ศาสตร์พระราชา


ความหมายและวิธีการของศาสตร์พระราชา

ศาสตร์พระราชา "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ประยุกต์ใช้"


                          ศาสตร์พระราชา เป็นสุดยอดความรู้ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  บรมนาถบพิตรพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9  แห่งราชอาณาจักรไทย   พระองค์ทรงคิดค้น พัฒนา  และสั่งสมความรู้ที่เป็นประโยชน์และครอบคลุมถึงในทุก ๆ เรื่อง  ทุก ๆ ด้าน   ไม่ว่าจะเป็นด้านการดำรงชีวิต  วัฒนธรรม  การศึกษา   ด้านเศรษฐกิจ  สังคม  สิ่งแวดล้อม  พระราชดำรัส โครงการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ  พระบรมราโชวาท  หลักการทรงงาน   รวมทั้งพระราชจริยวัตรที่งดงามของพระองค์  ความกตัญญูต่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี  ล้วนเป็นแบบอย่างที่ควรค่าแก่การนำไปปฏิบัติตามทั้งสิ้น   และความรู้ที่งดงามนี้  รวมเรียกว่า “ศาสตร์พระราชา” 

                    หากใครนำศาสตร์พระราชาไปปฏิบัติก็จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเอง  คนรอบข้าง  สังคม ตลอดจนประเทศชาติได้อย่างเห็นชัดแจ้ง

                    ในความหมายของศาสตร์พระราชา  ถือได้ว่าเป็นคำที่ยิ่งใหญ่ เป็นเสมือนตัวแทนพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรที่มาสถิตอยู่เบื้องหน้าประชาชนชาวไทย  เหมือนประหนึ่งพระองค์ยังคงมีพระชนมชีพอยู่และเป็นมิ่งขวัญของปวงประชาชาวไทยอยู่ตลอดเวลา  เชื่อว่าชาวไทยทุกคนมีความรู้สึกเช่นเดียวกัน   สำหรับคำว่า “ศาสตร์พระราชา”  มีนักวิชาการหลายท่านได้ให้คำจำกัดความไว้หลายลักษณะ  แต่ในที่นี้ขอให้ความหมายคำว่า “ศาสตร์พระราชา”  ดังนี้

                     ศาสตร์พระราชา  คือ หลักความรู้ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  บรมนาถบพิตรที่เกิดจากการกลั่นกรองผ่านกระบวนการคิดตามธรรมชาติ  มีการพัฒนาความคิดโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง  มีความทันสมัย  ล้ำลึก  สามารถนำไปประยุกต์ใช้แก้ปัญหาได้ในทุกสถานการณ์  ทุกพื้นที่  ทุกระดับ  และนำไปสู่การพัฒนาได้อย่างยั่งยืน

วิธีการของศาสตร์พระราชามีอะไรบ้าง

                     ศาสตร์พระราชามีวิธีการที่นำไปปฏิบัติ 4 อย่าง  ด้วยกัน  คือ เข้าใจ  เข้าถึง  พัฒนา และประยุกต์ใช้   ปัจจัย 4 อย่าง ที่มาของคำว่า เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา  เป็นศาสตร์ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  บรมนาถบพิตรทรงพระราชทานให้แก่ข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้   วิธีการของการเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา และประยุกต์ใช้จะเป็นวิธีที่มีความเชื่อมโยงกันอย่างลงตัว

 1. เข้าใจ

                     การทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  บรมนาถบพิตร ที่ประชาชนชาวไทยเห็นอยู่เสมอ ทุกครั้งที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปยังพื้นที่ต่าง ๆ  จะมีแผนที่  กล้องถ่ายรูป  สมุดบันทึก  ดินสอสำหรับบันทึก   ในการทรงงานด้วยทุกครั้ง  เหตุผลก็คือ พระองค์ต้องศึกษาและมีข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน  พระองค์ต้องการที่จะเข้าใจถึง ภูมิประเทศ  ข้อมูลทางกายภาพ   พิกัดในแผนที่กับสภาพความเป็นจริง   พระองค์ศึกษาและจดบันทึกข้อมูลอย่างรอบคอบ เป็นการแสดงให้เห็นถึงทำการสิ่งใดต้องรอบรู้และรู้รอบ วิเคราะห์และสังเคราะห์หาสาเหตุของปัญหา  แล้วจึงมีพระราชวินิจฉัยแก้ไขปัญหา   ด้วยความรู้ความเข้าใจ  ก่อนพระราชทานช่วยเหลือประชาชนอยู่เสมอ      

                     การเข้าใจจำเป็นยิ่งที่จะต้องมีข้อมูลเชิงประจักษ์   ข้อมูลที่มีอยู่แล้ว    ข้อมูลที่เกิดจากการวิเคราะห์วิจัย  หรือเป็นข้อมูลที่เกิดจากการทดลองจนได้ผลจริง  มาเป็นข้อมูลเพื่อช่วยในการ “เข้าใจ”  ตามศาสตร์พระราชา”

                     ที่สำคัญการเข้าใจตามความหมายของศาสตร์พระราชานั้น จะต้องเข้าใจกันทั้งสองฝ่าย  ไม่ใช่เข้าใจอยู่เพียงฝ่ายเดียว การแก้ปัญหาจะไม่สำเร็จ  เมื่อมีการเข้าใจทั้งสองฝ่ายตรงกันย่อมทำให้เกิดการพัฒนาได้ง่ายและสำเร็จผล

 สรุปขั้นตอนของการเข้าใจ ประกอบด้วยข้อมูล  4  ประการ  ดังนี้

                          1. ข้อมูลเชิงประจักษ์

                          2. ข้อมูลที่มีอยู่แล้ว

                          3. ข้อมูลที่มาจากการวิเคราะห์และวิจัย

                          4. ข้อมูลที่มาจากการทดลองจนได้ผลจริง

 2. เข้าถึง

                    พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  บรมนาถบพิตร ทรงมีพระสหายแห่งสายบุรี เป็นชาวปัตตานี  มีชื่อว่า “วาเด็ง  ปูเต๊ะ”  เมื่อครั้งเสด็จจังหวัดปัตตานี  พระองค์ตรัสให้นายวาเด็ง ปูเต๊ะ  ซึ่งเป็นชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่งเข้าเฝ้า   เพื่อถามข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างฝาย ในการช่วยเหลือเรื่องน้ำให้แก่ประชาชนในพื้นที่ใช้ทำการเกษตร  นายวาเด็ง ปูเต๊ะ  รีบมาเข้าเฝ้า  โดยนุ่งโสร่งตัวเดียวไม่ทันได้สวมเสื้อ พระองค์ตรัสถามข้อมูลต่าง ๆ ด้วยภาษามลายู  อย่างใกล้ชิดและไม่ถือพระองค์  ทำให้ได้ข้อมูล  ข้อเท็จจริง ความเดือดร้อนของประชาชนจริง ๆ จากนายวาเด็ง ปูเต๊ะ  ซึ่งเป็นชาวบ้านในพื้นที่  การสอบถาม และให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการทำงาน เป็นวิธีการหารือร่วมกัน ชาวบ้านได้ในสิ่งที่ต้องการ  พระองค์ก็แก้ไขปัญหาได้ตรงตามความต้องการ ทำให้เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่าย  ซึ่งเป็นหลักการ “เข้าถึง”  อย่างง่าย ๆ  ตามหลักศาสตร์พระราชานั่นเอง   

                    การ “เข้าถึง”  จะต้องรู้ถึงปัญหาที่เกิด  รู้ถึงวัฒนธรรม  สังคม  ความเป็นอยู่  เข้าถึงประชาชน อย่างเช่นพระองค์ทรงปฏิบัติให้เห็นในครั้งนี้ 

 สรุปขั้นตอนของการเข้าถึง ประกอบด้วยหลัก  3  ประการ  ดังนี้

                          1. ระเบิดจากข้างใน

                          2. เข้าใจกลุ่มเป้าหมาย

                          3.สร้างปัญญา

 3. พัฒนา

                     การทำการใดก็ตามเมื่อมีความ  “เข้าใจ และ  เข้าถึง”  ซึ่งย่อมมีข้อมูลครบถ้วนถูกต้องแล้ว  สิ่งที่ต้องทำตามลำดับต่อไปตาม ศาสตร์พระราชา  นั่นคือ “การพัฒนา”   เพราะหากมีทั้ง 2 สิ่ง คือ เข้าใจ เข้าถึง  แต่ไม่มีการพัฒนาก็ไม่เกิดประโยชน์  สิ่งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  บรมนาถบพิตร  พระราชทานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริให้แก่ประชาชนชาวไทยนานัปการ เป็นโครงการพัฒนาด้านต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหามากกว่า 4000 โครงการ  ตลอด 70 ปี ที่พระองค์ทรงครองราชย์   เป็นการพัฒนาบ้านเมืองอย่างเห็นได้ชัดเจน

 สรุปขั้นตอนของการพัฒนา ประกอบด้วยหลัก  3  ประการ  ดังนี้

                          1. เริ่มต้นด้วยตนเอง

                          2.พึ่งพาตนเอง

                          3.ต้นแบบเผยแพร่ความรู้

 4. ประยุกต์ใช้

                    การปฏิบัติการใดโดยใช้ศาสตร์พระราชาจะต้องปฏิบัติด้วยใจรัก  มีความเข้าใจ   และเข้าถึงข้อมูล ศาสตร์พระราชาเป็นศาสตร์ที่ทันสมัย  สามารถใช้เทคโนโลยีในการปฏิบัติได้อย่างเปิดกว้าง  มีความยืดหยุ่น  สามารถปรับใช้ได้ทุกสถานการณ์ ทุกพื้นที่  ภูมิภาค  และทั่วโลก

                         

สรุปการประยุกต์ใช้  ตามหลักศาสตร์พระราชา  สามารถปฏิบัติได้ดังนี้

                          1. ใช้เทคโนโลยี  อินเทอร์เน็ต  ในการเข้าถึงข้อมูล

                          2. ปรับตัวตามสภาพ บุคคล  พื้นที่  และสถานการณ์

                          3. ทำด้วยความรักความเข้าใจ

                          4. ทำด้วยความยืดหยุ่น

                          5. ไม่ยึดติดตำรา

หมายเลขบันทึก: 650680เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2018 22:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 สิงหาคม 2018 21:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

กำลังเรียนรู้ ศาสตร์พระราชา ในด้านการพัฒนาการเกษตร และน้อมนำ แนวคิด ทฤษฎีใหม่ การทำให้บุคลากรด้านการเกษตร พออยู่ พอกิน พอใช้ พึ่งตนเองได้ และการผสมผสานเทคโนโลยี เพื่อนำไปสู่ การเกษตรเพื่อพึ่งตนเอง

ศาสตร์พระราชาเป็นความรู้ที่พ่อมอบให้คนไทยทั้งชาตินำไปปฏิบัติค่ะ ใครทำจะเป็นอุดมมงคลชีวิตที่สุดค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท