mini-UKM #19 @MSU (๒) เทคนิคการสอนแบบมืออาชีพ


ผมได้รับหน้าที่เป็น "คุณฟา" (Facilitator) ปฏิบัติหน้าที่ในนามบุคลากรมหาวิทยาลัย (ภูมิใจไม่ใช่เล่น)  ภาพรวมของกระบวนการแลกเปลี่ยน mini-UKM ครั้งนี้ คล้ายกับครั้งที่ผ่านมาที่ มรภ.สวนสุนันทา แยกเป็น ๕ ประเด็น KM ได้แก่  ๑) เทคนิคการสอนแบบมืออาชีพ  ๒) การพัฒนา Successor เพื่อสนับสนุนการสร้างคุณภาพอุดมศึกษา ๓) เทคนิคการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยเพื่อให้ได้รับทุน ๔) การจัดการเรียนรู้และประเมินผลการเรียนรู้ด้านคุณธรรมจริยธรรม และ ๕) เทคนิคการใช้ข้อมูลเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา ท่านที่สนใจสามารถดาวน์โหลดไสลด์สรุปได้ที่นี่  ผมทำหน้าที่ในกลุ่มประเด็นเทคนิคการสอนแบบมืออาชีพ อำนวยการแลกเปลี่ยนของ ๑ ใน ๔ ย่อย ซึ่งมีคุณฟ้าที่ถูกชวนมาอีก ๓ ท่าน คือ ผศ.ดร.สุดารัตน์ ถนนแก้ว รศ.ดร.ชัยสิทธิ์ สิทธิเวช และ ดร.สุมลวรรณ ชุ่มเชื้อ โดยมี ดร.สิรินทิพย์ บุญมี เป็นวิทยากรหลัก

เทคนิคการสอนแบบมืออาชีพ

ผมมีความเห็นว่า ประเด็นนี้อาจารย์ทั่วโลกล้วนมี "ปัญญาปฏิบัติ" เป็นของตนเอง ซึ่งแตกต่างหลากหลายสุดประมาณ ในมุมหนึ่งไม่มีทางที่จะ Internalize -> Externalize ให้เป็นความรู้สำเร็จรูปได้เลย แต่ในอีกมุมหนึ่งศาสตราจารย์ "ผู้รู้" ก็ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ทั้งด้านศาสตร์และศิลป์การสอนอย่างมืออาชีพไว้แล้วโดยพิสดาร ศาสตราจารย์ นพ. วิจารณ์ ได้บันทึกตีความผลงานของ Prof. Linda B. Nilson ผู้ก่อตั้ง Office of Teaching Innovation and Effectiveness ของ Clemson University ไว้ในชื่อบันทึกชุด "สอนอย่างมือชั้นครู" ไว้โดยละเอียดยิ่งแล้ว (คลิกที่นี่) และยังมีการรวมเล่มเป็นหนังสืออีกต่างหากครับ (ดาวน์โหลดได้ที่นี่)


ดังนั้น ผมจึงขอเสนอว่า เราควรจะปรับกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จากเดิมที่เราจะมีเวลาเล่าเรื่องกันเพียงท่านละไม่เกิน ๑๐ หรือ ๑๕ นาที  ควรจะเพิ่มเวลาเป็นท่านละ ๓๐ นาที หรือ ๑ ชั่วโมง ซึ่งในทางปฏิบัติคงทำไม่ได้ จึงควรจะมีทีมกรรมการสกัดคัดเลือกเอา GP (Good Practice) (หรือให้ทีมฟาไปหาและถอดบทเรียนอย่างละเอียดเพื่อนำมาทำเอกสารแจกในงาน) แล้วเน้นให้ท่านได้ใช้เวลานำเสนออย่างเต็มที่และละเอียด ประกอบเครื่องมือและแสดงชิ้นงานหรือผลงานเชิงประจักษ์ให้เห็น เพื่อเป็นแนวปฏิบัติและแรงบันดาลใจให้เพื่อนอาจารย์นำไปใช้

ต่อไปนี้เป็น ๓๓ วิธีสอนอย่างมือชั้นครู ที่ผมได้เรียนรู้จากหนังสือเล่มนี้  ผมคิดว่า อาจารย์ที่สนใจและกำลังสอนนิสิตนักศึกษาของท่านอย่างเต็มที่อยู่แล้ว  เพียงแค่อ่านหัวข้อก็คงเก็ตอ๋อทันทีโดยไม่ต้องอ่านต่อ ... จึงขอนำเอาเฉพาะประเด็น "เทคนิค" มาแลกให้ท่านเห็น

๑)  อาจารย์ต้องเข้าใจศิษย์และเข้าใจวิธีเรียนของศิษย์ 

  • เริ่มทำความเข้าใจจากจุดที่เป็นสภาพปัจจุบันของนิสิต ไม่ใช่เพียงแค่ความรู้พื้นฐาน แต่รวมถึง สภาพจิตใจ ความเชื่อ สไตล์ชีวิต ปัญหา ข้อจำกัด ฯลฯ 
  • แสดงความกระตือรือร้นและหลงไหลต่อรายวิชาที่ตนจะสอน (สภาพจิตแบบนี้ซึมไปสู่นิสิตได้)
  • ลดการบรรยาย ในยุคนี้ การตลุยบรรยายต่อเนื่องถึง ๕๐ นาที เป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำ เพราะธรรมชาติของผู้เรียนในยุค Gen Z เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงแล้ว การสอนยุคนี้ต้องเป็นแบบ Active Learning ต้องเปิดโอกาสให้นิสิต Reflection และออกแบบให้เขาได้เรียนรู้ด้วยการลงมือทำเอง ค้นเอง Experiential Learning 
  • นิสิตยุคนี้ชอบอะไรเจ๋งๆ ใหม่ๆ เร้าอารมณ์ อาจารย์ต้องหาวิธีกระตุ้นแรงบันดาลใจ อารมณ์ ท้าทาย ทำให้เป็นเรื่องราวดราม่า (Dramatic) สนุก ขบขัน แปลกใหม่ รื่นเริง ตื่นเต้น บีบหัวใจ อาจใช้สถานการณ์จริง เกม สื่อไอที มัลติมีเดีย และกลยุทธ์ต่าง เช่น บทบาทสมมติ Role Playing เรียนรู้ผ่านการบริการชุมชน Service Learning เผชิญและแก้ไขปัญหา Problem-based Learning หรือให้ทำโครงการสร้างสรรค์ผ่าน Project-based Learning  
  • อาจารย์ต้องเข้าใจว่านิสิตปี ๑ ปี ๒ (หรือบางคน ปี ๓ ปี ๔) ยังเป็น "ผู้เยาว์" ในด้านการเรียนรู้ อาจารย์ต้องเน้นสอนให้เขาเกิดพัฒนาการด้านการเรียนรู้ใน ๔ ขั้นตอนของ William G. Perry ต่อไปนี้ 
    • ให้รู้จักเปรียบเทียบ 
    • ให้รู้ว่ามันมีความไม่แน่นอน 
    • ให้รู้ว่าความไม่แน่นอนนั้นเป็นเรื่องปกติ เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ 
    • ให้รูว่าสิ่งที่ควรยึดถือ (ชั่วคราว) นั้นเป็นทฤษฎีที่ดีที่สุดที่มี 
  • อาจารย์ต้องออกแบบและสร้างกระบวนการให้นิสิตใต่ระดับการรับรู้ ๔ ระดับ ตามทฤษฎีของ Baxter Magolda ได้แก่ 
    • รู้อย่างอิสระ
    • รู้แบบสัมบูรณ์ อะไรคือข้อเท็จจริง 
    • รู้แบบเป็นทางผ่าน
    • รู้แบบผูกอยู่กับบริบทหรือเงื่อนไข  จะจริงหรือไม่จริงภายใต้เงื่อนไขหรือบริบทใด 
  • ศาสตราจารย์ William G Perry บอกว่า หากแบ่งระดับการรับรู้ออกเป็น ๙ ตำแหน่ง 
    • นิสิตปี ๑ จะอยู่ตำแหน่งที่ ๑ มองโลกแบบ ขาว-ดำ สองขั้ว (Dualistic)
    • ตำแหน่งที่ ๒ มองโลกเป็นแบบพหุลักษณ์ (Multiplicity)
    • ตำแหน่งที่ ๓ เริ่มเข้าใจความไม่แน่นอน 
    • ตำแหน่งที่ ๔ เริ่มเข้าใจว่าสิ่งที่รู้นั้นเป็นสิ่งสมมติ มองโลกแบบสัมพัทธ์ (Relativism)
    • ตำแหน่งที่ ๕ รู้ว่าทุกอย่างเป็นสิ่งสมมติ ความรู้เป็นสิ่งสัมพัทธ์ 
    • ตำแหน่งที่ ๖ จะมองหาความเชื่อมของตน เนื่องจากเริ่มสับสนกับความไม่แน่นอน 
    • ตำแหน่งที่ ๗ ยึดถือความรู้หนึ่งในบางเรื่อง 
    • ตำแหน่งที่ ๘ นำเอาความรู้นั้นไปทดลองใช้ในบริบทของตนเองต่างๆ 
    • ตำแหน่งที่ ๙ เข้าใจว่าใจที่เปิดกว้างและรับรู้และเรียนรู้สรรพสิ่งเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ตลอดชีวิต 
  • อาจารย์ต้องใส่ใจและให้ความสำคัญกับการพานิสิตนักศึกษาพัฒนาการเรียนรู้นี้  เพราะแม้นิสิตจะมีสมองดี แต่หากพัฒนาการด้านการเรียนรู้นี้ต่ำ จะทำให้ล้มเหลวในการเรียน 
  • นิสิตนักศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑ แตกต่าง หลากหลาย อาจารย์ต้องจัดการเรียนรู้สำหรับคนทุกจริตมาเรียนพร้อมๆ กัน  .... ผมนึกถึงจริต ๖ ในคำสอนในพุทธศาสนา 
๒) ออกแบบรายวิชาโดยเอาผลลัพธ์การเรียนรู้เป็นหลัก (Outcom-central course design)
  • ให้เขียนผลลัพธ์การเรียนรู้ในมุมมองของนิสิตนักศึกษา สมมติตนเองเป็นนักศึกษาที่มาเรียน
  • ให้แบ่งผลลัพธ์ออกเป็น ๓ ส่วน ได้แก่
    • ผลที่สามารถวัดได้ ให้เขียนเป็นวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม เขียนให้เป็นคำกิริยา 
    • เงื่อนไขของผลลัพธ์นั้น ว่าจะทำได้ในสถานการณ์ใด 
    • เกณฑ์ในการวัด 
  • ให้แบ่งชนิดของผลลัพธ์การเรียนรู้เป็น ๕ ชนิด ได้แก่  (ตรงกับ มคอ.๓ เราเป๊ะ)
    • ด้านการคิด หรือ พุทธิพิสัย (Cognetive)
    • ด้านทักษะพิสัย (Psychromotor)
    • ด้านจิตพิสัย (Affective)
    • ด้านจริยธรรม (Ethical)
    • ด้านสังคม (Social)  
  • หรืออาจมองในอีกมุมหนึ่ง ที่แบ่งผลลัพธ์การเรียนรู้เป็น ๖ แบบ ได้แก่
    • ความรู้พื้นฐาน (Fundamental Knowledge)
    • การประยุกต์ (Application)
    • บูรณาการ (Integration)
    • มิติความเป็นมนุษย์ (Human Dimension)
    • การเอาใจใส่ (Caring)
    • เรียนรู้วิธีเรียนรู้ (Learning How to Learn) 
  • ชนิดของผลลัพธ์ด้านพุทธิพิสัย ให้ยึดเอาตามทฤษฎีลำดับการรู้ของบลูม (Bloom's Taxonomy)  ได้แก่
    • จำได้ (Remember) 
    • เข้าใจ (Understand)
    • ประยุกตใช้ (Apply)
    • วิเคราะห์ได้ (Annaly)
    • ประเมินได้ (Evaluate)
    • สร้างสรรค์ได้ (Create) 
  • ให้ออกแบบการเรียนรู้แบบถอยหลัง (Backward Design) 
  • สิ่งสำคัญคือ ต้องทำให้นิสิตนักศึกษาเข้าใจในกระบวนการเรียนรู้ของตนเอง 
๓) ประมวลรายวิชาที่ครบถ้วน 
  • ศาสตราจารย์ Linda B. Nilson เสนอว่า ควรจะมีข้อกำหนดในประมวลรายวิชา (หรือ มคอ.๓ ของเรา) ถึง ๓๖ ข้อ แบ่งเป็นข้อกำหนดพื้นฐาน ๒๓ ข้อ และข้อกำหนดด้านกฎหมายอีก ๑๓ ข้อ 
  • ข้อกำหนดพื้นฐาน ๒๓ ข้อ สอดคล้องอย่างดีกับ มคอ.๓ ที่เรามีเราทำ ที่แตกต่างและน่าสนใจ ได้แก่ 
    • ข้อกำหนดเรื่องการคิดหรือไม่คิดเวลาเข้าชั้นเรียน 
    • ข้อกำหนดเรื่องการส่งการบ้านช้า ไม่ส่งการบ้าน ขาดสอบ 
    • ข้อกำหนดเรื่องทุจริต และความซื่้อสัตย์สุจริตในชั้นเรียน 
    • ข้อกำหนดเรื่องความเป็นระเบียบ
    • ข้อกำหนดเรื่องการอภิปรายแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น
๔) วันแรกในชั้นเรียน
  • อาจารย์ต้องใช้วันแรกในการสร้างความประทับใจ และความสนใจของรายวิชา 
  • สร้างความสนิทสนมระหว่างอาจารย์กับนิสิตนักศึกษา และระหว่างนิสิตนักศึกษาด้วยกัน
  • ทำให้ชั้นเรียนมีบรรยายกาศเอาจริงเอาจัง วิธีการคือ 
    • แต่งกายเป็นทางการกว่าปกติเล็กน้อย 
    • ไปก่อนเวลาเริ่ม  สร้างแนวทางความประพฤติ (Code of Conduct) ของนิสิตที่จะใช้ร่วมกันตลอดภาคเรียน 
    • จัดให้มีเอกสารประมวลรายวิชา ก่อนแจกเอกสารให้กล่าวคำที่แสดงความสำคัญของรายวิชาสัก ๒-๓ ประโยค
    • แสดงท่าทางเอาจริงเอาจัง กระตือรือร้นตั้งแต่วันแรกของการเรียน
  • บอกอย่างชัดเจนว่า อาจารย์คาดหวังอะไรจากนิสิตนักศึกษา 
  • ให้รายละเอียดต่อไปนี้ต่อนิสิตนักศึกษาให้ชัดเจนที่สุด 
    • จะมีการทดสอบอย่างไร
    • คำถามทดสอบเป็นแบบไหน
    • การทดสอบต้องการการคิดแบบไหน
    • ต้องเตรียมตัวสอบอย่างไร
    • จะมีการแจกสรุปประเด็นของการเรียนรหรือไม่ 
    • จะมีช่วงเวลาสรุปประเด็นหรือไม่ 
    • มีวิธีให้คะแนนการบ้านและการสอบอย่างไร 
    • มีหลักเกณฑ์ให้เกรดอย่างไร 
    • คำแนะนำต่อนิสิตในการทำเกรดสูง
  • ทำ BAR ก่อนเรียน โดยแจกแบบสอบถามที่มีคำถาม ๖ ข้อให้นิสิตนักศึกษา ให้เขียนเป็นเวลา ๕ นาที แล้วให้จับกลุ่มแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ๑๕ นาที เวลาที่เหลือ ๒๐ นาที ให้เป็นการถาม-ตอบกับอาจารย์ โดยในแบบสอบถามให้มีคำถามปลายเปิดด้วย  คำถาม ๖ ข้อคือ 
    • ท่านหวังอะไรจากวิชานี้
    • อาจารย์จะช่วยให้ท่านบรรลุเป้าหมายนั้นได้อย่างไร
    • กังวลเรื่องวิชานี้หรือไม่อย่างไร
    • มีพื้นฐานความรู้ หรือ ต้นทุนอะไรบ้าง สำหรับรายวิชานี้ 
    • ควรมีข้กำหนด เกี่ยวกับพฤติกรรมของนิสิตอย่างไรบ้าง เพื่อช่วยให้การเรียนบรรลุผลดี
    • ปัจจัยอะไรที่ต้องมีในห้องเรียนหรือเกี่ยวกับอาจารย์ ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ของท่าน 
  • ในกรณีที่เป็นชั้นเรียนขนาดไม่ใหญ่มาก ให้จดจำชื่อนิสิตให้ได้  อาจใช้เทคนิคต่อไปนี้ 
    • จัดทำผังที่นั่ง  จำได้แล้วค่อยให้อิสระ
    • บันทึกลักษณะพิเศษของแต่ละคน เช่น อ้วน ผอม สูงโย่ง ฯลฯ
    • ใช้การบัญชีรายชื่อ และขานชื่อ โดยเน้นเรียกแบบสุ่ม 
    • ให้นิสิตติดป้ายชื่อ 
  • ละลายน้ำแข็ง (Ice Breaking) ทำความรู้สึกกันด้านสังคม อาจใช้เกมหรือกิจกรรมทำให้รู้จักกัน เช่น 
    • แนะนำตนเอง ชื่อ นามสกุล ชื่อเล่น สาขาวิชา บอกเหตุผลที่มาเรียนวิชานี้ รวมถึงอาจให้บอกถึงความภูมิใจในตนเองด้านใดด้านหนึ่ง 
    • ให้สัมภาษณ์ ๓ ขั้นตอน ได้แก่ จับคู่สัมภาษณ์กัน แล้วให้แนะนำเพื่อนคู่ของตนต่อคนอื่น 
    • สำรวจห้องเรียน โดยการตั้งคำถามชั้นเรียน แล้วให้ยกมือ เช่น ใครเคยแต่งงาน  ใครมาจากจังหวัด ใครมาจากภาค.... ใครเคยเรียนวิชานี้แล้ว.... ฯลฯ
    • ใช้เกมตามล่าหาเป้าหมาย  โดยอาจารย์แจกกระดาษเปล่า แล้วบอกลักษณะของเป้าหมาย เช่น เกิดเดือนเดียวกัน พูดได้สองภาษา ฯลฯ เมื่อพบแล้วก็ให้เขียนลงในกระดาษ  
    • เกมบิงโกมนุษย์ คล้ายกับตามล่าหาเป้าหมาย แต่แจกกระดาษหลายช่องเป็นตาราง แล้วให้ไปเดินถามหา ใครครบช่องก่อนให้ร้องว่า "บิงโก" 
    • เกมวงกลมแห่งความเหมือน (ความต่าง) โดยแจกกระดาษให้เขียนรูปวงกลมใหญ่ตรงกลาง ล้อมรอบวงกลมขนาดเล็กหลายๆ วง เช่น ๕ วง แล้วเขียนชื่อตนเองไว้ตรงกลาง และเขียนลักษณะของตนเองในวงกลมเล็ก เช่น เพศหญิง ชอบว่ายน้ำ ฯลฯ  แล้วให้ไปหาคนที่เหมือนกันมากที่สุด 
  • ละลายน้ำแข้ง ทำความรู้จักกันด้วยเนื้อหาวิชา  เพื่อทำให้นิสิตรู้ว่าเพื่อนคนใดที่มีความรู้ผิดๆ เรื่องใดบ้าง อาจใช้เทคนิคต่อไปนี้ 
    • เทคนิคประเมินห้องเรียน โดยอาจให้ทำแบบทดสอบก่อนเรียนร่วมกันผ่านโทรศัพท์มือถือ Kahoot หรือ Polleverywhere ฯลฯ 
    • เทคนิคประกาศปัญหา โดยให้เขียนปัญหาลงบนกระดาษว่าตนคาดจะมีปัญหาในการเรียนอะไรบ้าง แล้วให้อาจารย์ทำหน้าที่เป็น Facilitator บันทึกปัญหาให้เห็นกันทุกคน ลงเป็นความถี่บนหน้ากระดาน และเปิดโอกาสให้นิสิตได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหานั้นๆ 
  • ก่อนจบวันแรก อาจารย์ควรแจกกระดาษ ให้นิสิตเขียนคำตอบของปัญหาเหล่านี้ส่งอาจารย์ก่อนจากกัน 
    • ความรู้ที่สำคัญที่สุดที่ท่านได้เรียนรู้วันนี้คืออะไร
    • กระบวนการเรียนรู้ในวันนี้ ทำให้ความคาดหวังต่อวิชานี้เปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง 
    • ท่านยังมีข้อสงสัย หรือข้อข้องใจเกี่ยวกับวิชานี้อย่างไร 
๕) สร้างแรงจูงใจให้นิสิตนักศึกษา
  • งานวิจัยบอกว่า อาจารย์สามารถสร้างแรงจูงใจภายในให้เกิดกับนิสิตได้ดังนี้ 
    • แสดงความกระตือรือร้น หลงไหลในรายวิชานั้น 
    • จัดวัสดุการเรียนที่เหมาะสม
    • จัดระบบของรายวิชาอย่างชัดเจน 
    • ยากง่ายพอเหมาะ
    • จัดการเรียนรู้แบบ Active Learning
    • สอนด้วยวิธีที่หลากหลาย
    • อาจารย์เอาใจใส่ใกล้ชิด 
    • ให้ตัวอย่างที่เหมาะสม 
  • ให้ระวังสิ่งที่จะทำลายแรงจูงใจในการเรียน ๕ ประการ คือ 
    • ท่าทีและพฤติกรรมด้านลบของอาจารย์  (ส่งผลรุนแรง)
    • โครงสร้างรายวิชาที่สับสน (ส่งผลรุนแรง)
    • บรรยากาศการเรียนที่ไม่ดี
    • เนื้อหาที่น่าเบื่อ หรือไม่เหมาะสม
    • นิสิตไม่ชอบวิชานั้นอยู่ก่อนแล้ว 
  • สิ่งที่สำคัญมากอย่างหนึ่งคือ ต้องสร้างและรักษาความเป็นธรรมในห้องเรียนเสมอ 
(ขอพักไว้ที่ข้อ ๕ ก่อนนะครับ วันหลังมีเวลาจะมาจับประเด็นให้เห็นต่อไปจนถึงข้อที่ ๓๓) 

ผมมีความเห็นว่า ปัญญาปฏิบัติที่อ่านเข้าใจและนำไปใช้ได้เลยแบบที่กล่าวมานี้ คือเป้าหมายที่เราควรจะได้แลกเปลี่ยนกัน .... แต่เราไม่สามารถจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดบทเรียนได้แบบนี้ในเวที min-UKM เพราะเรามีข้อจำกัดด้านงบประมาณและกาลอันยุ่งเหยิงของชีวิตอาจารย์ยุคนี้  วิธีเดียวที่เราจะทำได้ก็คือ สร้างแรงบันดาลใจและส่งเสริมให้อาจารย์ถอดบทเรียนตนเอง แล้วเขียนบันทึกมาแลกกันอ่าน  เมื่อกาลเหมาะเวียนมาถึง จึงไปแลกเปลี่ยนกันที่เวที mini-UKM...ท่านว่าไหมครับ 

   (ทีมฟากลุ่มที่ ๑ เทคนิคการสอนแบบมืออาชีพ  กำลังทำ AAR กันหลังเวทีแลกเปลี่ยน )

หมายเลขบันทึก: 649348เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2018 00:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 สิงหาคม 2018 00:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ดร.ต๋อย เขียนแล้วอ่านเข้าใจได้ง่ายค่ะ

เปิดมาเจอคำชื่นชมของ ดร.ภิญโญ …. ภูมิใจสุดๆ ครับ อยากจะเรียนเชิญท่านมาสอน AI ให้อาจารย์ผู้สอนรายวิชา ความเป็นมนุษย์และการเรียนรู้ นานแล้วครับ แต่จังหวะและโอกาสไม่อำนวย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท