เปิดยุทธศาสตร์การสร้างความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ชู 5 จุดแข็งหลัก ผลักดันไทยเป็นหนึ่งในผู้นำเศรษฐกิจระดับโลก


เปิดยุทธศาสตร์การสร้างความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ
ชู 5 จุดแข็งหลัก ผลักดันไทยเป็นหนึ่งในผู้นำเศรษฐกิจระดับโลก


เปิดร่างยุทธศาสตร์ชาติด้านความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ชู 5 จุดแข็ง เร่งผลักดันแผนพัฒนาสู่การเป็นมหาอำนาจทางการเกษตร เน้นเกษตรคุณภาพสูง ส่งเสริมอุตสาหกรรมและบริการด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีแห่งอนาคต สร้างแม่เหล็กด้านการท่องเที่ยวระดับโลกลงสู่ชุมชนด้วยอัตลักษณ์และวัฒนธรรมไทย เร่งพัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและเศรษฐกิจของอาเซียน และเร่งสร้างนักรบเศรษฐกิจยุคใหม่ ทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่ กลาง และเล็ก
 
ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน เปิดเผยว่า ความสามารถทางการแข่งขันเป็นเรื่องของความมั่งคั่งหลักใหญ่ด้านเศรษฐกิจ แนวคิดในเรื่องนี้ คณะกรรมการจัดทำฯ มองว่าทำอย่างไรจึงจะพัฒนาศักยภาพความได้เปรียบในหลายด้านของประเทศไทยให้ออกมาเป็นยุทธศาสตร์ได้ เราได้ตกผลึกทางความคิด พิจารณาความพร้อมในหลายด้านของประเทศไทย ซึ่งนำไปสู่การร่างยุทธศาสตร์ด้านการแข่งขัน 5 ข้อหลัก ภายใต้เศรษฐกิจกระแสใหม่ โดย 1 ใน 5 จุดแข็งทางเศรษฐกิจของไทย คือ การผลักดันไทยให้เป็นมหาอำนาจทางการเกษตร ทั้งเรื่องเกษตรปลอดภัย เกษตรชีวภาพ โดยเฉพาะพืชสมุนไพรที่ยังมีการใช้ประโยชน์ค่อนข้างน้อย เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น รวมทั้งส่งเสริมการนำอัตลักษณ์พื้นถิ่นและภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยมาใช้ในการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เช่น ผ้าไหม ทุเรียนภูเขาไฟ ทุเรียนเมืองนนท์ ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง กาแฟดอยช้าง มุกภูเก็ต เป็นต้น ส่งเสริมการเกษตรอัจฉริยะ โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาฟาร์มอัจฉริยะ เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรในเชิงมูลค่าและปริมาณต่อพื้นที่สูงสุด และส่งเสริมเกษตรแปรรูปที่มีการปรับใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา
 
ทางด้านอุตสาหกรรม ประเทศเรามีความหลากหลายทางชีวภาพมาก เราจึงตั้งเป้าพัฒนาสู่อุตสาหกรรมชีวภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็น 1 ในการพัฒนาหลัก โดยเน้นเพิ่มสัดส่วนอุตสาหกรรมชีวภาพที่มีมูลค่าเพิ่มสูง อาทิ ชีวเคมีภัณฑ์ วัสดุชีวภาพ อาหารเสริม เวชสำอาง วัคซีน ชีวเภสัชภัณฑ์ และสารสกัดจากสมุนไพร นอกจากนี้ยังสร้างความสามารถการแข่งขันในอุตสาหกรรมและบริการ ครอบคลุมระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และอินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง เราต้องเอาความได้เปรียบ ความเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคทางด้านการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ สร้างการเป็นฐานการผลิตของภูมิภาคเพื่อการส่งออกสู่ตลาดโลก และการท่องเที่ยวในภูมิภาค เพื่อนำมาพัฒนาให้เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันได้
 
ด้านการท่องเที่ยว ประเทศเราเป็นแม่เหล็กการท่องเที่ยวระดับโลก โดยแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในการพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศใน 5 ประเภท คือ การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม ส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านการพัฒนาสินค้าและบริการด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ความงาม และแพทย์แผนไทย ยกระดับมาตรฐานธุรกิจบริการด้านการส่งเสริมสุขภาพ และการเสริมความงามสู่ตลาดระดับสูง อาทิ ธุรกิจสปา ธุรกิจนวดแผนไทย ธุรกิจโยคะ ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ ฯลฯ การท่องเที่ยวทางน้ำและการท่องเที่ยวเชื่อมโยงภูมิภาค เพื่อขยายการท่องเที่ยวของไทยและภูมิภาคไปพร้อมกัน ซึ่งนับเป็นมูลค่ามากมายที่จะสามารถพัฒนาชุมชนให้น่าท่องเที่ยว เน้นพัฒนาระดับท้องถิ่น เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่นที่พัฒนารายชุมชนจนเป็นประเทศที่น่าท่องเที่ยวทุกพื้นที่
 
ดร.สถิตย์ กล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยยังเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่ง เราต้องสร้างตัวเองให้เป็นศูนย์กลางการเดินทาง เป็นซูเปอร์คอลิดอร์ ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญของภูมิภาค เป็นศูนย์กลางการคมนาคมการขนส่ง การกระจายสินค้า การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว สอดรับกับการพัฒนาการเชื่อมโยงกับกลุ่มเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค เช่น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างประเทศลุ่มแม่น้ำอิระวดี เจ้าพระยา แม่โขง และเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 ของจีน เป็นต้น พร้อมส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่และเมืองเศรษฐกิจ โดยพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับการพัฒนาเมือง และสร้างเมืองเศรษฐกิจเฉพาะด้าน โดยพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกให้เป็นศูนย์กลางทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ พัฒนาเขตเศรษฐกิจตะวันตกเชื่อมโยงกับเมียนมา และเอเชียใต้ และเชื่อมต่อกับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก พร้อมยกระดับจังหวัดสำคัญให้เป็นเมืองเศรษฐกิจประจำภาค และสร้างเมืองเศรษฐกิจเศรษฐกิจเฉพาะด้าน อาทิ เมืองศูนย์กลางยางพารา เมืองนวัตกรรมอาหาร
 
ยุทธศาสตร์ต่างๆ เหล่านี้จะเกิดได้ เราต้องสร้างนักรบเศรษฐกิจขึ้นมา ทั้งนักรบเศรษฐกิจระดับชุมชน นักรบเศรษฐกิจ SMEs  ผู้ประกอบการเพื่อสังคม ผู้ประกอบการเศรษฐกิจชุมชน นักรบเศรษฐกิจเหล่านี้ต้องได้รับการส่งเสริมและการพัฒนา สร้างการเข้าถึงในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านการตลาด ด้านความรู้ และข้อมูลต่างๆ ซึ่งเราเชื่อว่าจะนำไปสู่ความมั่งคั่งของประเทศไทยต่อไป
 
ส่วนความคืบหน้าของร่างยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันนี้ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณา รวบรวม นำความคิดเห็นของประชาชนทั้ง 4 ภาค มาปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้ได้ยุทธศาสตร์ชาติฉบับที่สมบูรณ์มากที่สุด ซึ่งจะนำเสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาในขั้นต่อไป

หมายเลขบันทึก: 647530เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2018 02:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2018 02:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท