"สมอง" กับ "จิตใจ" อะไรทำให้มี "ความสุข" (จับประเด็นจากการอ่านหนังสือ "ขุนเขาเกาสมอง)


ผมอ่านหนังสือขายดีที่พิมพ์ต่อกันถึง ๑๙ ครั้ง ชื่อ "ขุนเขาเกาสมอง" นานแล้ว แต่ตอนนั้นยุ่งไม่มีเวลาจับประเด็นและตีความแลกเปลี่ยน วันนี้มีแรงใจให้จับเอาประเด็น "ข้อเท็จจริง" ที่นักจิตวิทยาค้นพบเกี่ยวกับการทำงานของ "สมอง" ที่เชื่อมโยงกับ "จิตใจ" เพื่อนำไปเป็นข้อมูลเพิ่มเติมในการสอนรายวิชา ๐๐๓๒๐๐๔ ความเป็นมนุษย์และการเรียนรู้

  • ผู้แต่งหนังสือเล่มนี้ ชื่อ ขุนเขา สินธุเสน เขจรบุตร เป็นนักจิตวิทยาที่ศึกษาเรื่องพุทธธรรม สิ่งที่ทำให้เกิดคุณค่าของหนังสือเล่มนี้อยู่ตรงนี้ คือ การเชื่อมโยงพุทธธรรมกับพฤติกรรมที่นักจิตวิทยาสังเกตพบ พื้นฐานของข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ สามารถพิสูจน์ให้เห็นได้กับตนเองแบบ "ทันที"  
  • ผู้แต่งเปรียบเทียบ "ทุกข์" ที่แปลว่า "การทนอยู่อย่างเดิมไม่ได้" กับอาการ "คัน" ซึ่งต้องเกา การเกาสมอง ทำให้เกิดพฤติกรรมและปรากฎการณ์ชัดแจ้ง (พิสูจน์ได้ทันที) ต่างๆ  ซึ่งผู้อ่านไม่เคยทราบ ... จึงสนุก และคงเป็นเหตุให้ขายดี 
  • ไม่ว่าใครจะทำอะไร (คนจะทำอะไร) จะต้องใช้ "แผนที่ชีวิต" เสมอ  แผนที่ชีวิตในที่นี้คือ 
    • ความเชื่อ หรือ ศรัทธา
    • ความรู้สึก หรือ เวทนาหรืออารมณ์ 
    • ความนึกคิด หรือ สังขาร การปรุงแต่งทางความคิด จินตนาการ 
    • ความทรงจำ หรือ วิญญาณ 
  • นักประสาทวิทยาพบว่า เมื่อคนมีความสุขจะมีสาร ๔ ชนิด หลั่งในสมองหรือในร่างกาย  ผู้แต่งหนังสือเล่มนี้มองว่า สาร ๔ ชนิดนี้เป็น "เครื่องสังเคราะห์ความสุข" ผมตีความว่า เขาหมายถึง สาร ๔ ชนิดนี้ทำให้เกิดความสุข หากจะทำให้คนมีีความสุข ต้องทำให้มีสารเหล่านี้เกิดมีในสมองหรือร่างกาย  สาร ๔ ชนิดนี้ได้แก่ 
    • โดพามีน (สารสำเร็จ) จะหลั่งมากเมื่อได้ในสิ่งที่ต้องการ หรือ เมื่อความอยากได้รับการตอบสนอง 
    • เซโรโทนิน (สารสงบ) จะหลั่งเมื่อเรารู้สึกสงบ สบาย และผ่อนคลาย เช่น ความสุขจากการนั่งสมาธิ ฟังเพลงที่ชอบ อยู่ในอริยาบทที่สบาย ฯลฯ  (จากการสืบค้น พบว่า สารเซโรโทนิน มีหน้าที่)
    • ออกซิโทซิน (สารสัมพันธ์) จะหลังเมื่อกำลังมีความรัก เมื่อได้ยินเสียงคนรัก ได้อยู่ใกล้ ได้สัมผัส  โดยจะหลั่งมากทั้งความรักแบบหนุ่มสาว ครอบครัว แบบเพื่อนแท้ คือหลั่งเมื่อรู้สึกอบอุ่นหรือปลอดภัย 
    • สารเอนดอร์ฟิน (สารสำราญ) จะหลั่งออกมาทุกๆ ครั้งที่มีความสุข หลั่งออกมาพร้อมๆ กับสารทั้งสามชนิด สารนี้จะหลั่งออกมามากเป็นพิเศษเมื่อออกกำลังกายหนักๆ และเมื่อเราหัวเราะ 
  • ผู้แต่งบอกว่า หลักไตรลักษณ์ในศาสนาพุทธ คือ ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา คือ "กฎเหล็กของจักรวาล 
  • ผู้แต่งบอกว่า สาเหตุที่คนยังไม่มีความสุข คือ คนไม่เข้าใจความสุข หากเข้าใจความสุข จะเข้าถึงความสุขเอง อุปมาเหมือน "ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา"
  • ความสุขมีอยู่แล้วในตัวเรา ตัวเราคือแหล่งผลิตความสุขแหล่งเดียวในจักรวาล 
  • วิธีสังเคราะห์ความสุข คือ การเริม "ขอบคุณในสิ่งที่มี" ปละ "ยินดีในสิ่งที่ได้"  (นี่น่าจะเป็นอันเดียวกับ "ความเพียงพอ")
  • นักจิตวิทยาเชื่อในเรื่อง "การปูพื้นทางจิต" (Priming) คือ สิ่งที่จิตใจกำลังนึกคิดในขณะปัจจุบัน มักจะเป็นผลมาจากการนึกคิดในอดีตเสมอ  เช่น หากเล่าเรื่องค้อนตอกตะปูให้ฟัง แล้วถามว่าจงนึกถึงเครื่องมืออะไรก็ได้ชิ้นหนึ่ง เกือบทั้งหมดจะนึกถึงค้อน   เป็นต้น   (ปรากฎการณ์ทางจิตนี้เอง ที่ทำให้เกิดคำพูดต่อๆ กันว่า หากตื่นขึ้นมาอารมณ์ดี ทำให้จิตใจดี เบิกบาน ในตอนเช้า วันนั้นทั้งวัน จะเป็นวันที่ดี) หรือหากเป็นเช้าที่ไม่ดีก็จะให้ผลในทางกลับกัน 
  • สมองแต่ละส่วนมีหน้าที่แตกต่างกัน แต่สมองทุกส่วนล้วนเชื่อมโยงเข้าหากันแบบซับซ้อนเหลือประมาณ
  • มีบางคนเหมือนกันที่ประสบอุบัติเหตุ กระทบกระเทือนทางสมอง ฟื้นขึ้นมา ปรากฎว่ากลายเป็นอัจริยะโดยเฉียบพลัน (Sudden Savant) เช่น 
    • ปี 2014 หญิงธรรมดาชาวอังกฤษวัย ๔๙ ปี ล้มหัวฟาดบันได ตื่นขึ้นมากลายเป็น ศิลปินวาดรูปที่ยอดเยี่ยม 
    • ชายชาวออสเตเลีย ฟื้นจากอาการโคม่าจากอุบัติเหตุทางรถยนตร์ เขาพูดกับนางพยาบาลว่า "ขอโทษนะครับ ผมรู้สึกปวดหลังเหลือเกิน" เป็นภาษาจีนกลาง 
    • สาวโครเอเชีย ตื่นขึ้นมาพูดภาษาเยอรมันปร๋อ
    • ปี 2013 นาวิกโยธินชาวอเมริกัน ตื่นขึ้นมาพูดภาษาสวีเดนคล่องแคล่ว 
    • แพทย์รักษากระดูก ถูกไฟฟ้าแรงสูงช็อต รอดชีวิตมา กลายเป็นนักประพันธ์เพลงระดับโลก 
    • ฯลฯ 
  • คำอธิบายที่น่าสนใจที่สุดของการเกิด "อัจฉริยะอย่างเฉียบพลัน"  คือคำอธิบายของ ดร.บรูซ มิลเลอร์ บอกว่า อัจฉริยภาพนั้นไม่ได้เกิดเพราะได้รับความสามารถใหม่ หากแต่เกิดเพราะการสูญเสียความสามารถบางอย่างไปต่างหาก ความสามารถที่สูญเสียไปนั้นเอง ที่ระงับความเป็นอัจฉริยะในตัวคนเหล่านั้นไว้ตลอดในระยะเวลาที่ผ่านมา 
  • ดร.มิลเลอร์บอกว่า ปกติสมองซึกซ้ายของคน ทำงานเกี่ยวข้องกับการใช้เหตุผล ใช้ภาษา และการประมวลข้อมูลเพื่อค้นหาความจริง ส่วนสมองซีกขวาทำงานเกี่ยวข้องกับศิลปะ การสร้างสรรค์ และจินตนาการ ผู้ป่วยที่สมองซ้ายถูกกระทบกระเทือนจนสูญเสียประสิทธิภาพในการทำงาน  จะส่งผลให้สมองซีกขวา "ระเบิด" จินตนาการและการสร้างสรรค์ทางศิลปะในสมองซีกขวาที่ถูกระงับไว้ด้วยหลักการ หรือเสียงในหัวที่คอยบอกว่า "ไม่ไหวแน่ ทำไม่ได้หรอก ไม่เคยทำ สักหน่อย แย่แล้ว ฯลฯ " 
  • นักจิตวิทยาเรียกปรากฎการณ์ ที่คนจงใจทำหรือตัดสินใจตามคนส่วนใหญ่ในกลุ่มว่า "ความสุดโต่งของการตัดสินใจ" หรือ Group Polarization  ซึ่งเกิดขึ้นกับกลุ่มคนที่มีความสามัคคีกันมาก แต่ละคนต่างพร้อมจะเห็นด้วยในสิ่งที่หัวหน้าหรือคนส่วนใหญ่เห็นว่าถูก โดยไม่สนใจกับเหตุผลหรือความถูกต้องที่ตัวเองเชื่อมั่น 
  • ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของ Group Polarization ซึ่งผู้แต่งเรียกว่า "จิตวิทยาหมาหมู่"  คือ พรรคนาซี (Nazi) ที่มีฮิตเลอร์เป็นผู้นำ จนทำให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ 
  • ปรากฎการณ์ "ไทยมุง" ไม่ได้มีแค่ในประเทศไทย  นักจิตวิทยาเรียกปรากฎการณ์นี้ว่า Bystander Effect หรือ ปรากฎการณ์คนมุง  คือ เหตุการณ์อยากรู้อยากเห็น แต่ไม่อยากเข้าไปม่ส่วนร่วมหรือช่วยเหลือใด (ดูเฉยๆ)  ซึ่งพบทั่วไปในโลก เช่น 
    • ปี 2010 ชายขอทาน ที่นิวยอร์ก คนหนึ่งพยายามเข้าไปช่วยหญิงที่กำลังถูกปล้น แต่เขาโดนแทง เดินโซซัดโซเซ ไปนอนจมกองเลือดเสียชีวิตอยู่ใต้สะพาน  การตรวจกล้องวงจรปิดพบว่า มีคนถึง ๒๕ คนที่เข้ามาดูเขา แต่มีใครช่วยเขาเลย 
    • ที่เมืองโฝชาน ประเทศจีน มีคนถึง ๑๘ คน ยืนดูเด็ก ๒ ขวบ ถูกรถทับซ้ำแล้วซ้ำเล่าถึง ๗ นาที โดยไม่เข้าไปช่วย 
    • ฯลฯ 
  • นักจิตวิทยาอธิบายว่า ในปรากฎการณ์คนมุง จะเกิดการ "กระจายความรับผิดชอบ" หรือ Diffusion of Responsibility  คือแต่ละคนที่อยู่ตรงหน้าจะรู้สึกวา ตนเองมีความรับผิดชอบต่อสิ่งนั้นน้อยลง เพราะคิดว่า คนอื่นน่าจะทำได้ดีกว่า  
  • ในกรณีที่ท่านผู้อ่านอยู่ใน "ไทยมุง" ให้รีบเข้าช่วยโดยไม่สนใจใคร แต่หากพิจาณาว่า ไม่สามารถทำได้ ให้เรียกโดยเจาะจงคนที่อยากจะให้เข้าไปช่วยให้ชัดเจนไปเลย  ระบุชื่อไปเลยหากเป็นไปได้ การระบุชื่อ จะช่วยทำลายการกระจายความรับผิดชอบได้ 
  • ความสุข ความทุกข์ ส่วนหนึ่งเกิดจากการเปรียบเทียบ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้เป็นแสนล้านแบบ ขึ้นอยู่กับสมองจะปรุงแต่งขึ้น 
  • นักจิตทยาอธิบายว่า การเสพติดทุกอย่าง แท้จริงแล้วคือ การเสพติดความสุข โดยเฉพาะการเสพติดการพนัน 
  • สารแห่งความสุขจะหลั่งออกมาตอนกำลัง "ลุ้น" มากพอๆ กับตอนที่รู้ว่าสำเร็จตามที่หวัง 
  • แสงสีเหลืองนวลจัดเป็นแสงแห่ง "ภวังค์" นักสะกดจิตเกือบทุกคนใช้แสงสีเหลืองนวลในห้องสะกดจิต
  • ในบ่อนการพนันจะไม่มีหน้าต่างและไม่มีนาฬิกา เพื่อให้ลูกค้าลืมเวลา และให้หลงไปกับอุปกรณ์สร้างความสุขต่างๆ 
  • นักจิตวิทยาเรียกกร "ไล่กวดเอาคืน" (เมื่อเสียพนัน) ว่า เป็นพฤติกรรมบ่งบอกพฤติกรรมการเสพติดที่ชัดเจนที่สุด เพราะพฤติกรรมนี้จะมีอยู่ในการเสพติดทุกประเภท 
  • นักประสาทวิทยาชื่อดัง แบ่งปัจจัยที่เป็นต้นกำเนิดของอาชญากรไว้ ๓ ประการใหญ่ๆ คือ พันธุกรรม สมอง และประสบการณ์ชีวิต 
  • นักประสาทพบว่า ยีนชื่อ MAOA (Monoamine oxidase A) จะส่งผลให้คนเราชื่นชอบความเสี่ยง ชอบการท้าทาย ชอบลองของ ชอบตอบสนองต่อเหตุการณ์ด้วยความรุนแรง และมีพฤติกรรมก้าวร้าวต่อบุคคลทั่วไป นักวิทยาศาสตร์เรียกชื่อเล่นว่า "ยีนนักรบ"
  • มีงานวิจัยจับชิ้นไม่ถ้วนที่บอกว่า สมองส่วนหน้า (Orbitol Frontal Cortext; OFC) ของอาชญากรจะมีขนาดเล็กกว่าคนทั่วไป สมองส่วนนี้ทำหน้าที่เกี่ยวกับการยับยั้งชั่งใจ การควบคุมอารมณ์ การใช้เหตุผล และสติ โดยเฉพาะสมองส่วนเหนือเป้าตา ที่ทำหน้าที่ประมวลผลและชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์และโทษ 
  • โยคี พระจากทิเบต และผู้ฝึกสมาธิเป็นเวลานาน จะมีเลือดไปเลี้ยงสมองส่วนหน้ามากกว่าคนปกติ  สมองส่วนนี้สามารถฝึกให้พัฒนาได้ด้วยการฝึกสมาธิและเจริญสติ 
  • คนที่ติดสารเสพติดทุกชนิด และคนป่วยโรคจิต จะมีสมองส่วนหน้าขนาดเล็กกว่าคนปกติ  
  • คนที่มักทำอะไรตามใจตนเองเยอะๆ ไม่ยับยั้งชั่งใจ ใช้ความคิดและเหตุผลน้อยๆ  สมองส่วนหน้าจะไม่ได้รับการพัฒนา 
  • นอกจาก OFC แล้ว อาชญากร ยังมีสมองส่วน อมิกดาลา (amygdala) ซึ่งเป็นเหมือนศูนย์บัญชาการใหญ่ของอารมณ์ ขนาดเล็กกว่าคนทั่วไป  ทำให้ไม่รับรู้และเข้าใจถึงความรู้สึกต่ำกว่าคนทั่วไป จึงไม่เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น 
  • นักประสาทวิทยาพบว่า สมองส่วนหน้าและอมิกดาลาไม่สื่อถึงกันเหมือนคนทั่วไป ทำให้การตัดสินใจมีอารมณ์เป็นพื้นฐาน 
  • ฆาตรกรต่อเนื่อง มีไอค้วเฉลี่ยสูงถึง ๑๒๘ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของคนปกติ ซึ่งอยู่ที่ ๙๗ (ของคนทั่วโลก) ทำให้พวกเขาสามารถแสดงบทบาทบุคคลเสน่ห์ได้แนบเนียนกว่าคนทั่วไป 
  • นักประสาทวิทยาพบว่า อาชญากรทุกคน มีสารต่อต้านเซโรโทนิน (สารแห่งความสุขประเภทหนึ่ง) สูงกว่าคนปกติ สาเหตุเกิดจากสมองได้รับสารเซโรโทนินสูงในขณะอยู่ในครรภ์ เนื่องจาก แม่ติดสารเสพติดต่างๆ เช่น บุหรี่ ยาเสพติด ฯลฯ 
  • นักประสาทวิทยาพบว่า เด็กที่เกิดจากแม่ที่กินเหล้า เติบโตมาโดยขาดสารอาหารที่จำเป็นสำหรับสมอง จะมีรูโหว่ในสมอง (ventricles) ขนาดใหญ่กว่าคนปกติ ทำให้มีเนื้อสมองน้อยกว่า มีเซล์ประสาทน้อยกว่าคนปกติ 
  • นักวิทยาศาสตร์พบว่า ปริมาณตะกั่วที่เจือปนอยู่ในอากาศ น้ำ อาหาร จะแปรผันตรงกับระดับอาชญากรรมทั่วโลก  เนื่องจากสารตะกั่วจะทำลายสมองส่วนนอก (cerebral cortex) ที่เกี่ยวข้องกับสติปัญญา 
  • นักวิทยาศาสตร์ชื่อ ดร.แดเนียล จี เมเมน สแกนสมองของอาชญากร ๕๐๐ คน พบว่า ทุกคนล้วนแล้วแต่มี "แผลสมอง" ซึ่งสามารถรักษาให้หายได้ด้วยกระบวนการยุติธรรมแบบฟื้นฟู  เขาพบว่าสมองมนุษย์มีความยืดหยุ่นสูงเหมือนดินน้ำมัน ดังนั้นคน "เลว" ไม่ได้หมายกว่าว่าจะเลวต่อไปเรื่อยๆ 
  • FBI พบว่า อาชญากรและฆาตรกรทุกคนจะมีสิ่งที่เหมือนกันอย่างหนึ่งคือ มีประสบการณ์ในวัยเด็กที่ปวดร้าวเหมือนกัน 
  • นักจิตวิทยาพบว่า ก่อนจะอายุ ๑๓ ขวบ สมองของเด็กทุกคนจะซึมซับและเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวกับความรัก ความเมตตา ความอบอุ่น ความดีงาม และความไว้เนื้อเชื่อใจ  ดังนั้นหากก่อนวัย ๑๓ ปี หากบทเรียนเหล่านั้นขาดหายไป เขาจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ต่อต้านสังคม รังเกียจเพื่อนมนุษย์ ขาดศีลธรรมในใจ 
  • นักจิตวิทยาพบว่า ปัจจัยด้านความอบอุ่นในวัยเด็ก สำคัญกว่า ปัจจัยด้านพันธุกรรมและสมอง 
  • จากการสแกนสมองพบว่า คนที่เป็น "ทอม" จะมีสมองคล้ายผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และคนที่เป็น "กะเทย" จะมีลักษณะสมองคล้ายผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 
  • คำพูดที่ฮิตทั่วไปว่า "Sex is in the brain" เป็นคำพูดของนักจิตวิทยา  ลักษณะของสมองสามารถแยกเพศได้  หากให้ดูเฉพาะภาพสแกนสมอง นักวิจัยจะบอกว่าสมองทอมหรือกะเทยผิดเสมอ
  • ในคัมภีร์จิตวิทยา ชื่อย่อว่า DSM เคยจัดคนรักร่วมเพศว่า เป็นโรคจิตประเภทหนึ่ง และมีการต่อต้าน จนคนรักร่วมเพศถูกจับเข้าคุก  รวมถึงวีรบุรุษสงครามอย่างอลัน ทัวริ่งด้วย (Alan Turing) ผู้ที่ใช้ความอัจฉริยะถอดรหัสลับนาซี จนทำให้พันธมิตชนะสงคราม  และเครื่องถอดรหัสของเขาเป็นรากฐานสำคัญของคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน  (แนะนำให้ไปดูหนังเรื่อง The Imitation Game)
  • "โรคกลัว" หรือที่นักจิตวิทยาเรียกว่า "โฟเบีย" (Phobia)  ไม่ใช่แค่กลัวผี กลัวงู  แต่เป็นความกลัวแบบสุดประหลาด เช่น กลัวการลืมตา  กลัวคำยาวๆ  โรคกลัวความกลัว ซึ่งอันหลังนี้ไม่ต้องการสิ่งกระตุ้นใดๆ  กลัวความคิดของตนเอง 
  • คนแต่ละคนจะรับรู้เวลาสั้น-ยาวแตกต่างกัน  สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้เรื่องเวลามากที่สุดเรียกว่า สเตรียมตัม  (Striatum) โดยจะรับรู้เวลาสั้นยาวผ่านการปรุงแต่งของตัณหาหรือความอยาก 
  • อีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการรับรู้เวลาของคนคือ อัตตา ซึ่งจะขยายใหญ่ขึ้นเสมอเมื่อคนรู้สึกทุกข์และมีตัณหา ซึ่งความรู้สึกว่า "ฉัน" จะชัดเจนขึ้น ทำไมฉันถึงป่วย ทำไมเขาทำกับฉันอย่างนี้  ความรู้สึกทุกข์แบบนี้จะรับรู้ว่าเวลามันเดินช้า 
  • ตรงกันข้าม เมื่อมีความสุข เราจะจดจ่อกับสิ่งที่กำลังทำจน ลืมเวลา นักจิตวิทยาเรียกว่า Flow หรือการไหลของจิต  คิดค้นโดยนักจิตวิทยาชาวฮังการี 
  • นักวิจัยนำนักวิปัสสนา ๓๖ คน ไปนั่งสมาธิในหเองทดลอง พบว่า สมองส่วนที่เรียกว่า โพสทีเรียร์ ซินกูเลต คอร์ติซีส ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับอัตตาตัวตน ทำงานน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด 
  • นักจิตวิทยาพบว่า ชื่อที่เรียกง่ายกว่าจะส่งผลให้คนเข้าหามากกว่า ชื่อที่แปลกไม่ซำใครอาจทำให้เป็นผู้นำหรอืไม่ก็เป็นผู้ร้ายไปเลย 
  • นักจิตวิทยาเรียก ออซิโทซีนว่า ฮอร์โมนแห่งรักแท้ เป็นสารที่หลั่งออกมามากที่สุดตอนที่แม่คลอดลูก และจะไปกระตุ้นให้เกิดการสร้างน้ำนม และยังพบว่า สารนี้ในตัวแม่ยังไม่เหือดหายไป อธิบายว่า ทำไมแม่ถึงรักลูกไม่มีวันหมด 
  • มนุษย์ต่างจากสัตว์ตรงที่ มนุษย์มีจิตสำนึก  
  • นักประสาทวิทยาพบว่า มนุษย์มีคลื่นสมองแบ่งได้เป็น ๔ แบบ ได้แก่ 
    • คลื่นเบต้า (Beta) ๑๓ -๓๐ เฮิรตซ์ เกิดในขณะเราทำกิจวัตรประจำวัน เคลื่อนไหวเยอะๆ 
    • คลื่นแอลฟา (Alpha)  ๘-๑๒ เฮิรตซ์ เกิดเมื่อเราหลับตาผ่อนคลาย หรือกำลังใจจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นพิเศษ (นี่แหละที่ที่การเรียนรู้เกิดขึ้น)
    • คลื่นเทต้า (Theta) ๔-๗ เฮิรตซ์ เมื่ออยู่ในสภาวะครึ่งหลับครึ่งตื่น หรือกำลังนั่งสมาธิอยู่ในระดับลึก 
    • คลื่นเดลต้า (Delta) ๐-๓ เฮิรตซ์ เมื่อเราหลับสนิท 
  • มีงานวิจัยมากมายยืนยันว่า เมื่อสมองของมนุษย์อยู่ในช่วงเดลต้าจะหลั่งสารเอนดอร์ฟินออกมามากมาย 
  • ยิ่งคลื่นสมองต่ำเท่าใด การรับรู้ภายในยิ่งมากขึ้นเท่านั้น คือถูกจูนเข้าไปสู่การ "เป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาล" มากขึ้นเท่านั้น แต่คนส่วนใหญ่หลับไปก่อนแล้ว จึงไม่รู้ 
  • ขณะที่สมองอยู่ในคลื่นเดต้า ความคิดจะไม่ไปในอดีตหรืออนาคต แต่จะรับรู้อยู่ในขณะปัจจุบัน จึงทำให้รู้สึกโปร่ง โล่ง เบา 
  • การสวดมนต์หรือฟังเสียงสวดมนต์ เพียง ๒ - ๓ นาที ทำให้สมองเปลี่ยนไปจากระดับเบต้าเป็นแอลฟาได้ 
  • มนุษย์ใช้เวลานอนชั่วชีวิตถึงประมาณ ๒๐๔,๔๐๘ ชั่วโมง หรือ ๘,๕๑๗ วัน ยีราฟ นอนวันละ ๒ ชั่วโมง ค้างคาวสีน้ำตาลนอนวันละ ๒๐ ชั่วโมง ลิงนอนวันล ๑๐ ชั่วโมง
  • ปลาวาฬ  ต้องขึ้นมาหายใจทุก ๓๐ ชั่วโมง สมองจึงหลับทั้งหมดไม่ได้  สมองมันจึงหลับครึ่งหนึ่งแล้วสลับกันทำงาน 
  • ช่วงเวลาที่เราหลับ เป็นช่วงที่สมองทำงานหนักที่สุด ระหว่างที่เราหลับ  สมองจะจัดระบบระเบียบของสมองและความทรงจำ สมองจะนำความทรงจำระยะสั้น (Short-term memory) ถ่ายโอนไปสู่ความทรงจำระยะยาว (Long-term memory) 
  • การอ่านหนังสือหนักๆ โดยไม่หลับ หลังสอบ ความรู้จะหายไป ไม่มีอะไรเหลืออยู่ ..ฮา
  • สมองที่ถือเป็นศูนย์รวมของความทรงจำเรียกว่า ฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) คนที่เครียด เก็บเอาเรื่องต่างๆ มาคิดมาก จึงมักเก็บเอามาฝัน 
  • การฝันตอนหลับเหมือนการคิดตอนตื่น  สมองทำงานเหมือนกัน 
  • เราไม่อาจบังคับร่างกายให้หลับได้หรือบังคับให้ใจรักได้ สิ่งที่ทำได้คือการปล่อยให้มันเกิดขึ้น 
  • นักวิทยาศาสตร์พบว่า ทำนองของคำพูดเวลาที่เราเศร้าจะเหมือนทำนองของเพลงเศร้า และทำนองของคำพูดเวลามีความสุข จะเหมือนทำนองของเพลงที่สนุกสนาน 
  • เมื่อฟังเพลงที่ชอบ สมองจะหลั่งโดพามีนออกมา แต่เมื่อฟังบ่อยๆ เดิมๆ สารนี้จะหลั่งน้อยลง ... เบื่อในที่สุด 
  • ไม่ใช่เฉพาะคนหรือสัตว์เท่านั้นที่ชอบฟังเพลง แต่ต้นไม้ก็เจริญเติบโตได้เร็วกว่าเมื่อเปิดเพลงให้ฟัง  เพราะการสั่นจากคลื่นเสียงไปกระตุ้นให้ต้นไม้หลั่งสารเร่งการเติบโต 
  • นักประวัติศาสตร์หลายท่านรวมถึงนักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลกอย่าง เซอร์ฟรานซิส เบคอน ลงความเห็นว่า การประดิษฐ์แท่นพิมพ์ของ โยฮันเนส กูเทนเบิร์ก เปลี่ยนโลกไปมากที่สุดในรอบ ๑,๐๐๐ ปี ....  (การค้นพบอินเตอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์ คงเป็นการเปลี่ยนแปลงในรอบ ๑๐,๐๐๐ ปี)
  • ในทางจิตวิทยา วัฒนธรรมของโลกตะวันตก เรียกว่า "วัฒนธรรมเดี่ยว" (Individualism) ส่วนวัฒนธรรมตะวันออก เรียกว่า "วัฒนธรรมกลุ่ม" (Collectivism) 
  • วัฒนธรรมเดี่ยว จะส่งเสริมความสามารถเฉพาะตัว ความโดดเด่น ความแตกต่างระหว่างบุคคล ส่วนวัฒนธรรมกลุ่มจะเน้นการอยู่ร่วมกัน การประนีประนอม และความสัมพันธ์ระหว่างกัน 
  • ความเจ็บจากการถูกไฟฟ้าช็อตที่เกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ จะเจ็บมากกว่า เมื่อเจตนาคือรู้ว่ากำลังจะถูกช็อต ทั้งๆ ที่ใช้กระแสไฟฟ้าเท่ากัน  ... แต่ความเจ็บแบบหลังคือสิ่งที่ทำให้สัตว์โลกอยู่รอดปลอดภัยมาได้ 
  • ผู้แต่งบอกว่า วิชาที่สำคัญที่สุดที่ไม่มีสอนในโรงเรียนคือ "ศิลปะแห่งการฟัง" 
  • ผู้แต่งแบ่งระดับการฟังเป็น ๓ ระดับ ได้แก่ 
    • ระดับที่ ๑ "เข้าหู"  คือรู้ว่าอีกฝ่ายหนึ่งพูดอะไร การฟังแบบนี้ไม่น่าจะเรียกได้ว่าฟังด้วยซ้ำไป  เป็นเหตุให้เกิดการทะเลาะโต้แย้งกัน  เช่น ภรรยาถามว่า "ทำไมพักนี้คุณไม่บอกรักฉันเลย"  สามีที่ฟังแแบบ "เข้าหู" อาจจะตอบออกไปทันทีว่า "ผมก็บอกอยู่บ่อยๆ นะ แต่คุณลืมเอง" ...
    • ระดับที่ ๒ "เข้าใจ" คือรู้ว่าอีกฝ่ายรู้สึกอย่างไร กุญเจสำคัญของการฟังแบบนี้คือ ให้เวลาให้อีกฝ่ายได้พูดเทความอัดอั้นที่อยู่ในหัวใจออกมาจนหมดเสียก่อน แล้วค่อยเติมสิ่งที่เราต้องการลงไป 
    • ระดับที่ ๓ "เข้าถึง" คือรู้ว่าอีกฝ่ายต้องการอะไรอย่างแท้จริง  กุญแจสำคัญคือ การแทนตัวเราเข้าไปเป็นเขา เพื่อมองและสัมผัสกับโลกของเขาโดยสมบูรณ์  ไม่ใช่แค่ฟังในสิ่งที่อีกฝ่ายพูด แต่เป็นการฟังในสิ่งที่อีกฝ่ายเป็น 
  • การฟังระดับ "เข้าถึง" นั้นไม่ใช่ง่าย ต้องใช้เวลาในการฝึก  
ขอบคุณผู้แต่งหนังสือเล่มนี้ที่รวบรวมและเรียบเรียงผลการวิจัยต่างๆ มาเขียนให้อ่าน  ผมรู้สึกได้เรียนรู้ด้านจิตวิทยา จากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์  ความจริงหนังสือดีที่อิงข้อมูลจริงจากการทดลองปฏิบัติแบบนี้มีมาก แต่มักเป็นภาษาอังกฤษ  

หวังว่าการจับประเด็นโดยไม่ได้ขออนุญาตผู้แต่ง เพื่อให้นิสิตได้นำไปศึกษานี้ คงไม่ผิดลิขสิทธิ์ใดๆ นะครับ 
หมายเลขบันทึก: 649288เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2018 07:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 สิงหาคม 2018 07:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

หนังสือเล่มนี้ดีครับ อาจารย์ ;)…

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท