๒๕. อัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์..สืบสานตำนานอัมพวา


ผมมานั่งพัก เพื่อฟังเพลงจากนักร้องนักดนตรีเยาวชนในท้องถิ่น ที่ผลัดเปลี่ยนกันมาแสดงในวันหยุดสุดสัปดาห์..เพลง “ใกล้รุ่ง” บทเพลงของพ่อ ที่สุดแสนจะไพเราะ ดังก้องกังวาน จากเวทีคนเก่งและคนกล้า..ทำในสิ่งที่มีคุณค่าและดีงาม เสริมสร้างทักษะอาชีพ สืบสานปณิธานของพ่อ..อยู่อย่างพอเพียง..และใช้ความรู้ความสามารถให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและชุมชน..

             อีกหนึ่งโครงการของมูลนิธิชัยพัฒนา พอผมได้ศึกษาและเห็นว่า “มูลนิธิ” เป็นของ “พ่อหลวง” รัชกาลที่ ๙..ผมจึงรีบเดินทางไปศึกษาดูงานทันที..

            ครึ่งวัน..ที่เรียนรู้งานโครงการไม่ผิดหวังเลย เพราะสถานที่จัดได้อย่างเรียบร้อย เป็นระบบมีระเบียบ..แบ่งโซนอย่างชัดเจน ทั้งอาคารห้องประชุมสัมมนา ร้านค้าชุมชนและห้องเรียนธรรมชาติภายในสวนผลไม้

            ผมอยากรู้ความเป็นมาเป็นไป แต่เห็นท่านวิทยากรไม่ว่าง กำลังบรรยายให้นิสิตนักศึกษากลุ่มใหญ่ ได้ทราบวัตถุประสงค์และผลงานโครงการ..

            ผมก็เลยต้องอ่านจากเอกสาร เรียนรู้จากป้ายประชาสัมพันธ์ แล้วนำมาบันทึกไว้ เพื่อเล่าขานให้ลูกหลานฟัง...

            ความเป็นมา..สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชดำริให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ดำเนินการรับโอนที่ดินซึ่งนางสาวประยงค์ นาคะวะรังค์ ข้าราชการบำนาญโรงพยาบาลทรวงอก กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข

           ขอพระราชทานน้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจำนวน 5 แปลง พื้นที่รวม 21 ไร่ 12 ตารางวา ในตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อใช้ประโยชน์ในกิจกรรมของมูลนิธิชัยพัฒนา โดยมูลนิธิชัยพัฒนาได้รับโอนเป็นกรรมสิทธิ์ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2545

           สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริที่จะพัฒนาและอนุรักษ์ศิลปกรรม วิถีชีวิต และวัฒนธรรมพื้นบ้านที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นของชุมชนอัมพวาทั้งในด้านกายภาพ และการดำเนินชีวิตของผู้อาศัยในพื้นที่และชุมชน 

            พัฒนาพื้นที่ให้เกิดศักยภาพเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ของจังหวัดสมุทรสงคราม รวมทั้งเป็นแหล่งศึกษาเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับพันธุ์ไม้พื้นเมือง การรักษาระบบนิเวศน์ของสวนผลไม้ และแหล่งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชุมชนอัมพวา

            สร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้ให้กับชุมชนจากการจำหน่ายผลผลิต ผลิตภัณฑ์แปรรูป และค่าตอบแทนจากการให้บริการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ 

             ผมใช้เวลากว่า ๒ ชั่วโมง เดินชมพื้นที่สวนชัยพัฒนานุรักษ์ ซึ่งจัดพื้นที่สวนผลไม้ดั้งเดิมให้เป็นแหล่งเรียนรู้ถึงภูมิปัญญาและวิถีชีวิตท้องถิ่นอัมพวาในด้านการเกษตร โดยเฉพาะไม้ผลที่เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของอัมพวา    

             รวมทั้งส่งเสริมให้เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการเกษตรระหว่างเกษตรกร ชาวสวน นักวิชาการ และผู้สนใจ

              ลานสวนชัยพัฒนานุรักษ์ เป็นลานอเนกประสงค์สำหรับการจัดกิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น งานเทศกาล และกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน  

              รวมทั้งจัดพื้นที่ร้านค้าชุมชน เพื่อเปิดโอกาสให้ชุมชน และคนในท้องถิ่นเช่าพื้นที่เพื่อจำหน่าย หรือจัดแสดงสินค้าที่เป็นของท้องถิ่น เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ และการมีส่วนร่วมของชุมชน

               ท้ายที่สุด.ผมมานั่งพัก เพื่อฟังเพลงจากนักร้องนักดนตรีเยาวชนในท้องถิ่น ที่ผลัดเปลี่ยนกันมาแสดงในวันหยุดสุดสัปดาห์..เพลง “ใกล้รุ่ง” บทเพลงของพ่อ ที่สุดแสนจะไพเราะ ดังก้องกังวาน  

               จากเวทีคนเก่งและคนกล้า..ทำในสิ่งที่มีคุณค่าและดีงาม เสริมสร้างทักษะอาชีพ สืบสานปณิธานของพ่อ..อยู่อย่างพอเพียง..และใช้ความรู้ความสามารถให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและชุมชน..

            นี่คือ..คุณค่าของอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์ เรามาช่วยกันรักษาและสืบสานตำนานอัมพวาด้วยกัน..นะครับ

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๓๑  กรกฎาคม  ๒๕๖๑

 

หมายเลขบันทึก: 649254เขียนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2018 20:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 กรกฎาคม 2018 20:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท