สมรรถนะของวิทยากร


                                                                   สมรรถนะของวิทยากร

                                                                          ประชุม โพธิกุล

บทความนี้นำเสนอสมรรถนะของวิทยากร คำว่าสมรรถนะหมายถึง ผลรวมของพฤติกรรมของมนุษย์รวมถึง ความรู้ ทักษะ เจตคติ คล้องรวมไปถึงค่านิยมในการนำไปปฏิบัติสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ตนเองรับผิดชอบอยู่ 30 สมรรถนะ  สำหรับสมรรถนะของวิทยากรนี้เป็นของสมาคมนักฝึกอบรมASTD(American Society For Trainingand Development)ที่ทุกท่านคงรู้จักดี เชิญทุกท่านพินิจทีละสมรรถนะ

           1.จิตวิทยาการศึกษา สามารถเข้าใจและประยุกต์ใช้กระบวนการการเรียนรู้รู้สาเหตุของพฤติกรรม รู้ว่ามนุษย์เรียนรู้ได้อย่างไร เจตคติ ทักษะต่างๆที่สามารถถ่ายทอดได้ผ่านกระบวนการฝึกอบรม

            2.วิเคราะห์พฤติกรรมและงาน สามารถแยกแยะแนวคิด กระบวนการการจัดการในการทำงานให้ง่ายขึ้น จัดลำดับขั้นตอนการเรียนรู้ใหม่ วิเคราะห์ สังเคราะห์ทักษะต่างๆได้

            3.การสอนแบบผู้ใหญ่และการสอนแบบสอนเด็ก มีความสามารถในการสอนแบบผู้ใหญ่สอนผู้ใหญ่ ใช้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเป็นแหล่งความรู้มากกว่าทำหน้าที่แบบพ่อแม่สอนเด็กซึ่งผู้เข้ารับการฝึกอบรมพึ่งพาผู้สอน มิใช่พึ่งพาซึ่งกันและกัน

            4.เป็นผู้กระตุ้นเร่งเร้าและนักบรรยาย ทำหน้าที่เป็นผู้กระตุ้น จัดประสบการณ์การเรียนรู้และอำนวยความสะดวกมากกว่าผู้บรรยายที่เป็นผู้ให้ข้อมูลอย่างมาก

            5.ใช้โสตทัศนูปกรณ์สนับสนุน สามารถเลือกใช้โสตทัศนูปกรณ์ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟแวร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (สไลด์ เครื่องฉายข้ามศีรษะ ฟลิปชาร์ท กระดานไวท์บอร์ด วีดีทัศน์ คอมพิวเตอร์ช่วยสอน การเรียนรู้แบบโปรแกรม)

            6.การสอนแบบดันและการสอนแบบดึง สามารถสอนแบบดัน ผลักดันข้อมูลให้ผู้เรียน(การสอนแบบบรรยาย)และการสอนแบบดึง ดึงความรู้จากผู้เรียนโดยวิธีการโสกราตีสเลือกใช้แต่ละวิธีการให้เหมาะสม

            7.ใช้กระบวนการกระตุ้น-ตอบสนอง-ข้อมูลย้อนกลับ สามารถให้ข้อมูลในลักษณะ มีปฏิสัมพันธ์ การมีส่วนร่วม ดึงให้มีการตอบสนองบ่อยๆ วิธีการง่ายก็คือลำดับขั้นการเรียนรู้ จะเป็นห่วงโซ่แบบกระตุ้น-การตอบสนอง-ข้อมูลย้อนกลับ

            8.ให้หลักการแล้วยกตัวอย่าง สามารถใช้อุปมาอุปนัย เปรียบเทียบมีเกร็ดความรู้ อธิบาย กรณีศึกษา และทำเป็นแบบอย่าง แสดงให้เห็นภาพ รูปแบบการให้ความรู้แบบมีชีวิตชีวา เกี่ยวข้องสัมพันธ์ยกตัวอย่างที่สามารถจำได้แม่นยำ

            9.จัดระบบความคิดเป็นขั้นตอน สามารถจัดระบบความคิดสื่อเป็นไปตามลำดับได้อย่างดีที่สุด (ตามหลักเหตุผล -หลักจิตวิทยา-และเป็นไปตามลำดับขั้นตอน) ตรงกับความต้องการของผู้เรียน ความสนใจและความสามารถที่จะจดจำได้

            10.การสอนงานและการให้คำปรึกษา สามารถยอมรับความต้องการ การเรียนรู้ ค่านิยม ปัญหาต่างๆและสนองตอบช่วยเหลือแต่ละคนได้อย่างเหมาะสม ให้คำปรึกษาใช้ระบบเพื่อนช่วยเพื่อนเป็นคู่ๆหรือมอบหมายงานพิเศษให้ทำ

             11.จัดสิ่งอำนวยความสะดวก สามารถจัดสภาพแวดล้อมที่เกิดการเรียนรู้ ใช้สิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมและดูแลความสะดวกทางกายภาพตอบสนองการเรียนรู้ของผู้รับการฝึกอบรม

             12.บริหารจัดการกับการบันทึกต่างๆสามารถเก็บรักษาบันทึกความก้าวหน้าของผู้เรียนรวมทั้งการปฏิบัติการ จัดเป็นแฟ้มอย่างเป็นระบบตลอดทั้งวัสดุการเรียนรู้ต่างๆ(แบบฝึกหัด แบบทดสอบ สถานการณ์จำลอง ขอบข่ายวัตถุประสงค์การเรียนรู้ต่างๆ)

             13.วิจัยเพื่อความรู้ที่ทันสมัย สามารถติดตามเพื่อความต้องการใหม่ๆ และโอกาสสำหรับผู้เรียนและการเปลี่ยนแปลงองค์การ โดยการวิจัยข้อมูลใหม่ๆ และนำผลมาใช้เป็นแบบฝึกปฏิบัติในชั้นเรียน

              14.ตระหนักสำนึกและรักองค์การ สามารถตีความและแปรเปลี่ยนเนื้อหาวิชาให้ตรงกับกลยุทธ์ บรรทัดฐาน โครงสร้าง วัฒนธรรม เครือข่ายอำนาจ(การเมือง) และเป้าหมายขององค์การ เพื่อมุ่งให้บรรลุภารกิจขององค์การ

               15.วัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม สามารถเตรียมการและสื่อความให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเข้าใจวัตถุประสงค์ของแต่ละรายวิชาได้อย่างชัดเจน เชิงพฤติกรรม (มุ่งผลลัพธ์)ผลลัพธ์ที่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะได้รับจากการสังเกตหรือวิธีวัดผลด้วยวิธีการต่างๆ

               16.ความสามารถในการใช้คอมพิวเตอร์ สามารถใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องช่วยสอนในการดำเนินการสอนให้ผู้เรียนเกิดความก้าวหน้าทั้งปัจเจกบุคคลและกลุ่มรวมทั้งการดำเนินการการปฏิบัติการของกลุ่มก้าวหน้า

               17.ทักษะการเขียน สามารถเขียนเอกสารประกอบรายวิชา แบบทดสอบง่ายๆ รายงานโปรแกรมและโครงการ บทคัดย่อใช้ภาษาจูงใจตอบสนองความต้องการของผู้อ่าน

               18.ทักษะการนำเสนอด้วยวัจนะภาษา สามารถพูดได้อย่างน่าฟังสร้างความสนใจ ใช้ภาษาได้ดี ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ชัดเจน สร้างบทสนทนา บทพูด ใช้ภาษา มีสีสัน อารมณ์ขัน ใช้ภาษาท่าทางประกอบได้อย่างเหมาะสม

               19.ทักษะการตั้งคำถามสามารถใช้รูปแบบของคำถามต่างๆ ได้อย่างดี(ทางตรง ทางอ้อม แบบประเมินตนเอง สะท้อนความคิด วาทศิลป์) เพื่อดึงข้อเท็จจริง และความรู้สึกได้อย่างง่ายดาย

               20.ทดสอบตามเกณฑ์ สามารถสร้างและใช้เเบบทดสอบเพื่อวัดความก้าวหน้าของผู้เรียนเพื่อวินิจฉัยพฤติกรรม วัดผลแต่ละคนตามความเหมาะสม

               21.ทักษะการฟังและการให้ข้อมูลย้อนกลับ สามารถในการฟังได้อย่างมีประสิทธิผล วิเคราะห์วัตถุประสงค์ ความหมาย คำพูดและเนื้อหาของผู้พูด ย้ำและให้ข้อมูลย้อนกลับเพื่อความเข้าใจที่ชัดเจน

               22.ทักษะการมอบหมายงาน สามารถมอบหมายงานหรือมอบความรับผิดชอบ อำนาจหน้าที่ได้อย่างเหมาะสมสำหรับผู้เรียนและคณะเพื่อการสนับสนุนการทำงานที่มีประสิทธิผลของแต่ละคน   ความต้องการขององค์การและผู้เข้ารับการฝึกอบรมเพื่อกำหนดกรอบเวลาของรายวิชา

              23.การบริหารเวลา สามารถจัดการเวลาต่อรองกับผู้เรียนเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการขององค์การ และผู้เข้ารับการฝึกอบรมเพื่อกำหนดกรอบเวลาของรายวิชา

             24.เป็นแบบอย่างของผู้มีบารมี สามารถทำให้ผู้เรียนเอาแบบอย่างซึ่งผู้เรียนจะเคารพนับถือและต้องแข่งดี (เรียนรู้จากพฤติกรรมที่เป็นแบบอย่างและจากกระบวนการเรียนรู้)

             25.ทักษะการออกแบบการสอน สามารถพัฒนาการสอน สื่อและวัสดุการสอนตามหลักการออกแบบและระบบการสอนที่กำหนดเพื่อให้เน้ือหาวิชาทันสมัยและมีผลกระทบต่อผู้เรียนสูง

               26.เครือข่ายการติดต่อ สามารถรักษาสัมพันธ์การติดต่อกับผู้สอนคนอื่นๆและแหล่งความรู้ในองค์การ (เครือข่ายที่มีอิทธิพล มีเวลา มีความสามารถพิเศษและมีความทันสมัย)

              27.โมเดลการเรียนรู้ 3ขั้นตอน สามารถทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้จาก3ขั้นตอน(บอก-แสดง-ลงมือทำ) กับทุกแนวคิดใหม่ ทักษะและกระบวนการที่นำเสนอ

               28.เงื่อนไขของการเรียนรู้ สามารถกำหนดเงื่อนไขกับผู้เรียนใหม่ แต่ละคนกำหนดพฤติกรรมก่อนเรียน(สิ่งที่รู้มาแล้วรวมถึงความรู้สึกด้วย)และพฤติกรรมหลังเรียน(สิ่งที่พวกเขาสามารถทำได้)เมื่อจบคอร์ส

               29.การสอนต่อเนื่องและความไหลลื่น สามารถดำเนินการสอนได้อย่างต่อเนื่องและไหลลื่นตามวัตถุประสงค์ย่อยๆ ทดสอบ ใช้ข้อความเชื่อมต่อและเขียนเป็นแผนภาพแสดงความก้าวหน้าของผู้เรียน ผู้เรียนเห็นภาพรวมและทิศทาง

                30.ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง สามารถธำรงรักษาให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางดึงความสามารถของผู้เรียนให้เขาได้พบความต้องการของตนเพื่อจะได้เป็นผู้เชี่ยวชาญหรือทำหน้าที่และปรับปรุงการปฏิบัติการในฐานะผู้เข้ารับการฝึกอบรม

                  

                  ถ้าท่าน  ผู้อ่านต้องการทราบสมรรถนะของท่านก็โปรดประเมินตนเองโดยใช้กระทงคำถาม30ข้อเป็นตัวตั้ง โดยใช้อัตราส่วนคะแนนต่อไปนี้ 5=ยอดเยี่ยม 4=เหนืออัตราเฉลี่ย 3 =อัตราเฉลี่ย 2=ตำ่กว่าอัตราเฉลี่ย 1=ต้องปรับปรุง 

           ถ้าคะแนนรวมเกิน 90คะแนนถือว่าผ่านเกณฑ์

                                             หนังสืออ้างอิง

Scott B.Parry,Evaluating the Impact of Training:New Jersey,American Society

For Training and Development,1997.pp.67-69

หมายเลขบันทึก: 645655เขียนเมื่อ 15 มีนาคม 2018 12:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มีนาคม 2018 12:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท