ประกาศนาม “สกว.” ยืนหยัดพัฒนาประเทศผ่านงานวิจัย


สกว.สนับสนุนงานวิจัยของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน


https://www.matichon.co.th/new/941411  

          “สกว. หรือ TRF”  ย่อมาจาก “สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย” เป็นองค์การมหาชน ขึ้นตรงต่อสำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งเมื่อ พ.ศ.2535  มีเป้าหมาย คือ สร้างและส่งเสริม นักวิจัย กลุ่มวิจัย ชุมชนวิจัย ที่มีความสามารถ ให้สร้างปัญญาและผลิตผลงานที่มีคุณภาพ เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ เทคโนโลยี                                                                                                                      กว่า 25 ปีที่ สกว. มุ่งมั่นสนับสนุนการสร้างความรู้ สร้างนักวิจัย ผ่านการสนับสนุนทุนวิจัยหลากหลายสาขาอาชีพ เพื่อการพัฒนานวัตกรรม การผลิตที่สร้างมูลค่าเพิ่ม การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและท้องถิ่นที่นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ตลอดจนการถ่ายทอดความรู้สู่สังคมเพื่อพัฒนาชาติไทย                                                                                                                                                สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น คือหัวหมู่ทะลวงฟันที่ถูกส่งออกไปให้ประดาบ ต่อสู่กับปัญหาที่ผู้คนในท้องถิ่นประสบพบเจอ เพื่อหาคำตอบ หาแนวทางแก้ไข หรือแม้แต่เป็นตัวกระตุ้นให้ชุมชนได้ตื่นตัวตั้งรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยเน้นให้ประชาชนได้เข้ามาร่วมในการแก้ปัญหา สนองความต้องการของประชาชนมากขึ้น ตลอดจนการสร้างคนในท้องถิ่นให้เข้มแข็งอันจะส่งผลไปสู่ความเข้มแข็งเจริญมั่นคงของประเทศชาติ

เมืองบางขลังกับ สกว. : วิวาทะนำมาสู่การพัฒนา                                                                                                                                10 กว่าปีที่ผ่านมา ผศ.ดร.ชุลีรัตน์ จันทร์เชื้อ จาก ม.ราชภัฏพิบูลสงคราม ผู้ประสานงาน สกว.ภาคเหนือตอนล่าง ได้ลงพื้นที่เมืองบางขลังตามคำแนะนำของ รศ.ดร.มังกร ทองสุขดี อดีตประธานสภาวัฒนธรรม จ. สุโขทัยและภาคเหนือ เพื่อหาแนวทางในการส่งเสริมพัฒนาชุมชนโบราณแห่งนี้ จากการสอบถามประชาชนพบว่าไม่ค่อยเห็นคุณค่า ความสำคัญของชุมชน ตลอดจนไม่เห็นปัญหาที่จะต้องแก้ไข  สอบถามส่วนราชการระดับจังหวัดบอกว่า เมืองบางขลังไม่น่าสนใจ หลงเหลือเพียงซากปรักหักพังเล็กน้อยเท่านั้น  ผศ.ดร.ชุลีรัตน์พร้อม สกว.จึงได้เดินจากไป...                                                                                                                                                                                          “เมืองบางขลัง” จึงได้ร่วมกับ รศ.ดร.มังกร ทองสุขดี, ประจวบ คำบุญรัตน์ อตีดอธิบดีกรมศาสนา, วีระชัย ภู่เพียงใจ นายอำเภอสวรรคโลก, โชคชัย บัณฑิต กวีซีไรต์ปี พ.ศ2544, ดวงใจ ดำรงค์สุทธิพงศ์ ดำเนินกิจกรรมต่างๆ จนนำมาซึ่งการเสด็จฯ ประทับรอยพระบาทของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2550 ภายใต้การทูลเชิญเสด็จฯ ของ นายแพทย์ปราเสริฐ-อ.วัลลีย์ ปราสาททองโอสถ แห่งสายการบินบางกอกแอร์เวส์ ประกอบกับ “เมืองบางขลัง” เริ่มได้รับรางวัลต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรางวัลธรรมาภิบาลและรางวัลพระปกเกล้าที่ถือว่าเป็นรางวัลใหญ่ระดับประเทศ                                                                                                               ผศ.ดร.ชุลีรัตน์ จันทร์เชื้อ และ สกว.หวลกลับมาอีกครั้งเมื่อเห็นว่า ทางท้องถิ่นและชุมชนมีความพร้อมในระดับหนึ่ง การมาในครั้งนี้ ผศ.ดร.ชุลีรัตน์ ได้นำทีมงานจาก ม.ราชภัฏพิบูลสงคราม ชุดใหญ่ ได้แก่ ผศ.ดร.ศุภลักษณ์ วิริยะสุมน, ผศ.วัลลิกา โพธิ์หิรัญ, ดร.ขวัญชนก นัยจรัญ, อ.วนัชพร จันทรักษา, กมลรัตน์ บุญอาจ เข้ามาช่วยเหลือ ภายใต้การสนับสนุนของ ผศ.ดร.บัญชร แก้วส่อง ผอ.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น ผศ.ดร.ชูพักตร์ สุทธิสา รอง ผอ.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น และ ดารารัตน์ โพธิ์รักษา เจ้าหน้าที่บริหารโครงการภาคเหนือ อีกทั้งยังได้รับการดูแล แนะนำอย่างสม่ำเสมอจาก ผู้ทรงคุณวุฒิ สกว. ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ รศ.ดร.เพิ่มศักดิ์  มกราภิรมย์ อีกด้วย                                                                                                               สกว. ได้สนับสนุนงบประมาณทำการวิจัย เรื่อง “การศึกษาอัจฉริยลักษณ์ชุมชนโบราณเมืองบางขลังเพื่อพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน และ อบต.เมืองบางขลัง จ.สุโขทัย” ผลการวิจัยพบของดี 8 ด้าน คือด้านโบราณสถาน, โบราณวัตถุ, ประวัติศาสตร์, วัฒนธรรม ประเพณี ศิลปะการแสดงและภูมิปัญญาพื้นบ้าน, ความคิด ความเชื่อไสยศาสตร์, สมุนไพร พืช สัตว์ธรรมชาติในท้องถิ่น, อาหาร การผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรร                                                                                                                                                       สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้สนับสนุนงบประมาณให้ทำการวิจัยเพิ่มเติม “การสร้างแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้มรดกวัฒนธรรมโดยเครือข่ายชุมชนโบราณเมืองบางขลัง 9 หมู่บ้าน” ผลจากวิจัยพบแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชุมชนจำนวนมาก ได้ 9 เส้นทางท่องเที่ยว                                                                                                                                             “เมืองบางขลัง” ได้นำงานวิจัยทั้ง 2 ชิ้น ทูลเกล้าถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวโรกาสเสด็จฯ ทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนศรีอินทราทิตย์และพ่อขุนผาเมือง ๒๕ ต.ค.๒๕๕๙                                                                                                 ต่อยอดด้วย สกว. สนับสนุนการวิจัย “การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นเพื่อการท่องเที่ยวมรดกวัฒนธรรมเมืองบางขลัง” สำหรับนักเรียน ป.4- ป.6 ผลการศึกษา  ได้โครงสร้างของหลักสูตรที่สอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม ได้แก่ ประวัติศาสตร์ บายศรี แกงหยวก ขนมลูกปรง ยาตำ                                                                                                                                       สกว. ได้เข้ามาประทับตรายืนยัน “ตัวตน” หรือ “อัตลักษณ์” ของเมืองบางขลังผ่านงานวิจัย ทำให้เกิดการยอมรับอย่างกว้างขวาง  ในขณะที่ สถาบันพระปกเกล้า ได้เข้ามาสถาปนาให้เมืองบางขลัง “มีที่ยืนอย่างมั่นคง” บนหน้าประวัติศาสตร์ท้องถิ่น จารึกนามให้เป็นที่ประจักษ์ผ่าน “รางวัลพระปกเกล้าทองคำ”  เป็นองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการเสริมสร้างเครือข่ายรัฐ เอกชนและประชาสังคม ทำให้เกิดการศึกษาดูงาน และสิ่งที่ดีงามต่างๆ ตามมา

ก้าวต่อไปของเมืองบางขลังกับ สกว.                                                                                                                                                   “ชาวนาคือกระดูกสันหลังของชาติ”  เป็นถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังกันมานาน แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของชาวนาที่มีต่อชาติไทยที่เป็นประเทศเกษตรกรรม “ชีวิตคนเมืองบางขลัง” ยังคงผูกพันกับ “วิถีชาวนา” ที่ได้รับการถ่ายทอด “มรดกการทำนา” มาอย่างยาวนาน และประสบปัญหาความยากจน มีหนี้สิน เช่นเดียวกับชาวนาในภูมิภาคอื่น  ประกอบกับเมืองบางขลังยังคงความเป็นชนบท  มีทุ่งนา ป่าเขา แม่น้ำ มีวิถีชีวิต วัฒนธรรมผูกพันกับการเกษตรกรรม ดังนั้นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรบนวิถีชาวนาจึงมีความเป็นไปได้ภายใต้ปัจจัยที่มี                                   การท่องเที่ยววิถีชาวนาก็เป็นการท่องเที่ยวเชิงเกษตรรูปแบบหนึ่ง ที่ว่าด้วยวงจรของการทำนาที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์ไปถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี  ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มาผสมผสานด้วยระบบการบริหารจัดการที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของชุมชน เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ของชาวนานำไปสู่การถ่ายทอดภูมิปัญญาแก่นักท่องเที่ยว โดยเน้นการมีส่วนร่วมของนักท่องเที่ยวในการดำเนินกิจกรรมให้เกิดการเรียนรู้ด้านการทำนา การดำรงชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี นอกจากจะเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนแล้ว ยังจะเป็นการแก้ปัญหาให้แก่ชาวนาอีกด้วย                                     เทศบาลตำบลเมืองบางขลังจึงได้ร่วมกับชาวบ้านในนามทีมวิจัย ได้เขียนโครงการขอรับทุนสนับสนุนจาก สกว.  ผลการพิจารณาได้รับการคัดเลือกให้เป็น ๑ ใน ๑๐ พื้นที่นำร่องการท่องเที่ยววิถีชาวนา ซึ่งประกอบไปด้วย ชุมชนคลองโยง จ.นครปฐม, ชุมชนชาวนาพัทลุง, ชุมชนผาหมอน จ.เชียงใหม่, ชุมชนกู่กาสิงห์ จ.ร้อยเอ็ด และทีมมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์, ชุมชนอำเภอเขื่องใน จ.อุบลราชธานี, ชุมชน ศพก.มุกดาหาร, ชุมชน ศพก.สกลนคร, ชุมชน ศพก.หนองคาย, ชุมชนสวรรคโลก จ.สุโขทัย

การท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้วิถีชาวนาเมืองบางขลัง                                                                                                                              ทีมวิจัยหลักมีด้วยกัน ๒๗ คน ประกอบด้วยฝ่ายปกครองท้องที่, ผอ.โรงเรียน, ปราชญ์ชาวบ้าน, ศิลปินพื้นบ้าน, เกษตรกร, ข้าราชการ พนักงานเทศบาล โดยมีผู้เขียนเป็นหัวหน้าโครงการวิจัย มีข้าราชการ พนักงานเทศบาลเป็นผู้ช่วยทีมวิจัย  ภายใต้การดูแลช่วยเหลือของ ผศ.ดร.ชุลีรัตน์ จันทร์เชื้อ  และกมลรัตน์ บุญอาจ                                                                                                                                  ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ  มรดกวัฒนธรรมวิถีชาวนายังคงอยู่คู่เมืองบางขลัง, ได้แนวทางในการแก้ไขปัญหาชาวนาเมืองบางขลัง, ได้แหล่งท่องเที่ยววิถีชาวนาบนแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงที่คงวิถีชีวิตของคนเมืองบางขลัง, ได้เส้นทางท่องเที่ยวและเครือข่ายการท่องเที่ยววิถีชาวนา                                                                                                                                                                                              ขอขอบพระคุณ คุณป้าเสวย ภู่เอี่ยม คนดีแทนคุณแผ่นดิน ปี ๒๕๕๒ ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมวิจัย ได้มอบที่ดินสำหรับทำนา ๑ แปลง โดยจะตั้งชื่อว่า “แปลงนาสาธิตแทนคุณแผ่นดิน” ที่ดำเนินกิจกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง ร.๙ ปลูกพืช ผักที่กินได้ เลี้ยงปลา เลี้ยงกบ ฯลฯ                                                                                                                                                                                            นับจากนี้อีกไม่นาน “นาฏกรรมแห่งศรัทธาบนการท่องเที่ยววิถีชาวนา” จะบังเกิดขึ้น สอดรับกับปีท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋อย่างยั่งยืน ร่วมสัมผัสความงดงามและสีสันแห่งวิถีวัฒนธรรม อัตลักษณ์แห่งดินแดนปฐมบทแห่งชาติไทย มาเรียนรู้ ลงมือทำ ดื่มด่ำกับกินอายแห่งทุ่งนา ป่าเขา เรียนรู้มรดกวัฒนธรรมชุมชนโบราณ นอนฟังเสียงกระซิบจากก้อนอิฐ ศิลาแลง ที่ยืนคงทนผ่านกาลเวลาที่สาดซัดกลัดกร่อน อาบความเย็นจากสายลมที่พัดพาละอองของแม่น้ำฝากระดานลูบไล้ผิวกาย เพลิดเพลินบันเทิงใจไปกับรำวงชาวนา ฯลฯ  หวังไว้ว่า อีกไม่นาน...เราคงได้พบกัน. 

หมายเลขบันทึก: 647036เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2018 08:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤษภาคม 2018 08:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท