ประวัติศาสตร์ บาดแผล แผลกลัดหนองที่รอการบ่งและสมานของสังคมไทย กฎหมาย


หลังจากโหนประแสบุพเพสันนิวาสมาทีหนึ่งแล้ว  ก็ขอเขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์มาอีกหน่อย และขอตั้งข้อสังเกตุอีกหน่อย 

อย่างที่บอกครับ ครคุมประวัติศาสตร์ คนนั้นคุมอนาคต  ใครจัดการประวัติศาสตร์ได้ คนนั้นคุมปัจจุบันและอนาคตได้โดยไม่ต้องใช้กำลังทหาร

ในประเทศไทย เราเปฯประเทศที่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นถูกกดทับด้วยประวัติาสตร์รัฐชาติ ทั้งๆที่ในอดีตรัฐไทยไม่มี เรามีแต่ศูนย์อำนาจที่มีลักษณะคล้ายนครรัฐหลายๆ แห่งมารวมกันแบบหลวมๆ ภายใต้การนำของศูนย์กลางอำนาจ ณ ที่บริเวณใดบริเวณหนึ่ง  และก็มีการติดต่อสื่อสาร ปฏิสัมพันธ์กัน ในภาคกลาง ก็มีบางกอก ภาคเหนือ ก็เชียงใหม่ ภาคใต้ก็ปัตตานี ภาคอีสานก็เวียงจันท์(ภายหลังถูกทำลาย และถูกยุบ) อานาเขตของประเทศไม่ชัด เปนไปตามความเข้มแข็งของศูนย์กลางอำนาจรัฐและเมืองบรรณาการในขณะนั้น  เหตุนี้ เราจึงเห็นพิษณูโลกสองแควเข้าข้างบุเรงนองมิได้เข้าข้าง พระมหินทราธิราชแห่งอโยธยาในศึกเสียกรุงคราวที่หนึ่ง เพราะขณะนั้นอำนาจในเมืองสองแควพระพิษณุโลกก็มีความเด็ดขาดในตัวเองระดับหนึ่ง การตัดสินใจขึ้นอยู่กับผู้ปกครองเมือง มิได้สั่งตรงมาจากอโยธยา ดังนั้นจะบอกว่าเปนการกบฏก็ไม่ถนัดปาก

หรือแม้แต่กรณี เชียงใหมกับปัตตานี พยายามแยกตัวจากอโยธยา หรือ รัตนโกสินทร์ นั่นก็เป็นความพยายามเอาตัวรอดของผู้มีอำนาจในศูนย์อำนาจนั้นๆ และเป็นเรื่องการเมืองในประวัติศาสตร์ ซึ่งเปนเรื่องอดีตที่ทุกฝ่ายต่างพยายามรักษาประโยชน์ของตน (อย่าถามนะว่า เป็นผลประโยชน์ของราษฎร หรือของผู้ปกครอง  คิดกันเอา  เอาง่ายๆ วิธีการคิดของผู้ปกครองสมัยก่อนแม้แต่พระนารายณ์เอง พอมิชันนารีมาทูลขอเปิดโรงพยาบาล พระนารายณ์กลับงง  และทรงมีพระราชดำรัสตอบกลับราชทูตว่า หน้าที่สร้างโรงพยาบาลไม่ใช่หน้าที่ของกษัตริย์ / ที่จริงไปตำหนิท่านก็ไม่ได้ เพราะถ้าไปดูตำราว่าด้วยอำนาจและหน้าที่กษัตริย์ ของอินเดียที่ไทยรับมาใช้ หรือแม้แต่ทศพิธราชธรรม ผู้ปกครองก็ไม่ได้มีหน้าที่สร้างโรงพยาบาล หรือหน้าที่ทางสาธารณสุข ดูปรีชา ช้างขวัญยืน / พระนารายณ์เองท่านก็ทรงเป็นผลพวงของประวัติศาสตร์ในเรื่องหน้าที่ของผู้ปกครองที่เรารับมาจากอินเดียอีกที   อนึ่งถ้าผมเข้าใจผิดก็ท้วงได้นะครับ)

มาต่อกัน ถ้าแค่ข้างบน แล้วอะไร คือบาดแผลในประวัติศาสตร์ของไทย

ไทยมีหลายแผลครับ  แต่แผลวันนี้แผลที่ใหญ่สุดน่าจะอยู่ที่ภาคใต้ของเรา  หลายปีที่ผ่านมาตั้งแต่ยังไม่มีเฟสบุ๊คจนถึงมีเฟสบุ๊ค ผมเห็นมีการแชร์ข้อมูลจากหลายฝ่าย ทั้งฝ่ายที่ยุให้เกลียดชังเจ้าหน้าที่ของรัฐ ฝ่ายที่ยุให้เกิดกระแส Islamophobia และ  ฝ่ายที่ทำให้เกลี่ยดคนพุทธ ทั้งๆที่เราต่างเปนคน มีชีวิตจิตใจ ความรู้สึกเหมือนกัน มีความรัก สิ่งที่เราคิดว่า "มันเปนของของเราเหมือนกัน"  

ในกลุ่มในเฟสบุ๊คด้านประวัติศาสตร์กลุ่มหนึ่ง  ผมเห็นมีคนพยายามสร้างกระแสคลั่งรัฐปัตตานี ขึ้นมา และมีการอ้างว่ามันไม่เป็นธรรมที่รัฐไทยไปยึดเอาปัตตานีและแบ่งพื้นที่ไปให้ มาเลเซีย หรือบริเทนในขณะนั้น โดยไม่ถามเจ้าของก่อน  พร้อมกับกดขี่คนในพื้นที่ แถมบอกด้วยว่าพื้นที่นี้ เป็นของมุสลิมมาก่อน โดยยกเอาประวัติศาสตร์ส่วนของลังกาสุกะสนับสนุน (ในส่วนนี้ ผมไม่ขอตัดสิน เพราะมันเป็นเรื่องการเมืองในอดีต และเป็นเรื่องของผลประโยชน์ของแต่ละฝ่าย)  ในขณะที่ฝ่ายพุทธสุดโต่งก็พยายามโพสต์รูปที่เหยื่อชาวพุทธถูกฆ่า ทั้งพระ และชาวบ้าน และปั่นกระแสเกลียดชังมุสลิม  แถมมีข้อมูลที่แชร์กันทางอินเตอร์เน็ตว่ามีการสอนกันในหมู่คนมุสลิมในท้องที่ว่า ถ้าเจอคนพุทธให้ถ่มน้ำลายใส่ ทั้งหลายทั้งปวงนี้สะท้อนให้เห็นอะไร ความไม่เข้าใจ ความไม่ไว้ใจ และบาดแผลทางประวัติศาสตร์

มาดูข้ออ้างของสองฝ่ายและความเป็นจริงที่บังตาเราทั้งคู่ไว้

๑ ลังกาสุกะ มีทั้งสองช่วง ทั้งช่วงที่เปนของพุทธ และช่วงที่เป็นของมุสลิม  จะเห็นซากโบราณสถานพุทธกระจายอยู่ไปในปัตตานีด้วย

๒ รัฐปัตตานี ถ้ามองในสายตากฎหมายระหว่างประเทศในปัจจุบัน ปัตตานีในอดีต ไม่มีสภาพของความเป็นรัฐสมัยใหม่เพราะขาดอำนาจอธิปไตย (รัฐ = รัฐบาล + ดินแดน+ ประชากร+ อำนาจอธิปไตย)  แต่จะฟันธงไปแบบนั้นก็ ไม่ถูกแน่ๆ เพราะเห็นสุลต่านผู้ปกครอง พื้นที่ยังส่งจดหมายหาผู้สำเร็จราชการชาวอังกฤษอยู่ พูดง่ายๆ ปัตตานีในสมัยรัชกาลที่ห้าคล้ายๆรัฐในอารักขาของสยาม รวมถึงล้านนา และล้านช้างด้วย  แต่ข้อเท็จจริง คือ ไทย เราผนวกมา และกฎหมายระหว่างประเทศสมัยนั้น ไม่ได้ห้ามการทำสงครามขยายดินแดน
 

ดังนั้นพื้นที่ส่วนนั้น เป็นพื้นที่ทั้งของคนพุทธและมุสลิม รวมทั้งชาติอื่นๆที่อยู่รวมกันมาช้านาน เห็นได้ว่ามีสถานีการค้าของดัชท์ตั้งอยู่ที่ปัตตานีตั้งแต่สมัยอยุธยาด้วย ดังนั้น ร้อยเปอร์เซนต์มีคนคริสต์อยู่ด้วย

๓ คนพุทธที่เปนเหยื่อ ของการก่อการร้าย มีจริงเยอะด้วย  แต่ก็พอๆ หรืออาจจะน้อยกว่า คนมุสลิมในพื้นที่ที่เป็นเหยื่อการก่อการร้าย  สรุปทั้งไทยพุทธและมุสลิมเป็นเหยื่อของการก่อการร้ายทั้งคู่ เราเป็นเหยื่อของความรุนนแรงทั้งคู่

๔ในอดีตคนมุสลิมยุคจอมพลป. ถูกบังคับให้เลิกใส่ชุดมุสลิมและหันมาแต่งการสมัยใหม่ตลอดจนสวมหมวกแทน  พอๆกับที่คัมภีร์โบราณในพุทธศาสนาทั้งในภาคเหนือและอีสานที่ถูกจารึกไว้ในอัษรท้องถิ่น(ตัวล้านนา/ ตัวธรรม)  ถูกเผาไปเปนจำนวนมาก เพื่อสังเวยความเป็นไทยสมัยใหม่ตามลัทธิฟาสซิสม์ที่จอมพล ป. พยายามเจริญรอยตามในสมัยนั้น

๕ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐไทยในอดีตใช้วิธีการอุ้มฆ่า Enforced disappearanceในการจัดการคนที่รัฐไทยคิดว่าเป็นศัตรูทางการเมืองทั้งกรณี หะยีสุหลง อับดุลการ์เดช, พระยาทรงสุรเดช, ครูเตียง ศิริขันธ์ม  นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ , นายถวิล อุดล , นายจำลอง ดาวเรือง  และ ดร.ทองเปลว ชลภูมิ รวมถึง จอมพล ป.พิบูลสงครามเอง ก็ถึงแก่อนิจกรรมที่กรุงโตเกียวอย่างมีเงื่อนงำ  ดังนั้น ไม่ใช่เฉพาะคนมุสลิมที่เป็นเหยื่อของการใช้อำนาจรัฐอย่างบิดเบี่ยวในประวัติศาสตร์

๖ เราปฏิเสธ ไม่ได้ว่ารัฐไทยใช้กำลังคนและอาวุธเข้าปราบปรามคนที่เห็นต่าง มาตลอด ทั้งกรณีดุซงญอ และกรณีกรือเซะตากใบ โดยปัจจุบัน เราก็ยังหาคนรับผิดชอบต่อเหตุการณ์นั้นไม่ได้ (อย่างไรก็ตาม กรณีกรือเซะนี้ยังมีข้อกังขา เพราะฝ่ายผู้ก่อการเริ่มทำร้่ายเจ้าหน้าที่ก่อน  และมีการวางแผนมา)

เราปฏิเสธไม่ได้ว่า วิธีการในการจัดการข้าราชการแย่ๆในอดีตของรัฐไทยคือการเอาคนแย่ๆ ย้ายไปอยู่ที่ยากๆ และไกลๆ และมีปัญหา แทนที่จะเอาคนเก่งและดีไปแก้ไขปัญหา ในพื้นที่ยากๆ  ผลคือ เละ และกลุ่มคนเหล่านั้นกลับไปสร้างอิทธิพลและความเดือดร้อนในพื้นที่ให้คนในพื้นที่รู้สึกแย่ๆอีก

๘ในคัมภีร์ทางศาสนาของทั้งสองศาสนา พระไตปิฎก และอัลกุระอาน ทั้งคู่ต่างห้ามการฆ่า  โดยเฉพาะในอัลกุรอานห้ามการซ่านักบวชและทำลายศาสถานของต่างศาสนา ผมอ่านเพราะเพื่อนมุสลิมของผมที่สนิทๆมาก และชวนผมเปลี่ยนมาถือมุสลิมให้คัมภีร์อัลกุรอานผมมา (ปล. ผมไม่ได้เปลี่ยนศาสนานะครับเพราะ ผมเองก็รักศรัทธาในวิถีแพ่งพุทธ แต่รู้ว่าเพื่อนผมเขาก็หวังดี เพราะเขานับถือว่าอิสลามก็เปนสิ่งที่เขารักมากที่สุดในชีวิต และผมเองก็เชื่อว่าอิสลามเป็นศาสนาที่ดีเพราะคำสอนในอิสลามทำให้เขาเป็นเพื่อนที่ดีของผมในทุกวันนี้)

 ๙ผมเองไม่ได้ศึกษาหลักฐานมากเพียงพอที่จะชี้ว่าคุณภาพชีวิตของคนในปัตตานียุคที่ยังเป็นศูนย์กลางอำนาจอิสระและปกครองโดยสุลต่านอยู่นั้น ดีกว่าสมัยนี้หรือไม่  และที่จริง  น่าตั้งคำถามตรงๆว่า ถ้าเกิดปัตตานีจะแยกออกไปจริงๆ คุณภาพชีวิตของคนจะดีกว่าที่เป็นอยู่นี้หรือไม่)  และถ้ามีคนชูธงการแบ่งแยกเพราะศาสนาจริงๆ ก็น่าจะถามว่า  คนที่อยากแบ่งแยกจะทำอย่างไรกับคนศาสนาอื่นที่อยู่ในดินแดนของสามจังหวัดชายแดนใต้ ที่เขาอยู่มานานแล้ว   จากใจจริงผมไม่อยากให้ใครใช้ศาสนามาเปนตัวแบ่งแยกคนเลย เพราะมันจะกลายเป็นการแสดงความใจแคบของศาสนาของตนเอง

ถ้าเราเปลี่ยนโจทย์ในการศึกษาประวัติศาสตร์ใหม่ของไทย โดยศึกษาความผิดพลาดของรัฐไทยในอดีตแทนที่จะศึกษาว่าศูนย์กลางอำนาจทำดีทุกอย่าง  อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  เราจะได้โจทย์สำหรับแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง

ว่า ๑ รัฐไทยในอดีตมีการบริหารจัดการความหลากหลายทางวัฒนาธรรมของคนในชาติอย่างไร โดยเฉพาะช่วงก่อนรัฐกาลที่ห้า  และน่าคิดว่าดีกว่าสมัยปัจจุบันหรือไม่?
๒. ความผิดพลาดหรือข่้อเสียของการจัดการความหลากหลายทางวัฒนธรรมโดยไม่เข้าใจ คืออะไร  และเราจะแก้ไขปัญหาอย่างไร

๓.เราจะเอาประวัติศาสตร์มาใช้สร้างความสัมพันธ์ของคนในท้องถิ่นในภูมิภาคต่างๆของไทยอย่างไร?
๔. เราจะทำอย่างไร ไม่ให้เกิดการใช้อำนาจรัฐโดยบิดผันอย่างที่เปนมาในประวัติศาสตร์อีก?
๕. เราจะทำอย่างไรให้มีการสอนประวัติศาสตร์ที่ไม่สร้างความแตกแยกให้กับคนในชาติ และกับประเทศเพื่อนบ้านอีก รวมทั้งสอนประวัติศาสตร์อย่างสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชาติทุกคนอีก
๖. นโยบายและกฎหมายการศึกษาของรัฐไทยในปัจจุบันกำหนดหน้าที่ในการสอนประวัติศาสตร์ และทิศทางการสอนประวัติศาสตร์ ไว้หรือไม่อย่างไรและจะทำให้เกิดความเปนกลางในการศึกษาประวัติศาสตร์  คือศึกษาทั้งด้านบวกและลบของประวัติศาสตร์ของรัฐไทยได้หรือไม่


Photo CR. https://twitter.com/tarih_seve...

 อนึ่ง  ผมเองต้องออกตัวก่อนว่า ผมไม่ใช่คนในพื้นที่ และไม่ใช่เหยื่อความรุนแรง ผมมองจากสายตาคนภายนอกที่รักชาติ รักเพื่อนมนุษย์ และรักเพื่อนมุสลิมของผม  ในขณะที่ผมเองเป็นคนพุทธ  ผมอาจจะไม่เข้าใจความเจ็บปวดลึกๆ ของเขาก็ได้  ขอเรียนท่านผู้อ่านว่า สิ่งที่ผมเขียน มิได้เป็นการ ประณาม หรือ ตำหนิใคร  แต่มุ่งอยากให้เกิดการศึกษาประวัติศาสตร์อย่างสร้างสรรค์   อนาคตผมจะเอากฎหมายมาวิเคราะห์ การเรียนประวัติศาสตร์ ไทยอีกครับว่าทำอย่างไร เราจะได้รู้จักตัวเองจริงๆ และลงมือรักษาแผลของเราเอง

หมายเลขบันทึก: 646016เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2018 08:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มีนาคม 2018 16:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท