ศาลาพลับพลามหาเศวตกุญชรชัยมงคล (ศาลาพลับพลาชัย วัดคุ้งตะเภา)


ภาพวาดเจ้าพระฝางนั่งเปลให้ทหารหามหลบหนีออกจากเมือง พร้อมด้วยลูกช้างพังเผือก

(ที่มา : โครงภาพพระราชพงศาวดารฯ, ๒๕๕๐ : ๑๘๕)

ที่มาของชื่อ: ศาลาพลับพลามหาเศวตกุญชรชัยมงคล (ศาลาพลับพลาชัย วัดคุ้งตะเภา) 

คณะศิษยานุศิษย์พระบวชถวายพระราชกุศลฯ ร่วมใจกันสร้างถวายวัดคุ้งตะเภาในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ เพื่อเป็นอนุสรณ์ครบรอบสถาปนาวัดคุ้งตะเภาครบ ๒๔๘ ปี และเพื่อเป็นอนุสรณ์เฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศลแด่องค์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระผู้สถาปนาวัดคุ้งตะเภา พ.ศ. ๒๓๑๓ หลังเสร็จศึกปราบชุมนุมเจ้าพระฝาง พระองค์ทรงได้ ช้างเผือกเชือกแรกและเชือกเดียวในรัชกาล ซึ่งเป็นเครื่องเฉลิมพระเกียรติยศแห่งความเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระบารมีดุจดังพระจักรพรรดิราช ครั้งนั้นจึงทรงใช้พระตำหนักค่ายหาดสูง ในอาณามณฑลบริเวณวัดคุ้งตะเภาแห่งนี้ เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีขึ้นสมโภชระวางช้างสำคัญดังปรากฎในหลักฐานและพระราชพงศาวดาร

ไฟล์:Monument of King Taksin in Wat Kungtapao.jpg

ชื่อศาลานี้ จึงอัญเชิญมาจากสร้อยท้ายพระนามาภิไธย หรือสร้อยพระนามเต็มของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่ทรงใช้หลัง พ.ศ. ๒๓๑๓ เพื่อทรงระบุถึงการยกพระราชสถานะขึ้นเป็นหนึ่งใน "พระเจ้าช้างเผือก" ด้วยความสมภาคภูมิ ดังปรากฎพระนามาภิไธยในพระราชสาส์นที่ทรงส่งไปล้านช้างใน พ.ศ. ๒๓๑๗ ทรงออกพระนามว่า "สมเด็จพระมหาเอกาทศรธอิศวรบรมนารถบรมบพิตร พระมหานครทวารวดีศรีอยุทธยา มหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบูรีรมย์อุดมษามีศรีสุพรรณรัตน พระเจ้าปราสาททองเจ้าไชยมหามังคะละรัตนวิสุทธิ เสตกุญไชยบพิตร"


ศาลาพลับพลามหาเศวตกุญชรชัยมงคล จึงเป็นหนึ่งในราชานุสรณ์รำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญ ปัจจุบันประดิษฐานพระพุทธรูปสีขาวขนาดใหญ่ความสูงกว่า ๕ เมตร เป็นพระประธาน (สร้างในปี พ.ศ. ๒๕๕๘) เพื่อรำลึกถึงช้างเผือกมหามงคลแห่งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระผู้สถาปนาวัดคุ้งตะเภา และประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงถือพระแสงดาบบัญชาการ แกะสลักจากไม้ตะเคียนอายุนับร้อยปีจากแม่น้ำน่าน ความสูงกว่า ๒ เมตร (สร้างในปี พ.ศ. ๒๕๖๐) เพื่อเป็นเครื่องเตือนให้รำลึกหน้าเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์แห่งสวางคบุรีศรีคุ้งตะเภาที่ไม่ควรถูกลืมเลือน และเพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงมีต่อชาวอุตรดิตถ์ และชาวไทยทั้งมวลมาจนปัจจบุัน

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงรวบรวมแผ่นดินไทยได้ดังเดิมหลังเสร็จศึกปราบเจ้าพระฝาง 
จึงทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าไว้วางพระราชหฤทัยให้ พระสีหราชเดโช ขุนศึกคู่พระทัย เป็น “พระยาพิชัย” 
ครองเมืองพิชัย ต่างพระเนตรพระกรรณ์ เพื่อเป็นหน้าด่านระวังข้าศึกจากทางเหนือ 
ซึ่งต่อมาท่านได้รับสมญานามเป็น “พระยาพิชัยดาบหัก” 
ผู้ยอมถวายชีวิตแด่สมเด็จพระเจ้าตากสินเป็นราชพลีในวาระสุดท้ายของชีวิตของท่าน

อ้างอิง
“พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)”. (๒๕๔๒). ใน ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๓. กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร.

พระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเรื่องจดหมายความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี, ๒๔๗๒ 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท