บทความจากรายการวิทยุ Human Talk ออกอากาศวันอาทิตย์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2561


รายการวิทยุ Human Talk ออกอากาศวันอาทิตย์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2561

ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์กล่าวว่า ช่วงที่รายการวิทยุตอนนี้ออกอากาศเป็นช่วงต่อเนื่องจากการฉลองตรุษจีน ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ก็มีเชื้อสายจีนแต่ไม่ได้เคร่งครัดวัฒนธรรมจีนมากนัก แต่ก็ชื่นชมวัฒนธรรมจีนที่มีกาปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่อง ตรุษจีนเป็นประเพณีที่ใหญ่มาก ตอนนี้เป็นช่วงสำคัญสำหรับประเทศไทยในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมต่างๆ รายการ Human Talk ได้นำเสนอเรื่องที่มีคุณค่าต่อประชาชนและรับฟังความคิดเห็นจากผู้ฟัง มีผู้ฟังท่านหนึ่งชื่อคุณโยธินซึ่งติดตามรายการมานานโทรศัพท์มาถึงศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ Feedback รายการก็สำคัญ

คุณวิชัย วรธานีวงศ์กล่าวว่า คุณวิชัย วรธานีวงศ์ก็ได้รับ Feedback มาหลากหลาย ตอนที่ออกไปข้างนอกก็พบกับแฟนรายการมากมายของศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์และดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย

ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์กล่าวว่า การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันก็เป็นเรื่องจำเป็น คุณโยธินได้เสนอความคิดเห็นไว้ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ อยากให้ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์พูดเรื่องปัญญาประดิษฐ์ (AI) ว่า มีผลกระทบอย่างไรต่อประเทศไทย ส่วนเรื่องที่สองคือ เตือนว่า ไม่ต้องสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชามากเกินไป ในความเป็นจริง ผู้ติดตามรายการมองศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์อย่างเป็นกลาง ประโยชน์ก็คือคนเราต้องมีทั้งข้อดีและเสีย ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ก็พูดข้อเสียเรื่องนาฬิกามากขึ้น แต่เสียงของประชาชนก็สำคัญ ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ก็ต้องรับฟัง Feedback และต้องทำหน้าที่ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด

ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ก็ยังไม่ได้ติดตามเรื่อง AI มากนัก จากการอ่าน ก็ทราบว่า มีตั้งแต่ปีค.ศ. 1956 (พ.ศ. 2499) มีวิธีการทำวิจัยเรื่องนี้อย่างจริงจัง บางช่วงก็มีการอุดหนุนทางด้านการเงินจากรัฐบาล บางช่วงก็หายไปบ้าง แต่ในช่วงหลัง ก็มีความพยายามใช้ AI ในสาขาต่างๆ เช่น สาขาการแพทย์หรือสาขาอื่น มีหลักการคือ ให้เครื่องจักรทำหน้าที่คล้ายๆ Cognitive หมายความว่า ให้เครื่องจักรคิดเป็นระบบ ก็เหมือนซอฟต์แวร์แต่ตอนหลังมันมากกว่านั้น เข้าไปทำงานแทน แต่ AI เข้าไปช่วยเหลือสาขาการแพทย์มาก เช่น ด้านการผ่าตัดหรือด้านอื่นๆ มันก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อเสียก็คือถ้าควบคุมหรือใช้ไม่เป็น วันหนึ่งเครื่องจักรก็จะมีบทบาทในทางลบ ก็เหมือน bitcoin เพราะต้องรู้ทั้งจุดอ่อนและจุดแข็ง ในขณะเดียวกัน มันก็อาจไปทำลายเรื่องการจ้างงาน แล้วก็จะทำให้งานต่อไปจะเปลี่ยน อะไรที่ machine ทำงานแทนมนุษย์ได้ มนุษย์ก็ต้องหนีไปทำอย่างอื่น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามนุษย์จะต้องตกงาน แต่ก็ต้องปรับตัว เหมือนกับที่ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์เพิ่งได้ไปพูดที่การเคหะแห่งชาติมา คือ มนุษย์ต้องจัดการกับการเปลี่ยนแปลงให้ได้ การเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบันมี 3 เรื่อง

1. เร็ว

2. ไม่แน่นอน

3. คาดไม่ถึง

AI ก็น่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่ง ในสาขาทุนมนุษย์ก็มีการกล่าวถึงกันมากมายว่า จะจัดการกับสิ่งเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร

คุณวิชัย วรธานีวงศ์กล่าวว่า คุณวิชัย วรธานีวงศ์ได้ติดตาม AI และ Disruptive Technology อย่างต่อเนื่อง ในปีนี้ก็มีบทบาทมากขึ้น ตอนนี้ มนุษย์กำลังฝึกให้เทคโนโลยีหรือคอมพิวเตอร์เรียนรู้เป็นลักษณะของ Machine Learning ณ วันเวลาหนึ่งมันจะเรียนรู้ได้เร็วมากขึ้น เพราะนำข้อมูลใส่เข้าไป วันนั้นมันจะมีบทบาทอย่างที่หลายคนคาดหวังกัน เทคโนโลยีเหล่านี้อยู่ภายใต้การดูแลของมนุษย์ ถ้าใช้ในลักษณะที่ถูก มันคือความสร้างสรรค์ ถ้าใช้ในทางที่ผิด มันคือการทำลาย อย่ากลัวตกงานแต่ต้องกลัวไม่พัฒนาตัวเองมากกว่า ทุนมนุษย์จึงเป็นทุนยุคใหม่ที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีในการพัฒนาตัวเอง ธุรกิจ องค์กรและการงาน

ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์กล่าวว่า ตอนแรกๆ เวลาเทคโนโลยีเข้ามาแทน ซึ่งยังไม่ใช่เทคโนโลยีแบบ AI มนุษย์ก็วิตกว่า ตนจะตกงาน ATM มาแทน Teller ปรากฏว่า มันเสริมให้งานของธนาคารดีขึ้น คนที่อยู่ธนาคารก็ต้องฉลาดขึ้น ประเด็นทางด้านทรัพยากรมนุษย์หรือทุนมนุษย์ก็คือ มนุษย์ไม่ควรหยุดการเรียนรู้ ฟินเทคส่วนหนึ่งก็มาจาก AI ด้วย ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์จะให้นักศึกษาทำวิจัยมากขึ้น แนวโน้มก็คือมนุษย์จะต้องทำงานกับ Machine มากขึ้น ทรัพยากรมนุษย์ก็ต้องเข้าใจ Machine Learning มากขึ้น ข้อดีก็คือมันจะกดดันทำให้มนุษย์ต้องปรับตัว ปัญหาของคนไทยก็คือเรียนรู้เฉพาะในห้องเรียน จากตำรา และการไปเรียนมหาวิทยาลัย ออกไปทำงานแล้วก็หยุดการเรียนรู้ เมื่อหยุดการเรียนรู้ก็ไม่ทันต่อเหตุการณ์ เพราะการเปลี่ยนแปลงมันเร็ว วันนี้จึงนำเสนอเรื่องแปลกใหม่ แต่ว่าต้องดูทั้งจุดอ่อนและจุดแข็ง ควรจะมีการทำวิจัยมากขึ้นแล้วแยกให้ออกว่า Digital กับระบบ AI แตกต่างกันอย่างไร AI ก็คงจะเล็กกว่า Digital Technology ในสาขา Logistics สาขารถยนต์ AI ในรถยนต์ก็ไปได้ไกล อาจจะไม่ต้องขับเอง เรื่อง Healthcare แน่นอน ปัญหาก็คือเมื่อกลับมาประเทศของเราเรื่องทุนมนุษย์ ต้องกระจายไปให้คนที่เสียเปรียบในสังคมได้รับประโยชน์ไม่ใช่ว่า ทำให้คนรวยรวยมากขึ้น ถ้าทำอย่างนั้นความเหลื่อมล้ำก็ไม่เกิดขึ้น ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ เป็นห่วงเรื่องความเหลื่อมล้ำมากในตอนนี้ กลัวว่า รวยกระจุก แล้วก็จนกระจาย สำหรับเรื่องนี้ ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์จะทำวิจัยและพูดมากขึ้น

คุณวิชัย วรธานีวงศ์กล่าวว่า จากการไปสัมภาษณ์คนในรายการอื่นก็มีการพูดถึง AI มากขึ้น เป็นมุมที่หลายๆคนหวาดกลัวว่า AI จะทำให้คนตกงานมากขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมหรือธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างหนัก แต่มนุษย์ก็ต้องมีมุมมองหลากหลาย ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ก็ให้ความสำคัญเรื่องทุนทางไอทีมาตลอด

ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์กล่าวว่า เราต้องแยกระหว่าง Digital Capital หรือ IT-based จากแอนะลอกแล้วดูว่า AI คืออะไร อันที่จริงแล้วก็คือ การใส่ Software เข้าไป ใส่ข้อมูลเข้าไป ระบบ Digital มันจะคำนวณ แล้วอาจจะเริ่มคิดเป็น ทำเป็น แต่คงยังไม่ถึงขนาดแทนมนุษย์ แต่ก็ต้องระมัดระวังเพราะ Machine แปลกเวลาสั่งอะไรไปแล้วมันก็เชื่อ มีคนบอกว่า เวลาเราไปฝึกคน 100 คนแต่มีเพียง 50 คนที่จะรับแนวคิดเราไป อีก 50 คนก็เฉยๆแต่ Machine ใส่ข้อมูลไป 100 มันก็ทำตามที่เราสั่ง 100 Machine เรียนรู้ตามที่เราสั่ง เด็กที่เรียนหนังสือในมหาวิทยาลัยต่างๆ ถ้าเขามุ่งมั่นจริง เขาก็จะไปได้ดี คนสมัยนี้ไปเรียนมหาวิทยาลัยเพื่ออะไรก็ไม่รู้ เพื่อปริญญาไม่ใช่เพื่อปัญญา ทุนทางไอทีก็เป็นส่วนหนึ่งของทุนมนุษย์  ถ้าทุนมนุษย์ยุคต่อไปไม่เข้าใจเรื่อง ไอที ก็อยู่ไม่ได้

ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ได้แสดงความเสียใจกับครอบครัวศ.ระพี สาคริก

คุณวิชัย วรธานีวงศ์กล่าวว่า ศ.ระพี สาคริกเป็นปูชนียบุคคลในวงการกล้วยไม้ของโลก

ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์กล่าวว่า ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ได้พบศ.ระพี สาคริกครั้งสุดท้ายบนเครื่องบินประมาณปีครึ่งหรือ 2 ปีที่แล้ว ศ.ระพี สาคริกเป็นรัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สมัยนายกรัฐมนตรีเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์เช่นเดียวกับบิดาของศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ (ฯพณฯ นายสุนทร หงส์ลดารมภ์) ครอบครัวของศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์และศ.ระพี สาคริกก็สนิทกัน ท่านก็เป็นคนหนึ่งที่ใกล้ชิดกับครอบครัวของหงส์ลดารมภ์ และสร้างคุณประโยชน์ให้กับประเทศมาก โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

คุณวิชัย วรธานีวงศ์กล่าวว่า ศ.ระพี สาคริกก็เป็นต้นแบบหลายๆ เรื่องโดยเฉพาะความสมถะ

ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ กล่าวว่า คุณวิชัย วรธานีวงศ์ก็มองเรื่องผู้นำ ทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่า ผู้นำระดับสูงสุด (Level 5) ยิ่งใหญ่ ยิ่งต้องถ่อมตัว เมืองไทยไม่ค่อยจะมีผู้นำแบบนี้ ยุคนี้มีโดนัลด์ ทรัมป์เข้ามาด้วย ยิ่งใหญ่ ยิ่งพองตัว มีอีโก้สูง

งานอุ่นไอรัก คลายความหนาว น่าชื่นชม 2 ประเด็นคือ รัชกาลที่ 10 ท่านทรงมีพระอัจฉริยภาพ และทรงได้ก็นำสถานที่ในอดีตซึ่งรัชกาลที่ 5 ประทับอยู่แถวนี้ แล้วก็มาทำกิจกรรม ย้อนกลับไปถึงประเพณีต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัชกาลที่ 5 โดยเฉพาะเรื่องการแต่งตัว เรื่องผลงานของพระองค์ท่าน ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจเพราะว่า เด็กบางคนก็อาจจะไม่รู้ว่ารัชกาลที่ 5 ทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยบ้าง จึงเป็นที่มาส่วนหนึ่งของทุนมนุษย์ที่เรียกว่า ทุนทางวัฒนธรรม ทุนทางวัฒนธรรมไม่ได้หมายความว่า มีแค่วัดพระแก้ว มีโบราณวัตถุ วัฒนธรรมมันอยู่ในตัวเรา เพียงแต่วัฒนธรรมตอนนี้มันมีชีวิต บางเรื่องมันต้องปรับปรุงไปตามสถานการณ์ บางเรื่องก็ต้องนำมาสร้างเป็นมูลค่าเพิ่ม เช่น การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การที่รัชกาลที่ 10 ทรงใช้โอกาสนี้ ถือเป็นประโยชน์ หลายวันก่อนการออกอากาศครั้งนี้อาจจะเห็นการแต่งตัวในยุครัชกาลที่ 5

คุณวิชัย วรธานีวงศ์กล่าวว่า จากการติดตามข่าว นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศตื่นเต้นและสนใจมาก

ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ กล่าวว่า งานนี้ถือเป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรมอันดีงามเพราะว่าแต่ก่อนนี้เราเป็นชาติของเราเอง ก็มีวัฒนธรรมของเรา แต่ว่าบางครั้ง ไทยก็เปิดประเทศ จึงมีวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา ตอนหลัง การศึกษาไทยอ่อนแอ ทำให้คนคิดไม่เป็น วัฒนธรรมต่างประเทศถาโถมเข้ามาจนกระทั่งเราลืมวัฒนธรรมไทยไป การแต่งตัวยุครัชกาลที่ 5 ก็เป็นเรื่องที่ดีที่ควรส่งเสริม

คุณวิชัย วรธานีวงศ์กล่าวว่า เป็นการส่งผลดีต่อธุรกิจเสื้อผ้าย้อนยุคด้วย คนธรรมดาหลายๆ คน ไม่ว่าจะชายหรือหญิงแต่งชุดไทย ดูดี ดูสง่าขึ้นมาทันที เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติที่หลายๆคนรอให้มีงานสำคัญจึงจะแต่ง ถ้าเมื่อใดมีการรณรงค์กันมากขึ้น คงเป็นอีกมิติหนึ่งของการท่องเที่ยว

ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ กล่าวว่า ในวันงาน คณะรัฐมนตรีนำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาก็แต่งชุดไทยอย่างเต็มยศ ก็เป็นตัวอย่างที่ดี การแต่งตัวของท่านประยุทธ์ใน 7 วัน ใส่สูทไม่น่าจะเกิน 2 วัน ที่เหลือท่านก็ใส่ชุดพระราชทาน คณะรัฐมนตรีของท่านก็ใส่ชุดพระราชทานซึ่งมีแขนยาว สมัยนายกรัฐมนตรีพลเอกเปรม ติณสูลานนท์เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านใส่ชุดพระราชทานบ่อย ช่วงนั้นคนไทยก็ใส่สูทกันมาก การที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้ทำเรื่องเหล่านี้ก็เป็นประโยชน์

คุณวิชัย วรธานีวงศ์กล่าวว่า รัชกาลที่ 5 ทรงพัฒนาให้ประเทศไทยก้าวสู่ความทันสมัยทัดเทียมนานาอารยประเทศ ช่วงนั้นเป็นยุคล่าอาณานิคม ประเทศไทยอยู่ในจุดเสี่ยงมาก พระองค์ท่านทรงทำให้คนทั่วโลกรวมทั้งประเทศมหาอำนาจได้ยำเกรงในความเป็นไทยของเรา และไม่สามารถอ้างว่า ประเทศไทยไม่ทันสมัยได้แล้ว แต่เป็นความทันสมัยแบบไทย 

ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ กล่าวว่า รัชกาลที่ 5 ทรงเป็นบิดาของโลกาภิวัตน์ เพราะท่านเสด็จทางเรือ สิ่งสำคัญที่สุดคือ ทรงส่งพระราชโอรสไปศึกษาในต่างประเทศ เช่น กรมหลวงสงขลานครินทร์ซึ่งเป็นพระบรมราชชนกของในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จไปศึกษาที่โรงเรียนนายเรือที่ประเทศเยอรมนี เมื่อท่านเห็นความเจ็บป่วยของคน ท่านก็เสด็จศึกษาต่อด้านการแพทย์ที่ Harvard เสียดายที่ท่านทรงพระชนมายุสั้นไปหน่อย การไปเรียนยุคนั้นถือเป็นการเรียนที่ลำบากมาก เพราะต้องเดินทางไกล คนไทยต้องกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์ให้มากขึ้น ทุนทางวัฒนธรรมไม่ใช่แนวคิดด้านภูมิปัญญาในอดีตเท่านั้น แม้กระทั่งภูมิปัญญาในปัจจุบัน ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์เรียกการเรียนรู้ว่า วัฒนธรรมการเรียนรู้ ไม่ได้เป็นวัฒนธรรมโบราณอย่างเดียว วัฒนธรรมเป็นอะไรก็ได้ที่เราไม่ได้เขียนขึ้นมา ไม่ได้เขียนเป็นกฎระเบียบ แต่มันเกิดขึ้นในสังคม ในองค์กรต่างๆ เมื่อมันเกิดแล้วก็จะมีคุณค่าต่อองค์กรนั้น ยกตัวอย่าง ไม่มีใครอธิบายได้ว่า วัฒนธรรมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แตกต่างกันอย่างไร วัฒนธรรมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเกิดจาก Royal Family มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เกิดจากยุคประชาธิปไตย แต่ 2 สถาบันก็มีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ถ้าศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ไปทำงานที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ต้องไต่เต้าขึ้นไปตามลำดับความอาวุโส มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นสถาบันที่มีความเสมอภาคกัน ก็มีทั้งข้อดีข้อเสียทั้ง 2 อย่าง ก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่เขียนไว้ว่า อยู่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต้องมีรุ่นพี่รุ่นน้อง หรืออยู่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็ต้องเคารพรักรุ่นพี่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็เป็นสังคมเปิดเพราะเริ่มจากการเป็นตลาดวิชา ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์โตที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตอนอายุน้อย แล้วก็มีโอกาสได้ทำงานก็มาจากวัฒนธรรมต่างๆ ซึ่งมีความเสมอภาค มันขึ้นอยู่กับองค์กรนั้นเกิดมาอย่างไร ใครเป็นคนริเริ่ม อย่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิต คนที่ริเริ่มคือเกษม จาติกวณิช การกำเนิดต่างๆของประเทศก็คือวัฒนธรรม ประเทศไทยกำเนิดมาเป็นพันปี สหรัฐอเมริกาก็ 200-300 ปี จะมีวัฒนธรรมของเขาได้อย่างไร ทุนทางวัฒนธรรมเป็นหัวใจสำคัญหนึ่งของทุนมนุษย์ ทุนมนุษย์เราต้องมีรากเหง้า คนไทยควรจะภาคภูมิใจเพราะมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน ขณะเดียวกันก็ต้องรู้ว่า วัฒนธรรมคือสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ไม่ว่าจะเป็นองค์กรหรือประเทศ อำเภอต่างๆ เพราะฉะนั้นเราต้องเข้าใจสิ่งเหล่านี้ว่ามันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วมันก็มีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของเรา ยิ่งอยู่นานไปเราก็ต้องยิ่งปรับตัว นำวัฒนธรรมต่างๆมาเป็นจุดขายของเรา เช่น วัฒนธรรมการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเป็นการท่องเที่ยวที่ไม่มีใครสู้เราได้ เราสั่งสมวัฒนธรรมเหล่านี้มาเป็นเวลานาน

ในทุนมนุษย์ของศ.ดร.จีระหงส์ลดารมภ์จะต้องมีทุนทางจริยธรรมและมีปัญญา ความสุข เครือข่ายมีกรณีต่างๆที่ทำให้เรารู้สึกว่าผู้นำบางกลุ่มหรือบางคนอ่อนแอทางด้านจริยธรรมถ้าประเทศของเราโดยเฉพาะเรื่องคน เราเป็นคนเก่งอย่างเดียว มีนวัตกรรม มี 4.0แต่ไม่ได้เรียนศาสตร์พระราชา ทุนทางจริยธรรมไม่ได้เกิดขึ้นจากตัวศ.ดร.จีระหงส์ลดารมภ์เองเท่านั้น แต่ได้เรียนรู้จากครอบครัวศาสตร์พระราชาและการได้รับการปลูกฝัง เราพยายามรักษาทุนทางจริยธรรมสิ่งแรกที่ต้องมีคือเป็นแบบอย่างที่ดีของการดำรงไว้ซึ่งจริยธรรมปัญหาคือเราจะปลูกฝังทุนทางจริยธรรมอย่างไรในเมืองไทย นี่คือความท้าทาย ศ.ดร.จีระหงส์ลดารมภ์ก็ได้เขียนหนังสือกับท่านว.วชิรเมธี นำตัวอย่างอธิการบดี 4ท่านที่ธรรมศาสตร์มี ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ศ.สัญญา ธรรมศักดิ์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ บางครั้งเราก็ต้องยกตัวอย่างคนที่ประสบความสำเร็จด้านการงานแต่รักษาไว้ซึ่งคุณธรรมจริยธรรมสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราควรจะเตือนสติสังคมไทยว่าถ้าท่านเป็นผู้นำก็ต้องรักษาไว้ซึ่งจริยธรรมที่เข้มแข็งมิฉะนั้นสังคมก็จะอยู่ไม่ได้

คุณวิชัย วรธานีวงศ์กล่าวว่า ถ้าเราจะสอนเด็กหรือบอกกล่าวกับคนในสังคมว่า สิ่งที่ถูกต้องคืออะไร หลายๆ คนก็ต้องทำเป็นตัวอย่างโดยเฉพาะคนที่เป็นผู้นำ ทั้งผู้นำองค์กรและผู้บริหารประเทศ ไม่ควรคิดว่ามีตำแหน่งแล้วจะทำอะไรก็ได้ ณ วันนี้เป็นการพิสูจน์ตัวตน ทุนทางจริยธรรมว่าแต่ละคนมีมากน้อยแค่ไหน ถ้าเราเห็นผู้นำของเราเต็มเปี่ยมไปด้วยทุนทางจริยธรรม แทบจะไม่ต้องไปสอนเด็กอะไรมากมาย แค่ชี้ให้เขาดู เอาข่าวให้เขาอ่าน แล้วเขาก็จะเห็นว่าท่านนี้เป็นตัวอย่างที่ดี เพราะฉะนั้นเด็กก็จะมีคำถามน้อยลง แล้วเขาก็จะทำตามได้มากขึ้น

ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ กล่าวว่า ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ สามารถยกตัวอย่างบุคคลที่เป็นแบบอย่างได้ แต่ถ้าจะทำให้มีอิทธิพลต่อคนในสังคมมากขึ้นก็ต้องมีวิธีการที่จะทำ อย่างนายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ นอกจากสร้างโรงเรียนคุณธรรมในประเทศไทยตั้ง 3,000-4,000 แห่ง ดร. อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ก็ทำโรงเรียนของท่าน ก่อนจะเรียนก็ต้องนั่งสมาธิ บางคนก็พาลูกหลานไปวัด ขอให้ผู้ฟังแสดงความเห็นว่าจะปลูกฝังจริยธรรมได้อย่างไร 

ถ้าเราจะปฏิรูปประเทศของเรา ถ้าเราไม่ปฏิรูปคุณธรรมจริยธรรมของคนไทย อย่างที่ท่านว.วชิรเมธีเคยพูดว่า ร่างรัฐธรรมนูญกี่ฉบับก็หาทางโกงจนได้ ถ้าสังคมมีคุณธรรมจริยธรรม อย่างสังคมญี่ปุ่น ทำผิดจริยธรรมก็ลาออกทันที บางคนก็ฆ่าตัวตาย ถ้าเรามองทุนมนุษย์ตั้งแต่เกิด อยู่ดีๆเกิดมา คุณธรรมจริยธรรมต่างๆเท่ากับ 0 ทุกคนเกิดมาเท่ากัน ถ้าเราผ่านครอบครัว แม้กระทั่งครอบครัวคนจีน เขาเน้นให้จงรักภักดี มีความกตัญญู มีประเพณี วัฒนธรรมคนจีนมีความกตัญญูสูง ความขยันหมั่นเพียร ดูแลครอบครัว ครอบครัวก็ช่วยเหลือกัน ทุนทางจริยธรรมน่าจะเกิดในระดับเล็กที่สุดคือระดับครอบครัว ปัญหาของเมืองไทยก็คือครอบครัวเล็กลง พ่อแม่ก็ไม่มีเวลาดูแลลูก จริงๆแล้วลูกก็น้อยลง ครอบครัวมีสมาชิกไม่ถึง 3 คน ครอบครัวในอดีตมีสมาชิกถึง 10 คน เขาก็ยังดูแลกันได้ ครอบครัวจึงเป็นจุดสำคัญ วิชาที่คนไทยสนใจน้อยที่สุดคือวิชาเกี่ยวกับครอบครัว สังคมวิทยา จิตวิทยา แต่ต่างประเทศสนใจวิชาครอบครัวศึกษามาก มหาวิทยาลัยไม่ควรมีไว้เพื่อช่วยให้คนมีงานทำอย่างเดียว มหาวิทยาลัยควรจะเป็นแหล่งความรู้พร้อมทั้งปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมด้วย อะไรก็ตามก็ยังมีการลอกข้อสอบในมหาวิทยาลัยอยู่เป็นประจำ ไม่ใช่แค่กับมหาวิทยาลัยแต่ยังมีในระดับโรงเรียนด้วย เมื่อครอบครัวมาแล้วก็ต้องมาที่การศึกษา สถาบันการศึกษา ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์เป็นเด็กวัดเทพศิรินทร์ ก็มีการปลูกฝังเรื่องจริยธรรมอยู่บ้าง ตอนที่กระทรวงศึกษาดูแลโรงเรียนเทพศิรินทร์ ก็มีพยายามแยกวัดกับโรงเรียนออก แต่ก่อนโรงเรียนเทพศิรินทร์ชื่อโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ แล้วทางโรงเรียนก็บอกว่า วัดไม่เกี่ยวข้องกับการศึกษา แต่ในความจริงแล้วมันเกี่ยวข้องกัน ตอนที่ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์เป็นนายกสมาคมนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ เป็นช่วงที่น.พ.เสม พริ้งพวงแก้วยังมีชีวิตอยู่ ท่านเป็นรุ่นเดียวกับบิดาของศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ และได้ก็เรียกไปพบพร้อมสั่งว่า ในฐานะนายกสมาคมนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ ให้ไปเอาชื่อวัดกลับมา 

บางแห่งก็ยังคงชื่อวัดไว้อยู่ เช่น โรงเรียนวัดมกุฏกษัตริย์ โรงเรียนวัดเบญจมบพิตรแต่โรงเรียนเทพศิรินทร์ตัดชื่อวัดออกไป นอกจากวัดแล้วก็มีอีก 2 ปัจจัย ปัจจัยหนึ่งก็คือสถานที่ทำงาน บางครั้งคนไทยก็ทำงานให้องค์กรเพราะมีรายได้ดีแต่ไม่ได้ดูว่า เป็นองค์กรที่เปี่ยมไปด้วยจริยธรรมหรือไม่ องค์กรนั้นจึงจะอยู่ได้ อยากจะรื้อฟื้นกลับมาว่า ครอบครัวก็ดี โรงเรียนก็ดี ที่ทำงานก็ดีก็น่าจะปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมแล้วก็ไปบวกกับวัด แล้ววัดที่เราไปก็ต้องเป็นแบบวัดชลประทานรังสฤษดิ์ สวดศพแค่จบเดียวที่เหลือก็เป็นการเทศน์ แต่การสวดศพส่วนใหญ่ คนฟังภาษาบาลีและสันสกฤตไม่รู้เรื่อง วิธีการสอนของศาสนาพุทธยุคต่อไป เกี่ยวกับคุณธรรมจริยธรรมและศาสนาก็ต้องปรับปรุงให้มันดียิ่งขึ้น

โปรดคลิกที่ลิ้งค์นี้เพื่อดูภาพประกอบ

https://cdn.gotoknow.org/assets/media/files/001/288/194/original_Human_Talk_18022018.pdf?1520346469

ที่มา: บทความจากรายการวิทยุ Human Talkประจำวันที่ 18กุมภาพันธ์ 2561

หมายเลขบันทึก: 645320เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2018 21:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มีนาคม 2018 22:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท