ต้นกล้าสานฝันแบ่งปันประสบการณ์


บทความ : ต้นกล้าสานฝันแบ่งปันประสบการณ์

โครงการ : ต้นกล้าสานฝัน ครั้งที่ ๑
ชื่อองค์กร : ชมรมต้นกล้าพันธุ์ดี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ชื่อที่ปรึกษาโครงการ : อ.ดร.ฤทธิไกร  ไชยงาม

บทคัดย่อ

          กระแสการไหลเทของโลกาภิวัฒน์ เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งยวดที่ทำให้เยาวชนไทยเกิดความสับสนและไม่เข้าใจตนเองในด้านความฝัน เป้าหมายชีวิต และบุคลิกลักษณะนิสัยของตนเอง ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งต่อตัวของเยาวชนและประเทศชาติในอนาคต โครงการต้นกล้าสานฝันครั้งที่ ๑ มีเป้าหมายหลักในการพัฒนาศักยภาพเยาวชนให้เข้าใจเป้าหมายและความเป็นชีวิตของตนเองเพิ่มมากขึ้น จัดขึ้น ณ โรงเรียนนาสีนวนพิทยาสรรค์ อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม มีผู้เข้าร่วม จำนวน ๘๕ คน ซึ่งมีจุดประสงค์ คือ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการศึกษาต่อระดับต่างๆ เพื่อแนะแนวการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา และเพื่อส่งเสริมทักษะการสื่อสารของแกนนำชมรมต้นกล้าพันธุ์ดี ภายใต้กรอบแนวคิดของปรัชญาอัตถิสภาวนิยม เน้นความเป็นปัจเจกที่แตกต่างของมนุษย์ และศักยภาพของมนุษย์ ที่จะเลือกสรรชีวิตและการเรียนรู้ของตนเองได้อย่างมีเสรีภาพ

          การดำเนินงานใช้ขั้นตอนการดำเนินงานแบบวงจรเดมิ่ง(PDCA) มีการวางแผนก่อนการดำเนินงาน การดำเนินงาน การตรวจสอบงาน และการพัฒนาปรับปรุงงานอย่างเป็นระบบ ซึ่งลักษณะกิจกรรมเป็นรูปแบบค่ายเพื่อการเรียนรู้(Learning Camp) โดยเป็นเชิงการแนะแนว ทั้งการแนะแนวด้านการเรียน ด้านอาชีพ และด้านชีวิต บูรณาการร่วมกันอย่างผสมผสาน

          ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ด้านการสร้างแรงบันดาลใจในการศึกษาต่อ พบว่า เยาวชนกลุ่มเป้าหมายเกิดแรงบันดาลใจการศึกษาต่อ จากผลการถอดบทเรียน เยาวชนกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่ สะท้อนถึงแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ที่ต้องการศึกษาต่อในสายวิชาชีพที่ตนเองได้เลือกสรรเอง  ด้านการแนะแนวการศึกษาต่อ พบว่า เยาวชนกลุ่มเป้าหมายสามารถตั้งเป้าหมายการศึกษา เป้าหมายชีวิต และแผนการเรียน แผนชีวิตของตนเองได้ โดยมีสายวิชาชีพที่หลากหลายตามหลักความแตกต่างระหว่างบุคคลของหลักการแนะแนว  และด้านการส่งเสริมทักษะการสื่อสารของแกนนำชมรมต้นกล้าพันธุ์ดี พบว่า แกนนำชมรมได้ฝึกทักษะการสื่อสารในประเด็นวิชาชีพของตนเอง โดยสามารถออกแบบกิจกรรมเพื่อการสื่อสาร ตลอดจนถึงการฝึกทักษะการเป็นพี่เลี้ยง(Coach) หากมองเชิงการพัฒนา ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นทั้งมวล เป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่และตัวเยาวชน ยกระดับการศึกษาและวิชาการต่อไปในอนาคต

 วัตถุประสงค์          
          ๑) เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา ให้กลุ่มเป้าหมาย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน ๔๐ คน โรงเรียนนาสีนวนพิทยาสรรค์          
          ๒) เพื่อแนะแนวการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา ให้กลุ่มเป้าหมาย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน ๔๐ คน โรงเรียนนาสีนวนพิทยาสรรค์          
          ๓) เพื่อส่งเสริมแกนนำชมรมต้นกล้าพันธุ์ดี ใช้ทักษะการสื่อสาร วิชาชีพของตนเองในการบริการชุมชน โดยเป็นรูปแบบการแนะแนวอาชีพในโรงเรียน

วันเวลาและสถานที่          
          วันที่ ๑๗-๑๘ มีนาคม ๒๕๖๑ ณ โรงเรียนนาสีนวนพิทยาสรรค์ ตำบลนาสีนวน อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม

กรอบแนวคิด (ทฤษฎี)          
          โครงการนี้มีหลายชุดกรอบแนวคิดโดยแบ่งเป็น กรอบแนวคิดการเลือกสรรประเด็นใช้หลักการของปรัชญาอัตถิสภาวะนิยม กรอบแนวคิดการดำเนินงานใช้หลักวงจรเดมิ่ง(PDCA) กรอบแนวคิดการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ใช้หลักการเรียนรู้แบบลงมือกระทำ(Active Learning) กรอบแนวคิดการจัดการความรู้ใช้ การจัดการความรู้จากประสบการณ์ตรง(Tacit Knowledge) การตระหนักรู้ภายใน(Self-awareness) และจิตตปัญญา ซึ่งกรอบแนวคิดทั้งหมดนี้ เป็นฐานของการเปลี่ยนแปลงเชิงกระบวนการคิดในศตวรรษที่ ๒๑

ลักษณะกิจกรรม          
          กิจกรรมค่ายต้นกล้าสานฝัน ครั้งที่ ๑ เป็นลักษณะของค่ายเพื่อการเรียนรู้(Learning Camp) เป็นค่ายเชิงการแนะแนวการศึกษา แนะแนวอาชีพ และแนวแนะชีวิต โดยแบ่งกิจกรรมออกเป็น ๓ ส่วน ได้แก่ ขั้นสร้างสัมพันธภาพ(สนุก) ขั้นเรียนรู้(สุข) และขั้นสร้างชิ้นงาน(สร้างสรรค์) มีรายละเอียดย่อยเฉพาะกิจกรรม ซึ่งอธิบาย ดังนี้          
          ๑.ขั้นสร้างสัมพันธภาพ(สนุก) เป็นขั้นตอนที่เน้นการทำความรู้จัก และละลายพฤติกรรมให้เข้ากันได้แก่ กิจกรรมสันทนาการ ละลายพฤติกรรม ทำความรู้จักพี่และน้อง เพื่อการปรับตัวเข้าหากันได้ เป็นประโยชน์ต่อการนำไปสู่กิจกรรมของบทเรียนต่อมา          
          ๒.ขั้นเรียนรู้(สุข) เป็นขั้นตอนที่เน้นการเรียนรู้ตนเอง โดยมีชุดกิจกรรม ได้แก่ กิจกรรม “Who are you?” เข้าใจตัวตนของตนเองและกิจกรรมผู้นำ ๔ ทิศ เข้าใจนิสัยของตนเอง ให้เขาได้เรียนรู้ถึงความเป็นตัวตน รู้ลักษณะนิสัยของตนเอง ใช้แนวคิดการตระหนักรู้ภายใน จากนั้นภาคบ่ายเป็นกิจกรรมแนะแนวแบบกลุ่ม ๕ กลุ่ม ได้แก่ สายวิทย์สุขภาพขกายภาพ สายมนุษย์-สังคม สายศิลปะ ดนตรี สายอาชีพ และสายทหารตำรวจ ทำให้กิดแนวทางการรู้เส้นทางความฝันสู่เป้าหมายชีวิต                   
          ๓.ขั้นสร้างชิ้นงาน เป็นขั้นตอนการสร้างองค์ความรู้จากประสบการณ์ของตัวเอง โดยมีกิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมสามเหลี่ยมความฝัน เข้าใจต้นทุนแห่งเป้าหมายชีวิตของตนเอง  จากชุดกิจกรรมดังกล่าวจะเห็นว่า เป็นการออกแบบเชิงอุปนัย ซึ่งเป็นขั้นบันได ให้เกิดการเรียนรู้จากด้านใน และกิจกรรมสรุปบทเรียนของค่าย(AAR) จาการสรุปบทเรียนสะท้อนเชิงการเรียนรู้ว่า “สนุก มีความสุข ได้เรียนรู้ ได้แรงบันดาลใจ”

 ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น

          ผลที่เกิดขึ้น วิเคราะห์ออกเป็น ๒ ลักษณะ ได้แก่ สะท้อนผลแบบยึดตัวชี้วัด และสะท้อนผลเชิงคุณค่า โดยอธิบาย ดังนี้

๑.สะท้อนผลแบบยึดตัวชี้วัด

          ๑.๑ สะท้อนผลลัพธ์เชิงปริมาณ พบว่า เยาวชนกลุ่มเป้าหมาย ร้อยละ ๘๐ สามารถตั้งเป้าหมายชีวิตของตนเองได้ ผู้เข้าร่วมโครงการเกินกว่าร้อยละ ๘๐ และคะแนนความพึงพอใจอยู่ในระดับดี ร้อยละ ๘๐ ซึ่งเป็นการบรรลุตัวชี้วัดที่ได้กำหนดไว้           ๑.๒ สะท้อนผลลัพธ์เชิงคุณภาพ พบว่า เยาวชนกลุ่มเป้าหมาย เกิดแรงบันดาลใจในการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา เกิดความรู้ เรื่อง ระบบการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา นิสิตแกนนำชมรม มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้ใช้ทักษะวิชาชีพตนเอง เพื่อแนะแนวการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา โดยผลจากการวัดผลของเครื่องมือปลายเปิด

๒.สะท้อนผลเชิงคุณค่า

          ๒.๑ ผลที่เกิดขึ้นต่อเยาวชนกลุ่มเป้าหมายและนิสิตแกนนำ ยึดตามทฤษฎีพุทธิพิสัยของบลูม ได้แก่ ด้านความรู้(Knowledge) ได้รับความรู้ เรื่อง ระบบการเรียนต่อระดับอุดมศึกษา ความรู้เฉพาะด้านในสาขาที่ตนเองสนใจ ความรู้เชิงกระบวนการเรียนรู้จากเครื่องมือการฝึกคิด  ด้านทัศนคติ(Attitube) รู้สึกสนุก มีความสุข เกิดแรงบันดาลใจในการศึกษาต่อ และเกิดมนุษยสัมพันธ์อันร่วมกันของสมาชิกชมรม และด้านทักษะ(Skills) ได้ฝึกทักษะชีวิต เรื่อง การเข้าใจตนเอง ตั้งเป้าหมายชีวิต ทักษะการเป็นพี่เลี้ยง ทักษะการสื่อสาร ซึ่งเป็นทักษะสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลง          
          ๒.๒ ผลที่เกิดขึ้นต่อชุมชนและสังคม คือ เยาวชนในพื้นที่ตำบลนาสีนวน จำนวน ๔๐ คน ได้เรียนรู้กระบวนการสะท้อนผลภายในตนเอง และแกนนำชมรม จำนวน ๔๐ คน ได้ฝึกทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อวิชาชีพของตนเอง ซึ่งเป็นการพัฒนาศักยภาพของคนในสังคมทั้งชุมชนนาสีนวนและชุมชนมหาวิทยาลัย หากมองเชิงบวกผลที่อาจเกิดขึ้นตามมา คือ เยาวชนในพื้นที่มีความพยายามจนสามารถบรรลุเป้าหมายชีวิตของตนเองได้ ซึ่งจะเกิดผลการพัฒนาสังคมต่อไปในอนาคต          
          ๒.๓ ผลที่เกิดขึ้นต่อมหาวิทยาลัย คือ ได้ฝึกนิสิตจำนวน ๔๐ คน ในด้านทักษะการสื่อสาร ทักษะการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ ทักษะการเป็นพี่เลี้ยง ทักษะการบริหารจัดการ ซึ่งจะเป็นต้นทุนไปสู่บัณฑิตที่มีคุณภาพ การเป็นเครือข่ายเชิงวิชาการของโรงเรียนรอบมหาวิทยาลัยในส่วนของชมรม อีกทั้งยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ของการเป็นที่พึ่งสังคม สอดคล้องกับปรัชญามหาวิทยาลัยมหาสารคามอีกด้วย

 ความสำเร็จและปัจจัยความสำเร็จ

          ความสำเร็จที่เกิดขึ้นมากที่สุด คือ ความสนใจของเยาวชนกลุ่มเป้าหมาย ที่มีการตั้งคำถาม การสอบถาม และการตั้งเป้าหมายของตนเองตามความชอบและถนัด ซึ่งถือว่าเป็นความสำเร็จมากที่สุด ภายใต้ข้อจำกัดด้านเวลา สถานที่ และพื้นที่ โดยปัจจัยความสำเร็จที่เกิดขึ้นมีหลายปัจจัยด้วยกัน สามารถอธิบายได้ ดังนี้          
         ๑. ครูในพื้นที่ช่วยประสานงาน บริหารจัดการคน คอยประชาสัมพันธ์ให้นักเรียนเข้าร่วมโครงการอย่างทั่วถึง ภายใต้ปัญหาช่วงปิดเทอม               ๒. พลังของนิสิตแกนนำ ที่มีการแบ่งงานอย่างเป็นระบบ มีการประชุมงานก่อนทำ ระหว่างทำ และหลังทำ โดยเฉพาะการประชุมงานระหว่างทำ เป็นหัวใจสำคัญในการแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที          
          ๓. หลักคิด เรื่อง “ความไม่สมบูรณ์แบบ” ทำให้ทำงานอย่างสบายใจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีผลตามมา คือ บรรยากาศให้การเรียนรู้ระหว่างนิสิตแกนนำที่เหมาะสม

ปัญหาและอุปสรรค

          ปัญหาที่เกิดขึ้น ได้แก่ การจัดกิจกรรมช่วงปิดภาคเรียน ทำให้การประชาสัมพันธ์เป็นไปได้ยากลำบากมาก สภาพอากาศที่ร้อน ทำให้การจัดกิจกรรมเชิงการสะท้อนผลภายในไม่ค่อยเกิดบรรยากาศการเรียนรู้ และปัญหาของฐานสายอาชีพที่แนะแนวขาดการเห็นภาพ ซึ่งเยาวชนกลุ่มเป้าหมายเข้าใจได้ยาก ทั้งนี้มวลปัญหาดังกล่าว มาจากข้อจำกัดในเชิงพื้นที่และข้อจำกัดเชิงการบริหารจัดการของคณะผู้ดำเนินงาน

แนวทางการดำเนินงานในครั้งต่อไป          
          ๑. การจัดกิจกรรมให้แกนนำชมรมได้ออกแบบหลักสูตร เขียนหลักสูตรเป็นรูปเล่ม และทดลองใช้หลักสูตรร่วมกัน เพื่อเป็นการฝึกทักษะการออกแบบกระบวนการเรียนรู้และสานต่อการทำงานอย่างเป็นระบบ          
          ๒. การพัฒนาฐานสายอาชีพ ให้สามารถเกิดการเรียนรู้ได้มากขึ้น อาจใช้ภาพ วิดิทัศน์ เกมเพื่อการเรียนรู้ และกิจกรรมรูปแบบอื่นๆสอดแทรกด้วย          
          ๓. การออกแบบระยะเวลาให้เหมาะสม โดยพยายามกำหนดวันให้ลงทำกิจกรรมช่วงเวลาเรียนปกติ เพื่อจะได้สะดวกต่อการประชาสัมพันธ์โครงการ

ความเห็นและข้อเสนอแนะจากอาจารย์ที่ปรึกษาชมรม

          ลักษณะเด่นของกิจกรรมที่จัดโดยนิสิตชมรมต้นกล้าพันธุ์ดี คือ การเน้นกระบวนการเรียนรู้ที่ครบถ้วนทั้ง ๓ ฐานการเรียนรู้ ทั้งฐานกาย ฐานคิด และฐานใจ โดยนำเอาทฤษฎีการเรียนรู้ด้านการศึกษามาเป็นหลักวิชาในการออกแบบกิจกรรมอย่างเป็นระบบและขั้นตอน มีการตั้งผลลัพธ์การเรียนรู้ (Learning Outcome) ที่ลุ่มลึกครอบคลุม ๓ ระดับ ได้แก่ สนุก สุข สร้างสรรค์ ผมสังเกตว่า มีการนำเอาเครื่องมือด้านจัดการความรู้ (Knowledge Management) ในหลายขั้นตอน ลักษณะการนำกิจกรรมเป็นการทำบทบาทผู้อำนวยการเรียนรู้ (Facilitator) อย่างชัดเจน ไม่ใช่เพียงนำกิจกรรมเพื่อกิจกรรมเท่านั้น

          ขอเป็นกำลังใจให้นิสิตชมรมต้นกล้าพันธุ์ดี สร้างสรรค์กิจกรรมในลักษณะนี้ต่อไป ทุกครั้งที่จัดกิจกรรมลักษณะนี้ ผู้ที่ได้เรียนรู้มากที่สุดคือผู้อำนวยการเรียนรู้ หรือก็คือนิสิตนั่นเอง  อยากเสนอแนะให้มหาวิทยาลัย สร้างค่ายผลิตนิสิตผู้นำการเรียนรู้ในลักษณะนี้ให้มาก ๆ  กิจกรรมพัฒนานิสิตในลักษณะนี้ จะนำและพัฒนามหาวิทยาลัยไปสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ที่ทุกคนใฝ่รู้และเรียนรู้ตลอดชีวิตต่อไป

หมายเลขบันทึก: 646661เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2018 08:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 เมษายน 2018 08:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท