บุพเพสันนิวาส : เกร็ดการค้ากับต่างชาติในสมัยพระนารายณ์มหาราช


แม่การะเกด ออกไปเที่ยวครั้งแรกก็ตื่นตาตื่นใจกับสิ่งที่ได้พบเห็น ที่ตื่นเต้นมากเห็นจะเป็นเรือสำเภาจำนวนมากในแม่น้ำเจ้าพระยา จึงถามพี่หมื่นเกี่ยวกับสินค้าที่อยุธยาค้าขายกับชาวต่างชาติ พี่หมื่นแสดงอาการหงุดหงิด "อันที่จริงใครเขาก็รู้ เหตุใดเจ้าไม่รู้" แต่ก็ตอบแม่การะเกดไปเช่น กฤษณา ฝางดีบุก ไม้จันทร์ ไม้หอม เครื่องสังคโลกจากสุโขทัย

อยุธยานำเข้าสินค้าจากต่างชาติเช่น จีนและญี่ปุ่น จะนำเข้าเครื่องเคลือบไหมใบชา ผ้าแพร ทองแดง เงิน เหรียญ กระดาษ สุราฯลฯ นำเข้าจากอินเดียและเปอร์เซียเช่น ผ้าเช็ดต่าง ๆ น้ำกุหลาบ เครื่องหอม พรม ฯลฯ นำเข้าจากยุโรปเช่น เครื่องแก้ว สุราอาวุธปืน เครื่องมือช่าง เครื่องเหล็ก เป็นต้น (อันนี้พี่หมื่นไม่ได้บอก ผู้เขียนบอกเอง)

อยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นเมืองท่าสำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชาติที่มาค้าขายด้วยมีทั้งชาติชายฝั่งตะวันตก เช่น ฝรั่งเศส เปอร์เซีย อินเดีย อังกฤษ ฮอลลันดาโปรตุเกส เปอร์เซีย อินเดียฯลฯ ชายฝั่งตะวันออกเช่น จีน ญี่ปุ่น ทางภาคใต้เช่น มลายู อินโดนีเซีย ฯลฯ ด้วยศักยภาพในการควบคุมหัวเมือง อีกทั้งประสิทธิภาพในการเก็บส่วยต่างๆ เช่นของป่า เครื่องเทศ ฯลฯ ทำให้ดึงดูดชาวต่างชาติเข้ามาจำนวนมาก อยุธยาจึงกลายเป็นศูนย์กลางของการกระจายสินค้า เป็นคลังสินค้า แหล่งพักหลบลมมรสุม มีชาวต่างชาติหลายชาติหลายภาษาเข้ามาพำนักพักพิง จำนวนไม่น้อยตั้งถิ่นฐานแบบถาวร ทำให้อยุธยาในสมัยนั้นมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ และมีลักษณะทางสังคมแบบพหุวัฒนธรรม

ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชขึ้นชื่อว่ามีการค้าขายกับชาวต่างชาติมากที่สุด เช่น  ทรงทำสัญญากับฮอลันดา ให้มีการค้าเสรีทั่วราชอาณาจักร แต่ต้องจ่ายภาษีให้ตามพิกัดอัตราที่กำหนด รวมทั้งให้สิทธิ์ผูกขาดสินค้าบางประเภทเช่นหนังกวาง หนังวัว ไม้กะลำพัก รังนก และของป่าบางประเภท ทำให้ฮอลันดามีอำนาจมากในช่วงต้นรัชกาล ต่อมาทรงอนุญาตให้อังกฤษเปิดห้างค้าขายในกรุงศรีอยุธยาเพื่อหวังให้คานอำนาจกับฮอลันดาแต่โชคร้ายที่ คอนสแตนติน ฟอลคอน ชาวกรีกที่ดูแลการค้ากับชาติตะวันตกไม่สนับสนุนการค้าของอังกฤษ

ราวปีพ.ศ 2223 ถึง พ.ศ.2228 อยุธยาทำสัญญากับบริษัทอินเดียตะวันออกของฝรั่งเศส อนุญาตให้พ่อค้าฝรั่งเศสค้าขายในอยุธยาโดยไม่ต้องเสียภาษีสินค้าทั้งขาเข้าและขาออก แต่สินค้าต่าง ๆ ฝรั่งเศสจะต้องซื้อผ่านกับพระคลังสินค้าเพียงแห่งเดียวเท่านั้น ทำให้อยุธยาได้ผลประโยชน์จากการค้ากับฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก ต่อมามองสิเออ เดอ ลาลูแบร์ เข้ามาแก้ไขสัญญาในปี พ. ศ. 2230 ทำให้ฝรั่งเศสซื้อสินค้าได้โดยทั่วไป เว้นแต่สินค้าต้องห้ามบางประเภทเช่น ดินประสิวขาว ดินประสิวดำ กำมะถัน งาช้าง ช้าง หมาก ฝาง ปืน เครื่องศาสตราวุธ ต้องซื้อผ่านพระคลังสินค้าเท่านั้น เบื้องหลังความสำเร็จของชาวฝรั่งเศสเป็นผลมาจากการสนับสนุนของคอนสแตนติน ฟอลคอนนั่นเอง ทั้งนี้ฝรั่งเศส ยังมีอำนาจในอยุธยาเช่นการเมือง วิทยาการความรู้การก่อสร้าง การทหาร แต่เมื่อ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จสวรรณคตอำนาจทางการค้าและการเมืองของฝรั่งเศสก็หมดไป

ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อยุธยาได้ประโยชน์จากการค้าเป็นอย่างมาก เนื่องจากระบบการผูกขาดโดยพระคลังสินค้า ทำให้กำหนดราคาสินค้าได้เอง ด้านการชื้อขายส่วนพระองค์นั้นไม่มีการชำระค่าทองคำ เงิน เครื่องเพชรนิลจินดาที่พ่อค้าต่างชาตินำมาขายให้กับพระองค์เป็นเงินตราเลย แต่ทรงจะแลกเปลี่ยนกับ งาช้าง ดินประสิว ดีบุก ฯลฯ แทน

กล่าวได้ว่า การเจริญเติบโตของกรุงศรีอยุธยาจนกลายเป็นมหาอำนาจของภูมิภาคนั้นมาจากความเจริญรุ่งเรืองด้านการค้าเป็นสำคัญ

ทั้งๆ ที่ แม่การะเกดหรือเกศสุรางค์นั้น เรียนโบราณคดีแต่เหตุใดจึงไม่รู้ว่าอยุธยามีสินค้าสำคัญอะไรบ้าง ไม่ใช่เพราะต้องมนต์กฤษณกาลีหรอก เพราะสมัยที่เธอนั่งเรียนเธอเล่นกับไอ้เรืองเพื่อนรักนั่นเอง ถ้าเธอจำได้คงไม่ถามพี่หมื่นจนพวกเราชาวดูละครได้รู้เรื่องเหล่านี้เป็นแน่แท้

#บุพเพสันนิวาส ดูเอาสนุกก็ได้ ดูเอาความรู้ก็ดี
เขียนโดย วาทิน ศานติ์ สันติ

ภาพจาก youtube Ch3Thailand บุพเพสันนิวาส
ข้อมูลประกอบการเขียน
วิไลเลขา ถาวรธนสาร และคณะ. (2552). พื้นฐานวัฒนธรรมไทย. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคําแหง.
กำพล จำปาพันธ์. (2559). อยุธยา สังคมเมืองท่านานาชาติสู่มรดกโลก. นนทบุรี : มิวเซียมเพรส.

เผยแพร่ครั้งแรกที่ Facebook Fanpage :  บทความไทยศึกษาคติชนวิทยา 18 มีนาคม 2561

หมายเลขบันทึก: 645881เขียนเมื่อ 21 มีนาคม 2018 21:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มีนาคม 2018 21:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท