เรื่องที่ 2 มาตรฐานแรงงานกับการค้าระหว่างประเทศ


แรงงานเป็นต้นทุนการผลิตที่มีชีวิตและมีเลือดเนื้อ จึงไม่ควรมองข้ามสิทธิที่เขาควรจะได้จากนายจ้างผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจที่ดีกว่า อย่างไรก็ตามสิทธิแรงงานถือเป็นสิทธิมนุษยชนประเภทหนึ่งซึ่งไม่ควรนำไปเกี่ยวโยงกับการค้าระหว่างประเทศในฐานะเครื่องมือการกีดกันทางการค้าแอบแฝง

รื่องที่ 2 มาตรฐานแรงงานกับการค้าระหว่างประเทศ               

          สหรัฐอเมริกา มีความความพยายามอย่างยิ่งในการนำเอาประเด็นแรงงาน(Labor Issues) เชื่อมโยงกับการค้าระหว่างประเทศ โดยอ้างว่าการผลิตสินค้าและบริการออกสู่ตลาดโลกต้องคำนึงถึงสิทธิของผู้ใช้แรงงานด้วย มิใช่มุ่งเน้นแต่เพียงมูลค่าการส่งออกและรายได้ที่จะได้จากการผลิต ทั้งแรงงานถือเป็นต้นทุนการผลิตที่สำคัญเช่นกัน แต่เป็นบุคคลที่มีชีวิตและจิตใจ จึงสมควรอย่างยิ่งที่เขาจะได้รับความคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับการทำงาน อายุขั้นต่ำของผู้ใช้แรงงานตามกรอบมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ และได้รับสวัสดิการรูปแบบต่างๆ จากนายจ้างของตนตามมาตรฐานขั้นต่ำที่เขาพึงได้รับ อีกทั้งประเทศผู้นำเข้าอย่างสหรัฐอเมริกาย่อมต้องคุ้มครองผลประโยชน์ของพลเมืองของประเทศตนโดยเฉพาะผู้ใช้แรงงานภายในประเทศตนเช่นกัน เพื่อมิให้เกิดการแข่งขันกันลดมาตรฐานแรงงานภายในประเทศของตนให้ต่ำที่สุดเท่าที่จำได้เพื่อที่จะลดต้นทุนการผลิต(แรงงาน)ที่มีผลต่อการกำหนดราคาสินค้า จึงเรียกทฤษฎีนี้ว่า  race to the bottom[1] และประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกายังเห็นว่าประเทศกำลังพัฒนายังไม่มีมาตรฐานแรงงานอย่างเพียงพอที่จะคุ้มครองสิทธิแรงงานตามหลักสิทธิมนุษยชน เช่น การให้แรงงานเด็ก แรงงานไร้ฝีมือ(Unskilled Labor)  ส่งผลให้ค่าจ้างแรงงานภายในประเทศราคาต่ำ[2]

          อย่างไรก็ตามนานาประเทศโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนายังเคลือบแคลงและเกรงว่าการยกเอาประเด็นแรงงานเชื่อมโยงกับการค้าระหว่างประเทศนั้นเป็นความพยายามกีดกันทางการค้าแบบแอบแฝง(Disguised Protectionism) ต่อประเทศที่คุ้มครองสิทธิแรงงานในระดับต่ำอย่างกลุ่มประเทศของตน ด้วยเหตุที่มาตรฐานแรงงานต่ำนี้เองทำให้ประเทศกำลังพัฒนามีข้อได้เปรียบในการแข่งขันกับประเทศพัฒนาแล้ว เนื่องจากค่าจ้างแรงงานซึ่งถือว่าเป็นต้นทุนการผลิตประการหนึ่งมีราคาถูก ส่งผลให้การกำหนดราคาสินค้าถูกลงจึงทำให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถสามารถจำหน่ายสินค้าที่ส่งออกไปได้ในราคาถูกกว่าประเทศผู้นำเข้าสินค้า

          ดังนั้นสหรัฐอเมริกาจึงพยายามผลักให้ Labor Standards เข้าไปอยู่ในกรอบความตกลงทางการค้าในประเภทต่างๆ ตั้งแต่ ความตกลงระดับพหุภาคี (Multilateral Agreement) คือร่างกฎบัตรฮาวานา(Havana  Charter for an International Trade Organization   1948) ประเด็นมาตรฐานแรงงาน(Labor Standards)ปรากฏในเวทีเจรจาทางการค้าพหุภาคีครั้งแรกใน Article 7ได้วางหลักเกี่ยวกับพันธกรณีด้านแรงงานของประเทศสมาชิกว่ามาตรฐานแรงงานย่อมเชื่อมโยงกับการค้าระหว่างประเทศโดยตรงและประเทศสมาชิกยอมรับถึงสิทธิของผู้ใช้แรงงานและเห็นพ้องต้องกันว่ามาตรฐานแรงงานเป็นผลประโยชน์ร่วมกัน(Common Interest)ที่อาจนำไปสู่ข้อพิพาททางการค้าได้ ดังนั้นเมื่อเกิดข้อพิพาทเกี่ยวกับมาตรฐานแรงงานย่อมขึ้นสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทของITO โดยความร่วมมือและการปรึกษาหารือร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศภายใต้ Havana Charter 1948

          อย่างไรก็ตามการก่อตั้งITO ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องจากสหรัฐอเมริกาไม่ได้ให้สัตยาบันร่วมเป็นสมาชิก เนื่องจากสภาคองเกรสไม่เห็นชอบร่างกฎหมายในการจะเข้าเป็นสมาชิกในITO เมื่อไม่อาจก่อตั้งITOไม่ได้ ประเทศสมาชิกจึงเห็นพ้องต้องกันว่าให้ใช้ GATT เป็นข้อตกลงชั่วคราวเป็นกฎเกณฑ์ทางการค้าระหว่างประเทศไปพลางก่อน 

          ใน ค.ศ. 1953 สหรัฐอเมริกาพยายามที่จะนำ Article 7 ของ Havana Charter for an International Trade Organization 1948 (ITO) มารวมไว้อยู่ในข้อตกลง GATT(General Agreement on Tariffs and Trade) แต่ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากไม่มีความตกลงใดให้อำนาจในการวางเงื่อนไขเรื่องแรงงานไม่เป็นธรรม(unfair labor conditions) แต่ยังมีความตกลงเกี่ยวกับประเด็นแรงงานในข้อยกเว้นทั่วไป(General Exception) ของ GATT Article XX (e) prison labor ซึ่งเป็นประเด็นเฉพาะเรื่องแรงงานนักโทษ

           ต่อมาในการเจรจารอบอุรุกวัย (Uruguay Round 1986-1993) ในกรอบการเจรจา GATT ผู้แทนในการเจรจาของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ก้าวหน้าประเทศหนึ่งได้มีข้อเสนอเกี่ยวกับการกำหนดทิศทางทางสังคม(Social Dimensions)เข้าสู่การค้าระหว่างประเทศในฐานะข้อกำหนดทางสังคม(Social Clause)เนื่องจากประเทศคู่สัญญาได้ใช้วิธีการทุ่มตลาดทางสังคม[3](Social Dumping) โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นมาตรฐานแรงงานให้เป็นข้อบทหนึ่งของการเจรจาGATTในรอบนี้ โดยอ้างเหตุผลสหรัฐอเมริกาไม่ได้มีความตั้งใจที่จะกำหนดมาตรฐานค่าแรงโลกหรือทำให้กลุ่มประเทศยากจนสูญเสียความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ  

          ในรอบการเจรจานี้เองประเทศภาคี GATT  จำนวน 124 ประเทศ ได้มีมติเป็นเอกฉันท์รับรองร่างกรรมาสารสุดท้าย(Final Act)ซึ่งเป็นระเบียบทางด้านการค้าที่เป็นผลจากการเจรจา[4]รอบอุรุกวัย และยอมรับให้มีการจัดตั้งองค์การการค้าโลก(World Trade Organization 1995 : WTO) และการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งที่ 1 ณ ประเทศสิงคโปร์ (The WTO Singapore Ministerial Conference in 1996) ประเทศสมาชิกกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป เป็นต้น ได้พยายามผลักดันประเด็นการคุ้มครองสิทธิแรงงานกับการประชุมองค์การการค้าโลกระดับรัฐมนตรีในครั้งนี้เพื่อกำหนดให้มาตรฐานแรงงานเป็นข้อกำหนดหนึ่งทางการค้าที่ทำให้สามารถมีบทลงโทษทางการค้า(Trade Sanction)ผ่าน WTO โดยตรง แต่ผลสรุปจากการประชุมระดับรัฐมนตรีของประเทศสมาชิกครั้งนี้[5] ที่ประชุมได้ตกลงว่าจะไม่มีการยกเอามาตรฐานแรงงานมาใช้เพื่อการกีดกันทางการค้า และตกลงว่าจะไม่มีการหยิบยกเรื่องข้อได้เปรียบเรื่องค่าจ้างแรงงานของประเทศสมาชิกโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่มีค่าจ้างแรงงานต่ำขึ้นมาเป็นประเด็นในการเจรจา และตกลงให้องค์การแรงงานระหว่างประเทศเป็นผู้มีอำนาจในการจัดการเกี่ยวกับมาตรฐานแรงงาน และดูแลปัญหาด้านแรงงานโดย WTO มีอำนาจเพียงวางกรอบการค้าให้เท่าเทียมกันเท่านั้น และการก่อตั้ง WTO มิได้ให้ทางออกเรื่องสิทธิแรงงานกับการค้าระหว่างประเทศแต่อย่างใด ทั้งไม่ควรมีการนำเรื่องแรงงานเป็นเครื่องมือในการตอบโต้ทางการค้าระหว่างประเทศ ท่ามกลางความเห็นชอบของประเทศกำลังพัฒนาที่มองว่ามาตรฐานแรงงานเป็นการกีดกันทางการค้าแบบแอบแฝง

--ผลของการนำประเด็นแรงงานเชื่อมโยงกับการค้าจึงล้มเหลว 

ความตกลงระดับภูมิภาค(Regional Agreement)

          ความตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ(The North American Free Trade Agreement: NAFTA)ความร่วมมือด้านแรงงานในระดับภูมิภาคอเมริกาเหนือคือ NAALC และมี Labor Provisions เป็นพันธกรณีที่แยกต่างหากจากความตกลงเขตการค้าเสรีทวีปอเมริกาเหนือ (Side Agreement) กล่าวคือไม่ได้บังคับให้รัฐภาคีต้องผูกพันในฐานนะตัวบทที่บัญญัติใน NAFTA -ปัญหา—Trade Sanction การบังคับใช้และการระงับข้อพิพาทไม่ประสบผลสำเร็จในระหว่างประเทศสมาชิกเนื่องจาก Labor Provisions เป็นเพียง Side Agreement เท่านั้น 

 มาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ(International Labor Standards) ภายใต้องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organization: ILO)

          มาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศหรือมาตรฐานแรงงานสากลภายใต้ILO หมายถึง บรรดาบทบัญญัติและข้อกำหนดเกี่ยวกับการทำงานต่างๆ ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศสมาชิกทั่วโลกขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ร่วมกันเจรจาและทำความตกลงกัน รับรองว่าว่าหลักเกณฑ์ใดบ้างเป็นมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของอนุสัญญา (Convention) และข้อเสนอแนะ (Recommendation)  

          แม้ ILO จะมีประวัติศาสตร์อันยาวนานในฐานเป็นองค์การชำนาญพิเศษองค์การแรกของสหประชาชาติและเป็นองค์การระหว่างประเทศระดับรัฐบาล (Intergovernmental Organization) มีประเทศสมาชิกในองค์การมากกว่า 170 ประเทศจากทั่วโลก มีอนุสัญญา (Conventions) 185 ฉบับ และข้อเสนอแนะ(Recommendations) รวม 195 ฉบับ ซึ่งมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศในอนุสัญญาทั้ง 185 ฉบับนั้นประกอบไปด้วยมาตรฐานแรงงานหลัก(Core or Fundamental Labor Standards) และมาตรฐานแรงงานอื่นๆ

          หากเป็นอนุสัญญาซึ่งเป็นความตกลงระหว่างประเทศสมาชิกขององค์การฯเพื่อกำหนดมาตรฐานแรงงานที่มีความสำคัญแก่สิทธิแรงงาน(Worker’s Rights) เมื่อประเทศสมาชิกได้พิจารณาแล้วเลือกที่จะให้สัตยาบัน (Opt In) หรือเลือกที่จะไม่ให้สัตยาบัน (Opt Out) ก็ได้ อนุสัญญาฯฉบับนั้นก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์และผูกพันประเทศสมาชิกดังกล่าวมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาฉบับนั้นๆ อย่างครบถ้วน เช่น อนุวัติการการให้เป็นกฎหมายแรงงานภายประเทศ เพื่อบังคับใช้ในฐานะเป็นกฎหมายภายในของประเทศสมาชิก เป็นต้น 

            ส่วนข้อเสนอแนะ(Recommendation) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศนั้น เป็นเพียงข้อเสนอแนะขององค์การฯและเป็นการวางแนวทางในรายละเอียดเพื่อให้ประเทศสมาชิกนำไปปฏิบัติตาม โดยไม่มีความผูกพันทางกฎหมายต่อประเทศสมาชิกว่าต้องปฏิบัติตามความเห็นแนะนำดังกล่าวแต่อย่างใด 

          เมื่อปีค.ศ. 1998 ที่ประชุมใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศได้รับรองมาตรฐานแรงงานหลักตามปฏิญญาสากลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศว่าด้วยหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน ค.ศ. 1998 (ILO Declaration on Fundamental Principles and Rights at Work 1998 ) หรือเรียกว่า มาตรฐานแรงงานหลักหรือมาตรฐานแรงงานขั้นพื้นฐาน (Core or Fundamental Labor Standards) มี 4 ประการคือ

1.        การห้ามใช้แรงงานบังคับ(Prohibition of forced labor) ตามอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 29 และ105

2.        ประกันสิทธิในการสมาคมและสิทธิในการร่วมเจรจา(Guarantee of right to organize and bargain collectively) ตามอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 87 และ98

3.        การขจัดการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและการประกอบอาชีพ(Elimination of discrimination against different categories of workers on basis gender ethnicity, etc.) ตามอนุสัญญาฯฉบับที่ 100 และ111

4.        การห้ามใช้แรงงานเด็ก(Prohibition of child labor) ตามอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 138และ182  

          ผู้เขียนได้เสนอแนะวิธีการที่เป็นบรรทัดฐานเบื้องต้นเกี่ยวกับแรงงานกับการค้าในระหว่างที่ยังมีการโต้แย้งกันอยู่ในเวทีต่าง ได้แก่

          1. การติดฉลากผลิตภัณฑ์(Product Labeling) เพื่อให้ผู้บริโภคทราบถึงต้นทุนการผลิตที่กำหนดราคาสินค้าแม้ว่าผู้บริโภคบางคนจะคำนึงถึงราคาของสินค้าก็ตาม แต่ก็มีผู้บริโภคไม่น้อยคำนึงถึงมาตรฐานแรงงานในสินค้าที่ผลิตด้วย โดยเฉพาะประเทศที่มีการยกระดับมาตรฐานแรงงานในประเทศให้สูง การสร้างทางปฏิบัติเช่นนี้แม้จะค่อยเป็นค่อยไป และใช้ได้กับผู้บริโภคบางกลุ่ม แต่ก็สามารถผลักดันเรื่องต้นทุนแรงงานของสินค้าส่งออกไปยังผู้บริโภคซึ่งเป็นการชดเชยต้นทุนของผู้ส่งออกในประเทศกำลังพัฒนาจากการกำหนดราคาสินค้าที่สูงขึ้น จึงไม่ทำให้ฝ่ายใดแย่ลง กล่าวคือ ผู้ส่งออกก็ไม่ขาดทุน ผู้บริโภคในประเทศที่พัฒนาแล้วก็ได้ทราบข้อเท็จจริงจากป้ายว่าสินค้านี้มีมาตรฐานแรงงาน  ผู้ใช้แรงงานของประเทศผู้นำเข้าที่ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันก็ได้รับความคุ้มครองทำให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมในการกำหนดราคา ส่วนผู้ใช้แรงงานของประเทศผู้ส่งออกก็ได้รับความคุ้มครองและสวัสดิการที่ดีขึ้น นอกจากนี้การติดฉลากทำให้ประเทศผู้นำเข้าไม่อาจยกเป็นข้ออ้างเพื่อกีดกันสินค้าที่ติดฉลาก ทั้งวิธีการติดฉลากยังเกิดจากความสมัครใจของผู้ประกอบการเองรัฐจึงไม่ต้องใช้นโยบายเข้าแทรกแซง

          อย่างไรก็ตามการติดฉลากก็ยังมีปัญหาว่าผู้ประกอบการในประเทศผู้ส่งออกนั้นได้ปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานโดยให้ความคุ้มครองแรงงานอย่างแท้จริงหรือไม่ และมาตรฐานกลางที่จะนำมากำหนดในการติดฉลากคืออะไร นอกจากนี้ ความซื่อสัตย์ของผู้ประกอบการผู้ส่งออกต่อผู้บริโภคในการระบุเกี่ยวกับมาตรฐานแรงงามีเพียงไร และพื้นที่ฉลากก็เล็กเกินกว่าที่จะระบุรายละเอียดทั้งหมดหรือไม่ เป็นสิ่งที่ดิฉันในฐานะผู้วิจารณ์เห็นว่าเป็นสิ่งที่น่านำไปทบทวนต่อไป

          2. การใช้มาตรการปกป้อง(Social Safeguards Clause)เป็นวิธีการที่ประเทศผู้นำเข้าใช้ตอบโต้สินค้าชนิดเดียวกัน เช่น มาตรฐานแรงงานในประเทศจีนต่ำ ส่งผลให้สินค้าที่ส่งออกจากประเทศจีนมีราคาถูกกว่าสินค้าที่จำหน่ายภายในประเทศผู้นำเข้า เป็นต้น นอกจากนี้มาตรการปกป้องเป็นมาตรการที่ WTO รับรองไว้ใน ความตกลงว่าด้วยการปกป้อง(Agreement of Safeguards)เพื่อเยียวยาความเสียหายที่เกิดแก่ประเทศผู้นำเข้าและ เป็นกรณีที่ WTO ยอมให้ประเทศผู้นำเข้าใช้มาตรการใดๆ ซึ่งอาจขัดกับหลักการของ WTO ได้กับสินค้าที่นำเข้าที่มีปริมาณเพิ่มสูงมากจนก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อผู้ผลิตสินค้าภายในประเทศที่ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันในประเทศผู้นำเข้า มีเงื่อนไขว่าจะต้องไม่ใช้วิธีการอย่างไม่เลือกปฏิบัติ แต่ประเทศผู้ส่งออกที่ถูกใช้มาตรการสามารถตอบโต้ได้อย่างเลือกปฏิบัติ               

           นอกจากนั้นผู้เขียนเสนอแนะว่าควรสร้างการคุ้มครองทางสังคม(Social Safeguard) ดังนั้นจึงควรให้สังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างกฎเกณฑ์ในการปกป้องที่เป็นธรรมแก่ตลาดไปพร้อมๆกันด้วย โดยกำหนดว่าประเทศผู้นำเข้าจะใช้มาตรการปกป้องต่อเมือประเทศผู้ส่งออกกระทำการอันเป็นการขัดกับมาตรฐานทางจริยธรรมที่ของประเทศผู้นำเข้า และประเทศผู้นำเข้ามีหน้าที่ให้มาตรการดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศคู่ค้า ทั้งนี้ควรจะจัดตั้งองค์กรที่มีอำนาจที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้องภายในประเทศผู้นำเข้าได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นหรือร่วมจัดตั้งคณะกรรมาธิการในองค์กรอังกล่าว เพื่อรับการร้องทุกข์และพิจารณาเพื่อระงับข้อพิพาทอันเกี่ยวกับการการทำผิดจริยธรรมทางสังคม โดยกำหนดมาตรฐานแรงงานที่เหมาะสมที่ประเทศผู้นำเข้าก็ต้องใช้มาตรฐานดังกล่าวภายในประเทศเช่นกัน และการพิจารณาเหตุในการเรียกร้องมาตรฐานแรงงานต้องได้รับการพิจารณาและวิเคราะห์จากบุคคลผู้มีส่วนได้เสียหลายๆ ฝ่าย เพื่อให้ได้เหตุเรียกร้องที่สมเหตุสมผล

           ตามทัศนะของดิฉันเห็นว่า แม้มาตรการปกป้องจะเป็นมาตรการที่ WTO อนุญาตให้ประเทศสมาชิกสามารถใช้เพื่อตอบโต้ได้ แต่การให้มาตรการปกป้อง ขัดกับหลักการพื้นฐานของ WTO ที่ว่าเป็นการกีดกันทางการค้าและก่อให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากมาตรการของรัฐผู้นำเข้าออกมามีผลกระทบต่อผู้ส่งออกโดยตรงและยังมีปัญหาที่ค้างคาใจประเทศผู้ส่งออกโดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนาว่ามาตรฐานแรงงานขั้นต่ำมีกินความเพียงใด ที่จะใช้มาตรการปกป้องประเทศผู้ส่งออกที่กระทำผิดต่อมาตรฐานจริยธรรม ซึ่งอาจกลายเป็นปัญหาการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non Tariff Barriers)ได้เช่นกัน

บทวิจารณ์

          ตามความเห็นของดิฉันเห็นว่าเป็นการกีดกันทางการค้าอย่างแอบแฝงปัจจัยหนึ่งมาจากการกีดการนำเข้าของประเทศคู่ค้า ทำให้สหรัฐอเมริกาสามารถสร้างข้อได้เปรียบโดยการทำให้ประเทศคู่ค้าเสียเปรียบในการส่งออกสินค้าประเภททุนต่ำเพื่อตีตลาดสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากภายนอกรายใหญ่ประเทศหนึ่ง เนื่องจากเป็นการเพิ่มภาระต่อผู้ประกอบการในประเทศ(โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาซึ่งไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ....)โดยเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตสินค้า อีกทั้งด้านสินค้าประเภทเทคโนโลยีประเทศกำลังพัฒนาก็มีความสามารถในการผลิตย่อมต่ำกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งหากว่าประเทศกำลังพัฒนาถูกลดอำนาจในการแข่งขันจากแรงงานซึ่งมีราคาถูกลง ประเทศกำลังพัฒนาย่อมเสียเปรียบประเทศที่พัฒนาแล้วมากยิ่งขึ้น

          การออกมาตรการหรือนำมาตรการกีดกัน มาใช้อย่างเข้มงวดเกินไป จะทำให้ประเทศอื่นมองว่า เป็นมาตรการที่ไม่เป็นธรรม กลายเป็น "อุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี  หรือ Non Tariff Barriers : NTBs เนื่องจากหลักสำคัญของการเปิดการค้าเสรีก็เพื่อให้สามารถนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ทำให้เกิดการแข่งขันในสินค้าชนิดเดียวทั้งคุณภาพดีและราคาถูก              อย่างไรก็ตามเมื่อมีการแข่งขันกันมากประเทศผู้นำเข้าจึงพยายามหามาตรการที่เข้มงวดขึ้นในการนำเข้าสินค้า เช่น มีการติดฉลากว่าแรงงานภายในประเทศได้รับความคุ้มครองตามมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ เป็นต้น ซึ่งสหรัฐเองเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับในการคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศ และคุ้มครองแรงงานภายในประเทศด้วย ดังนั้นความพยายามของสหรัฐอเมริกาที่จะให้มาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศมีผลบังคับใช้ในเวทีการเจรจาการค้าระหว่างประเทศหลายๆแห่งนั้น ควรจะต้องมาพิจารณาว่าแม้ว่าประเทศกำลังพัฒนาจะมีแรงงานราคาถูกส่งผลให้สินค้าที่ส่งออกราคาถูกตามไปด้วย แต่สหรัฐอเมริกาเองในฐานะประเทศผู้ส่งออกเทคโนโลยีที่ทันสมัยไปสู่ตลาดโลกได้กำไรมหาศาล ความได้เปรียบในเชิงเปรียบเทียบของประเทศทั้งสองกลุ่มก็คงสมเหตุสมผลพอที่จะไม่ต้องยกเอามาตรฐานแรงงานมาเกี่ยวข้องกับการค้า

          แต่ควรยกระดับสิทธิแรงงานนั้นให้เป็นเรื่องของสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาคมระหว่างประเทศโดยน่าจะให้อำนาจองค์การแรงงานระหว่างประเทศองค์การเดียวที่จะมีอำนาจในการดูแลเรื่องมาตรฐานและการบังคับให้รัฐสมาชิกปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศเมื่อรัฐสมาชิกได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาแล้ว ทั้งมีบทลงโทษทั้งทางเศรษฐกิจและค่าปรับพอสมควรจะรัฐสมาชิกที่ละเมิดพันธกรณี เมื่อมีองค์การที่เข้มแข็งในการบังคับใช้มาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศที่เข้มแข็งแล้ว ย่อมไม่ก่อให้เกิดปัญหาที่เป็นช่องทางในการกีดกันทางการค้าโดยอ้างว่ามาตรฐานแรงงานไม่ได้ถูกนำไปใช้ในประเทศคู่ค้า นอกจากนี้การใช้มาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศควรจะพิจารณาถึงความพร้อมและความสมัครใจของรัฐสมาชิกด้วย ที่จะปรับตัวและปรับนโยบายการบริหารงาน มิใช่บังคับให้รัฐสมาชิกโดยไม่มีอำนาจต่อรองใดเนื่องจากไม่มีอำนาจในการต่อรองการค้า เช่น กรณีสหรัฐอมริกาทำFTA กับประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย

           อย่างไรก็ตามหากพิจาณาอีกแง่หนึ่งโดยพิจาณาจากสิทธิขั้นพื้นฐานของตัวแรงงานซึ่งหมายถึงผู้ใช้แรงงาน ในฐานะผู้ถูกกระทำ จะเห็นว่าบุคคลดังกล่าวก็เป็นปัจเจกบุคคลเช่นเดียวกับบุคคลในอาชีพอื่น เพียงแต่อาจจะต่างตรงที่แรงงานนั้นเป็นบุคคลที่มีฐานะในทางเศรษฐกิจต่ำและมีอำนาจในการต่อรองไม่มากนักหากกระทำการเพียงคนเดียว จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะกฎเกณฑ์เข้ามากำหนดสิทธิหน้าที่ในนิติสัมพันธ์ในการจ้างงานโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานคนเป็นวัตถุดิบหลักในการดำเนินกระบวนการผลิต 



[1] ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทัชชมัย ฤกษะสุต ใช้คำว่าแข่งกันลงเหว เป็นภาวะที่ประเทศผู้ส่งออก(ประเทศกำลังพัฒนา) สร้างแรงกดดันต่อประเทศพัฒนาแล้วซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าต้องใช้มาตรฐานแรงงานภายในประเทศตนต่ำลงไปด้วย โดยที่แรงงานประเทศผู้นำเข้าอาจต้องยินยอมให้มีการลดมาตรฐานแรงงานภายประเทศผู้นำเข้าลงในระดับหนึ่งเพื่อมิให้ผู้ลงทุนเคลื่อนย้ายฐานการลงทุนไปยังประเทศที่มีมาตรฐานแรงงานที่ต่ำกว่า เช่น ลดค่าจ้างแรงงานภายในให้ต่ำลงเพื่อให้สามารถแข่งขันกันได้ มิฉะนั้นผลของการเคลื่อนย้ายฐานการลงทุนลงไปสู่ประเทศที่มีมาตรฐานแรงงานต่ำกว่านั้นส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตภายในประเทศของผู้นำเข้าซึ่งต้องใช้แรงงานในการผลิตเป็นหลักต้องปิดกิจการเนื่องจากไม่อาจแข่งขันด้านราคาสินค้าราคาถูกจากประเทศกำลังพัฒนาที่เข้ามาตีตลาดสินค้าภายในประเทศได้ ย่อมส่งผลกระทบต่อภาคแรงงานด้วยที่ต้องอยู่ในภาวะว่างงาน(Unemployment)
[2] การที่ประเทศใดมีมาตรฐานแรงงานต่ำจะทำให้อุปทานแรงงาน(labor supply) ในประเทศเพิ่มขึ้นและหากการผลิตนั้นที่ใช้แรงงานที่ไร้ฝีมือ หรือแรงงานเด็ก เช่นสินค้าประเภทเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า ก็จะทำให้ประเทศผู้ผลิตที่มีมาตรฐานแรงงานต่ำมีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้สินค้าส่งออกจากประเทศดังกล่าวมีเพิ่มขึ้นและสร้างมูลค่าการส่งออกแก่ประเทศผู้ส่งออกที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาได้ส่วนแบ่งใหญ่ของอุปทานทั้งหมด ทำให้ราคาสินค้านั้นในตลาดโลกตกลง(เนื่องจากมีผู้ผลิตที่ต้องการเสนอขายมานั่นเอง
[3] ความหมายเดิมหมายถึง การขายสินค้าราคาถูก อันเป็นผลจากการใช้แรงงานนักโทษและแรงงานเด็ก ต่อมาขยายความรวมไปถึงการว่าจ้างแรงงานที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานแรงงานสากลซึ่งเป็นเหตุให้ประเทศผู้ส่งออกสามารถส่งสินค้าออกได้ในราคาต่ำว่าราคาตลาด และ คำว่าแรงงานราคาถูก(Low Cost Labor) มิได้หมายความเฉพาะค่าจ้างแรงงานที่ได้รับในรูปตัวเงินซึ่งต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำในแต่ละประเทศเท่านั้น แต่รวมถึงผลประโยชน์และสวัสดิการต่างๆ ที่แรงงานควรได้ อาทิ ค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียนบุตร วันลาพักร้อน วันลาคลอด เป็นต้น
[4] แม้จัดตั้งองค์การการค้าโลก(WTO) ขึ้นมาแทนที่GATT ก็ไม่ปรากฏว่ามีการกล่าวถึงแรงงานในGATT แต่อย่างใด
[5] Singapore Ministerial  Declaration, 1996 WT/MIN(96)/DEC , para.4.“We renew our commitment to the observance of internationally recognized core labour standards. The International Labor Organization(ILO) is the competence body to set and deal with these standards, and we affirm our support for its work in promoting for its work in promoting them. We believe that economic growth and development fostered by increased trade and further trade liberalization contribute to the promotion of these standards. We reject the use of labour standards for protectionist purpose, and agree that the comparative advantage of countries, particularly low-wage developing countries, must in no way be put into question. In this regard, we note that the WTO and ILO Secretariats will continue their existing collaboration.”


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท