​โทษของการพูดไม่ถูกกาล


โทษของการพูดไม่ถูกกาล

          บุคคลควรพิจารณาก่อนพูด  ถ้าพูดปราศจากการพิจารณา คำพูดอาจจะทำให้ตนเองได้รับความเดือดร้อน หรือทำให้พูดอื่นได้รับความเสียหาย ซึ่งคำพูดบางประโยคอาจจะไปทำลายใจของคนอื่นโดยไม่รู้ตัว  พระพุทธเจ้าตรัสสุภาษิตในมงคล 32 ประการ ว่า

“สุภาสิตา จ ยา วาจา    เอตัมมังฺคลมุตตมัง  การกล่าววาจาสุภาษิต เป็นมงคลอันสูงสุด”

          การอยู่ร่วมกันในสังคมมนุษย์ที่มีการติดต่อสัมพันธ์กันนี้ คำพูดนั้นเป็นสื่อที่ใช้มากที่สุดก็ว่าได้ วาจาสุภาษิตนั้น หมายถึง คำพูดที่ผู้พูดได้กลั่นกรองไว้ดีแล้ว คิดแล้วคิดอีกจึงพูดออกไป มิได้หมายความว่า อยากจะพูดอะไรก็พูดไปอย่างนั้น โดยขาดการพินิจพิจารณาเสียก่อน  เวลาพูดให้มีสติกำกับเวลาพูด  พูดน้อยไปก็จะทำให้การสื่อสารไม่สมบูรณ์  พูดมากไปก็เกิดโทษ  ไม่พูดเลยก็ยิ่งไม่รู้เรื่อง ดังนั้น การรู้จักพูดนั้นจึงเป็นคุณประโยชน์ทั้งต่อตัวผู้พูดเองและผู้ฟังด้วย องค์ประกอบของวาจาสุภาษิต มีทั้งหมด ๕ ประการด้วย คือ

          ประการแรก  พูดนั้นต้องเป็นคำจริง ไม่ใช่คำพูดที่เสกสรรปั้นแต่งขึ้นมา เพราะคำจริงแท้ ย่อมจะเป็นคำพูดที่ไม่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ไม่บิดเบือน ไม่มีการต่อเติมเสริมแต่งให้ดูสมจริงสมจัง  หรือพูดทำลายน้ำใจผู้อื่น

          ประการที่สอง พูดต้องเป็นคำที่สุภาพ เป็นคำพูดที่ไพเราะ ซึ่งได้กลั่นกรองออกมาจากใจที่บริสุทธิ์ ไม่ใช่คำที่หยาบคาย ประชดประชัน  ส่อเสียด  ฟังแล้วก็ระคายหู คิดถึงก็ขุ่นมัว  

          ประการที่สาม พูดต้องก่อให้เกิดประโยชน์ คือ เป็นผลดีทั้งแก่ผู้พูด และผู้ที่ได้รับฟัง คำพูดนั้นแม้จะเป็นความจริง สุภาพ แต่หากพูดไปแล้วไม่เกิดประโยชน์  เราก็ไม่ควรพูด เพราะมันจะก่อให้เกิดโทษมากกว่า  

      ประการที่สี่ พูดด้วยจิตด้วยเมตตา มีความปรารถนาดีจริงๆ  ไม่ใช่เสแสร้งแกล้งทำไป  ต้องออกมาจากใจที่บริสุทธิ์  หรืออยากจะให้ผู้ฟังได้รับประโยชน์และมีความสุขยิ่งๆ ขึ้นไป 

      ประการที่ห้า พูดถูกกาลเทศะ  พูดถูกกาล  คือรู้ว่าเวลาไหนควรพูด  เวลาไหนควรนิ่ง พูดถูกเทศะ ก็คือถูกสถานที่ รู้ว่าสถานที่อย่างนี้ควรพูด หรือไม่ควรพูดอย่างไร เป็นต้น 

          หากเราพูดผิดพลาดแม้เพียงครั้งเดียวอาจก่อให้เกิดอันตรายอย่างที่คาดไม่ถึงได้  เหมือนดังเรื่องที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ที่พระบรมศาสดาทรงนำมาเล่า ปรารภถึงการพูดที่ไม่ถูกกาลเทศะของภิกษุชื่อว่า โกกาลิกะ สุดท้ายถึงความฉิบหาย

            เราจะได้เห็นว่า การพูดที่ไม่ถูกกาลเทศะนั้น ไม่เป็นผลดีต่อตนเองเลย มีแต่จะก่อให้เกิดผลเสียหายตามมา  ทั้งยังทำให้ไม่เป็นที่รักเพราะคำพูดที่มากจนเกินพอดี  หรือพูดทำลายใจผู้อื่นด้วยปราศจากการพิจารณาจะทำให้คนอื่นมีความอึดอัดใจ  บางครั้งหากพลั้งพลาดไปก็เอากลับคืนมาไม่ได้  เหมือนธนูที่ปล่อยออกจากแล่งไปอย่างนั้น ดังนั้น ก่อนที่เราจะพูดต้องหมั่นฝึกสติให้ดี ให้มีสติก่อนที่จะพูดออกไป หัดพูดด้วยวาจาสุภาษิต มีความอ่อนน้อมต่อผู้น้อยและผู้ใหญ่  ถ้าทำได้อย่างนี้ ทุกถ้อยคำของเราจะเป็นคำที่มีประโยชน์ เป็นขุมทรัพย์ที่มีค่าเกินกว่าจะสรรหาคำใดๆ มาเปรียบเทียบได้ เพราะเป็นถ้อยคำที่จะน้ำใจของทุกๆ คนให้ได้พบกับแสงสว่างของชีวิต

หมายเลขบันทึก: 646181เขียนเมื่อ 3 เมษายน 2018 00:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 เมษายน 2018 00:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท