โสภณ เปียสนิท
นาย โสภณ เปียสนิท ตึ๋ง เปียสนิท

รำลึกถึงพ่อ


โสภณ เปียสนิท

..............................

            ปีนี้ฝนฟ้ามากกว่าปีกลายมาก ถือว่าเป็นฤกษ์งามยามดีที่เกษตรกรพาร์ทไทม์อย่างผมจะได้กลับบ้านไปปลูกต้นไม้ที่ชอบไว้ในไร่ของผมเอง บนผืนดินที่พ่อกับแม่ให้ไว้สามสิบกว่าไร่สองแปลง แล้วทำไมที่ผ่านมาหลายปีไม่คิดจะปลูกอะไร หรือทำอะไรไว้ก่อน คำถามนี้ทำเอาผมงง นั่นสิ ทำไมไม่ปลูกอะไรไว้ก่อน คิดไปคิดมาสองสามรอบ คิดขึ้นได้ว่า ผมเคยปลูกเม็ดผักหวานป่าไว้หลายพันเม็ด กะว่าขึ้นสักพันต้นก็พอจะเป็นเนื้อหนังได้บ้าง

            ปีกลายเริ่มมีสติขึ้นมาบ้าง รู้สึกว่า เอ๊ะ! นี่เรากำลังจะเกษียณแล้วหรือนี่ เพียงคิดแค่นี้ วันเวลาที่เคยดูเหมือนว่า “ล่องไหลแม่น้ำรื่น” (วาทะกวีนามอุโฆษ อุชเชนี หรือ นิด นรารักษ์” ไปเรื่อยๆ กลับไหลเร็วรี่เกินความจำเป็น ผมเร่งหาหนทางกลับบ้านไปปลูกบ้านหลังน้อยๆ เพื่อพักอาศัยในวันหยุด สร้างความเคยชินกับการใช้ชีวิตในหมู่บ้านท่ามะนาว หมู่บ้านเล็กๆ ในชนบทห่างจากเมืองกาญจน์ 30 กิโลเมตร และใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยการปลูกต้นไม้

            คำว่า “ปลูกต้นไม้” สะกิดใจทำให้คิดเดินทางย้อนรอยกาลเวลากลับไปถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต สมัยนั้นยังเป็นสามเณรโข่งอยู่ที่วัดท่ามะขาม ชานเมืองกาญจน์เวลาลงศาลาทำกิจกรรมของสงฆ์ผมนั่งในลำดับกลางๆ มองไปข้างท้ายเห็นแต่น้องเณรน้อยๆ บวชใหม่ยาวไปตามลำดับ มองไปข้างหัวแถว หลวงพ่อและหลวงตาหลายรูปนั่งเรียงรายต่อกันมา เอ นี่เรากำลังจะกลายเป็นหลวงตาขยับแถวไปอยู่ข้างหน้านั่น อยากกลับเป็นเณรน้อยข้างหลังนั่นก็เป็นไปไม่ได้อีกแล้ว

            คิดถึงเพื่อนๆ รุ่นๆ เดียวกันที่บัดนี้แยกย้ายกันไปตามวิถีแห่งตน หลายคนสึกหาลาเพศบรรพชิต ไปทำไร่นำนาตามอาชีพของครอบครัวที่บรรพบุรุษสืบทอดกันต่อมา หลายคนเร่ร่อนหางานรับจ้างทำในเมืองต่างๆ มีอยู่สองสามรายมรณภาพไปก่อนเวลาอันควร องค์หนึ่งย้ายไปเรียนหนังสือทางภาคใต้ ตอนหลังกลับมาพบกันที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย แต่ก็ไม่สนิทกันเหมือนเก่าเท่าเดิม สามสี่องค์เรียนเก่งย้ายเข้าไปเรียนบาลีในสำนักต่างๆ ในกรุงเทพฯ เกิดความรู้สึกว้าเหว่อย่างแปลกๆ

            นั่งข้างหน้าเหมือนหลวงพ่อหลวงตาก็ยังไม่อยากเป็น กลับไปนั่งกับเณรน้อยก็เป็นไปไม่ได้ ไปข้างหน้าก็ไม่ได้ ไปข้างหลังก็ไม่ได้ เอาอย่างไรกันดีชีวิตหนอชีวิต ช่วงเวลานั้น เคยคุยกับพ่อตอนท่านอารมณ์ดี พอจำได้ว่า พ่อพูดว่า “อยู่เป็นเณรแล้วเรียนหนังสือไปก็ดีนะลูก ได้ความรู้นำพาชีวิตในวันข้างหน้า” ผมถือโอกาสบอกความรู้สึกพ่อตามที่เป็นจริงดั่งที่เขียนมา “แล้วลูกเณรอยากเรียนต่อ หรือว่าจะสึกหามาทำไร่อ้อยกับพ่อ ตอนนี้พ่อซื้อรถไถ่มาไว้รอแล้วหนึ่งคัน ลูกเณรคิดดูให้ดี” คำของพ่อทำให้ผมคิดใคร่ครวญอย่างหนัก ไร่อ้อยทั้งร้อนทั้งคายตัว มองหาหนทางสร้างความรื่นรมย์ให้ชีวิตในมุมใดมิได้เลย ในมุมมองของผมในตอนนั้น แต่ทำไม่พ่อกับแม่จึงยังคงทำงานนี้มาได้ เป็นคำถามที่เกิดขึ้นแล้วผมยังหาคำตอบไม่พบในยามนั้น

                พ่อไม่ได้เร่งรัดให้ผมรีบตอบ ผมจึงไม่จำเป็นต้องรีบตอบ เพียงแค่ปล่อยให้ชีวิตล่องไหลไปกับกาลเวลาเหมือนดั่งเช่นเคยเป็น เช้าเย็นทำวัตรสวดมนต์ บางช่วงเวลาอยากทำสมาธิก็ฝึกศึกษาเอาเอง หลวงพ่อสั่งสอนเรื่องทั่วไปกว้างๆ เล่าเป็นนิทานธรรม นิทานชาดก เสริมปัญญาหลังจากการทำวัตรสวดมนต์ นั่งสมาธิกันบ้าง แต่ก็ไม่ใช่จุดเน้นสักเท่าไร ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญ อาจเป็นเพราะตามวัดต่างๆ หาผู้เชี่ยวชาญทางสมาธิวิปัสสนายาก ผมจึงยังอยู่ในห้วงของการไตร่ตรองไปเรื่อยๆ

            แต่สิ่งหนึ่งที่ผมไม่เคยทิ้งเลยก็คือ ความสนใจในการปฏิบัติสมาธิวิปัสสนา ไม่ว่าจะอย่างไรผมก็พยายามทำอยู่เสมอ ขาดไปบ้าง นึกขึ้นได้ก็กลับมาปฏิบัติต่อไป ปฏิบัติแบบ “อานาปานสติ “พุทโธ” ฟังมาจากหลวงปู่หลวงตาหลวงน้าหลวงพี่ก็ทดลองทำไปเรื่อยๆ คิดเอาเองว่าไม่ค่อยจะได้ผลแต่อย่างไร

            ต่อมา มีเพื่อนเณรรุ่นราวคราวเดียวกัน มาชวนทดลองปฏิบัติแบบ “สัมมา อรหัง” ก็ทดลองปฏิบัติตามกันไปแบบเพลินๆ สนุกๆ ทำแล้วรู้สึกเพลินๆ ดีก็ทำต่อไปเรื่อยๆ เร่งบ้าง เบาบ้าง หยุดไปบ้าง ล้มลุกคลุกคลานก็ยังทำอยู่เรื่อยๆ แม้นไม่ได้อะไร แต่สิ่งที่ได้คือความคุ้นชินกับการทำแบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ตรองดูจึงเข้าใจคำสอนที่ว่า “การสั่งสมซึ่งบุญนำสุขมาให้” คำว่า สั่งสม คือค่อยเป็นค่อยไป การที่เราเก็บสะสมมาเรื่อยเหมือนเก็บหน่วยกิตแบบนี้ ระยะหลังๆ มาคุ้นชินกับบุญแบบนี้มากขึ้น เข้าใจมากขึ้น บารมีมากขึ้นไปด้วย บุญนี้เป็นบุญทางปัญญา ใครทำก็ได้ปัญญา มีความสุขุมลุ่มลึกทางปัญญา เหมือนว่าจะเป็นปัญญาทางธรรมแต่เพียงด้านเดียว โดยแท้แล้ว ปัญญาทางธรรมนำทางปัญญาทางการศึกษาทางโลกไปด้วยในคราวเดียวกัน

            แบบนี้เองที่พระอาจารย์ทุกท่านสอนสืบต่อกันมาว่า การปฏิบัติ ไม่วาจะเป็นสมถะ หรือวิปัสสนา จิตหยุดชั่วช้างกระดิกหูชั่วงูแลบลิ้น ได้บุญมากกว่าสร้างโบสถ์สร้างศาลา อย่างน้อย ผมเข้าใจเส้นทางสายนี้มากยิ่งขึ้น เข้าใจเส้นทางสายนี้ คือเข้าใจบุญในพระศาสนามากขึ้นไปด้วย

            อาจเพราะบุญเก่าของผมยังพอมีอยู่บ้าง จึงทำให้ผมคิดได้ว่า การทำไร่อ้อยนั้นยากลำบาก ทั้งเหนื่อย ร้อย คายตัวมาก แถมยังต้องรอคอยความกรุณาจากพระพิรุณ ฝนนั่นแหละครับที่ชาวไร่ชาวสวนต้องทนรอกัน หากฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาลปีนั้นพืชผลได้ผลดีมีกำไรลืมตาอ้าปากได้  หากปีไหนฝนตกน้อย รายได้น้อย บางปีถึงกับเสมอตัว หรือขาดทุนไปเลยก็มี สิ่งเหล่านี้ทำให้ผมอยากเรียนต่อขึ้นมาบ้าง

            ขั้นแรกผมเริ่มสนใจการอ่านหนังสือ อ่านนิยายหลายเรื่อง นิยายจีนเห็นมีอยู่ตามมุมห้องก็เก็บมาอ่าน อ่านหนังสือธรรมอื่นๆ มากมายก็อ่านไป อ่านนิทานธรรมหลวงตาแพร เยื้อไม้ อ่านกฎแห่งกรรมของ ท. เลียงพิบูลย์ เรียกว่า เริ่มสนุกสนานเพลิดเพลินกับการอ่าน อ่านพระเจ้าห้าร้อยชาติ ซึ่งเป็นนิทานชาดก เรื่องราวอดีตชาติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระเจ้าสิบชาติก็อ่าน อ่านเรื่องเพชรพระอุมา ของคุณพนมเทียน ซึ่งมีอยู่ที่ห้องสมุดก็ยืมมาอ่านกันเพลินไป บางคราอ่านจนสายตาพร่ามัว ลุกขึ้นจากนั่งอ่านนอนอ่านถึงกับเดินเซ เพราะนอนอ่านนานเกินไป นั่งอ่านนานเกินไป

            สุดท้ายแล้ว ความสุขของผมอยู่ที่การอ่าน เพราะการอ่านแทรกซึมเข้าสู่ชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่มากพอเท่ากับนักเรียนนักศึกษาในวัยเดียวกัน เพราะผมอ่านเอาเองจากวัด จากห้องสมุดของโรงเรียนใกล้วัด เป็นการศึกษาตามอัธยาศัย แค่เพียงมีพื้นฐานการอ่านเพิ่มขึ้นมาบ้าง บางครั้งบางที ความสุขของผมก็ได้มาจากการได้นั่งสมาธิแบบ สัมมาอรหัง แนวทางของหลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญ โชคดีที่ผมได้เคยเรียนรู้และปฏิบัติแบบพุทโธมาก่อน แถมต่อมาระยะหลัง ที่เรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ผมยังได้ปฏิบัติตามแนวทาง “พองยุบ” ของพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณโชดกนำมาแพร่หลายในเมืองไทยอีกสายหนึ่ง ทำให้เข้าใจจุดร่วม จุดต่างทางธรรมมากยิ่งขึ้น

            แต่อย่านึกว่า ผมจะทำได้มาก เพราะการปฏิบัติธรรม ของคนที่ไม่ค่อยจะมีพื้นฐาน หรือ ผู้ที่มีบุญน้อยอย่างผมนั้น เป็นไปได้ช้ายิ่งกว่าเต่าคลาน แต่ก็ค่อยๆ ไป วันเวลาคืบคลานลากจูงชีวิตผมไปข้างหน้า เร็วรี่ตอนที่ผมอยากให้มันช้าหรือหยุดลง เชื่องช้าตอนที่ผมอยากให้มันเร็ว ผมเริ่มเข้าใจทักษะชีวิตว่า เวลาแห่งความสุขนั้นสั้น เวลาแห่งความทุกข์ยาวนานเสมอ อย่างน้อยในความรู้สึกของเรา

            วันหนึ่งเมื่อเวลามาถึง พระอาจารย์รูปหนึ่งมาหาหลังจากไม่ได้พบปะกันเนิ่นนาน แล้วถามผมว่า “โสภณ แกไม่อยากเรียนหนังสือหรือ” คำถามนี้เปิดประตูบานใหญ่ให้ผมเห็นแสงสว่างจากภายนอกเข้าสู่ห้องใจอันซึมเซามาเนิ่นนาน “อยากเรียนแล้วครับ แต่ยังไม่มีหนทางไป” “จะไปฝากให้ที่วัดโพธิ ท่าเตียนเอาไหม”ท่านถามอย่างสบายๆ เหมือนพูดทีเล่นทีจริง แต่ผมกลับคิดจริงจัง เพราะความอยากเรียนถูกบ่มเพาะฝังอยู่ในความคิดของผมมาค่อนข้างนาน

            กลางความหวาดกลัวเมืองกรุงของเด็กบ้านนอกที่ก่อตัวขึ้นอย่างฉับพลัน ความรู้สึกอยากเรียน อยากหนีไปจากการทำไร่อ้อยที่ผมเห็นว่าลำบากสาหัส มีมากกว่า ทำให้ผมตอบไปว่า “อยากไปมากครับ” หลังจากวันนั้นท่านเดินเรื่องติดต่อประสานงานด้วยความเมตตากรุณาต่อผม เพื่อให้ผมได้ไปเรียนที่ กทม อย่างต่อเนื่อง ผมแค่ไปแจ้งข่าวแก่พ่อแม่พี่น้องที่เกี่ยวข้องว่าจะไปเรียนต่อที่ กทม สักระยะหนึ่ง

            นำเรื่องนี้ไปคุยกับพ่อที่บ้านท่ามะนาว “โยมพ่อ ผมจะไปเรียนต่อที่วัดโพธิ ท่าเตียน กรุงเทพฯนะครับ” พ่อยิ้มๆ เหมือนเข้าใจผมเป็นอย่างดีว่า บวชเณรอาศัยพระศาสนาเล่าเรียนหนังสือมานาน มือบางเท้าบางไม่อาจกรำงานหนักหน่วงในไร่นาได้แน่ “การเรียนเป็นเรื่องดี โยมนำท่านไปบวชเรียนมาแต่เล็กก็เพราะอยากให้มีความรู้ แต่โอกาสที่จะได้ไปเรียนไกลถึงกรุงเทพฯมันมีน้อย เหมือนช่องทางเล็กๆ กว่าจะเปิดให้เณรก็นานหลายปี”

ผมบอกพ่อว่า “คราวนี้คงได้ไปแน่ เพราะพระอาจารย์คมคิด ท่านติดต่อให้” “โยมก็ว่าอย่างนั้น หลวงพ่อลำไย อาจารย์ของท่านคมคิดมีเส้นสายอยู่ในกรุงเทพฯอยู่มาก ไปแล้วตั้งใจเรียนแล้วกัน ชาวไร่ชาวนาอย่างเรา เคยแต่ทำงานหนัก การเรียนเป็นเรื่องยาก น้อยคนที่จะประสบความสำเร็จ เณรตั้งใจเรียน จะได้ไม่เหมือนคนอื่น เขาจะดูถูกเรา”

ผมพยายามตั้งใจเรียนตามที่ให้สัญญาไว้กับพ่อ แม้ว่ามันไม่ง่ายสำหรับลูกชาวไร่ชาวนาผู้เคยชินกับการกรำงานหนัก อ่านหนังสือบ้าง ท่องหลักธรรมวินัยบ้าง ปฏิบัติสมาธิบ้าง ท่องภาษาอังกฤษ ฝึกภาษาอังกฤษกับชาวต่างชาติบ้าง เข้ารับการศึกษาทั้งทางวัด และทางสายสามัญไปเรื่อย ชีวิตเดินทางไปข้างหน้าแบบมีจุดหมายมากกว่าเดิม แรกๆ ตั้งใจว่า จะเรียนให้จบมัธยมชั้นปี่ที่3 เพื่อไปสอบเข้าเป็นตำรวจตระเวนชายแดน แต่พอจบจริงกลับคิดเรียนต่อไปอีก เหมือนคนมาเตือนว่า “คนอื่นอยากเรียนแต่ไม่มีโอกาส เรามีโอกาสแต่ทำไมไม่เรียนต่อ” จึงเรียนต่อไปอีก

ผมยินดีมากๆ ตอนชวนพ่อแม่มาร่วมรับปริญญาตรีที่ พุทธมณฑล จากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยสมัยนั้น ผ่านหัวเลี้ยวหัวต่อนั้นมาได้ ชีวิตก็ก้าวไปข้างหน้าได้ง่ายด้วยตัวของมันเอง การศึกษาช่างมีคุณค่าแก่ชีวิตยิ่งนัก

หมายเลขบันทึก: 648991เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2018 10:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กรกฎาคม 2018 10:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท