้น  หากข้อความใดเป็นข้อสังเกตของผู้เขียนเองหรือเป็นข้อคิดเห็นของผู้อื่นใดก็ตาม ซึ่งยังไม่ประจักษ์ว่าเป็นหลักแท้แน่นอน ผู้เขียนจะต้องบอกไว้ให้กระจ่างชัด
  5. ข้อความรู้ใด ซึ่งยังมิได้เป็นที่ประจักษ์แพร่หลายในวงวิชาการที่หนังสือนั้นนำมากล่าวไว้  ผู้เขียนจะต้องบอกแหล่งที่มาของข้อความรู้นั้น เพื่อผู้อ่านจะทดสอบได้ และสามารถค้นคว้าหาความรู้ให้กว้างขวางยิ่งขึ้นต่อไปได้

ดิฉันหวังว่า  ข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับท่านอาจารย์ที่ยังมีไฟ มีความรู้ฝังลึกที่จะถ่ายทอดเป็นตำราดีๆ และสามารถนำผลงานการแต่งตำราไปขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการในระดับศาสตราจารย์ได้อีกด้วย

คำสำคัญ (Tags): #ตำรา
หมายเลขบันทึก: 6507เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2005 23:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 00:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท