โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก



วันจันทร์ที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๑ ผมมีโอกาสพูดคุยหารือกับ ศ. ดร. ศุภศร วนิชเวชารุ่งเรือง ผู้อำนวยการโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) ของ สกว.   โดยท่านนัดไปพบที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์  สุขุมวิท ๑๑   เพราะผมมีประชุมที่นั่นทั้งวัน

ที่จริงผมได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาขอ คปก.    แต่ไม่ว่างไปประชุมคณะกรรมการกำกับทิศทางที่มี ศ. ดร. นักสิทธ์ คูวัฒนาชัย เป็นประธาน ที่ประชุมเมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๖๐, ๒๙ มีนาคม ๒๕๖๑  และจะประชุมครั้งต่อไปวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๑   จึงได้แต่ติดตามผ่านรายงานการประชุม   และได้พูดคุยกับท่านประธานบ้างเป็นครั้งคราวเมื่อพบกัน    โดยมีความเห็นตรงกันว่า คปก. ในอดีตที่ผ่านมากว่า ๒๐ ปี ประสบความสำเร็จมาก  ได้ทำประโยชน์แก่ประเทศมาก    แต่บัดนี้สถานการณ์รอบด้านเปลี่ยนไป    คปก. จึงต้องปรับตัวมาก    และเป็นที่รู้ทั่วไปว่า อะไรก็แล้วแต่ที่มีประวัติแห่งความสำเร็จ  จะเปลี่ยนแปลงยากมาก 

เป็นความท้าทายต่อท่าน ผอ. คปก. ว่าจะต้องมียุทธศาสตร์สร้างเป้าหมายใหม่ และวิธีดำเนินการใหม่ ของ คปก.   ที่เวลานี้เผชิญสภาพที่คนหนุ่มสาวลดความนิยมศึกษาต่อระดับปริญญาโท-เอก ไปมากมาย    หรือกล่าวใหม่ว่า การศึกษาในระดับอุดมศึกษาแบบเรียนอย่างเป็นทางการได้รับความนิยมลดลงอย่างมากมาย    degree-based higher education เริ่มเสื่อมมนตร์ขลัง    ที่เข้ามาแทนที่คือการศึกษาแบบไม่เป็นทางการ    ที่เป็น  competency-based education  และเรียนเป็น module จำเพาะ   เรียนจบทำงานนั้นๆ ได้เลย และเป็นที่ต้องการของนายจ้าง หรือไปประกอบธุรกิจรายย่อยได้   ไม่ต้องการใบปริญญาที่ศักดิ์สิทธิ์  ต้องการแค่ใบรับรองที่น่าเชื่อถือว่าไปทำงานนั้นๆ ได้จริง ก็เพียงพอ  

ถามว่า คปก. จะปรับตัวเข้าสู่สภาพนี้ไหม ... บัณฑิตศึกษาเพื่อการมีงานทำ  และสร้างความรู้จากงานทั่วๆ ไป   เพื่อสร้างนวัตกรรมจากเรื่องพื้นๆ   พร้อมกันกับสร้างความรู้ใหม่    ที่ไม่จำเป็นต้องเป็น breakthrough ทางวิชาการ   แต่เป็นความรู้ใหม่บนฐานของการทำธุรกิจของประเทศเราเอง  

เป็นไปได้ไหมที่ คปก. จะย้ายฐานวิชาการ จากวิชาการเพื่อวิชาการ  มาเป็นวิชาการเพื่อชีวิตความเป็นอยู่    หรืออย่างน้อยๆ ก็มี ๒ ฐานคู่ขนาน  

ฐานใหม่ที่ผมฝันนี้ วิทยานิพนธ์จะเป็นการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้าง innovation ในงานที่เขากำลังทำอยู่    และเมื่อสร้างได้สำเร็จ ต้องเสนอคำอธิบายพร้อมหลักฐานที่น่าเชื่อถือ    และนำไปตีพิมพ์เพื่อตรวจสอบความน่าเชื่อถือ   ในคำอธิบายนั้นเอง จะมี “ทฤษฎีใหม่” เล็กๆ แฝงอยู่    และในบางกรณีอาจกลายเป็น “ทฤษฎีใหญ่” ในอนาคต  

ฐานนวัตกรรมอยู่ที่ผู้ประกอบการ ไม่ใช่ที่มหาวิทยาลัย   (แต่มหาวิทยาลัยก็มีส่วนสำคัญ)    คปก. นวัตกรรม จึงต้องเป็นการทำงานสี่ฝ่าย คือ ผู้ประกอบการ  นักวิจัยปฏิบัติการ  คปก.  และ มหาวิทยาลัย   หากเป้าหมายของงานวิจัยนั้นคือการสร้างนวัตกรรมพร้อมคำอธิบาย    ที่เป็นผลงานเล็กมาก ไม่เหมาะสมที่จะเป็นวิทยานิพนธ์เพื่อปริญญา    สิ่งที่ให้คือใบรับรอง ต่อสมรรถนะที่ได้จากผลงานนี้  

ผลได้หลักของมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วม จะไม่ใช่เงินทุนวิจัย    แต่เป็นโอกาสปรับ platform การทำงานวิชาการ ให้เข้าไปเชื่อมกับสถานประกอบการ เป็นเนื้อเดียวกัน

นี่คือ คปก. ๔.๐   เพราะจะเป็นกลไกหนุนประเทศไทย ๔.๐ โดยตรง     

ข้างต้นนั้น ผมพิมพ์บนรถในตอนเช้าวันที่ ๒๕ มิถุนายน ระหว่างเดินทางไปโรงแรมอิมพีเรียล สุขุมวิท    จึงเป็น “ฝันกลางวัน”   และฝันคนเดียว  

เวลา ๗.๒๐ น. ผมก็ได้โอกาสร่วมฝันกับ ศ. ดร. ศุภศร    บังเอิญจริงๆ ที่ท่านก็ฝันเรื่องเดียวกัน    ท่านเอาผลการวิจัยของ DAAD เกี่ยวกับการเข้าเรียนบัณฑิตศึกษาเป็นรายปีของประเทศไทย     โดยใช้ข้อมูลของไทย ที่มีวิธีเก็บรวบรวม และทำความสะอาดข้อมูล ให้มีความน่าเชื่อถือ   น่าเสียดายที่เมื่อพูดถึงข้อมูลของไทย    หน่วยราชการที่มีหน้าที่จัดการข้อมูลด้านนั้นๆ มักทำงานแบบอ่อนแอ ไร้คุณภาพ    ฝรั่งเขารู้แกว จึงต้องหาวิธีจัดการให้ได้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ  

เราจึงได้เห็นแนวโน้มการเข้าเรียนระดับบัณฑิตศึกษาของเราที่ตกลงทุกปี เป็นเวลาหลายปีมาแล้ว    โดยที่ตัวเลขนี้ของ สวนช. ไม่ชัดเจน   เพราะไม่ทำความสะอาดข้อมูล     

เราคุยกันเรื่องการเปลี่ยน platform การทำงานของ คปก.   ผมเสนอการเปลี่ยนจาก degree-based ไปเป็น  competency-based, เปลี่ยนจาก research-based ไปเป็น innovation-based โดยต้องตีพิมพ์อธิบายเชิงทฤษฎี ว่าทำไมนวัตกรรมนั้นจึงพัฒนาขึ้นได้, เปลี่ยนจาก university-based ไปเป็น enterprise-based หรือ  entrepreneur-based    ที่การคิดของเรายังฟุ้งๆ อยู่   ยังไม่เป็นรูปธรรมชัดเจน   ศ. ดร. ศุภศร ยังต้องกลับไปปรึกษาหลายฝ่าย เพื่อหาทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม และเป็นที่ยอมรับ   

ที่จริงแนวคิดที่ยังฟุ้งๆ อยู่นี้   ไม่ใช่การเปลี่ยนฐานปฏิบัติ (working platform) แต่เป็นการขยายฐานปฏิบัติมากกว่า    คือฐานใหม่เป็นฐานที่คลุมทั้งนวัตกรรมและวิจัย    คลุมทั้งมหาวิทยาลัยและสถานประกอบการ    โดน คปก. ทำหน้าที่สร้างและส่งเสริมฐานปฏิบัติการใหม่นั้น    

วิจารณ์ พานิช        

๒๖ มิ.ย. ๖๑


 

 

หมายเลขบันทึก: 649188เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2018 22:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กรกฎาคม 2018 22:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท