ตามเก็บวันเวลา : งานสนุกๆ ของครู


๑๗ เม.ย. ๖๑

ไปกราบสวัสดีปีใหม่ท่านอาจารย์เกษม วัฒนชัย ประธานที่ปรึกษาโรงเรียนเพลินพัฒนา ที่ทำเนียบองคมนตรี ดังเช่นทุกปี เมื่อคุณครูก้า - กรองทอง บุญประคอง กรรมการโรงเรียนเพลินพัฒนา เล่าให้ท่านฟังว่ากำลังช่วยกันคัดค้านเรื่องการสอบเข้าเรียนต่อในชั้น ป.๑ ท่านจึงกล่าวกับพวกเราว่า

ระบบสอบเข้า ป.๑ ทำให้เกิดการเร่งเรียน

ที่โรงเรียนปรินส์รอแยลส์วิทยาลัยใช้วิธีจับฉลากเข้าเรียนชั้น ประถม ๑ ตั้งแต่เมื่อ ๑๐๐ กว่าปีแล้ว  

ในระดับชั้นประถม ๑ ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะสอบเข้า เพราะความมุ่งหมายของการจัดการศึกษาที่แท้จริงคือการพัฒนาศักยภาพสูงสุดของเด็กแต่ละคน และทำให้เขาอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ไม่เบียดเบียนตัวเอง ไม่เบียดเบียนคนอื่น ไม่เบียดเบียนธรรมชาติ

 

เมืองไทยไม่ค่อยใช้เหตุผล แต่ใช้กระแส เช่น การแต่งชุดรับปริญญาในวันจบชั้นอนุบาลซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่นิยมทำกันอยู่ทั่วไป ไม่ใช่หน้าที่อะไรของโรงเรียนอนุบาลเลย ยังมีเรื่องอื่นที่สำคัญกว่านั้นมากมายแต่โรงเรียนไม่ได้ทำ เช่น การให้บริการความรู้แก่พ่อแม่ให้สามารถเลี้ยงดูลูกได้อย่างเหมาะสมตามวัย เพราะ early childhood education ไม่ใช่การจัดการศึกษาให้กับเด็กเท่านั้น แต่เป็นพ่อแม่ด้วย ทุกหน่วยที่ให้บริการเด็ก ต้องให้บริการความรู้พ่อแม่

 

ที่โรงเรียนวัดรางบัว มีโครงการ Parental Involvement เพื่อให้พ่อแม่ ครู และเด็ก เข้าใจกัน ทำงานด้วยกันได้  จากจุดเริ่มต้นที่พ่อแม่กับลูกไม่พูดกัน ครูโทษพ่อแม่ ทำให้เด็กว้าเหว่จากพ่อแม่ จากครู พอมาทำกิจกรรมนี้ ๔ – ๕ อาทิตย์เท่านั้น พฤติกรรมเปลี่ยนหมด

ถ้าไม่เข้าใจกันจะเกิดพื้นที่สีเทา ที่ต่างคนต่างคิดไปว่าครูสอนแล้วพ่อแม่ไม่ต้องสอน หรือพ่อแม่สอนแล้วครูไม่ต้องสอน ตกลงเด็กเลยไม่มีใครสอน

 

เปลี่ยน mind set ใหม่

โครงการโรงเรียนคุณธรรมนี้ช่วยเปลี่ยน mind set ของครู จากการเรียนตามที่หลักสูตรกำหนดมาเป็นการสร้างให้ครูคิดว่าทำอย่างไรครูจึงจะดึงศักยภาพของเด็กออกมาให้ได้มากที่สุด จะทำอย่างไรให้เขามีโอกาสรับรู้ เรียนรู้ให้ได้มากที่สุด ครูมีหน้าที่ให้โอกาสแล้วทำให้เขาใช้ความพยายามในการเรียนสิ่งที่เขารัก

 

เด็กจะเป็นอย่างไรก็อยู่ที่ผู้ใหญ่จะมองว่าเราเห็นเขาเป็น burden (อุปสรรค) หรือเป็น jewel (อัญมณีที่ล้ำค่า)

 

ครูต้องพาเด็กออกมาเรียนรู้นอกห้องเรียน เหมือนดังเช่นที่สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ท่านทรงตรัสว่า “พ้นจากประตูโรงเรียนออกไปก็คือหลักสูตรท้องถิ่นแล้ว”

 

ทุกวันนี้ครูประถม ครูมัธยม ไม่รู้จักจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก สาขาแนะแนว สาขาบรรณรักษ์ ไม่มีใครเรียนเพราะไม่มีอัตราจะให้บรรจุนี่เป็นเรื่องที่ผิดมาก เพราะทั้ง ๒ เรื่องนี้เป็นเรื่องเป็นเรื่องที่จำเป็น และห้องสมุดต้องมีทั้งที่เป็น printed library และdigital library โรงเรียนเจริญศิลป์ ที่สกลนคร ให้นักเรียนอ่านสารานุกรมในเรื่องที่สนใจคนละเรื่องแล้วเอาไปสร้างสรรค์ ทำงานวิจัยต่อเนื่องจากเรื่องที่อ่าน

 

ทำ Digital Skills ให้ครบกระบวน

การจะลดช่องว่างระหว่างคนมีคนจนด้วย Digital Skills  ต้องทำให้ครบทั้งกระบวน เด็กต้องมี

  • Digital Literacy ต้องรู้ว่าจะหาความรู้ต้องใช้อะไร
  • Digital Application เมื่อได้ความรู้มาแล้วต้องนำเอาไปสร้าง new set of knowledge ต้องเอาความรู้เดิมไปรวมกับความรู้ใหม่
  • Applied สุดท้ายคือต้องใช้ความรู้นั้นไปทำอะไรต่อ

ที่โรงเรียนสตรีศรีน่าน ครูมอบหมายให้นักเรียนไปแกะลายผ้าซิ่นที่เป็น complex pattern แล้วทำให้ออกมาเป็น simple pattern นักเรียนสามารถถอดลายดั้งเดิมที่มีความซับซ้อนลายหนึ่ง ออกมาได้ ๗-๘ ลาย แล้วเอาลายใหม่ๆ ที่ถอดออกมาจากลายเดิมนี้ไปทำงานต่อได้อีกมาก

ท่านขงจื้อกล่าวไว้ว่า The essence of knowledge is, having it,  to apply it.

 

สร้างการหาความรู้ที่มีความหมาย

ครูต้องสร้างให้เด็กรู้จักอ่านหนังสือ  รู้จักหาความรู้ รู้จักการนำเอาความรู้ของหลายคน หลายแหล่งมารวมกัน แล้วก็ให้เกิดความรู้ที่ดีกว่า แม่นกว่า สมบูรณ์กว่า ครูต้องสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ให้เด็กได้ทั้ง

  • Acquisition of  knowledge
  • Integration of  knowledge
  • Application of  knowledge
  • Presentation of new knowledge

ไม่ใช่แค่การรู้จัก computer skill และ digital skill ที่เป็นแค่เครื่องมือ ครูต้องสร้างการหาความรู้ที่มีความหมาย

 

ครูต้องอ่านหนังสือ

ในกรรมการเปิดหลักสูตรต้องมีบรรณรักษ์ เมื่อมีการเปลี่ยนเนื้อหาของหลักสูตร บรรณรักษ์ต้องรู้ บรรณรักษ์ต้องอยู่ฝ่ายวิชาการ ไม่ใช่ฝ่ายธุรการ เพราะเขามีหน้าที่ช่วยช่วยครูในการ acquisition of new knowledge

 

สนองพระราโชบายทางด้านการศึกษาของในหลวง รัชกาลที่ ๑๐

  • รู้จักบ้านเมืองของตัว ทั้งภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม
  • ยึดมั่นในความดี กล้าปฏิเสธความชั่ว
  • ทำงานเป็น มุ่งสู่อาชีพ ทำงานกับผู้อื่นได้
  • เป็นพลเมืองดี

ที่โรงเรียนบ้านเขาขวาง ตำบลโคกสลุง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี มีโครงการ ๑ ชั้นปี ๑ อาชีพ

  • ชั้นอนุบาล ๒ เพาะถั่วงอก
  • ชั้นประถม ๑ เพาะเมล็ดทานตะวัน
  • ชั้นประถม ๒ ปลูกผัก
  • ชั้นประถม ๓ เลี้ยงไส้เดือน ทำปุ๋ย
  • ชั้นประถม ๔ เพาะเห็ด
  • ชั้นประถม ๕ เลี้ยงปลา
  • ชั้นประถม ๖ เลี้ยงไก่

เด็กเกิดความรู้จากการลงมือทำด้วยตัวเอง การได้ทำงานร่วมกับเพื่อนทำให้ได้เรียนรู้ว่า เมื่อเกิดความล้มเหลว เจ็บปวดอย่างไร จะช่วยกันแก้ไขอย่างไร เมื่อประสบความสำเร็จกลายเป็นเทวดาอย่างไร

การเรียนรู้ในโรงเรียนต้องเรียนให้ได้ประสบการณ์ชีวิต การเรียนรู้ต้องเปลี่ยนเป็นการลงมือทำ มีงานที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ และงานนั้นจะสามารถกลายเป็นอาชีพของเขาต่อไปได้ในอนาคตได้ พึ่งพาตนเองได้



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท