“คงต้องใช้…ใจแลกใจ”


“คงต้องใช้ใจแลกใจ”

                                                                                             

            ท่ามกลางบรรยากาศที่ร้อนอบอ้าว ในช่วงบ่ายของวันทำงานของผม  หลังจากวางสายโทรศัพท์ สักครู่หนึ่งเจ้าหน้าที่เปลก็เข็นผู้ป่วยเข้ามาด้วยความเร่งรีบ ผู้ป่วยหญิงวัยกลางคน นอนบนรถนอนด้วยท่าทางอ่อนเพลีย มาพร้อมกับญาติซึ่งเป็นสามีและบุตรสาววัยทำงาน ผู้ป่วยรายนี้เป็นผู้ป่วย "Common bile duct injury" มีภาวะท่อน้ำดีได้รับความเสียหายจากการผ่าตัดที่ถูกส่งตัวมาจากโรงพยาบาลแห่งหนึ่งนั่นเอง  

            “หวังว่าบริการคงจะไม่แย่เหมือนโรงพยาบาลก่อนหน้านี้หรอกเนาะ” เป็นประโยคทักทายประโยคแรกที่สามีผู้ป่วยที่เอื้อนเอ่ยกับพยาบาลด้วยเสียงอันดังเมื่อมาถึง

“ที่นี่น่าจะไม่เหมือนที่นั่นหรอกมั้งพ่อ” ลูกสาวผู้ป่วยพูดขึ้นมาบ้าง

เจ้าหน้าที่ทุกคนต่างก็ได้ยินในสิ่งที่ญาติสนทนากัน แต่พวกเราก็ยังนิ่งและทำหน้าที่ของตนเองต่อไป

 

            เนื่องจากวันนั้นอากาศร้อนอบอ้าวมาก หลังจากนำผู้ป่วยลงเตียงเรียบร้อยแล้ว ผมก็ได้เตรียมน้ำมาเช็ดตัวผู้ป่วยเพื่อที่จะได้สบายตัวมากขึ้น   ผมได้ชวนญาติมาเช็ดตัวผู้ป่วยด้วยกัน พร้อมกับสอนการดูแลที่ถูกต้องควบคู่ไปด้วย

“หมอโรงพยาบาลนั้นชุ่ยมาก ทำเมียผมน้ำดีรั่ว” สามีของผู้ป่วยพูดขึ้นด้วยสีหน้าเคร่งเครียด ท่าทางโมโห

“ผ่าตัด 3 รอบแล้วยังไม่หายเลย” ผู้ป่วยพูดสำทับขึ้นมาด้วยน้ำเสียงราบเรียบสีหน้าเบื่อหน่าย

“วันนี้เราก้าวเท้าข้างไหนออกจากห้องหนอ  ทำไมต้องมาเจอเคสแบบนี้ด้วยวะ” ผมคิดในใจ

 

ผมแนะนำการดูแลแผล และการเยี่ยมผู้ป่วยพร้อมทั้งเช็ดตัวไปด้วย ทันใดนั้นลูกสาวของผู้ป่วยก็เปิดม่านเข้ามา แล้วก็พูดสิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมต้องสะดุด

“ผ่าตัดคนไข้ ก็ไม่แจ้งญาติ ไม่บอกคนไข้ จะผ่าก็ผ่าตามใจหมอ ญาติไม่ได้ตัดสินใจอะไรเลย” ลูกสาวกล่าว

“ใช่หรอครับ เขาน่าจะให้ข้อมูลเราอยู่นะ” ผมถามด้วยความสงสัย

            หลังนั้นเรื่องราวต่างๆก็พรั่งพรูออกมาจากปากของผู้ป่วยและญาติ ถึงเหตุการณ์ที่เคยประสบเมื่อครั้งรักษาที่โรงพยาบาลเดิม ผมได้แต่นิ่งฟังเรื่องราวให้จบ ก่อนที่จะตอบกลับไปว่า

“ผมก็ไม่ทราบแน่ชัดนะครับ ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมันเป็นยังไง และผมก็บอกไม่ได้หรอกว่า หมอที่นั่นเขาทำผิดพลาดอะไรหรือเปล่า เพราะผมไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ แต่ผมมั่นใจอย่างหนึ่งว่า ไม่มีใครอยากให้คนไข้ประสบอันตรายหรอกครับ เอาอย่างนี้นะครับ ที่นี่เราดูแลคนไข้เต็มที่ตามมาตรฐานครับ ญาติไม่ต้องกังวล”

“ผมจะแน่ใจได้ยังไง” ญาติกล่าว

“ให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ครับ” ผมตอบกลับด้วยสีหน้าฉาบรอยยิ้ม

 

ดูท่าทางแล้ว  ผู้ป่วยและญาติคงจะมีความกังวลอยู่ไม่น้อยในเรื่องของการรักษาพยาบาล อาจจะด้วยเหตุการณ์ต่างๆที่เคยประสบมาหรือเหตุผลใดๆก็ตาม ผมได้แต่คิดในใจว่าหน้าที่ของเราคือต้องดูแลผู้ป่วยให้ดีที่สุด เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว

            ในช่วงสัปดาห์แรกของการนอนรักษา ผู้ป่วยและญาติแทบจะไม่มีปฏิสัมพันธ์กับใคร ไม่พูดไม่จา และทำสีหน้าเรียบเฉยทุกครั้งที่พูดคุย ประหนึ่งว่าเบื่อโรงพยาบาลมากเต็มที  ผมและเจ้าหน้าที่คนอื่นเองก็พยายามทักทาย พูดคุยแสดงความจริงใจและเป็นกันเองทุกครั้งที่เข้าไปหาผู้ป่วยรายนี้ เราทุกคนช่วยกันให้กำลังใจผู้ป่วยและญาติอย่างสม่ำเสมอทุกครั้งที่ทำได้ 

            เวลาผ่านไปได้ระยะหนึ่ง เราเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของผู้ป่วยและญาติ ผู้ป่วยเริ่มมีสีหน้าดีขึ้น ยิ้มแย้มเวลาที่พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ ตัวญาติที่เป็นสามีเองก็เข้ามาช่วยดูแลผู้ป่วยเป็นประจำ และยังช่วยเราบริการผู้ป่วยรายอื่น ทั้งพาชั่งน้ำหนัก แจกกะละมังน้ำตอนเช็ดตัว พฤติกรรมของญาติเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน

“คุณป้าครับ วันนี้เป็นไงบ้าง ยังปวดแผลอยู่มั้ยครับ” ผมกล่าวทักทาย

“ปวดเล็กน้อยค่ะ ดีขึ้นมากแล้ว” ผู้คุณป้าตอบด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม

“ผ่าตัดรอบนี้ได้ผลดีมากนะครับ คุณหมอบอกว่าไม่นานก็กลับบ้านได้แล้ว” ผมพูดพลางยิ้มให้กำลังใจ

คุณป้ายิ้มตอบแล้วพูดว่า “อยู่มาตั้ง 2 เดือน สนิทกับพยาบาลหมดแล้ว ไม่อยากกลับเลยค่ะ”

“กลับบ้านแล้วก็มาเยี่ยมกันได้นะครับ ถ้าคิดถึง” ผมตอบกลับ

“เดี๋ยวจะเอามะขามหวานมาให้ด้วย” สามีคุณป้าพูดด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม ท่าทางอบอุ่นใจดี ช่างแตกต่างจากวันแรกที่พบกันโดยสิ้นเชิง

            ต่อมาไม่กี่วัน แพทย์ได้แจ้งว่าผู้ป่วยรายนี้ต้องย้ายไปที่หอผู้ป่วยอื่น ซึ่งผู้ป่วยและญาติก็บอกว่าไม่อยากย้ายไปไหน แต่ด้วยความจำเป็นที่ต้องรับผู้ป่วยรายอื่น เราจึงทำการย้ายผู้ป่วยตามที่แพทย์ต้องการ ก่อนย้ายคุณป้าและสามีได้เดินไปขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกคนที่คอยดูแลช่วยเหลือ และเป็นกำลังใจให้เสมอมา ไม่ใช่แค่คุณป้าที่ใจหายเมื่อจะจากกัน แต่พวกเราเจ้าหน้าที่ทุกคนก็ใจหายไม่ต่างไปจากคุณป้าเลย

            “การดูแลด้วยหัวใจ” สิ่งนี้ยังคงใช้ได้ไม่ตกยุค ไม่ว่าผู้ป่วยจะเคยได้รับประสบการณ์ที่เลวร้ายเพียงใด แต่หากเราใช้หัวใจและความจริงใจในการดูแล ผู้ป่วยก็พร้อมที่จะมีประสบการณ์ใหม่ที่ดีกับเราได้เสมอ

            “คุณหมอก็เก่ง คุณพยาบาลก็ดูแลเอาใจใส่เหมือนญาติ ขอบคุณจริงๆครับ” ผมนั่งอ่านข้อความที่ญาติเขียนไว้พลางยิ้มและรู้สึกอิ่มในหัวใจอย่างบอกไม่ถูก และความรู้สึกนี้ก็คงจะอยู่ในความทรงจำของผมไปอีกนาน  

 

 

 

       

หมายเลขบันทึก: 648424เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2018 11:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2018 12:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท