เรียนรู้วิธีคิด “จีน”: รัฐสร้าง “คน” ประชาชนสร้าง “ชาติ”


เพราะ WeChat โปรแกรมเดียว สามารถใช้งานได้สารพัดทั้งการจองคิวร้านอาหาร โรงพยาบาล โดยกดสแกน QR Code รวมถึงจ่ายเงินค่าบริการ ค่าปรับต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ที่เป็นเช่นนี้ได้ก็เพราะรัฐบาลจีนได้ผสานข้อมูลระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน จึงทำให้ WeChat ตอบสนองการใช้งานจริง และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันให้กับประเทศที่มีประชากรเกือบ 1,400 ล้านคนได้อย่างลงตัว

เรียนรู้วิธีคิด “จีน”

รัฐสร้าง “คน” ประชาชนสร้าง “ชาติ”

อรรถการ สัตยพาณิชย์

 

                การจัดอันดับมหาเศรษฐี ปี 2018 ของนิตยสารฟอร์บส์ มีชาวจีน 2 คนที่ติด 20 อันดับแรกที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ได้แก่ อันดับที่ 17 หม่า ฮว่าเถิง  CEO ยักษ์ใหญ่อินเทอร์เน็ต “เทนเซนต์” (Tencent) มีทรัพย์สิน 45,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และติดอันดับหนึ่งมหาเศรษฐีของเอเชีย ส่วนอันดับที่ 20 คือ แจ๊ค หม่า ผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัท อาลีบาบา (Alibaba) มีทรัพย์สิน 39,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดอันดับที่ 20 และฟอร์บส์ยังให้ข้อมูลอีกว่าในปีนี้จีนมีเศรษฐีมากเป็นอันดับ 2 จำนวน 373 คน รองจากสหรัฐฯ ที่มี 585 คน

               กล่าวได้ว่า 40 ปี หลังจากเติ้งเสี่ยวผิงได้เริ่มนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1978 ทำให้จีนในวันนี้ มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง และมีเศรษฐีใหม่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก

                ผมได้มีโอกาสคุยกับ คุณวรมน ดำรงศิลป์สกุล คนรุ่นใหม่ที่มีความรู้เกี่ยวกับจีนในระดับดีมาก และเป็นผู้เขียนหนังสือ หาวห่าว Marketing การตลาดจีนยุคใหม่ที่คุณต้องร้องโอ้โห! และ เหินห่าว Business อยากเก่งธุรกิจ ต้องคิดอย่างจีน ทำให้รู้ว่ากำแพงที่ทำให้เราเข้าไม่ถึงจีนก็คือ การไม่รู้ภาษาจีน และมักจะคิดว่าจีนไม่ทันสมัย เก่งแต่ก็อปปี้สินค้าคนอื่น

                แต่ในความเป็นจริง คุณวรนมเล่าว่า แม้ผู้ประกอบการจีนอาจจะเริ่มต้นการพัฒนาสินค้าจากการลอกเลียนแบบสินค้าที่มีเทคโนโลยีเหนือกว่า แต่โดยธรรมชาติแล้ว ผู้ประกอบการจีนเป็นผู้ที่รู้จักคิดต่อยอดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้สินค้าให้มีมากขึ้น นอกจากนี้ผู้ประกอบการจีนยังรู้จักนำเทคโนโลยีมาใช้ในการช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน จนทำให้เกิดเป็นสินค้าบริการ หรือโมเดลทางธุรกิจ (Business Model) ใหม่เกิดขึ้นมาโดยตลอด

                   จึงไม่แปลกที่จีนจะเป็นประเทศที่มีธุรกิจ Startup ในกลุ่ม Unicorn คือ มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐมากที่สุดในโลก และที่สำคัญ เจ้าของ Startup ก็มีแนวโน้มอายุน้อยลง ปัจจัยที่ช่วยส่งเสริม Startup ให้เติบโตก็คือ รัฐบาลจีนได้สร้างกลไลสนับสนุนอย่างเป็นระบบ โดยมีสถาบันอบรมการสร้างผู้ประกอบการในหลาย ๆ เมือง เช่น ปักกิ่ง เซียงไฮ้ เซินเจิ้น ฯลฯ  

                    สำหรับกรณีศึกษาโมเดลธุรกิจที่น่าสนใจที่คุณวรมนเล่าให้ฟังก็คือ โวตี๋หั่วกัว ร้านสุกี้ที่ขึ้นชื่อเรื่องความทันสมัย ให้บริการรวดเร็ว และราคาถูก มีการลดต้นทุนโดยการตัดพ่อค้าคนกลาง ทำให้ทั้งผัก หรือเนื้อ ราคาพอๆ กับไปเดินซื้อของในตลาดสดเอง นอกจากนี้ยังมีการลดการใช้พนักงานลงด้วยการให้ลูกค้าบริการตัวเอง โดยมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ คือ แทนที่จะจ้างพนักงานเสิร์ฟ ลูกค้าจะต้องเดินไปเลือกผัก หรือเนื้อด้วยตัวเองและส่งให้พนักงานเก็บเงินคิดราคา ทุกถาดจะมีชิป RFID ติดอยู่ เวลาคิดเงินก็วางที่เครื่องอ่าน เครื่องก็จะแจ้งราคาอย่างรวดเร็ว   

                การคิดค่าบริการ ร้านนี้ยังคิด “ค่าโต๊ะ” ตาม “ขนาดโต๊ะ” และ “ช่วงเวลา” กล่าวคือ โต๊ะเล็ก นั่ง 2-4 คน ในช่วงเวลาที่ไม่ใช่มื้อเที่ยงหรือมื้อเย็นจะคิดราคาอยู่ที่ 25 บาทต่อ 15 นาที หรือชั่วโมงละ 100 บาท แต่ถ้าเป็นมื้อเที่ยงหรือมื้อเย็นจะคิดราคา 15 นาที 40 บาท หรือชั่วโมงละ 150 บาท ถ้าโต๊ะใหญ่ 6-8 คน สนนราคาอยู่ที่ 15 นาทีละ 50 บาท หรือ 200 บาทต่อชั่วโมง ส่วนเวลาเร่งด่วนจะคิด 15 นาทีต่อ 75 บาท หรือ 300 บาทต่อชั่วโมง การคิดเงินก็จะคิดจากสองยอด คือ ยอดแรก คือ ค่าอาหาร ยอดที่สอง คือ ค่าเวลาใช้โต๊ะ เมื่อลูกค้าเข้ามาใช้บริการก็จะได้รับบัตรเงินสดในการซื้ออาหารและตอกบัตรนับเวลาการกินด้วย

                หรืออีกกรณีศึกษาหนึ่งคือ โปรแกรมแชท WeChat การที่จีนบล็อกโซเชียลมีเดียจากโลกภายนอก ทำให้ต้องมีการพัฒนาหลายโปรแกรมขึ้นมาใช้ภายในประเทศเอง รวมทั้งโปรแกรม WeChat ด้วย และในวันนี้คุณวรมนเชื่อว่าโปรแกรมนี้มีการพัฒนาที่ก้าวล้ำกว่า facebook เพราะ WeChat โปรแกรมเดียว สามารถใช้งานได้สารพัด ทั้งการจองคิวร้านอาหาร โรงพยาบาล โดยกดสแกน QR Code รวมถึงจ่ายเงินค่าบริการ ค่าปรับต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว  ที่เป็นเช่นนี้ได้ก็เพราะรัฐบาลจีนได้ผสานข้อมูลระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน จึงทำให้ WeChat ตอบสนองการใช้งานจริง และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันให้กับประเทศที่มีประชากรเกือบ 1,400 ล้านคนได้อย่างลงตัว

                ดังนั้น การบูรณาการข้อมูลกันอย่างเป็นระบบ จึงทำให้จีนมีข้อมูลที่เป็น Big Data จริงๆ ที่เกิดจากการสะสมข้อมูลของทุกคนที่เข้าไปใช้บริการ ทำให้อภิมหาฐานข้อมูลนี้สามารถให้บริการได้ตรงกับความต้องการของลูกค้าแต่ละบุคคล เพราะสามารถวิเคราะห์เจาะลึกถึงข้อมูลพฤติกรรมการบริโภค และไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้บริการแต่ละคนได้

                ความคมชัดในทิศทางการพัฒนาประเทศของจีนที่ได้ประกาศยุทธศาสตร์ชาติ Made in China 2025 เพื่อผลักดันประเทศให้ก้าวสู่การเป็นมหาอำนาจใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรม โดยให้ความสำคัญในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่นำมาใช้ในการผลิต ประกอบด้วย กลุ่มนวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ กลุ่มเครื่องมือเครื่องจักรอัตโนมัติและหุ่นยนต์ กลุ่มวิศวกรรมอากาศยานและอวกาศ กลุ่มวิศวสมุทรศาสตร์และการต่อเรือชั้นสูง กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตรถไฟ กลุ่มรถยนต์ประหยัดพลังงาน กลุ่มอุปกรณ์พลังงาน กลุ่มการวิจัยและพัฒนาวัตถุหรือธาตุใหม่ กลุ่มอุปกรณ์การแพทย์และยา และกลุ่มเครื่องจักรการเกษตร

                มาถึงตอนนี้ และไม่ต้องรอถึงปี 2025 เราก็เริ่มเห็นผลงานของจีนที่ประสบความสำเร็จกันบ้างแล้ว เช่น การสร้างเครื่องบินความเร็วสูงที่ทั้งลำสร้างสรรค์โดยคนจีน  เริ่มต้นตั้งแต่การเขียนโค้ด โดยภาษาที่ใช้ก็คิดค้นจากคนจีน นักวิจัยทั้งหมดก็เป็นคนจีน เหล็กทุกชิ้นก็มาจากเมืองจีน เรียกได้ว่า ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำผลิตด้วยคนจีนทั้งหมด ซึ่งสามารถประกาศศักดาให้เห็นว่าสินค้าที่ผลิตนั้นเป็น Made in China อย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้ ในภาคการผลิต ก็เริ่มเห็นการสร้างแบรนด์สินค้าหรือบริการเพื่อแข่งขันในตลาดระดับโลกกันมากขึ้น

                ขณะที่ภาคธุรกิจ รัฐบาลก็ใช้นโยบาย One Belt One Road (OBOR) ส่งออกนักธุรกิจและธุรกิจจีนให้ไปเป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน ตะลุยออกไปขยายสาขา ขยายแบรนด์สินค้าของจีนให้รู้จักกันทั่วโลก ซึ่งก็เหมือนกับอิตาลีหรืออเมริกาเคยทำแล้วประสบผลสำเร็จ

                คุณวรมนเล่าว่าชาวจีนภูมิใจสิ่งประดิษฐ์ 4 อย่างที่เกิดจากมันสมองของชาวจีน และสะท้อนความศิวิไลซ์ของจีนในยุคปัจจุบัน ประกอบด้วย รถไฟฟ้าความเร็วสูง ระบบจักรยานแชริ่ง อีคอมเมิร์ซ (ใหญ่กว่า e-Bay และ Amazon รวมกัน) และสังคมไร้เงินสด (Mobile Payment)

                อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกเจ็บปวดกับภาพจำของคนทั่วโลกที่มองว่าจีนเป็นประเทศที่เลียนแบบทุกอย่าง จึงทำให้จีนไม่อยากจะใช้คำว่า Made in China แต่ต้องการใช้คำ Create in China เพราะจีนต้องการประกาศให้โลกรู้ว่าจีนได้คิดใหม่ทำใหม่ในหลายๆ เรื่อง และหลังจากปี 2018 คุณวรมนเชื่อว่าเราจะเริ่มเห็นนวัตกรรมใหม่ๆ ของจีนออกมาให้ยลโฉมกันมากขึ้น

 

 

 ----------------------------------------------

หมายเหตุ: คุณวรมน ดำรงศิลป์สกุล หรือที่รู้จักกันในโลกออนไลน์ภายใต้ชื่อ "มนซ่า" จบการศึกษาระดับปริญญาตรี วารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับ 1 สาขาการโฆษณา ชีวิตของมนน่าจะนิยามได้ว่าเป็นนักเดินทาง ที่มีความมุ่งมั่น ชัดเจน ในการเรียนรู้โลกกว้าง จนในที่สุดเธอก็เลือกไปศึกษาต่อด้านสื่อใหม่ที่มหาวิทยาลัยในฮ่องกงเมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้มนเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับจีนได้อย่างลึกซึ้ง เธอได้เรียนรู้ความแตกต่างของ "อาณาจักรจีน" ที่ประกอบด้วย จีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง ไต้หวัน และมาเก๊า ว่าแม้จะเป็นจีนเหมือนกัน แต่บางเรื่องก็มีความแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว ขอคารวะความเก่งของคนรุ่นใหม่ ขอบคุณสำหรับหนังสือที่ส่งมาให้ได้เรียนรู้และสัมผัสกับความเป็นจีน และจะทำตามสัญญา อ่านเสร็จแล้วจะมอบให้ห้องสมุดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนครต่อไป

ขอบคุณครับ มน

หมายเลขบันทึก: 645921เขียนเมื่อ 23 มีนาคม 2018 18:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มีนาคม 2018 20:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท