ไม่ยกเลิกโทษประหาร และรัฐต้องตามหาคนที่ “เกิดมาเป็นโจร”


ไม่ยกเลิกโทษประหาร

 

 

ดร.ปรเมศวร์ กุมารบุญ
Ph.D. (Criminology and criminal justice)

 Cyber Criminologist


 

        ท่านผู้อ่านเคยคิดหรือไม่ว่า ถ้าวันหนึ่งเราได้รับรู้สิ่งใหม่ที่ตรงข้ามกับสิ่งที่เราเคยรับรู้มาก่อน นอกจากเราจะหัวเราะว่ามันเป็นเรื่องไร้สาระ แล้วเราควรปรับตัวอย่างไร? หากเรื่องนั้นเป็นความจริงที่พิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์

 

       การพบความจริงทางวิทยาศาสตร์แล้วนำเสนอให้คนในสังคมรับรู้ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้วิทยาศาสตร์คือสิ่งที่พิสูจน์ได้ ทำซ้ำกี่ครั้งก็ได้ผลเหมือนเดิม ไม่มีใครลบล้างได้ แต่ทำไมคนจะเชื่อยากนัก ใช่ครับ “เราจะโน้มน้าวคนในสังคมอย่างไร เมื่อเราจะบอกความจริงกับเขา” แค่ประโยคนี้ ผู้อ่านก็คงหัวเราะในใจ แต่ผมอยากให้อ่านบทความนี้จนจบจังเลยครับ

 

          ในอดีตศาสนจักรให้ความรู้กับสังคมว่า “โลกแบนและโลกเป็นศูนย์กลางจักรวาล” แต่เมื่อวิทยาศาสตร์เริ่มก้าวหน้าการท้าทายคำสอนศาสนจักรนั้น เป็นความผิดต้องโทษประหารชีวิตเลยทีเดียว แต่แล้วในศตวรรษที่ 16 นิโคลัส โคเปอร์นิคัส (Nicolaus Copernicus) เป็นคนแรกที่บอกว่าดวงอาทิตย์ต่างหากเป็นศูนย์กลางสุริยจักรวาลไม่ใช่โลก ผลงานวิจัยของเขานำเสนอก่อนเสียชีวิตไม่นาน ผลงานเขาแทบไม่มีใครกล้าอ่าน ไม่มีใครจดจำ ไม่มีแม้แต่ใครทราบว่าหลุมฝังศพเขาอยู่ที่ไหน 

           65 ปีต่อมา กาลิเลโอ ได้อ่านหนังสือ On the Revolutions of the Heavenly Spheres ของนิโคลัส โคเปอร์นิคัส หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือต้องห้าม ห้ามเผยแพร่ ห้ามอ่าน ห้ามใช้เรียนใช้สอนอย่างเด็ดขาด เพราะสถาบันศาสนาแห่งวาติกันมีความเห็นว่าเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ขัดแย้งและจาบจ้วงคำสอนในคัมภีร์ไบเบิลอันศักดิ์สิทธิ์

 

ภาพจาก : http://www.astronoo.com/en/bio...

       กาลิเลโอ จึงประดิษฐ์กล้องโทรทรรศน์ขึ้นเอง ส่องดูดวงจันทร์และดวงดาวต่างๆ ทำให้เขาได้พบกับความจริงของธรรมชาติ และปรากฏการณ์ในจักรวาล ที่ไม่เคยมีมนุษย์คนใดเคยเห็นหรือเคยรู้มาก่อน และนี่ก็คือการปฏิวัติการเข้าถึงความรู้ความจริงของธรรมชาติครั้งยิ่งใหญ่ของมนุษย์ที่สามารถพิสูจน์ได้เรียกว่า “วิทยาศาสตร์”

 

        การปฏิวัติความรู้ด้านวัตถุของมนุษยชาติโดย กาลิเลโอ ทำให้เขาต้องขึ้นศาลศาสนา กลายเป็นพวกนอกรีต ผู้คนโกรธแค้นชิงชังจำนวนมาก และต้องโทษประหารชีวิต กาลิเลโอ สร้างผลงานทางวิทยาศาสตร์มากมาย จุดมุ่งหมายของเขาคือการสร้างความรู้ให้สังคมมิใช่การดูหมิ่นคำสอนศาสนา แต่ชายชราวัย 70 ปี ถูกบังคับให้คุกเข่า และประกาศเพิกถอนความเชื่อในความรู้ของตน เพื่อแลกกับการรอดชีวิต สุดท้ายเขาถูกกักบริเวณในบ้านหลายปีไปจนกระทั่งตาย.....

 

ภาพจาก : https://spad1.wordpress.com/20... 

         ท่านผู้อ่านพร้อมหรือยังที่จะเปิดใจรับรู้ความจริงว่า ทำไมโทษประหารชีวิตยังต้องมีอยู่ และกระบวนการยุติธรรมต้องปฏิรูป เพื่อ “เลือกปฏิบัติ” กับผู้ที่เกิดมาเป็นโจรโดย “พันธุกรรม”!!!!

 

 

       ......เมื่อวันที่ 5 ที่ผ่านมาหลังสอนหนังสือเสร็จ ผมได้เพื่อนใหม่มารับไปกินข้าวเที่ยง ท่านแนะนำตัวว่าเป็นอดีตรองผู้กำกับพิสูจน์หลักฐาน ผู้ผันตัวมาเป็นอาจารย์ ท่านจบการศึกษา และเชี่ยวชาญด้าน จุลชีววิทยา

          ผมถามท่านว่า “อาจารย์ทราบเรื่องทฤษฎีพวก Criminal gene หรือไม่ครับ? อาชญากรบางพวกเกิดจากพันธุกรรม” ท่านตอบว่า “ทราบครับ ผู้ชายที่มี double chromosome Y คือมี โครโมโซม Y เกินมาหนึ่งตัว เป็น XYY” ผมรีบพยักหน้าตอบ “ใช่ๆ ครับเรียกว่าทฤษฎี super male ผู้ชายจะตัวใหญ่ดุร้าย” เมื่อมีเรื่องสนทนาที่ไปกันได้ก็คุยกันยาวเลย เราเห็นด้วยกับ อาชญากรที่เกิดจากพันธุกรรม เป็นเรื่องจริงเพราะเป็นงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์

          ผมพยายามโน้มน้าวให้ท่านเรียนต่อปริญญาเอกทางด้านอาชญาวิทยาและการยุติธรรม ผมอยากเห็นผู้ที่มีพื้นการศึกษาทางชีววิทยาหรือพันธุศาสตร์มาเรียนทางด้านนี้ เผื่อจะมีงานวิจัยที่จะถูกนำไปปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ผมอธิบายเพิ่มว่า กฎหมายหรือการพิสูจน์หลักฐาน เป็นสิ่งที่อยู่ปลายเหตุแล้วของความสงบสุข อาชญากรรมเกิดขึ้นกับเหยื่อผู้รับเคราะห์แล้ว แต่อาชญาวิทยาคือการค้นหาสาเหตุของอาชญากรรมและแก้ไขเสีย ทำให้ไม่มีใครจะต้องตกเป็นเหยื่อ และสังคมจะสงบสุขอย่างแท้จริง อาจารย์ท่านพยักหน้าเห็นด้วย หวังว่าบทความนี้หน้าที่สร้างความสงบของสังคมจะตกไปอยู่กับอาจารย์นะครับ

      ไม่ใช่อาจารย์ท่านนี้คนแรกที่เห็นด้วยกับผม คณบดีนิติวิทยาศาสตร์ก็เห็นด้วย และนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญที่สุดคือ ศ.ดร.นิลวรรณ เพชระบูรณิน อดีตประธานกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ฯ ผู้เชี่ยวชาญด้าน Biosciences ระดับโลก เมื่อผมเล่าให้ท่านฟังว่าประหลาดใจมากเมื่อได้ทราบเรื่องทฤษฎี Born Criminal ของคุณหมอ ลอมโบรโซ (Cesare Lombroso) นักวิทยาศาสตร์ผู้ปฏิวัติความรู้ด้านอาชญาวิทยา ท่านตอบว่า "ใช่แล้วลูก! มนุษย์เรามีความแตกต่างที่เรียกว่า Criminal gene" ซึ่งท่านเคยทราบมาก่อนและอธิบายให้ผมฟังถึงความลึบลับของวิทยาศาสตร์พันธุกรรม

Cesare Lombroso, M.D.

 

        ความเป็นศาสตร์ หรือ วิทยาศาสตร์ มาจากภาษาอังกฤษคือ Science การวัดว่าองค์ความรู้ด้านใดมีความเป็นศาสตร์มากกว่ากันมีอยู่ 4 ระดับ คือ บรรยายปรากฏการณ์ อธิบายสาเหตุปรากฏการณ์ ทำนายปรากฏการณ์ และควบคุมปรากฏการณ์ได้ ทีนี้เราจะเห็นความแตกต่างระหว่าง วิทยาศาสตร์ธรรมชาติกับสังคมศาสตร์ ซึ่งวิทยาศาสตร์ธรรมชาติว่าด้วยความรู้ความจริงของวัตถุ (Object) นั้นมีความเป็นศาสตร์มากเพราะมีความเป็นศาสตร์ครบทั้ง 4 ระดับ แต่ความรู้ด้านสังคมศาสตร์ว่าด้วยเรื่องของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกันในสังคมในบางสาขา ยังมีความเป็นศาสตร์น้อยเกินไป อาจจะทำได้เพียง บรรยายปรากฏการณ์ อธิบายสาเหตุปรากฏการณ์ แต่อาจจะยังทำนายปรากฏการณ์ไม่ได้หรือบางครั้งก็พอทำนายได้ แต่ยังไม่สามารถนำไปควบคุมปรากฏการณ์ได้ เพราะเป็นสิ่งที่จับต้องยากหรือเป็นนามธรรม (Subject) ไม่เป็นวัตถุเหมือนวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ

 

  ทีนี้ประเด็นสังคมที่กังวลเรื่องโทษประหารกับกระบวนยุติธรรม ถึงเวลาหรือยังที่เราจะค้นหาความรู้ความจริงสิ่งใดสักอย่าง เพื่อให้ก้าวหน้าเพิ่มเติมความเป็นศาสตร์เข้าใกล้การควบคุมปรากฏการณ์ให้อาชญากรรมลดลง การมีโทษประหารชีวิตหรือไม่มี ขึ้นอยู่กับยุคสมัยที่จะใช้เหตุผลจากความรู้ความจริงของมนุษยชาติในยุคนั้นๆ มาอธิบายและโน้มน้าวความเชื่อผู้คนในสังคมให้ยอมรับได้

 

ดูเจตนา?

          ความรับผิดทางอาญาจะเป็นเรื่องของ “เจตนา” ซึ่งในหลักกฎหมายอาญาท่านจะมีหลักเจตนา 2 หลัก คือ เจตนาโดยตรง ได้แก่ เจตนาประสงค์ต่อผล และย่อมเล็งเห็นผล กับ เจตนาโดยผลของกฎหมาย ได้แก่ เจตนาโดยพลาด และ สำคัญผิดในตัวบุคคล อะไรก็แล้วแต่ ทำไมถึงตัดสินกันที่เจตนาเราเคยคิดกันหรือไม่?  ถ้าไม่เจตนาอาจจะยกฟ้อง และโดยเฉพาะคนวิกลจริตหรือผิดปกติ ยกฟ้องแน่ๆ อาจไม่ต้องรับโทษเลย คนที่ตกเป็นเหยื่อได้รับความเสียหายก็ถือว่ารับเคราะห์ไป แน่นอนว่าเรามีอาชญากร Psychopath และ Sociopath ปะปนอยู่ เขาไม่ได้มีความเป็นเหตุเป็นผลเลย

          หลักเจตนามาจากไหน? เท่าที่คุ้นๆ คือ การค้นหาความชั่วของบุคคลๆนั้น เรื่องนี้เรียนตามตรงว่าผมไม่ได้ทบทวนมาก่อนเขียนบทความ เพียงแค่รู้สึกว่าการดูเจตนาน่าจะไม่พอต่อกระบวนการยุติธรมที่มีอยู่แล้วเท่านั้นเอง ผมคิดว่าการดูหลักเจตนานั้น คือ สิ่งที่คนทั่วไปในสังคมเห็นว่า “มีเหตุผล” ที่สุดแล้ว เลยเกิดการยอมรับ

 

ทฤษฎีอาชญาวิทยาแบบกว้างๆ

          ทีนี้เรามาดูทฤษฎีอาชญาวิทยาแบบกว้างๆ ที่นักวิชาการเขาค้นหาสาเหตุอาชญากรรมกันครับว่ามีอะไรบ้าง โดยทฤษฎีทางอาชญาวิทยาที่สำคัญได้แบ่งตามสำนักวิชาอาชญาวิทยาใหญ่ๆ ไว้ 3 สำนักแต่ละยุคสมัย คือ

          สำนักอาชญาวิทยาดั้งเดิม (Classical School of Criminology) ศตวรรษที่ 18 โดยแนวคิดของสาเหตุอาชญากรรมนั้น อยู่ที่เหตุผลของอาชญากรในการชั่งน้ำหนักระหว่าง ประโยชน์ที่จะได้รับกับผลเสียที่จะถูกลงโทษ สาเหตุอาชญากรรมนั้นเป็นการเฉพาะบุคคลขึ้นอยู่กับ “เจตจำนง” ของอาชญากร

        ทฤษฎี เจตจำนงอิสระ (Free Will) ของ ซีซาร์ เบ็คคาเรีย (Cesare Beccaria) นั้นเชื่อว่ามีหลักสำคัญสามประการ คือ มนุษย์มีเจตจำนงเสรีอิสระ มนุษย์มีเหตุมีผล และมนุษย์สามาถควบคุมพฤติกรรมได้

       ทฤษฎีนี้เชื่อว่า อาชญากรเกิดจากการใช้เหตุผล หากบุคคลนั้นไตร่ตรองดูแล้วว่า ถ้าหากก่ออาชญากรรมแล้วจะเกิดประโยชน์กับตน (Gain) มากกว่าผลเสียหรือความเจ็บปวด (Pain) ที่ตนจะได้รับ  เขาจะประกอบอาชญากรรมทันที 

          ดังนั้นการที่จะป้องกันไม่ให้มนุษย์ไม่ให้กระทำความผิด เบ็คคาเรีย จึงเสนอให้กระบวนการลงโทษทางกฎหมายนั้น "มีประสิทธิภาพ แน่นอน และรวดเร็ว" มนุษย์จึงจะเลือกที่จะไม่ประกอบอาชญากรรม การกำหนดโทษที่รุนแรงจะเป็นสัดส่วนในการชั่งน้ำหนักการยับยั้งชั่งใจของมนุษย์ เป็นทฤษฎียับยั้งอาชญากรรม (Deterrence Theory)

 

      สำนักปฏิฐานนิยม (Positive School of Criminology) ศตวรรษที่ 19 โดยแนวคิดของสาเหตุอาชญากรรมนั้น อยู่ที่ “พันธุกรรมที่ผิดปกติ” ในแต่ละบุคคล อาชญากรมีความป่าเถื่อนจากพันธุกรรม และเชื่อว่ามนุษย์ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของตนเองได้อย่างเด็ดขาด สำนักปฏิฐานนิยมใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทางชีววิทยามาอธิบายปรากฏการณ์อาชญากรรม

      ครั้งแรกที่ได้ยินทฤษฎีของผู้ก่อตั้งแนวคิดนี้ผมเชื่อว่าคนทั่วไปก็คิดเหมือนกันในใจว่า อะไรวะ? แต่ ซีซาร์ ลอมโบรโซ (Cesare Lombroso) แพทย์ชาวอิตาเลียน ผู้บุกเบิกวิชาอาชญาวิทยาด้วยการนำวิทยาศาสตร์มาอธิบาย ได้ทำวิจัยใบหน้าอาชญากรจำนวนมากพบว่า “คนที่มีกะโหลกศีรษะและใบหน้าคล้ายมนุษย์โบราณสมัยโครมันยอง คือ คล้ายลิงที่ยังกลายพันธ์ุไม่เสร็จ จึงมีความป่าเถื่อนติดตัวมาตามพันธุกรรมโดยกำเนิด” เป็นทฤษฎี Born Criminal โดยใช้คำว่า Atavism เป็นคำอธิบายอวัยวะมนุษย์ที่ยังคล้ายมนุษย์ดึกดำบรรพ์ แขนยาวคล้ายลิง หน้าผากต่ำลาด สมองส่วนหน้าที่ใช้เหตุผลยังไม่พัฒนาถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ พวกเขาจึงสามารถฆ่าคนได้โดยไม่ต้องมีเรื่องบาดหมางหรือรู้จักกันมาก่อน

          สมองส่วนหน้า (Forebrain) เป็นสมองส่วนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของสมอง มีรอยหยักเป็นจำนวนมาก ซีรีบรัม (Cerebrum) เป็นส่วนหนึ่งของสมองส่วนหน้าที่มีขนาดใหญ่สุด แบ่งเป็นสองซีก ซ้ายและขวา แต่ละซีกจะแบ่งได้เป็น 4 ส่วน ส่วนที่น่าสนใจที่สุด คือ สมองกลีบหน้า (Frontal lobe) ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหว การออกเสียง ความคิด ความจำ สติปัญญา บุคลิก ความรู้สึก พื้นอารมณ์ การรับรู้ ความเข้าใจ การมีเหตุผล การแก้ปัญหา การพูด และความจำในระยะยาว และที่สำคัญที่สุด ส่วนด้านหลังของกลีบนี้ (Posterior frontal lobe) เป็นตำแหน่งของสมองส่วนที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อของร่างกายทั้งหมดที่ไม่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทอัตโนมัติ (เช่น การเคลื่อนไหวของ แขน ขา ใบหน้า) เรียกว่า Motor cortex ถ้าสมองส่วนหน้ามีขนาดเล็ก อาจเป็นไปได้ว่า ความคิด สติปัญญา บุคลิก ความรู้สึก พื้นอารมณ์ การรับรู้ ความเข้าใจ การมีเหตุผล ย่อมด้อยลงอย่างแน่นอน

 

         ลอมโบรโซ ทำวิจัยเก็บข้อมูลกายภาค (Physical characteristic) เช่น ศรีษะ รูปหน้า ร่างกาย แขน ขา ผิวหนัง ฯลฯ  ของนักโทษ อิตาลี มาเปรียบเทียบกับ ทหาร และคนอาชีพอื่น ผลสรุป ลอมโบรโซ เชื่อว่าอาชญากรเกิดจากพันธุกรรม และมีลักษณะเด่นชัดตั้งแต่แรกเกิดที่สังเกตได้จากรูปร่างภายนอก โดยเฉพาะ “ใบหน้า” แนวทางของเขาได้รับความสนใจจากวงการวิชาการอย่างสูง ซึ่งพันธุกรรมอาชญากรปรากฏออกมาทางใบหน้าดังนี้
 

      1. หน้าผากต่ำลาดหรือกะโหลกศีรษะผิดส่วน

      2. ไม่ค่อยมีเคราหรือมีน้อย

      3. ขากรรไกรกว้างและโต

      4. เค้าหน้าเหมือนลิง

      5. โหนกแก้มสูง

      6. คิ้วดก

      7. จมูกงุ้มคด

 


ภาพจาก : http://www.thenautilus.it/tori… </p>


 

          ทฤษฎีของลอมโบรโซได้รับความสนใจไปอย่างกว้างขวาง และถูกพัฒนาความรู้ชีววิทยากับอาชญากรรมต่อมามากมาย รวมถึงการพัฒนาวิธีการวัดสัดส่วนใบหน้าและร่างกายเพื่อตรวจสอบความเป็นอาชญากร เรียกว่า Anthropological criminology หรือ criminal anthropology เป็นศาสตร์ในการวัดขนาด ศีรษะ และใบหน้า จนกลายมาเป็น judicial anthropometry กล่าวได้ว่าทะเบียนประวัติอาชญากรนั้น ตำรวจต้องทำการวัดสัดส่วนใบหน้าและร่างกายอย่างละเอียด ไปจนถึงข้อมูลเหล่านี้ผู้พิพากษาใช้พิจารณาประกอบการตัดสินคดีอีกด้วย ตลอดจนเกิดวิชา forensic anthropology (นิติมานุษยวิทยา) คือเป็นนิติวิทยาศาสตร์ด้านร่างกายมนุษย์ และเกิด Forensic anthropometry เพื่อพิสูจน์พยานหลักฐานความป่าเถื่อนในพันธุกรรมด้วยการวัดขนาดร่างกายอาชญากรที่โด่งดังที่ฝรั่งเศสอย่าง Bertillon System


 

ทะเบียนประวัติอาชญากรสมัยก่อนต้องมีรายละเอียดสัดส่วนใบหน้า

การวิเคราะห์ใบหน้าอาชญากรมีความพยายามเป็นศาสตร์

 

         ในศตวรรษที่ 19 การตรวจสอบพันธุกรรมยังไม่ใช่เรื่องง่าย จึงพยายามหาหนทางสังเกตความผิดปกติของพันธุกรรมที่แสดงออกมาทางใบหน้าหรือขนาดร่างกาย แต่ในปัจจุบันข้อมูลกายภาพเหล่านี้ไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาในคดีอาชญากรรมอีกแล้ว

 

 

 

          แรกๆ ฟังทฤษฎีของหมอ ลอมโบรโซ ก็ยิ้มๆ เอ เหมือนไร้สาระเลยนะ แต่พอนึกว่าหมอเป็นนักวิทยาศาสตร์ เขาต้องทำวิจัยแบบวิทยาศาสตร์ พอค้นคว้าว่าเขาใช้วิธีวิทยาแบบสถิติสำรวจจากกลุ่มคนเชิงประจักษ์ ภาพใบหน้าอาชญากรนับพันๆ ถูกถอดแบบมาจำลองไว้ให้ศึกษา อยู่ในเว็บไซต์ พิพิธภัณฑ์ลอมโบรโซให้เราเข้าไปดูกันได้ครับ

  พอเห็นใบหน้าอาชญากรเหล่านั้นแล้วรู้สึกว่า เออแฮะ ใบหน้าพวกเขาพิเศษจริงๆ ดูไม่ออกเลยว่าเป็นคนดี ผมได้ทำการค้นคว้าศึกษาใบหน้าอาชญากรต่างๆ จำนวนมาก และมาดูใบหน้าอาชญากรในไทย ก็พบว่าสอดคล้องกับทฤษฎีของลอมโบรโซมากแม้คนไทยเป็นคนเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีโหดๆ อาชญากรหน้าผากต่ำลาด และแก้มตอบ ผมลองค้นมาดูเล่นๆ ท่านผู้อ่านลองค้นเองดูต่อนะครับ

 

 

 



 

หมูหยองเยาวชนวัย 17 ปี

 

       แต่ความรู้ด้านอาชญากรทางชีวภาคนั้นก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์มากมาย หากลองค้นคว้าในอินเทอร์เน็ตด้วยการเสิร์ชคำว่า Criminal gene หรือ Criminal Genetics  อาชญาวิทยาแนวชีววิทยาข้อมูลจากเว็บไซต์https://adunparvitchai.wordpre... เขียนไว้น่าสนใจดังนี้


 

Patricia Jacobs 

       ได้ทำการศึกษาโครโมโซมของอาชญากร เมื่อ ค.ศ. 1965 พบว่า อาชญากรจะมีโครโมโซมผิดปกติกวาคนทั่วไป กล่าวคือ มีโครโมโซม Y มากกว่าหนึ่งตัว เป็น XYY จึงมักจะมีลักษณะผิดปกติ ก้าวร้าว อํามหิต

 

Saucier, J.

         ได้ศึกษาพฤติกรรมของบุตรบุญธรรมสองกลุ่มจำนวน 57 คู่ที่ได้รับการอุปการะเลี้ยงดูโดยหน่วยงานของทางราชการ กลุ่มแรกเป็นบุตรบุญธรรมที่บิดาหรือมารดามีประวัติว่าเป็นโรคจิต อีกกลุ่มหนึ่งเป็นบุตรบุญธรรมที่บิดามารดาเป็นปกติ พบว่าบุตรบุญธรรมกลุ่มแรกจะมีปัญหาทางสุขภาพจิตหรือมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางสังคมร้อยละ 14.4 ขณะที่กลุ่มที่สองมีปัญหาดังกล่าวเพียงร้อยละ 6.7 Saucier จึงสรุปว่าพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางสังคมนั้นสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้

 

Goddard Henry H.

        ได้ทำการศึกษาลูกหลานของตระกูล Kallikak ซึ่งมี Martin Kallikak เป็นต้นตระกูลและได้มีทายาทกับภรรยาสองคน ภรรยาคนแรกเป็นหญิงผู้ดีมีตระกูล ภรรยาคนที่สองเป็นหญิงรับใช้    ซึ่งปัญญาอ่อน 120 ปีต่อมาลูกหลานที่เกิดจากภรรยาคนแรกเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับในสังคม       มีหน้าที่การงานมั่นคง มีสถานภาพทางสังคมสูง ตรงกันข้ามกับลูกหลานที่เกิดจากภรรยาคนที่สอง ซึ่งล้วนแต่ล้มเหลวในหน้าที่การงาน บางคนเป็นคนปัญญาอ่อน บางคนเป็นอาชญากร หรือประพฤติผิดศีลธรรม Goddard จึงสรุปว่า ความเป็นปัญญาอ่อนเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม และเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบนของลูกหลาน

 

Richard Dugdale

    ได้ทำการศึกษาเหล่าอาชญากรที่เป็นพี่น้องกันซึ่งถูกจองจำอยู่ในเรือนจำ จนพบว่ามีอาชญากรจำนวน 6 คนซึ่งเป็นคนในครอบครัวเดียวกันและเมื่อตรวจสอบประวัติต้นตระกูลของครอบครัวดังกล่าวพบว่า ต้นตระกูลของครอบครัวนี้ล้วนแต่กระทำความผิดหรือประพฤติตัวผิดศีลธรรมทั้งสิ้น โดย Dugdale ให้ความเห็นว่า สาเหตุจากการที่สมาชิกในครอบครัวมีพฤติกรรมที่ไม่ดีเป็นเพราะมียีนที่ไม่ดีของบรรพบุรุษอยู่ในตัว

 

Franz Joseph Gall & Charles Caldwell

    ได้ทำการศึกษาความแตกต่างของกะโหลกศีรษะมนุษย์ ทำให้เชื่อว่า ลักษณะกระโหลกศีรษะสามารถแสดงถึงอุปนิสัย และบุคลิกภาพของคนได้ เช่น สมองที่ทำหน้าที่ในการทำลายจะมีแนวโน้มแสดงพฤติกรรมฆาตกรรม สมองที่ทำหน้าที่ในอารมณ์รักใคร่จะมีแนวโน้มแสดงพฤติกรรมข่มขืน สมองที่ทำหน้าที่ในทางความโลภจะมีแนวโน้มแสดงพฤติกรรมลักขโมย และสมองที่ทำหน้าที่ในเรื่องความลับจะมีแนวโน้มแสดงพฤติกรรมหลอกลวง

 

Earnest A. Hooton

      ได้ทำการเปรียบเทียบสรีระร่างกายของนักโทษจำนวน 14,000 คนจากเรือนจำกลางของมลรัฐต่าง ๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกาจำนวน 10 มลรัฐและนำมาเปรียบเทียบกับบุคคลทั่วไปจำนวน 3,200 คน ซึ่งพบว่า บุคคลรูปร่างผอมสูงมีแนวโน้มที่จะเป็นฆาตกรและนักโจรกรรม บุคคลที่มีรูปร่างสูงใหญ่มีแนวโน้มที่จะเป็นนักฆ่าหรือนักหลอกลวง บุคคลที่มีรูปร่างเล็กมักเป็นพวกนักย่องเบา และบุคคลที่มีรูปร่างอ้วนเตี้ยมักจะชอบการทำร้ายผู้อื่น

 

Charles Goring

       ได้ทำการทดสอบโดยศึกษาเปรียบเทียบรูปร่างของนักโทษชาวอังกฤษจำนวน 3,000 คน กับกลุ่มบุคคลจำนวนมากที่ไม่ได้เป็นนักโทษ อาทิ นักศึกษาปริญญาตรี คนไข้ในโรงพยาบาล วิศวกร เป็นต้น ซึ่งพบว่า อาชญากรจะมีส่วนสูงโดยเฉลี่ยต่ำกว่าบุคคลธรรมดาสองนิ้ว และมีน้ำหนักตัวเบากว่าเจ็ดปอนด์ แต่การที่อาชญากรมีรูปร่างแตกต่างจากบุคคลธรรมดา ไม่ได้แสดงว่าอาชญากรเป็นบุคคลที่ผิดปกติ แต่เป็นเพียงบุคคลธรรมดากลุ่มหนึ่งที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมที่จะเป็นอาชญากร

 

            สำนักชิคาโก (Chicago School of Criminology) ศตวรรษที่ 20 หรือแนวคิดทฤษฎีอาชญาวิทยาทางสังคมศาสตร์ ในยุคที่เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยแนวคิดของสาเหตุอาชญากรรมนั้น อยู่ที่ “สังคม” และสภาพแวดล้อมที่ไร้ระเบียบเป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งเร้าหรือกระตุ้นให้บุคคลมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐานสังคมและก่อให้เกิดอาชญากรรมขึ้นในที่สุด ส่วนสาเหตุเฉพาะบุคคลนั้น อาชญากรต้องการร่ำรวยแต่ใช้วิธีการที่ผิดกฎหมายหรืออาชญากรต้องการแก้แค้นหรือต้องการได้รับการยอมรับหรือปฏิเสธค่านิยมในสังคมแล้วหลบหนีไปสร้างวัฒนธรรมใหม่

 

บทวิเคราะห์

        ทฤษฎี Born criminal ของหมอลอมโบรโซ ในอดีตแม้ทางการหลายประเทศนำไปใช้ประกอบการพิจารณาคดี แต่ปัจจุบันก็ไม่เห็นให้ปรากฏในกระบวนการยุติธรรมอีกเลย รวมทั้งพยานหลักฐานทาง DNA หรือ Criminal gene หรือแม้แต่ นิติมานุษยวิทยา เรื่องเหล่านี้ทำไมกระบวนการยุติธรรมละเลยทิ้งไปหมด งานวิจัยทางชีววิทยาเป็นวิทยาศาสตร์ พิสูจน์ได้ ทำซ้ำกี่ครั้งก็เหมือนเดิม

 

       เมื่อมองดูผังแนวคิดการเกิดอาชญากรรมแต่ละยุคสมัยแล้ว หากมองด้วยความเป็นธรรมจริงๆ เราคงอยากลงโทษสิ่งที่เป็นต้นเหตุของอาชญากรรม สำนักชิคาโกนั้นชี้ไปที่ “สังคม” เป็นต้นเหตุทำให้คนก่ออาชญากรรม ที่เรามีเจตนาจะกระทำความผิดอาญานั้นสาเหตุจากสังคมบีบคั้น แต่จะไปลงโทษสังคมยังดูไกลเกินไป 

             สำนักปฏิฐานนิยมนั้น ชี้ว่าสาเหตุการเกิดอาชญากรรมมาจากพันธุกรรมหรือยีนส์ของบุคคล แต่ปัจจุบันกระบวนการยุติธรรมตัดสินคนทำผิดที่เจตนา คือกลับไปใช้สาเหตุของอาชญากรรมในยุคแรกเมื่อศตวรรษที่ 18 ของสำนักอาชญาวิทยาดั้งเดิม ว่าการกระทำของมนุษย์ใช้เหตุผลไตร่ตรอง ซึ่งถ้าพิสูจน์ได้ว่า ป่วยก็รอดไป ถ้ากลับใจก็คืนคนดีสู่สังคมได้

      แน่นอนหากมนุษย์ใช้เหตุผลหรือเจตจำนงเสรีหรือเจตนาในการก่ออาชญากรรม การลงโทษประหารชีวิตย่อมไม่เหมาะสมสอดคล้องกับเหตุผลผู้คัดค้านทั้งปวง แต่นั่นคือความรู้ความจริงในสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เป็นเหตุผลทางสังคมศาสตร์ แต่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างพันธุกรรมเป็นความจริงของธรรมชาติที่มีพลังในการอธิบายมากกว่ากลับถูกละเลย พอมองในมุมข้ามศาสตร์แล้วผมกลับรู้สึกว่าทำไมเหตุผลมันกลับตาลปัตรกัน เราเชื่อเรื่องที่พิสูจน์ยากมากกว่าเรื่องที่พิสูจน์ง่าย

      แต่ถ้าหากคนเราเป็นบัวดั่งที่มี 4 เหล่าจริง การจะเพียงแค่เข้าใจคำสอนในธรรมยังต้องมีปัญญา ส่วนบัวล่างสุดอาจต้องใช้เรื่องเล่าปาฏิหาริย์ให้หวาดกลัวบาปและทำบุญเพื่อให้ประพฤติตนอยู่ในศีลธรรมอันดี หาได้มีปัญญาเสมอเหมือนกันฉันใด พันธุกรรมคนเราย่อมแตกต่างกันฉันนั้น

     และคนที่ผิดปกติทางร่างกายซึ่งมี criminal gene นั้น ใช้ชีวิตร่วมกับคนปกติในสังคมไม่ได้ เราจะเรียกเขาว่าป่วยก็ได้แต่ต้องมีมาตรการพิเศษในการควบคุม เขาไม่ได้สังหารใครเพราะโกรธแค้นหรือรู้จักมาก่อน และศาลจะมองว่าเขาป่วยวิกลจริต นั่นคือมีคนดีๆ ตายแล้ว แม้แต่การพิสูจน์พยานหลักฐานงานก็เริ่มตอนมีคนตายแล้ว ตอนที่สังคมไม่สงบสุขแล้วผู้บริสุทธิ์ที่อ่อนแอตกเป็นเหยื่อแล้ว โทษตามกฎหมายก็เช่นกันยังไม่ใช่ต้นทางของความสงบสุข อย่างมากบทลงโทษก็ช่วยยับยั้งชั่งน้ำหนักเหตุผลว่าทำแล้วจะได้รับผลอย่างไร ผมไม่แน่ใจว่าโลกของเรามีงานวิจัยถามอาชญากรหรือไม่ว่าก่อนลงมือได้ไตร่ตรองดีแล้วหรือยัง

 



 

 

ภาพจาก sanook.com

 

    

         เมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา คนร้ายไล่แทงผู้โดยสารบนขบวนรถไฟชินคันเซ็นเส้นทางกรุงโตเกียว-นครโอซากะ เป็นเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บอีก 2 คน ผู้ต้องหาที่ก่อเหตุในครั้งนี้คือ นายอิชิโระ โคจิมะ อายุ 22 ปี เขาสารภาพว่าได้ก่อเหตุโดยที่ไม่ได้สนใจว่าเหยื่อจะเป็นหญิงหรือชาย แค่ใกล้ใครก็แทงคนนั้น นอกจากนี้ นายโคจิมะ ยังบอกกับตำรวจว่า เขายังมีความคิดที่จะก่อเหตุซ้ำอีก เขารอวันที่พ้นโทษออกจากเรือนจำ และเขาจะกลับมาก่อเหตุอาชญากรรมอีกครั้งแน่นอน ผมเชื่อว่าเขาก่อเหตุอีกแน่นอนตามคำพูดของเขา อาชญากรเช่นนี้ รัฐจะป้องกันประชาชนจากพวกเขาได้อย่างไร ถ้ายังอยู่แบบเดิมก็เหมือนเดิม ถ้าพัฒนาให้ก้าวหน้าสังคมก็คงขยับความปลอดภัยขึ้นมา

      สหภาพยุโรปต่อต้านโทษประหารชีวิตไม่ว่าจะเป็นกรณีใดๆ และมุ่งมั่นที่จะทำให้เกิดการยกเลิกโทษประหารชีวิตทั่วโลก เนื่องจากการประหารชีวิตเป็นการลงโทษที่โหดร้ายและไร้มนุษยธรรม ซึ่งไม่สามารถทำหน้าที่เป็นตัวยับยั้งการกระทำผิด และยังเป็นการปฏิเสธศักดิ์ศรีและความเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นที่ยอมรับไม่ได้

 

 

 

        อาชญาวิทยาคือความพยายามค้นหาทางหยุดอาชญากรก่อนเกิดอาชญากรรม คือ ผมไม่ต้องการเอาชีวิตใครมาเสี่ยงด้วยการให้อาชญากรชั่งน้ำหนักเหตุผลว่าทำแล้วจะได้รับโทษรุนแรงนะหรือเราต้องอาศัยอยู่ในสังคมร่วมกับคนที่เมื่อก่ออาชญากรรมแล้วเพิ่งมารู้ว่าป่วยทางจิต

       การยกเลิกโทษประหารที่ผู้คัดค้านบอกว่าไม่ได้ช่วยทำให้อาชญากรรมลดลงนั้น ก็ดูว่าจะตรงข้ามกับทฤษฎี Deterrence theory แต่นั่นอาจจะเกิดจากผลการวิจัยของพวกเขาจริงก็เป็นได้ และก็สอดคล้องการคาดเดาของผมว่าอาชญากรไม่ได้ไตร่ตรองก่อนประกอบอาชญากรรมทุกครั้งไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งผมเชื่อว่าผู้ที่มีพันธุกรรมอาชญากรเขาไม่ได้คิดด้วยซ้ำไป แต่ทำออกมาโดยสัญชาตญาณและจิตใต้สำนึก

       ถ้างั้นเรามาก้าวหน้ากันดีมั๊ย? ถ้าเรามาพิสูจน์ความจริง ค้นหาความจริงของธรรมชาติจากพันธุกรรมอาชญากรในตัวประชากรทุกคนแล้วบรรจุข้อมูลในบัตรประชาชน กรุ๊ปเลือดยังมีเลย พันธุกรรมเรามีแนวโน้มไปทางใดก็ควรจะมี ใช่ครับมันคือการตีตรา ส่วนผลกระทบเป็นอย่างไรเราต้องประเมินนโยบายต่อไป

         ยุคนี้ความก้าวหน้าในการหาความรู้ความจริงทางวิทยาศาสตร์น่าจะเพียงพอแล้ว จากนั้นเราสร้างมาตรฐานพันธุกรรมอาชญากร บางคนอาจจะมีพันธุกรรมอาชญากรมากหรือน้อยกี่เปอร์เซ็นต์ก็ว่าไป รัฐต้องค้นหาคนที่มีพันธุกรรมอาชญากรของตนทั้งหมดทำ Big data analytic คนที่มีเปอร์เซ็นต์พันธุกรรมอาชญากร 90% ขึ้นไปรัฐอาจจะต้องเข้มงวดดูแลหรือจะกันพื้นที่ให้อยู่ต่างหากจากสังคมปกติก็ดี และในการพิจารณาคดีเปอร์เซ็นต์พันธุกรรมอาชญากรย่อมต้องถูกนำมาใช้ประกอบการพิจารณาคดีและมีบทลงโทษแตกต่างกัน ผู้พิพากษาจะเห็นภาพได้ชัดกว่าเดิมว่า คนแบบใดกลับตัวได้ คนแบบใดอยากให้ทดลองกลับตัว และคนแบบใดไม่มีทางกลับตัวได้ อีกทั้งคดีแพะรับบาปน่าจะหายไปด้วย

 

รัฐต้องค้นหาคนที่มีพันธุกรรมอาชญากร

             อาชญากรรมเกิดขึ้นเมื่อมี 3 องค์ประกอบครบ คือ 1.เหยื่ออ่อนแอ 2.มีโอกาส 3. Criminal Mind ของอาชญากรทำงาน เจ้า Criminal mind นี่ล่ะครับควรจะนำมาแยกชนชั้นเลือกปฏิบัติของมนุษย์เราอย่างแท้จริง และที่มาของ Criminal mind อาจจะไม่ใช่แค่เรื่อง "เหตุผล" ที่อาชญากรชั่งน้ำหนักสิ่งที่จะได้รับกับผลตอบแทน แล้วแสดงเจตนาออกมา เขาไม่ได้ฆ่าใครเพราะโกรธแค้น เขาไม่ได้ฆ่าใครเพื่อชิงทรัพย์ เขาไม่ได้ฆ่าใครเพื่อสร้างการยอมรับ เราให้เกียรติผู้ที่มีพันธุกรรมอาชญากรว่าป่วย

           ผมไม่ได้หมายความว่าเราต้องเชื่อผลทางวิทยาศาสตร์เต็มร้อย แต่ผมเสนอให้เราก้าวหน้ามากขึ้นกว่าเดิม และในขณะเดียวกันเมื่อเงื่อนไขใหม่ที่กระบวนการยุติธรรมได้ปรับปรุงเหตุผลที่ค้นพบความรู้ความจริงในการตัดสินความเป็นอาชญากรมากขึ้นแล้ว ทุกคนจะได้คำตอบว่าโทษประหารยังคงต้องมีต่อไปหรือไม่ เพราะจะมีคนที่มีพันธุกรรมอาชญากรอันเป็นภัยร้ายที่ไม่สามารถอยู่ร่วมกับมนุษย์ทั่วไปไม่ได้ ต้องแยกเขาออกไปสังคม เราเสี่ยงเกินไปที่จะใช้ชีวิตร่วมกัน หรือต้องกำจัดแทนการบำบัดรักษา เมื่อความรู้ทางอาชญาวิทยาก้าวหน้ามากขึ้นจากนั้นความสุขสงบจึงจะก้าวหน้าตามมาอีกระดับหนึ่งอย่างแน่นอน

 

 

 

อ้างอิง

กาลิเลโอ วีรบุรุษนักค้นคว้าวิจัยผู้กล้าหาญ บิดาแห่งวิทยาศาสตร์สมัยใหม่. 28 ม.ค. 2018

https://www.takieng.com/stories/7823

Cesare Lombroso: an anthropologist between evolution and degeneration

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3814446/

Police, anthropometry, and fingerprinting: the transnational history of identification systems from Rio de la Plata to Brazil

http://www.scielo.br/scielo.php?pid=S0104-59702016000900171&script=sci_arttext&tlng=en

My genes made me do it:' Behavioral genetic evidence in criminal court

https://phys.org/news/2017-09-genes-behavioral-genetic-evidence-criminal.html

‘อาชญาวิทยาแนวชีววิทยา’https://adunparvitchai.wordpre... 

หมายเลขบันทึก: 648383เขียนเมื่อ 20 มิถุนายน 2018 23:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กันยายน 2022 00:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สุดยอดค่ะ มีงานวิจัยด้านรูปลักษณะหน้าตาของอาชญากรด้วย เคยทราบแค่ว่ามีงานวิจัยเรื่องอาชีพของคนที่มักจะเป็นอาชญากร 

ขอบคุณมากค่ะ น่าสนใจมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท