ประสบการณ์ตรงที่ต้องบอกต่อ : ตอนที่ 3


ใจหล่นตุ้บ ได้ยินเสียงเครื่องมือผ่าเฝือกดังกว่าปกติเลยนะนั่น ความหวาดเสียวเพิ่มทวีคูณเป็นหลายเท่า กลั้นใจอดทน-อดกลั้นคิดในทางบวกไว้ก่อน

เจ็บนี้อีกนาน 
ช่วงนี้มีเวลาพักผ่อนจนเกินพอ  จึงมีเวลาทบทวนเรื่องราวต่างๆ  และอยากบอกต่อเพื่อย้ำเตือน ให้ตระหนักคิดกันสักนิด เพื่อประโยชน์ของท่านเอง  จะได้ไม่ละเลยเหมือนเช่นผู้เขียน 

สิ่งสำคัญเมื่อทำประกันสุขภาพและอุบัติเหตุชั่วคราว           
ต้องสอบถามถึงวันเวลาและผลการคุ้มครองฯให้ชัดเจน  เมื่อได้รับกรมธรรม์/ใบคุ้มครองแล้วควรตรวจสอบให้ละเอียดอีกครั้ง บางบริษัทจะหมดการคุ้มครองเมื่อกลับถึงสนามบิน  บางบริษัทยืดเวลาไปให้อีก 1 วัน  บางบริษัทต่อให้ 6 วัน 

หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นควรทำเช่นไร             
ต้องทำการติดต่อบริษัทประกันฯ ทันที( ภายใน 24 ชั่วโมง)  เพื่อแจ้งข้อมูลฯ  ปกติบริษัทใหญ่ๆ จะมีเจ้าหน้าที่ประจำประเทศนั้นๆ สามารถใช้ภาษาของประเทศนั้นได้ คอยประสาน-ติดต่อ และช่วยแนะนำให้ไปหาหมอที่ไหน ส่วนมากจะมีโรงพยาบาลคู่สัญญาในเมืองใหญ่ๆ โดยที่คนไข้ไม่ต้องสำรองจ่าย   ลำดับแรกจะให้หาหมอที่อยู่ใกล้ที่สุดเพื่อรักษาอาการขั้นพื้นฐานและวินิจฉัยว่าควรจะรักษาอย่างไรต่อ ในกรณีเร่งด่วน ที่ต้องรับการรักษาอย่างทันท่วงที เช่นไส้ติ่ง หรืออุบัติเหตุร้ายแรง  หากอยู่ห่างไกลโรงพยาบาลคู่สัญญามากและสถานพยาบาลที่นั่นรักษาได้จะรักษาที่นั่นเลย แต่คนไข้ต้องสำรองจ่ายและขอใบเสร็จ-ใบรับรองแพทย์  หากรักษาไม่ได้จะทำการส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลคู่สัญญา 
      แต่ในกรณีที่แพทย์วินิจฉัยว่าไม่เร่งด่วน  สามารถกลับไปผ่าตัด – รักษาที่ประเทศของคนไข้ได้  จะทำการดูแล-รักษาขั้นต้นและให้กลับมารักษาภายหลังกลับถึงประเทศ  เนื่องจากมีความสะดวกกว่าทั้งด้านการสื่อสารและผู้ดูแลฯ

ประสบการณ์ผ่าเฝือกที่ติดตา-ตรึงใจ           
หลังการผ่าตัด 2 สัปดาห์ คุณหมอนัดพบเพื่อดูผลฯ จึงให้ไปห้องฝ่าเฝือกและเอ็กซเรย์ รอคิวอยู่นานถึง 20 นาที พยาบาลสาวคนหนึ่งจึงเข็นพาไปนอนบนเตียงด้วยท่าสบายๆตัว และวางเท้าพลิกไปตามคำบอก  ได้รับฟังคำอธิบายขั้นตอนและบอกกล่าวว่าเสียงเครื่องมือผ่าเฝือกไฟฟ้าจะดังหน่อยแต่ไม่เป็นปัญหาใดๆ    

ยกศีรษะมองดูเครื่องมือที่รูปร่างคล้ายเครื่องมือช่างเจียวัตถุในมือพยาบาลสาวซึ่งปฏิบัติงานเพียงลำพัง   แต่รู้สึกใจชื้นเล็กน้อย เมื่อพยาบาลสาวสอดไม้บรรทัดเหล็กอันเล็กเข้าไปในช่องว่างระหว่างเท้าและเฝือก  คิดในใจว่าอย่างน้อยมันก็ป้องกันได้ระดับหนึ่งละแม้เสียงจะดังเขย่าโสตประสาทสักหน่อย ... แต่พอเธอขยับเครื่องมือไปผ่าบริเวณที่ไม่มีไม้บรรทัด ใจรู้สึกไหวยวบเกิดอาการสั่นขึ้นมาอย่างควบคุมไม่ได้  ได้ยินเสียงพยาบาลอีกคนหนึ่ง ส่งเสียงพูดหยอกล้ออยู่ด้านข้าง (ไม่รู้ว่าพูดกับคนไข้อีกเตียงที่มีผ้าม่านกั้นไว้หรือพูดกับผู้เขียน หรือแซวพยาบาลด้วยกัน) ว่า  “ ถ้ารู้สึกว่ามันโดนเนื้อก็ให้ตะโกนดังๆเลยนะคะ ”   

…. ใจหล่นตุ้บ  ได้ยินเสียงเครื่องมือผ่าเฝือกดังกว่าปกติเลยนะนั่น ความหวาดเสียวเพิ่มทวีคูณเป็นหลายเท่า กลั้นใจอดทน-อดกลั้นคิดในทางบวกไว้ก่อน  แล้วก็โล่งใจเมื่อพยาบาลสาววางเครื่องมือลงแล้วใช้กรรไกรช่วยตัดผ้าด้านใน   
*** ภายหลังจึงเล่าให้หลานสาวที่เป็นหมอฟัง  เธอบอกว่า เครื่องมือชนิดนี้ถ้ามันเจออะไรนิ่มๆ มันจะหยุด ไม่ทำงาน เพราะเคยทดสอบกับตนเองมาแล้ว  จะได้บอกคนไข้ได้    (สุดยอด...Study by doing ใช้ได้เสมอ)'           
*** โห…. ถ้ารู้ก่อนหน้านี้จะได้ไม่กลัว   เป็นประสบการณ์ผ่าเฝือกที่ติดตา-ตรึงใจจริงๆ  

สิ่งที่ควรตระหนักและควรปฏิบัติ      

ผู้เขียน :  คุณหมอคะ มียา อาหาร หรือกิจกรรมใดไหมคะที่ช่วยเสริมให้ร่างกายแข็งแรงโดยเร็ว   
คุณหมอ: ยาวิเศษที่ผมแนะนำให้คือ การออกกำลังกาย การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะเป็นการเสริมสร้างสุขภาพที่ดีที่สุด ช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพได้ในวงกว้าง รวมไปถึงโรคหลอดเลือดสมอง  โรคที่เกี่ยวกับการเผาผลาญอาหาร โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคซึมเศร้า โรคมะเร็ง และโรคไขข้ออักเสบ ฯลฯ  หาโอกาสออกกำลังกายให้ได้สักสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง 
ผู้เขียน :  การออกกำลังกายประเภทไหนดีที่สุด  
คุณหมอ :  การออกกำลังกายทุกประเภทดีเหมือนกันหมด ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคน  บางคนน้ำหนักเยอะ จะไปออกกำลังกายด้วยการวิ่งก็คงไม่ใช่  ขอแนะนำให้ออกกำลังกายแบบผสมผสาน ไม่ว่าจะเป็นการว่ายน้ำ เล่นโยคะ เดิน ฯลฯ แล้วแต่ความสะดวกและความเหมาะสมของสุขภาพของแต่ละคน

กิจกรรมฉาบฉวยของผู้เขียน..ไม่ใช่การออกกำลังกายประจำฯ 
 
ผู้เขียน :  การปั่นจักรยาน  มีทั้งปั่นด้วยข้อเท้าจริงๆ  กับการปั่นจักรยานด้วยเครื่องอยู่กับที่  ผลที่ได้เหมือนกันไหมคะ   
คุณหมอ : การปั่นจักรยานดีทั้ง 2 แบบ ขึ้นอยู่กับสถานภาพของแต่ละคน   ปั่นข้างนอกในสวนสาธารณะ อากาศดี ปลอดโปร่ง แต่ไม่ใช่ไปปั่นบนถนน การจราจรคับคั่ง ความแรงของรถบรรทุกอาจดูดเข้าไปใต้ท้อง   อันตรายถึงชีวิต 

ผู้เขียน :  แล้วตอนนี้ ควรจะออกกำลังกายประเภทไหนได้บ้างคะ
คุณหมอ : คนไข้หลายๆคนนี่ก็แปลกเหมือนกันหมด  อยากจะออกกำลังกายในขณะที่ไม่ใช่เวลาที่จะออก หรือไม่สามารถออกกำลังกายได้   ก่อนหน้านี้มีเวลามาตั้ง 20-30 ปี  ก็ไม่คิดจะออก ( 555 จี๊ดเลย) 
คุณไม่ควรออกกำลังกายที่กระทบกับข้อเท้านี้เด็ดขาด ห้ามขยับและลงเท้าข้างนี้ เนื่องจากรอยต่อมันยังไม่ประสานเข้าที่  รอให้กระดูกประสานกันดีก่อน แล้วหมอจะให้ไปทำกายภาพบำบัดและออกกำลังกายทีหลัง

 

 *** นาทีนี้ต้องใช้คาถาเรียกเนื้อด่วนจ้า ***

       *** ขอขอบพระคุณผู้เข้ามาเยี่ยมชมทุกท่านนะคะ ***

หมายเลขบันทึก: 646769เขียนเมื่อ 27 เมษายน 2018 14:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 เมษายน 2018 18:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

? ขอขอบพระคุณยิ่งค่ะ ?

? ขอขอบคุณมากนะคะ ช่วงนี้ปฏิบัติตามคำสั่งของหมออย่างเคร่งครัดค่ะ ?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท